โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน, ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
จนถึงขณะนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังเลื่อนเปิดเทอมกันอยู่ด้วยสาเหตุของสภาวะมหาอุทกภัย โดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานคร ที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อไร และยังต้องเลื่อนเปิดเทอมต่อไปอีกหรือไม่

คนเป็นพ่อแม่ต่างก็เป็นกังวลเรื่องการศึกษาของลูกเป็นอย่างมาก บางคนที่อพยพไปอยู่ต่างจังหวัดก็ถือโอกาสให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่ต่างจังหวัดซะเลย รอให้โรงเรียนใน กทม.เปิดเทอมก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่ ด้วยเหตุผลหลากหลายเพราะไม่มีใครดูลูกบ้าง กลัวลูกอยู่เฉยๆ บ้าง เดี๋ยวลืมเรื่องวิชาการการเรียนหมด

ในขณะที่พ่อแม่ชาวกรุงจำนวนไม่น้อยที่รวมตัวกันเพื่อจัดให้เด็กๆ ได้เรียนพิเศษในช่วงเวลาที่เลื่อนหยุดเทอม ด้วยเหตุผลเดียวกัน

แต่ก็มีพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่เลือกหนทางการศึกษาให้ลูกไปเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ โดยการอยู่กับธรรมชาติ…!!

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันเดินทางไปบ้านสวนสายลมจอย ณ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปพร้อมกับทริปเพื่อนผู้ฟังรายการวิทยุ เพื่อเดินทางเรียนรู้ร่วมกันเรื่องเกษตรอินทรีย์และการพึ่งพาตนเอง รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายด้วยตัวเองในศาสตร์ทางเลือก

ระหว่างการเรียนรู้ได้เจอะเจอเด็กๆ วัยใกล้เคียงกัน 4 คน ที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาลและวัยประถมต้น เป็นลูกเจ้าของบ้านสวนสายลมจอย 1 คน ที่เหลืออีก 3 คน เป็นเด็กกทม.ที่ผันตัวเองมาอยู่เชียงใหม่ กำลังวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน และคิดกิจกรรมเล่นกันได้อย่างน่าสนใจ

ขณะจดจ้องอยู่กับเด็กๆ สัมผัสได้ว่าเด็กเหล่านี้ไม่ใช่ลูกชาวบ้านละแวกนั้นเป็นแน่แท้ หลังจากพูดคุยจึงได้รู้ว่าเป็นเด็กเมืองกรุง ซึ่งตอนนี้ครอบครัวได้ปักหลักมาอยู่เชียงใหม่เป็นการถาวรแล้ว ด้วยเหตุผลที่มุ่งมั่นในเรื่องการศึกษาทางเลือกของลูก

ทั้ง 3 คน เป็นเด็กที่เคยอยู่ในโรงเรียนชื่อดังใน กทม.มาก่อน แต่ท้ายสุดครอบครัวกลับเลือกที่จะจัดการเรียนการสอนให้ลูกเอง และการมาบ้านสวนสายลมจอยก็เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ การพึ่งพาตนเอง การเล่นแบบคลุกดินคลุกทราย ในทุกวันพุธถึงวันศุกร์

เด็กเหล่านี้มีความรู้เรื่องต้นไม้ เรื่องธรรมชาติค่อนข้างดี มีการคิดกิจกรรมการเล่นสารพัดรูปแบบ เอาใบกล้วยมาสร้างบ้าน การเอาดินเอาทรายมาประกอบรูปแบบการเล่นบทบาทสมมติ มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ที่น่าทึ่ง เวลาถามไถ่พูดคุยก็จะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เรียกว่าพกความมั่นใจอยู่เต็มตัว

ไม่มีใครตอบได้ว่าเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ เด็กเหล่านี้มีทักษะเรื่องชีวิตบางด้านที่ดีกว่าเด็กเมืองแน่นอน จากนี้ก็อยู่ที่การต่อยอดของครอบครัวว่าจะเชื่อมโยงกับการศึกษาในระบบได้อย่างไร

แต่..คำถามของพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยังหนีไม่พ้นว่าเด็กเหล่านี้จะอยู่อย่างไร แล้วจะกลับเข้าสู่ระบบได้ไหม มีการประเมินผลการเรียนรู้ได้หรือเปล่า

การจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล (Home School) ตามมาตรา 12 ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่า “…นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
การศึกษาโดยครอบครัวจึงเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกรูปแบบหนึ่งที่ครอบครัวสามารถจัดได้ตามสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย โดยผู้ปกครองอาจเป็นผู้ดำเนินการในการจัดกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมด ทั้งในเรื่องของหลักสูตร การจัดกิจกรรม การวัดและประเมินผล หรืออาจใช้ระบบการจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย หรืออาจจะใช้ทั้งสามระบบผสมผสานร่วมกันก็ได้

ในต่างประเทศมีการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลมากมายหลายประเทศ ประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือ สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับและนิยมเป็นอย่างมาก เพราะจากการศึกษาโดยครอบครัว ได้แสดงให้เห็นว่าเด็กมีความสามารถเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนในระบบโรงเรียนได้อย่างชัดเจน

แต่ในบ้านเรา ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมาก โดยผู้ที่เห็นด้วยกับระบบการจัดการศึกษาแนวนี้อาจมองว่าการจัดการศึกษาในระบบมีปัญหา ในเมื่อพ่อแม่มีโอกาสเลือกและปรับกิจกรรมให้สอดคล้องตามความถนัด ความสนใจของลูก สามารถพัฒนาลูกได้เต็มตามศักยภาพ เพราะกิจกรรมบางอย่างเด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในโรงเรียน แต่พ่อแม่สามารถเลือกสรรให้ได้ ที่สำคัญพ่อแม่จะมีเวลาอยู่กับลูกได้เต็มที่ ก็ตัดสินใจที่เลือกแนวการศึกษาทางเลือกนี้

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยอาจมองว่าเป็นการปิดกั้นเด็กให้ขาดโอกาสในการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมหรือไม่ หรือทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการปรับตัว ซึ่งอาจมีปัญหาในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันต่อไป

แต่…โดยส่วนตัวดิฉันก็ไม่เชื่อเรื่องการศึกษาในระบบอย่างเดียวที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต และการประสบความสำเร็จในชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ที่สารพัดกระดาษที่บอกเล่าว่าเด็กเรียนจบจากที่ไหน หรือสารพัดรางวัลที่บอกว่าเด็กได้รับรางวัลอะไรบ้างเท่านั้น

หลายสถานการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าการศึกษาในระบบอย่างเดียว เราจะได้เด็กพันธ์เดียวกันในโลกยุคหน้า ที่เน้นเรื่องวิชาการอย่างเดียว ทั้งที่การเรียนรู้ของคนเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และตลอดชีวิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่พวกเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้งและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้เรียนรู้ที่เข้าใจธรรมชาติ แต่เรียนรู้ที่จะเอาชนะธรรมชาติ ด้วยเหตุผลของดัชนีชี้วัดความเจริญด้วยวัตถุมากกว่าเรียนรู้เรื่อง “ทักษะชีวิต”

เมื่อธรรมชาติเสียสมดุลและส่งสัญญาณแรงๆ ครั้งนี้ให้กับมนุษย์แล้ว น่าจะเกิดแรงเหวี่ยงแรงๆ กระตุกให้คนเรากลับมาให้ความสนใจเรื่องการอยู่กับธรรมชาติแบบเข้าใจให้ได้ และการเรียนรู้แบบนี้ไม่ได้มีในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น เด็กต้องได้สัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่แค่ท่องจำในกระดาษอย่างเดียว

เด็กรุ่นใหม่ควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติผสมผสานไปกับเรื่องวิชาการด้วย ซึ่งก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่…มิใช่หรือ..!!

ยังไม่ต้องสรุปว่าการศึกษาแบบไหนดีกว่ากัน แต่การเรียนรู้เรื่องทักษะชีวิตต้องเริ่มที่โฮมสคูล ในความหมายที่ว่าพ่อแม่ต้องเป็นผู้เริ่มเปิดประตูการเรียนรู้ของลูกค่ะ

Tags : , , , , | add comments

4วิธีพัฒนา“อีคิว”

Posted by malinee on Tuesday Nov 29, 2011 Under Uncategorized

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดี ที่ 24 พฤศจิกายน 2554
สู่วิถีผู้มี “สุขภาพจิตดี” ช่วยการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีสุข เพียงหมั่นฝึกทักษะ 4 วิธี

นอกจากไอคิว (I.Q.) แล้ว ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว (E.Q.) ถือเป็นส่วนสำคัญต่อวัยเรียนอย่างมาก ซึ่งการเข้าใจ รู้จักแยกแยะ ควบคุม และแสดงอารมณ์ถูกต้องตามกาลเทศะได้นั้น จะช่วยเสริมสุข สร้างสมดุลของชีวิต ทั้งยังสามารถเผชิญความคับข้องใจ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างราบรื่น โดยทักษะดังกล่าว สร้างได้ง่าย ๆ ดังนี้

เริ่มจาก “ฝึกสมาธิ” จะช่วยจัดระเบียบความคิด ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ ทำให้มั่นคงทางอารมณ์ สงบ หนักแน่น เยือกเย็น ทั้งยังคลายเครียด เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการศึกษาเล่าเรียน นอกจากนั้น การออกกำลังกาย เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ก็เป็นผลดีเช่นกัน

“ฝึกระงับอารมณ์” ยามเจอสถานการณ์ตึงเครียด ด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ กำหนดลมหายใจให้สติอยู่กับตัว โดยหายใจเข้า-ออกยาว ๆ, นับ 1-10 หรือ นับต่อเรื่อย ๆ จนรู้สึกสงบ หรือ ปลีกตัวออกมาชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งหัวใจหลักคือ ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง โกรธก็รู้ว่าโกรธ แต่สามารถควบคุมความโกรธนั้นได้ และหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสม

“ละทิ้งพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ” และค่อย ๆ ปรับปรุงตนเอง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝึกเป็นผู้พูด-ผู้ฟังที่ดี และไม่ลืมที่จะใส่ใจความรู้สึกผู้อื่น

“ยอมรับความบกพร่อง” เนื่องจากสิ่งที่หวังอาจไม่เป็นอย่างที่คิด 100% ดังนั้น ทักษะข้อนี้ จะช่วยให้ไม่เครียด ไม่ทุกข์ ไม่ผิดหวังมากเกินไป ขณะเดียวกัน ลองมองเป็นความท้าทาย เพื่อสร้างพลังใจต่อสู้กับอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปได้

ทักษะข้างต้น เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนให้เกิดได้ เหมาะอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตท่ามกลางวิกฤติปัญหาปัจจุบัน.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

Tags : , , , , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554
รมว.ศึกษาธิการ เผยอาจเลื่อนการสอบ O-Net ไปอีก 2 สัปดาห์ เนื่องจากในบางพื้นที่ยังประสบอุทกภัย ระบุเพื่อให้โรงเรียนมีเวลามากขึ้น และไม่ต้องสอนชดเชยวันเสาร์-อาทิตย์ ลดความเหนื่อยและเครียดต่อเด็ก…

เมื่อ วันที่ 28 พ.ย. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการว่า ศธ.ได้หารือถึงการเตรียมแผนสำรองรองรับไว้กรณีที่อาจจะมีโรงเรียนบางแห่งไม่ สามารถเปิดภาคเรียนได้ทันในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ เพราะจากการประเมินเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คาดว่าจะมีโรงเรียนจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ไม่สามารถเปิดภาคเรียนได้ในวันดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 29 พ.ย.นี้ สพฐ.จะรายงานข้อมูลที่ชัดเจนมาอีกครั้งว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่อาจจะต้อง เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปอีก 1 สัปดาห์

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นก็จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้น พื้นฐาน (O-Net) ระดับชั้นประถมศึกษาที่ 6 และมัธยมศึกษาที่ 3 อีกรอบ จากเดิมที่ได้เลื่อนไปแล้ว 1 ครั้ง โดยนักเรียนชั้น ป.6 เดิมสอบวันที่ 1 ก.พ. 55 เลื่อนเป็นวันที่ 15 ก.พ. 55 นักเรียนชั้น ม.3 เดิมสอบวันที่ 2-3 ก.พ. 55 เลื่อนเป็นวันที่ 16-17 ก.พ. 55 และประกาศผลสอบในวันที่ 31 มี.ค. 55 ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ให้สอบตามปฏิทินเดิม คือวันที่ 18-19 ก.พ. 55 และประกาศผลสอบวันที่ 10 เม.ย. 55 โดยได้มอบให้ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ สพฐ.ไปหารือกันในเรื่องนี้ แต่มีแนวโน้มอาจขยับวันสอบ O-Net ออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้โรงเรียนส่วนใหญ่มีเวลาจัดการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องสอนชดเชยใน วันเสาร์และอาทิตย์ เพราะนโยบาย ศธ.ต้องการให้โรงเรียนสอนชดเชยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ หากจำเป็นจริงๆ จึงจะสอนชดเชยในวันเสาร์ แต่ไม่ต้องการให้เรียน 7 วัน เพราะจะทำให้เด็กเหนื่อยเกินไป และเป็นการสร้างความเครียดให้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง

“หากเลื่อนวันสอบ O-Net ออกไปอีก 2 สัปดาห์แล้ว จะมีเวลาเหลือเพียงพอให้โรงเรียนที่เปิดภาคเรียนในวันที่ 13 ธ.ค.54 สามารถจัดการเรียนการสอนได้จบครบหลักสูตรโดยอาศัยเพียงการสอนชดเชยในวันปกติ ไม่ต้องสอนชดเชยในวันเสาร์ ยกเว้นบางโรงเรียนที่น้ำท่วมหนัก จำเป็นต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป ก็อาจจะต้องสอนชดเชยในวันเสาร์ตามความจำเป็น แต่จะไม่ให้สอนชดเชยในวันอาทิตย์เด็ดขาด และเมื่อเลื่อนวันสอบ O-Net ไปแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเลื่อนปฏิทินการรับนักเรียนของ สพฐ.ออกไปด้วย อย่างไรก็ตามกำหนดการสอบ O-Net ที่แน่นอน จะสามารถประกาศได้เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สทศ.ก่อน จากนั้น สพฐ.จึงจะสามารถประกาศปฏิทินการรับนักเรียนใหม่ได้” นายวรวัจน์ กล่าว.

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันเสาร์ที่26 พฤศจิกายน 2554
รับศึกหนักในการกั้นน้ำมาหลายเดือน กระสอบทรายหลายถุง ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ บทบาทของกระสอบทรายเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุด แต่วันใดที่น้ำลด พวกมันคงกลายเป็นขยะก้อนโตราคา(เคย)แพง ที่วันนี้ต้องหาวิธีเอาไปใช้ และอยู่ให้ถูกจุด มากกว่าจะทิ้งไว้อย่างไม่แยแส..

ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนขาดตลาด เกิดการโก่งราคากันมาพักใหญ่แล้วสำหรับกระสอบทราย บังเกอร์ผู้กล้าหาญที่คอยต้านน้ำไม่ให้เข้าบ้าน ด้วยประสิทธิภาพที่เชื่อว่ากั้นน้ำได้ ‘เอาอยู่’
ประเทศไทยตอนนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมและเขตเฝ้าระวัง เลยมีแต่กระสอบทรายกระจายทั่วไปหมด ทั้งถุงทรายขนาดเล็ก และถุงบิ๊กแบ็ก ซึ่งถ้าจะลองเอาทรายพวกนี้มารวมเป็นกองเดียวกันดู คงมีปริมาณมหาศาลทีเดียว หลังจากที่น้ำแห้งเหือด กระสอบทรายพวกนี้คงกลายเป็นอีกประเด็นที่จะต้องคิดกันแล้วว่า จะเอาไปใช้สอยอะไรต่อ ก่อนที่จะกลายเป็นขยะ

ก่อนอื่นต้องเช็กว่าทราย ในกระสอบนั้นเป็นทรายดีหรือไม่ และเป็นทรายชนิดไหน หรือถ้าเป็นทรายขี้เป็ด ที่มีเศษดินเศษอินทรีย์ผสมอยู่ การนำกลับมาใช้นั้นจะมีประโยชน์น้อยกว่า แต่ถ้าเป็นทรายที่มีคุณภาพสามารถนำมาทำอะไรได้หลายอย่างมาก เช่น

ก่อร่างสร้างบ้านใหม่

ทราย ดีย่อมใช้ในการก่อสร้างได้ แต่ก็ต้องเช็กดูอีกว่าต้องเป็นทรายน้ำจืดหรือไม่ เพราะทรายที่ใช้ในการก่อสร้างต้องเป็น ทรายบกเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทรายน้ำเค็ม หรือทรายชายหาดทะเลได้
วิธีนำไปใช้ก็คือ ผสมปูนก่อปูนฉาบ ซ่อมแซม หรือปรับปรุงบ้าน เพราะหลังน้ำท่วมทำให้เรารู้ว่าบ้านเรามีจุดบกพร่องหรือ รูรั่ว ตรงไหนบ้าง ก็แก้ไขในส่วนตรงนั้นซะ หรือจะนำมาผสมปูนเทราดทางเดินให้สูงขึ้นก็ย่อมได้เช่นกัน แต่ปูนซีเมนต์ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้พื้นแข็งแรง ทรายก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะทรายมีหน้าที่ช่วยลดการแตกร้าว เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดคือทรายที่ใช้จะต้องเป็นทรายสะอาด ทรายที่อยู่ในกระสอบทรายกั้นน้ำแน่นอนว่าจะต้องสกปรก วิธีทำให้ทรายสะอาดคือล้างน้ำให้สะอาดเสียก่อนนำไปใช้งาน

ขนทรายเข้าวัด

งานนี้อาจกลายเป็นงานบุญครั้งใหญ่ ที่ช่วยล้างบาปจากการที่มนุษยย่ำยีธรรมชาติ การบริจาคทรายดีเข้าวัด ไว้ใช้ซ่อมแซมวัดหลังน้ำท่วมนั้นเป็นอีกทางออกที่ช่วยได้ เพราะตามวัดวาอารามต่างๆ ในพื้นที่ก็โดนน้ำท่วมหนักจมบาดาลเช่นกัน หลายคนอาจห่วงบ้านของตัวเอง จนลืมมองข้ามวัดแหล่งพักพิงทางใจที่อยู่กับคนไทยมาหลายร้อยปี ยิ่งถ้าเป็นวัดเก่าเก่าด้วยแล้ว ยิ่งต้องเร่งซ่อมแซมโดยด่วน เพราะวัดเก่าทรุดตัวง่าย หากไม่รีบบูรณะ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่คู่มากับวัดเหล่านี้ อาจพังทลายลง
ปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ

ถ้านึกถึงทรายในการปลูก ต้นไม้ แน่นอนอย่างแรกที่นึกออกคือต้นกระบองเพชร ซึ่งสามารถเก็บน้ำไว้ในลำต้นได้มาก มันจะใช้น้ำตลอดระยะเวลาแห้งแล้งที่ยาวนาน และมันจะเปลี่ยนใบเป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำ ดังนั้นมันจึงสามารถอยู่ในทะเลทรายได้ โดยวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีได้บอกถึงวิธีการปลูกกระบองเพชรได้แบ่งการปลูกไว้ 2 วิธี คือ

1. การปลูกในกระถางเพื่อประดับภายในอาคารและภายนอกอาคาร ใช้กระถางทรงและขนาดต่างกันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ คือ ตั้งแต่ขนาด 4-10 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ทรายหรือดินร่วน อัตรา 1:1 ผสมดินปลูก การเปลี่ยนกระถางแล้วแต่ความเหมาะสมของชนิดพันธุ์และผู้ปลูก แต่ถ้าจะให้เจริญสวยงามต้องควบคุมเรื่องปุ๋ย และน้ำให้ถูกวิธี

2. การปลูกในแปลงปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน แต่จะต้องเป็นชนิดพันธุ์ ที่ค่อนข้างใหญ่ แข็งแรง ขนาดหลุมปลูก 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1:3 ผสมดินปลูก ใครสนใจอยากหาเจ้ากระบองเพชรมาปลูกแนะนำให้ไปหาซื้อที่จตุจักร รับรองมีให้เลือกซื้อจนลายตาเลยทีเดียว
ทั้งนี้หากไม่รู้จะนำทรายดีเหล่านี้ไปทำอะไรดี อาจนำทรายเหล่านี้กลับคืนผู้ค้า ด้วยการขายต่อผู้รับเหมาอีกที แต่ก็ต้องทำใจด้วยว่าจะต้องขาดทุน เพราะราคาคงไม่สูงเหมือนตอนที่ซื้อมาใช้กั้นน้ำแน่นอน

สำหรับทรายขี้ เป็ดหรือทรายที่มีเศษอินทรีย์ผสมอยู่ เป็นทรายคุณภาพต่ำ จะมีลักษณะเมล็ดเล็ก กลมมน เมื่อบดอัดแล้วถึงแม้จะดูเกาะตัวกันดีมีความแข็งพอประมาณ แต่เมื่อโดนน้ำจะหลุดออกจากกันกลายเป็นโคลน ถ้านำไปผสมปูน ก็ไม่เกาะตัว แตกร้าว จึงไม่สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่ทรายเหล่านี้ก็ไม่ไร้ค่าอย่างที่คิด เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย อย่างเช่น
ถมที่ปรับระดับ

ถ้าใช้ทรายขี้เป็ดถมที่ ต้องบอกไว้ก่อนว่าพื้นที่ที่จะถมต้องไม่ใช้กับงานรับน้ำหนัก เช่น การเทถมปรับระดับสนามหญ้า ซ่อมแซมแอ่งน้ำที่เกิดหลังน้ำท่วม และถมที่ในบริเวณที่ไม่ได้เพาะปลูกก็ได้ หรือจะใช้สำหรับปรับพื้นก่อนเทพื้นก็ได้

ก่อสร้างอะไรเล็กๆ น้อยๆ

ผสมกับปูน ก่อเป็นกระบะไว้ปลูกต้นไม้เล็กๆ แล้วแต่งแต้มด้วยสีสันนิดหน่อย ก็สามารถสร้างสวนสวย ช่วยกลับทำให้บ้านมีบรรยากาศสดใสขึ้น
น้ำลดเมื่อไหร่ กระสอบทรายเหล่านี้ก็คงหมดหน้าที่ไปด้วย นอกจากต้องเร่งระบายน้ำให้ออกสู่ทะเลแล้ว คงต้องระบายทรายออกด้วย หากแต่ละบ้านลองใช้วิธีที่แนะนำในวันนี้ไปบ้างก็น่าจะคุ้มค่ากับเงินที่ซื้อ กระสอบทรายมา อีกทั้งขยะจะได้ไม่ล้นเมืองด้วย หรืออีกวิธีก็คือการนำทรายไปทิ้งรวมกันในจุดๆ เดียว ตามที่ทางกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมไว้ให้ก็ได้.

Twitter : Sriploi_social
Twitter : ijikooo

Tags : , , , , , | add comments

ในยุคก่อน ๆ ซึ่งเป็นยุคสมัยที่คุณปู่ คุณย่าของเด็กในยุคปัจจุบัน หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า คนในรุ่นนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่าใดนัก แต่เขาเหล่านั้นก็มีอยู่หลายครอบครัวที่สามารถก่ร่างสร้างตัวจนมีฐานะร่ำรวยในรุ่นต่อมา
กลับกันในยุคปัจจุบัน เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อให้ผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แม้กระทั่งชุดนักเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้แนวโน้มของความเสมอภาคกันทางด้านการศึกษา และน่าจะรวมไปถึงความเป็นอยู่ในสังคม แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบายให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนครูกับจำนวนนักเรียนไม่สอดคล้องกัน (จำนวนเด็กมากเกินกว่าที่ครูจะสามารถเข้าถึงเด็กทุกคน) ประกอยกับความพร้อมของเด็กแต่ละคน ร่วมกับปัจจัยหลักนั่นคือ ความเอาใจใส่ ดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทำให้เด็กบางส่วน หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเนื้อหา หรือบทเรียนในแต่ละเรื่อง หากจะให้พ่อแม่ช่วยอธิบาย พวกท่านก็ไม่มีเวลา หรือพ่อแม่บางกลุ่มก็จะปฏิเสธที่จะสอนลูก เพียงเพราะว่าตนเองมีพื้นฐานทางวิชาการไม่ดี ครั้นจะไปถามครู ครูก็ดูน่ากลัวเกินกว่าที่จะเข้าใกล้ประชิดตัว
ปัญหาในกลุ่มเด็กดังกล่าวมักเกิดกับคนในสังคมที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน ส่วยในกลุ่มที่อยู่ในฐานะปานกลาง ก็พร้อมที่จะส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าที่ตนเองจะพยายามทำความเข้าใจในความรู้พื้นฐานที่ตนเองได้ผ่านมาแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นในสังคมจะถ่างออกไปเรื่อย ๆ โอกาสทางสังคมที่ทางรัฐได้หยิบยื่นให้ก็เปรียบเสมือนอากาศที่ลองลอยไปโดยไม่มีใครใส่ใจ และมองเห็นมันอย่างไร้ค่า เช่นเดียวกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้ตระหนักว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้ตนเอง เพื่อความมั่นคงของตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2554
สพฐ.ชงร่างปฏิทินรับ นร.ปี 55 ให้ รมว.ศึกษาฯ พิจารณา ก่อนประกาศเป็นทางการ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอร่างปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2555 ที่ปรับเลื่อนใหม่ตามกำหนดการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ใหม่ ให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณา ดังนี้ โดยระดับก่อนประถมศึกษา รับสมัคร วันที่ 3-7 ก.พ.2555 จับสลาก 12 ก.พ.ประกาศผลวันที่ 12 ก.พ.รายงานตัว 12 ก.พ.มอบตัว 19 ก.พ. เงื่อนไขพิเศษหรืออื่นๆ รับสมัคร 3-7 ก.พ.ประกาศผล 12 ก.พ.รายงาตัว 12 ก.พ.มอบตัว 19 ก.พ., ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 รับสมัครวันที่ 10-14 ก.พ.จับสลาก 19 ก.พ.ประกาศผลและรายงานตัว 19 ก.พ.มอบตัว 26 ก.พ. เงื่อนไขพิเศษ ให้รับสมัคร 10-14 ก.พ.ประกาศผลและรายงานตัว 19 ก.พ.มอบตัว 27 ก.พ.

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับสมัคร 1-4 เม.ย.จับสลากรับนักเรียนในพื้นที่บริการ 11 เม.ย.ประกาศผลพร้อมรายงานตัว 11 เม.ย.มอบตัว 21 เม.ย. , สอบคัดเลือกรับนักเรียนทั่วไป 7 เม.ย.ประกาศผลพร้อมรายงานตัว 10 เม.ย.มอบตัว 21 เม.ย. โควตารับนักเรียนความสามารถพิเศษ รับสมัคร1-2 เม.ย.สอบและประกาศผลพร้อมรายงานตัว 3 เม.ย.มอบตัว 21 เม.ย. เงื่อนไขพิเศษหรืออื่นๆ รับสมัคร 1-4 เม.ย.ประกาศผลพร้อมรายงานตัว 10 เม.ย.มอบตัว 21 เม.ย. ทั้งนี้ หากนักเรียนยังไม่มีที่เรียนให้ยื่นความจำนงให้จัดที่เรียนรอบสอง วันที่ 22-23 เม.ย.ประกาศผลรอบสอง 26 เม.ย.รายงานตัวรอบสอง 27 เม.ย.

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในส่วนของนักเรียนเดิมของโรงเรียน ให้รายงานตัว 12 เม.ย.มอบตัว 22 เม.ย. ส่วนการสอบคัดเลือกรับนักเรียนภายนอกเพิ่มเติมให้ รับสมัคร 1-4 เม.ย.สอบ 8 เม.ย.ประกาศผล 11 เม.ย.รายงานตัว 12 เม.ย.มอบตัว 22 เม.ย. ส่วนโควตารับนักเรียนความสามารถพิเศษ รับสมัคร 1-2 เม.ย.สอบพร้อม ประกาศผล และรายงานตัว 3 เม.ย.มอบตัว 22 เม.ย.เงื่อนไขพิเศษหรืออื่นๆ รับสมัคร 1-4 เม.ย.ประกาศผลพร้อมรายงานตัว 11 เม.ย.มอบตัว 22 เม.ย.

สำหรับโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ โดยโรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ ป.5 รับสมัคร 16-20 ก.พ. สอบ 25 ก.พ.ประกาศผล 4 มี.ค.รายงานตัวภายใน 6 มี.ค., ม.1 รับสมัคร 16-20 ก.พ.สอบ 25 ก.พ.ประกาศผล 4 มี.ค.รายงานตัวภายใน 6 มี.ค., ม.4 รับสมัคร 16-20 ก.พ.สอบ 26 ก.พ.ประกาศผล 4 มี.ค.รายงานตัวภายใน 6 มี.ค. – โรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษ รับสมัคร 27-31 ม.ค.ก่อนประถมศึกษา-ป.1 สอบ 5 ก.พ.ประกาศผล 12 ก.พ.รายงานตัวภายใน 14 ก.พ., ม.1 รับสมัคร 16-20 ก.พ.สอบ 25 ก.พ.ประกาศผล 4 มี.ค.รายงานตัวภายใน 6 มี.ค., ม.4 รับสมัคร 16-20 ก.พ.สอบ 26 ก.พ.ประกาศผล 4 มี.ค. รายงานตัวภายใน 6 มี.ค. – โรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ รับสมัคร 1-30 เม.ย. ประกาศผล 1 พ.ค.รายงานตัวภายใน 8 พ.ค. – โรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส รับสมัคร 16-25 ก.พ. สอบ 26-28 ก.พ. ประกาศผล 29 ก.พ. รายงานตัวภายใน 13 มี.ค.

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
รมว.ศึกษาธิการ หารือร่วมกับสพฐ. สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ประธานแอดมิชชั่น ผู้แทนอธิการบดี และกรมอาชีวะ มีมติเลื่อนสอบ O-Net ป.6 และ ม.3 ส่วน ม.6 ยังกำหนดเดิม ส่ง สทศ. พิจารณาต่อ…

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้น ฐาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ประธานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เกี่ยวกับการเลื่อนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ซึ่งมีมติดังนี้

เสนอให้เลื่อนการสอบ O-Net ของช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 6) จากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 3) จากวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2555 โดยให้ประกาศผลการทดสอบพร้อมกันในวันที่ 31 มีนาคม 2555

ส่วนการสอบ O-Net ช่วงชั้นที่ 4 (มัธยมศึกษาปีที่ 6) ให้คงกำหนดการสอบเดิม คือวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2555 โดยให้ประกาศผลการทดสอบในวันที่ 10 เมษายน 2555

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นำผลการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเลื่อนสอบ O-Net ครั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหาร สทศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

Tags : , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีตาม เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้มีหมวดวิชาศึกษาทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต สถาบันอุดมศึกษาอาจจำแนกเป็นรายวิชา หรือลักษณะบูรณาการ หรือผสมผสานเนื้อหาวิชากลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ภาษา และกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุจุด ประสงค์ของวิชาศึกษาทั่วไป

จุดประสงค์ของวิชาศึกษาทั่วไป เป็นการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติ ตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

การ ศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้จะประกอบวิชาชีพชั้นสูง และเป็นพื้นฐานของการศึกษาระดับสูงขึ้นต่อไป ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาจะเป็นผู้ที่ทำงานรับผิดชอบบ้านเมืองในตำแหน่ง สำคัญ ๆ เป็นผู้กำหนดนโยบาย ทิศทางการการพัฒนา การแก้ปัญหาของชาติ เป็นผู้มีอิทธิพลในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นพื้นฐานการศึกษาและคุณภาพของการจัดการศึกษา หลักสูตร และการสอนที่สร้างเสริมประสบการณ์ของบุคคลเหล่านั้นจึงมีอิทธิพลต่อความคิด การกระทำ และการแก้ปัญหาของบุคคลที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย บริหารและปฏิบัติการเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ด้วย
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยประสบกับปัญหาอุทกภัยหนักมาก ถือเป็นวิกฤติการณ์ที่ไม่ปกติ การดำเนินการจัดการกับวิกฤติการณ์นี้นอกจากจะเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางสังคมอันเกิดจาก ระบบการสื่อสารที่ทันสมัย รวดเร็ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของพลเมือง และผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ รวมทั้งผู้ปฏิบัติ องค์กรที่มีระเบียบวินัยและมีระดับการบังคับบัญชาที่ชัดเจน ได้แก่ทหาร และตำรวจ และองค์กรภาคเอกชนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจกับประชาชนมากกว่าบางหน่วยงานของข้าราชการ

พลเมือง ไทยทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐบาล ล้วนเป็นผู้ผ่านระบบการศึกษาของประเทศไทยเป็นส่วนมาก เมื่อประเทศเกิดวิกฤติการณ์พลเมืองของประเทศยังไม่สามารถประสานพลังความคิด พลังของความสามารถในการปฏิบัติการ และความมุ่งมั่นในการพัฒนารัฐชาติไทยได้มากอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบกับประเทศชาติโดยตรง ดังนั้นกระบวนวิชาที่ควรนำมาจัดการศึกษาเพื่อการปรับเปลี่ยนความรู้ ทักษะและเจตคติในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปเพื่อแก้ไขคุณลักษณะของพลเมืองในระยะ ยาวจึงควรได้รับการทบทวนและพิจารณาใหม่ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเตรี ยมพลเมืองในอนาคตถ้าเกิดต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต

ราย วิชาที่อาจต้องมีการปรับปรุงได้แก่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรมีสัดส่วนที่มากขึ้น เช่นเดียวกับรายวิชาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับศาสนาและปรัชญาในสัดส่วนที่มากขึ้นเช่นกัน การปรับเปลี่ยนสัดส่วนต่าง ๆ ให้สามารถเสริมสร้างความรู้ ความคิดและทักษะ ที่สามารถเพิ่มสมรรถนะในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและสามารถร่วมกันแก้ ปัญหาเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทุกเวลา การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้กระบวนการระดมความคิดและการศึกษาวิจัย บนพื้นฐานของความตั้งใจและยอมรับว่าปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยส่วนหนึ่งมาจากช่องว่างทางความรู้ ความคิด และทักษะต่าง ๆ ที่แต่ละคนมีอยู่

ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยปัจจุบันสร้างผู้ ที่มีความรู้เฉพาะด้าน หรือ Specialist เพื่อให้เป็นวิชาชีพเฉพาะชั้นสูง (Professional) มากกว่าผู้ที่มีความรู้หลายด้านหรือ Generalist และยิ่งเรียนระดับสูงขึ้นยิ่งมีความเป็นเฉพาะมากขึ้นความรู้ทั่วไปที่เป็น พื้นฐานถูกละเลยมากขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่น การเข้าเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของประเทศไทยจะเน้นสอบความรู้วิชาเอกและ ภาษาอังกฤษ แต่ในสหรัฐอเมริกาการเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษาต้องผ่านการทดสอบความรู้พื้น ฐานทั่วไปเรียกว่าข้อสอบ GRE หรือ Graduate Record Examination ซึ่งมีการทดสอบสมรรถนะสามด้านหลัก ๆ ได้แก่ Verbal Section ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านภาษา Quantitative Section ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านการคำนวณและตัวเลข และ Analytical Writing Section ซึ่งเป็นสมรรถนะด้านการเขียน การอ่านบทความ และวิเคราะห์ในประเด็นความสอดคล้องและความขัดแย้งเป็นต้น
นอกจากนั้น ระบบการศึกษาของไทยยังสร้างคุณลักษณะของความเชื่อมั่นในวิชาความรู้หรือ ศาสตร์ของตนเองอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่การแก้ปัญหาในระดับมหภาคนั้น หรือในภาวะวิกฤติระดับชาตินั้นต้องการผู้ที่มีทั้งคุณลักษณะ Generalist และ Specialist หรือต้องการผู้ที่มีความเข้าใจในบริบททั่ว ๆไป และชำนาญเฉพาะเรื่อง

การดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยใน ภาวะวิกฤติอุทุกภัยถือเป็นสิ่งที่รอการสรุปบทเรียน (Lesson Learned) ถอดบทเรียน (Lesson Distilled) เพื่อนำมาใช้เป็นองค์ความรู้และเข้ารหัส (Coding) และสามารถถอดรหัสการพัฒนา (Development Decoded) เมื่อต้องการนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาวิกฤติต่าง ๆ การปรับปรุงในหลาย ๆ เรื่อง และรวมทั้งหลักสูตรและการสอนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นหนึ่งในภารกิจของการ ปรับปรุงด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

Tags : , , , | 2 comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์
วันที่16 พฤศจิกายน 2554
น้ำยังไม่ลด ศธ.ตัดสินใจเลื่อนเปิดเทอมรอบที่ 3 เป็นวันที่ 6 ธ.ค. แต่ยืนยันไม่กระทบสอบโอเน็ตให้ต้องขยับตามไปด้วย เพราะโรงเรียนสอนชดเชยทัน ชี้หากต้องเลื่อนอีกหน มีหวังกระทบสอบโอเน็ต แอดมิชชั่น รับ ม.1 และ ม.4 แน่ ส่วน รร.ใน กทม.เลื่อนด้วยเปิดเทอม 1 ธ.ค.
สถานการณ์น้ำท่วมในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะลดลง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตัดสินใจประกาศเลื่อนการเปิดเทอม 2/2554 ออกไปอีกครั้ง จากวันที่ 21 พ.ย. เป็นวันที่ 6 ธ.ค.54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ว่า สำหรับโรงเรียนที่ต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปคือ รร.ที่อยู่ในกรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี และนครปฐม เขต 2 ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางเลน, สามพราน, นครชัยศรี และพุทธมณฑล ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติบางแห่งที่ขออนุญาตเปิดภาคเรียนก่อนหน้านี้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังมีปริมาณน้ำจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปเป็นวันที่ 6 ธ.ค.จะยังไม่กระทบกับปฏิทินการสอบโอเน็ต เพราะได้ประเมินแล้วว่าโรงเรียนยังสอนชดเชยได้ทัน แต่หากปริมาณน้ำยังไม่ลดและ ศธ.ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนอีกครั้ง ก็คงส่งผลกระทบทำให้ต้องมีการปรับปฏิทินการศึกษาทั้งหมดแน่นอน
“สำหรับการเรียนชดเชยนั้น ผมได้สั่งการให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนชดเชยในวันเสาร์แบบเต็มวัน และชดเชยในวันเรียนธรรมดาด้วยการเพิ่มชั่วโมงเรียนปกติอีก 1 ชั่วโมง” รมว.ศธ.กล่าว
ทางด้านโรงเรียนสังกัด กทม. นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม.เปิดเผยว่า ทาง กทม.ได้สั่งให้ รร.ในสังกัด กทม.ทุกแห่งเลื่อนเปิดเทอมครั้งที่ 2 เป็นวันที่ 1 ธ.ค.นี้ พร้อมให้สอนชดเชยจนครบหลักสูตรตอนเย็นหลังเวลาเลิกเรียนปกติวันละ 1 ชั่วโมง และสอนชดเชยวันเสาร์เป็นเวลา 11 วัน
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักนโยบายและแผน (สนผ.) ไปจัดทำแผนรองรับ หากจำเป็นต้องเลื่อนเปิดเทอมไปหลังวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งจะมีผลทำให้ปฏิทินการศึกษาทั้งระบบต้องขยับตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้องรอมติที่ประชุมร่วมหลายฝ่ายวันที่ 16 พ.ย.ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร ทั้งเรื่องของการรับนักเรียนปี 2555 การสอบต่างๆ รวมทั้งแอดมิชชั่นว่าจะปรับเลื่อนทั้งหมดหรือไม่
ความคืบหน้าการจัดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนชั้น ม.1, ม.4 ของ รร.ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2555 นายชินภัทรกล่าวว่า ที่ประชุม กพฐ.ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ตนจะนำหลักเกณฑ์และแนวทางเบื้องต้นการรับนักเรียนเสนอที่ประชุมให้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.เสนอใช้ผลการสอบโอเน็ต สัดส่วนร้อยละ 20 ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงประมาณ 200 กว่าแห่ง ส่วนร้อยละ 80 เป็นคะแนนสอบของโรงเรียน 2.เสนอเพิ่มสัดส่วนห้องเรียนพิเศษใน รร.ที่มีอัตราแข่งขันสูง อาทิ หลักสูตรอิงลิชโปรแกรม, มินิอิงลิชโปรแกรม เป็นต้น ในปีการศึกษา 2555 อีกร้อยละ 10 โดยเป็นสัดส่วนห้องเรียนพิเศษร้อยละ 30 ห้องเรียนธรรมดาร้อยละ 70 เพราะข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี มีนักเรียนแห่สมัครเรียนห้องเรียนพิเศษจนเกิดการแข่งขันในสัดส่วนการสมัครและรับที่ 3:1
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกณฑ์และแนวทางอื่นๆ เบื้องต้นยังเหมือนปีที่ผ่านมา อาทิ จำกัดจำนวนนักเรียนชั้น ม.1 ให้ไม่เกินห้องละ 50 คน, เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนอื่นๆ ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนขยายโอกาสสามารถสมัครเข้า ม.4 ในโรงเรียนแข่งขันสูงได้.

Tags : , , , , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคาร ที่ 22 พฤศจิกายน 2554
ธาตุในชีวิตมนุษย์ประกอบไปด้วย ดินน้ำ ลม ไฟ ซึ่งธาตุทั้ง 4 นี้แม้จะมีคุณค่าอย่างมหาศาล แต่ก็มีโทษได้อย่างมหันต์ เช่นกันหากมีเกินความพอดี เช่นกรณีการเกิดอุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยหลายล้านคนที่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน อาชีพ ต้องทิ้งบ้านเรือนไปอาศัยอยู่ตามถนนหนทางหรือศูนย์อพยพต่าง ๆ ส่วนนี้คงไม่ต้องพูดถึงจิตใจของผู้ประสบภัยว่าจะทุกข์หนักหนาสาหัสแค่ไหนและความทุกข์ที่ว่านี้ก็ได้ขยายไปสู่ทุกภาคส่วนเพราะต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไปด้วยกัน
แต่อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หากมองแต่ด้านลบอย่างเดียวก็จะยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้เกิดมากขึ้นเพราะอย่างไรเสียเหตุก็ได้เกิดขึ้นไปแล้วก็คงต้องหามุมบวกมาคิดเพื่อทำให้ชีวิตมีพลังใจ มีสติในการแก้ปัญหามากขึ้น ด้วยมหาอุทกภัยครั้งนี้แม้จะมีความรุนแรงแต่ก็พอมีช่องให้พอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อยู่บ้าง ซึ่งแสงสว่างที่ว่านี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะได้เรียนรู้วิชาชีวิตจริงจากประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้มีบทเรียนกับการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจนส่งผลให้เกิดมหาอุทกภัยขึ้นเพื่อนำไปแก้ไขข้อบกพร่องต่อไป ซึ่งบทเรียนจากชีวิตจริงที่ว่านี้จึงน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่ากับการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตในหลายแง่หลายมุม คือทำให้คนไทยยอมรับถึงความเป็นจริงของวิถีชีวิตว่าจะต้องอยู่ร่วมกับธรรมชาติทั้งช่วงที่ให้คุณและให้โทษอย่างมีสติให้ได้และที่สำคัญจะได้เกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกที่ดีว่า หากมนุษย์คิดแต่จะตักตวงประโยชน์จากธรรมชาติฝ่ายเดียว สักวันหนึ่งธรรมชาติก็จะต้องเอาคืนบ้างจนได้ไม่ช้าก็เร็ว
ทำให้คนไทยมีเกราะทางจิตใจที่แข็งแกร่งขึ้นเพราะหากสามารถปรับจิตใจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ก็เหมือนกับชีวิตได้รับวัคซีนป้องกันภัยให้จิตใจชั้นดีทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลังจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป ซึ่งตัวอย่างที่ว่านี้จะเห็นได้ชัดเจนกับคนรุ่นเก่าหรือผู้สูงอายุในปัจจุบันที่เจอปัญหานี้แล้วยังมีพลังใจดีอยู่เมื่อถูกสื่อสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จึงได้คำตอบว่า “เป็นเรื่องของธรรมชาติ น้ำมาเดี๋ยวก็ไหลไป อยู่ใต้ฟ้าไปกลัวอะไรกับฝน” อะไรทำนองนั้น ทั้งนี้ก็ด้วยผ่านอุปสรรคปัญหามามากแล้วนั่นเอง แต่ในทางกลับกันหากเป็นคนรุ่นใหม่สิ่งแรกที่เห็นก่อนเลยก็คือร้องไห้ แสดงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส บางรายถึงกับต่อว่าต่อขานคนอื่นว่าไม่เข้าไปช่วยเหลือโดยไม่ดูเหตุการณ์ว่าเกิดขึ้นเฉพาะตนหรือคนจำนวนมากทั้งนี้ก็ด้วยยังมีเกราะคุ้มกันด้านจิตใจน้อยอยู่นั่นเอง

ทำให้เยาวชน คนไทย ได้เรียนรู้ความเป็นจริงด้านภูมิศาสตร์และธรรมชาติของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปว่าหากมนุษย์ยังไม่หยุดการทำลายความสมดุลของธรรมชาติแล้วความหายนะก็คงจะคืบคลานเข้ามาในไม่ช้า ซึ่งมหาอุทกภัยครั้งนี้ก็ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่เตือนว่าธรรมชาติเอาจริงแน่ ซึ่งความสมดุลของธรรมชาติของน้ำที่ว่านี้เมื่อหล่นจากฟ้าก็ต้องถูกซึมซับลงไปในดินจนอิ่มตัวก็จะไหลไปยังที่ต่ำตามห้วย หนอง บึง และไหลลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ลำคลอง และสู่ทะเลในที่สุด แต่ปัจจุบันนี้มนุษย์ได้ทำให้วัฏจักรที่ว่านี้เสียไป ด้วยการไปทำลายที่อยู่ที่ไหลของน้ำด้วยสิ่งปลูกสร้างสารพัดประเภทและเมื่อมีน้ำมากขึ้นต่างก็พยายามสกัดกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ที่คิดว่าฝ่ายตนเองรับผิดชอบทำให้เส้นทางเดินของน้ำผิดธรรมชาติไป จนเกิดการสะสมน้ำจำนวนมากในที่สุดสิ่งกีดขวางทั้งหลายจึงเอาไม่อยู่เกิดเป็นอภิมหาอุทกภัยครั้งนี้ในที่สุด

ได้ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำอย่างมีความสุข โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่กับวัตถุ สิ่งก่อสร้างทำให้ห่างไกลจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งจะต่างกับผู้คนในอดีตที่วิถีชีวิตจะอยู่กับน้ำมาโดยตลอดทั้งการตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งน้ำด้วยต้องอาศัยน้ำในการดำเนินชีวิตทั้งอุปโภค บริโภค และอาชีพ จึงเห็นคุณค่าของน้ำและรับรู้ธรรมชาติของน้ำที่จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลจึงสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้อย่างเป็นธรรมชาติผิดกับคนรุ่นใหม่พอเห็นน้ำมากหน่อยก็เกิดความกังวล หวาดกลัวทิ้งบ้านเรือนทั้งที่น้ำยังท่วมไปไม่ถึงได้ทำให้ทุกฝ่ายทราบข้อเท็จจริงว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้สะสมขยะและสารพิษไว้จำนวนมาก เพราะน้ำท่วมในครั้งนี้นอกจากจะมีปริมาณน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างหนักแล้วยังได้เห็นขยะ สารพิษต่าง ๆ ไหลมากับน้ำจำนวนมากอีกด้วย น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้จึงถือเป็นโอกาสชะล้างสารพิษสิ่งหมักหมมมานานให้หมดไป ก่อนที่ทำให้คนไทยต้องตายผ่อนส่งตามมานั่นเอง

ได้ทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงศักยภาพในการแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพราะเท่าที่ดูจากการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้แล้วก็เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะมองเห็นข้อบกพร่องอยู่มากมายโดยเฉพาะแนวทางและวิธีคิดที่ไปคนละทิศละทางจนขาดเอกภาพ เช่น ภาคราชการก็ยังต้วมเตี้ยมอยู่กับขั้นตอนของการบังคับบัญชาและตัวหนังสือที่ใช้สั่งการทั้งที่เป็นปัญหาภัยพิบัติฉุกเฉินแท้ๆ ด้านนักวิชาการก็เน้นแต่ทฤษฎีเป็นหลักจนทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองด้วยมาจากคนละสำนักทำให้ข้อมูลและวิธีการแก้ปัญหาจึงเป็นไปในลักษณะ “หนูทดลองยา” หรือ “การฝึกทหารในสนามรบ ก็จบชีวิตทั้งผู้ฝึกและคนถูกฝึก” นี่ยังไม่รวมถึงการนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาด้วยการแยกเขา แยกเรา ชิงดี ชิงเด่น ทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันการ ส่วนนี้นอกจากประชาชนจะทนทุกข์กับน้ำที่ท่วมหนักแล้วยังต้องมาพลอยเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมดังกล่าวอีกด้วย
ได้ทำให้เยาวชนและนานาชาติได้เห็นถึงจุดเด่นของความเป็นคนไทยที่ยังมีความงดงามด้านจิตใจมีจิตอาสายามเห็นผู้อื่นตกทุกข์ได้ยากหรือมีความลำบากมากกว่าอยู่ จึงเกิดภาพการช่วยเหลือจากบุคคลทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่น้ำใจจากชาวเขาบนดอย แม้ส่วนนี้จะมีผู้เห็นแก่ได้ที่ยังฉกฉวยโอกาสหาประโยชน์บนความทุกข์ของผู้อื่นอยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของผู้คนส่วนใหญ่เท่านั้นซึ่งจิตใจที่ดีงามนี้จึงอยากให้สืบทอดกันต่อไปเพราะนี่คือสิ่งที่ต่างชาติเขาเห็นคุณค่าและชื่นชมความเป็นคนไทยมากที่สุด
ทำให้ได้เรียนรู้ในศักยภาพของสื่อมวลชนไทย เพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้

สื่อทุกแขนงต่างแข่งขันนำเสนอทั้งเหตุการณ์และข้อมูลกันอย่างหลากหลายจนเกินความพอดีไป โดยเฉพาะวิธีการนำเสนอที่ส่วนใหญ่จะออกไปทางแนว “ดราม่า” ที่ทั้งภาพและภาษาเน้นหนักที่ต้องการสร้างความตื่นตระหนก หวาดกลัวให้กับผู้รับข่าวสารทั้งสิ้น เช่นรายงานว่า “คงไม่รอดแน่ วิกฤติหนัก หนีตายอลหม่าน” นี่ยังไม่รวมบางรายการที่ได้ใช้เหตุการณ์นี้จัดเป็นรายการวาไรตี้ทั้งที่ชาวบ้านเขาทุกข์โศกอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหวังดึงให้มีการติดตามชมรายการของตนเองให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ชมมีหลายระดับหากไม่สามารถสังเคราะห์ข่าวสารเป็นแล้วก็จะ “อิน” กับสิ่งที่นำเสนอจนเกิด “วิตกจริต” ไปในที่สุด

บทเรียนท้ายสุดที่จะขอนำเสนอในที่นี้ก็คงเป็นพระราชวินิจฉัยการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพมองการณ์ไกลว่าสถานการณ์น้ำบ้านเราจะเป็นอย่างไรพร้อมวินิจฉัยแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่พร้อมรับเหตุที่จะเกิดขึ้นไว้ให้ครบทุกขั้นตอนมากว่า 40 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนนำไปดำเนินการจนเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 พระองค์ก็ยังได้มีพระราชดำริย้ำให้เห็นถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดอีกแต่จนแล้วจนรอดก็ยังขาดการปฏิบัติอยู่เช่นเดิม จนเกิดมหาอุทกภัยครั้งนี้ตามมา เรื่องนี้เมื่อมีการนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเผยแพร่จึงน่าจะทำให้ประชาชนได้หูตาสว่างขึ้นว่ารัฐบาลที่อ้างว่าจะทำประโยชน์เพื่อประชาชนนั้นทำจริงได้แค่ไหน เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่ร่วมกันส่งสัญญาณไปถึงนักการเมือง พรรคการเมืองให้ได้ว่า ต่อไปนี้หากไม่มีนโยบายหรือแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างจริงจังแล้วก็จะไม่เลือกเข้ามาให้เกะกะลูกตาอีกต่อไปและที่สำคัญอย่าไปเห็นแค่เศษเล็กเศษน้อยที่นักการเมืองหยิบยื่นให้เพราะเมื่อแลกกับความเดือดร้อน ความสูญเสีย ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นแล้วไม่คุ้มกันเลย เพราะเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เชื่อว่าครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหากไม่มีระบบการป้องกันและบริหารจัดการน้ำที่ดีแล้ว ความหายนะก็จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้เห็นได้อีกเป็นแน่.

กลิ่น สระทองเนียม

Tags : , , , , , , , , | add comments