Oct 06
หากเราสังเกตกันดี ๆ จะพบว่าทุกวันนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถทำอะไร หรือตัดสินใจอะไรได้เร็วขึ้น ไม่ว่าเราจะหันไปทางไหน ผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างเพศ ต่างวัยกัน จะพบว่าจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว นั่นคือโทรศัพท์มือถือ แต่บางครอบครัวมีมากกว่านั้น นอกจากมือถือแล้วยังมี iPad หรือ tablet เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการหาข้อมูล การติดต่อสื่อสารถึงกัน ใน Social network นั่นเอง
เมื่อพิจารณากันดี ๆ แล้ว เราจะพบว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยนั้น เป็นดาบสองคม นั่นคือ หากผู้ใช้มีวุฒิภาวะ เขาก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันหากผู้ใช้ไม่มีวุฒิภาวะ ก็เป็นดาบที่หันกลับมาทำร้ายตนเองได้อย่างง่ายดาย
ตัวอย่างที่เราเห็นกันจนชินตา หรือได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทนเลย ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักการรอคอย ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่มีความพยายาม คำถามต่าง ๆ เหล่านี้มักออกมาจากปากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเค้าเหล่านั้น หากเรามามองย้อนกลับไปดี ๆ เราจะพบสาเหตุที่เป็นสาเหตุหลักเพียงอย่างเดียว นั่นคือวิธีการเลี้ยงดูเขาเหล่านั้นแทบทั้งสิ้น
ทำไมการเลี้ยงดูของคนสมัยใหม่จึงเป็นสาเหตุหลักของปัญหา หลาย ๆ ครอบครัวที่เราพบเห็นตามห้างสรรพสินค้า เรามักพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำงานในวันทำงาน เมื่อมีเวลาวันหยุดก็จะพาลูกไปตามโรงเรียนกวดวิชาเพื่อหวังให้เขาเหล่านั้นมีผลการเรียนดี มีอนาคตที่ดี ส่วนตนเองก็อยู่กับโทรศัพท์มือถือ ท่สามารถติดต่อสื่อสารผ่าน network ที่ทันสมัย ทำให้ตนเองมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใน Social network ที่สร้าง(ภาพให้ดูดี)ขึ้นมา ตลอดเวลา หลังจากเลิกเรียนกลับบ้าน ก็ส่งเกมส์ให้ลูกเล่น เพื่อเป็นการผ่อนคลายหลังเลิกเรียนอย่างเคร่งเครียดมาตลอดวัน และลูกยังสามารถอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้อย่างไม่อายใคร เพราะเราก็มี iPad เล่นเกมส์โน้นนี้เหมือนกัน
จากความคิด หรือทัศนคติของผู้ปกครองส่วนใหญ่ดังกล่าว มันเป็นการติดกับเทคโนโลยี แทนที่เราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นภัยมหันต์ ทั้งกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งมีการสนทนากัน พูดคุยถึงปัญหา แบ่งปันความเข้าใจซึ่งกันและกัน ที่น้อยลงเรื่อย ๆ และยังเป็นการบ่อนทำลายทั้งสมาธิ ความสามารถในการเรียนรู้ และบั่นทอนเวลาการฝึกทักษะต่าง ๆ ให้สั้นลงอีก ทำให้ช่วงเวลาที่เขาควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์ (จากพ่อแม่จากการพูดคุย) และทักษะการดำเนินชีวิต (ทักษะในการใช้กล้ามเนื้อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม เรียนรู้กฎ กติกา มารยาทต่าง ๆ)
หากเลือกได้ระหว่าง 2 โปรโมชั่นคุณจะเลือกอะไร ระหว่าง 1. new iPad + ลูก(ติดเกมส์ ไม่เอาใจใส่ในการเรียน หรือเด็กพิเศษ)
หรือ 2. ครอบครัวที่ไม่มี iPhone หรือ iPad + ความเป็นครอบครัวที่มีความสุข โดยมีลูกที่ไม่มีคำว่า เด็กพิเศษติดตามตัวตลอดเวลา
ครูจา
Apr 17
Posted by malinee on Tuesday Apr 17, 2012 Under เกร็ดความรู้
ด้วยยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สังคม การสื่อสาร โทรคมนาคม ใช้เวลาสั้นลง ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับกลไกหรือกระบวนการคิดของคนในสังคม ให้มีแนวทางที่แตกฉาน รอบรู้มากขึ้น แต่น่าเสียดาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเสมือนดาบสองคม ที่ส่งผลให้กระบวนการในการเรียนรู้แบบลัดขั้นตอน ไม่ผ่านกระบวนการคิด การลองผิดลองถูก ของเด็ก ,เยาวชน หรือแม้แต่คนในวัยทำงาน ซึ่งเป็นเหตุให้ทักษะหลาย ๆ อย่างที่ควรได้รับการพัฒนา หายไปโดยสิ้นเชิง
หากลองพิจารณาแล้ว จะพบว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่เราพบกันอยู่บ่อย ๆ เป็นปัญหาของคน 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เด็ก ซึ่งรวมถึงกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ และกลุ่มคนทำงาน ถ้าสาวปัญหากันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่าทั้งสองกลุ่มดังกล่าว เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมและกระบวนการคิด ทั้งสิ้น
หากท่านเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้สึกขับข้องใจ กับปัญหาดังกล่าว มาช่วยกันคิดดีกว่าว่า “ทำไมแนวโน้มของเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา หรือแม้กระทั่งคนทำงาน จึงขาดทักษะในเรื่องกระบวนการคิดเหมือน ๆ กันไปหมด ”
จากแนวโน้มดังกล่าวมันทำให้เราพอจะจับแนวทางของการเลี้ยงดูกลุ่มดังกล่าวได้ว่าจะต้องมีวิถีการดำเนินชีวิต กระบวนการการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน เมื่อมองย้อนมาถึงจุดนี้ สิ่งที่ปรากฏเป็นภาพชัดขึ้นก็คือ
เด็กรุ่นใหม่ เรียนกัน จันทร์ ถึง ศุกร์
พ่อแม่สุข ทุกอย่างครบ จบทุกงาน
พอถึงบ้าน สุขี มี IPad
บางที chat บางที face อัพเดทข้อมูล
ได้เพิ่มพูน เพื่อนใหม่ ใน profile
น่าสงสัย คนอยู่ใกล้ ไม่ทักกัน
เล่นข้ามวัน ข้ามคืน ไม่หลับนอน
แต่ตอนเช้า หาวหวอด ไม่ปลอดโปร่ง
โคลงเคลงหัว ตัวหนัก ๆ ชักไม่สบาย
พอตกบ่าย คลายง่วง ก็ห่วงหา
นับเวลา ถอยหลัง นั่งหน้าจอ
ใจจดจ่อ ไม่เพียร เขียนอ่านเลย
ครูจา
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว