Jun 29
เคยลองนึกภาพไหม ว่าเราจะสารถทำงานท่ามกลางผับหรือสถานบันเทิงที่มีสิ่งเร้ามากมาย หลายๆ คนคงคิดว่าใครจะไปเพี้ยนนั่งทำงานในสถานที่แบบนั้น หากลองนึกกันดูดีๆ การดูแลเด็กในปัจจุบันก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน หลายๆ ครั้งที่เด็กต้องนั่งทำการบ้านท่ามกลางสิ่งเร้า เช่น ทีวี หรือเกมส์ อย่าว่าแต่เด็กๆ จะไม่สามารถจัดการกับสมาธิของตนเองเลย ถึงเป็นผู้ใหญ่เองที่มีวุฒิภาวะ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมสมาธิของตนให้อยู่กับงานได้ตลอดเวลาการทำงาน ท่ามกลางสิ่งเร้าต่างๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน
ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีความเอาใจใส่บุตรหลาน เราควรสร้างวินัยเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับตัวผู้ปกครองเองก่อน ไม่ให้สิ่งเร้าต่างๆ อยู่ใกล้ หรืออยู่ในระยะสายตาของเขาที่เขาจะวอกแวกมาได้ และการสร้างวินัยในบ้าน ควรจะเป็นวินัยของทั้งครอบครัว ไม่ใช่ว่าเพียงแค่พ่อ หรือแม่เท่านั้น เมื่อคุณสร้างวินัยกับตัวเองแล้ว นอกจากประโยชน์ในเรื่องของสมาธิจะเกิดกับตัวเด็กๆ แล้ว ยังส่งผลให้เด็กในด้านวินัยอีกด้วย นั่นคือเมื่อเขาเห็นวินัยในบ้าน (ที่มีการจัดระเบียบเรื่องของการสันทนาการในบ้านให้เป็นเวลา) ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่เขาจะจัดเวลาสันทนาการได้อย่างมีระบบระเบียบเช่นกัน
หากเรามัวแต่ห่วงกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพียงชั่วขณะ มันอาจเป็นสัญญาณอันตรายทั้งในแง่ของการเรียนรู้ สมาธิ และ ระเบียบวินัยของเด็กให้เสียไปในที่สุด
ครูจา
Jun 24
Posted by malinee on Tuesday Jun 24, 2014 Under เกร็ดความรู้
หลายๆ คน คงได้ติดตามข่าวที่ว่าเด็กไทยเกินครึ่งไอคิวต่ำ เมื่ออ่านเจาะลึกลงในรายละเอียดไม่ใช่แต่เพียง IQ เท่านั้นที่ต่ำ EQ (ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์)และ AQ (ความพยายามในการแก้ปัญหา) ก็ต่ำด้วย หลายๆ ครอบครัวก็กังวลว่าบุตรหลานเราจะเข้าข่ายดังกล่าวหรือไม่ ก็พากันไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือวัด IQ กันเป็นการใหญ่ ส่วนใหญ่คุณหมอก็มักซักประวัติกิจวัตรประจำวันของบุตรหลาน จากคุณพ่อคุณแม่ และแนะนำให้เปลี่ยนหรือปรับพฤติกรรม โดยปรับวิธีการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง หากเรามามองวิธีการเลี้ยงดู หรือการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กในปัจจุบัน ก็อาจจะไม่แปลกใจสักเท่าใดนัก นั่นหมายความว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ประเด็นอยู่ที่วิธีการเลี้ยงดูเป็นหลัก
ข้อผิดพลาดในการเลี้ยงดูในปัจจุบันนี้ เรามักพบว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองรุ่นใหม่ มักมีเวลาในการดูแลบุตรหลานที่จำกัด กิจกรรมทุกอย่างจะทำด้วยความเร่งรีบ ซึ่งปลูกฝังนิสัยของการไม่รู้จักรอคอยให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เด็กใม่มีพัฒนาการทางด้านวุฒิภาวะทางอารมณ์ บางครั้งอาจเป็นเรื่องของรางวัลที่เด็กได้มาอย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องใช้ความมานะ พยายามเท่าใดนัก เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กไม่มีความพยายามที่จะทำผลงานในชิ้นที่ยากขึ้น ส่งผลถึงการเรียนที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็จะไม่มีความพยายามในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่เหมือนกับการเล่นเกมส์ที่มีการแข่งขันกันในกลุ่มเพื่อนเพื่อการเอาชนะ เพียงเพื่อให้ได้คะแนนที่สูงที่สุดในวันนั้น
หากเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องลองย้อนมองพฤติกรรมบุตรหลาน ว่าสาเหตุจริงๆ อาจจะเกิดจากข้อผิดพลาดในการเลี้ยงดู ซึ่งเราสามารถปรับปรุง แก้ไข ให้ทุกอย่างดีขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งจิตแพทย์เลย
ครูจา
Jun 16
ผู้ปกครองหลายๆคน ยังคงมีข้อสงสัยว่าจินตคณิตกับการคิดในใจเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่เหมือนกันของการคิดในใจกับจินตคณิตก็คือ ผลลัพธ์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ วิธีการที่แตกต่ากัน มาดูการคิดในใจกันก่อน การคิดในใจคือการคิดคำนวณด้วยจำนวน โดยที่เด็กที่จะคิดในใจได้จะต้องมีทักษะ หรือครูชี้แนะวิธี เช่น 27 + 9 การ +9 ทำได้โดยการ + 10 ก่อน แล้วค่อย -1 ซึ่ง 27 + 1สิบ (การบวก 1 ในหลักสิบ) ก็จะได้ 37 แล้วลดลง 1 (เนื่องจากบวกเกินไป 1) ก็จะได้ผลลัพธ์คือ 36 หรือการคิดในใจแบบการลบ ก็ทำได้เช่นกัน เช่น 22 – 8 การ -8 ทำได้โดยการ – 1 สิบ แล้ว +2 นั่นคือ 22 – 1สิบ จะได้ 12 แล้ว + 2 (การลบ 10 เป็นการลบเกินไป 2 ก็ต้องบวกกลับเข้ามา 2)ผลลัพธ์ก็คือ 14 นั่นเอง ซึ่งในการฝึกคิดเลขในใจ จะเห็นว่าเด็กจะต้องมีความเข้าใจอย่างแม่นยำในเรื่องของค่าประจำหลัก จึงจะทำให้เด็กมีการคำนวณที่ไม่ผิดพลาด
ส่วนจินตคณิตนั้น เป็นการคิดคำนวณเป็นภาพลูกคิด มีการเคลื่อนเม็ดลูกคิดขึ้นลง 4 มิติ การเห็นภาพเคลื่อนไหวของเม็ดลูกคิด (เราเรียกกันว่าการจินตนาการ) นั้น ทำให้เด็กสามารถจดจำคำตอบได้อย่างแม่นยำ หากเปรียบเทียบการคิดเลขในใจ กับการจินของจินตคณิต การคิดในใจเหมือนการอ่านวิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจมาวิเคราะห์เป็นตัวหนังสือที่เป็นความเข้าใจของตัวเองอีกครั้ง ส่วนจินตคณิตเปรียบเหมือนกับการดูการ์ตูนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวของเด็ก เด็กจะสามารถจำภาพเคลื่อนไหวได้ดีกว่า (ในเด็กเล็ก) การคิดเป็นจำนวน
ครูจา
Jun 09
เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี ที่จะมีการเปิดประเทศเข้าสู่ AEC (ประชาคมอาเซียน) ทำให้เกิดการกระตุ้นทางด้านการศึกษากันอย่างกว้างขวาง โรงเรียนหรือสถานศึกษาหลายๆ แห่งเปิดโครงการการเรียนการสอนแบบ EP (English Program) กันอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ในด้านของภาษามากขึ้น
แนวทางในการเรียน EP ของหลายๆ โรงเรียน จะเป็นการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามาจากหลักสูตรปกติ แนวทางดังกล่าวน่าจะส่งผลดีกับตัวเด็ก ให้เด็กได้มีความคุ้นเคยในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยที่ทั้งหลักสูตรที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควรจะไปในทิศทางเดียวกัน หรือคู่ขนานกันไป รวมทั้งหากเด็กได้ฝึกฝน หรือเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาไว้แล้ว แต่ในทางกลับกัน หลักสูตรที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมกับการติดอยู่กับภาษาของเด็กหลายๆ คน ที่ไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้ภาษา และยังต้องมีคำศัพท์เฉพาะอีกมากมายที่ต้องจำและทำความเข้าใจ ส่งผลให้เด็กเกิดความท้อแท้ เนื่องจากความไม่เข้าใจด้านภาษา รวมกับความไม่เข้าใจในเนื้อหาที่เรียน
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการให้บุตรหลาน มีการเรียนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรมีการติดตามแนวการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง หรือ ในช่วงของการสอบคัดเลือก ควรจะมีการศึกษาถึงแนวการเรียนการสอนของแต่ละโรง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลาน ให้เขาใช้เวลาในช่วงของการปรับตัวในช่วงที่สั้นที่สุด เพื่อให้การเรียนได้สัมฤทธิ์ผลที่สุด
ครูจา
Jun 02
เปิดเทอมใหม่แล้ว นอกจากเด็กๆ จะเลื่อนชั้นขึ้น และโตขึ้นอีกหนึ่งปีแล้ว ยังต้องมีการเรียนในโรงเรียนที่มีเนื้อหาเดิมที่ยากและมีความซับซ้อนมากขึ้น หรืออาจเจอเนื้อหาการเรียนใหม่ๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ดังนั้นในช่วงของการเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ อาจจะต้องดูแลเอาใจใส่ หรือช่วยในเรื่องการกระตุ้นให้เด็กมีกำลังใจในการเรียนสิ่งใหม่ๆ ที่ยากขึ้น
การดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่พอเหมาะพอดีนั้น จะมีส่วนช่วยเหลือ หรือกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านความรับผิดชอบ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ยากขึ้น
การดูแลเอาใจใส่ที่น้อยเกินไป อาจส่งผลให้เด็กมีการเรียนที่ตกต่ำลง ซึ่งอาจเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในบทเรียน ไม่ทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย หรือเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบมากพอ ต้องได้รับการกระตุ้นเตือนจากผู้ปกครอง
ในทางตรงกันข้ามครอบครัวที่มี พ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลเอาใจใส่เกินพอดี กลับเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กมีการเรียนที่แย่ลงได้เช่นกัน เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ที่ทำ (งาน) แทนไปทุกอย่าง หรือการชี้นำในทุกๆ เรื่องนั้น ทำให้เด็กกลัวการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะถือว่าเป็นเรื่องยาก
เด็กจะไม่มีความพยายามในการฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยตัวเอง รอคอยแต่ความช่วยเหลือตลอดเวลา กลัวความผิดพลาด เพราะไม่อยากกลับมาแก้ไขอีกครั้ง เปรียบเหมือนกับหนอนผีเสื้อที่มีคนช่วยมันออกจากรังดักแด้ อยู่ได้เพียง 1 – 2 ชั่วโมงก็ต้องตาย เนื่องจากปีกที่ไม่แข็งแรง เช่นเดียวกับธรรมชาติสร้างรังดักแก้ที่มีเอนไซม์ที่ทำให้ปีกของมันแข็งแรงตอนที่มันพยายามจะขยับออกจากรังของมัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรอดทนรอคอยให้เด็กๆ ได้มีประสบการณ์ทั้งทางบวก และทางลบในทุกๆ เรื่อง เพื่อให้ปีกของเขาได้แข็งแรงเหมือนผีเสื้อที่จะโบยบินไป
ครูจา