Jan 25
ครูขอเล่าประสบการณ์ในการสอนจินตคณิตให้ฟัง เรื่องก็มีอยู่ว่า มีเด็กหญิงชายคู่หนึ่ง เร่มเข้ามาเรียนจินตคณิตกับทางสถาบันเรา โดยที่เด็กผู้หญิงเข้ามาเริ่มเรียนก่อน เด็กผู้หญิงเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ตั้งใจเรียน จนสามารถเรียนอยู่ในระดับที่ดีมาตลอด เด็กผู้หญิงคนนี้ สามารถเรียนโดยมีอัตราเร็วในระดับที่สามารถเร่งได้ จึงเรียนแบบเร่งมาตลอด ต่อมาเด็กผู้ชายที่เป็นเพื่อนเรียนในโรงเรียนเดียวกันมาเรียน เขาเริ่มไต่จากระดับเด็กเล็กมาเรื่อยๆ โดยเรียนตามอัตราเร็วของเด็กปกติทั่วไป การเรียนก็ดำเนินต่อไปโดยที่เด็กผู้ชายค่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ โดยมีเด็กผู้หญิงเป็นเหมือนต้นแบบ เขาอยากเก่งแบบเด็กผู้หญิง จึงใส่ความตั้งใจในการเรียน การฝึกฝนอย่างเต็มที่ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีความรู้สึกว่าตนเองนำหน้าเด็กผู้ชายไปแล้ว เกิดความประมาท ความตั้งใจที่เคยมีจึงลดลง สมาธิที่เคยดีก็กลับแย่ลงเรื่อยๆ เชื่อหรือไม่ว่าขณะนี้การเรียนของทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกัน โดยมีเด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะจินตนาการได้แม่นยำ และใช้เวลาสั้นกว่าเด็กผู้หญิง
ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นจริง เหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สาเหตุเกิดเนื่องจากการเปรียบเทียบกัน เด็กผู้หญิงคิดว่าตนเองเรียนได้เร็วกว่าก็เกิดความประมาท ไม่ฝึกฝนตนเอง มีความมั่นใจเกินไป ในขณะที่เด็กผู้ชายมีความพยายามเพื่อให้ถึงจุดหมายที่วางไว้ จึงมีความตั้งใจ และฝึกฝนตนเองเพื่อให้ถึงจุดหมายได้ในเร็ววัน เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหากเด็กทุกๆ คนไม่คอยเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เพียงแต่ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด ความสามารถที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การคอยแต่พะวงกับคู่แข่ง เปรียบเสมือนกับการปีนเขา ถ้าเราคอยพะวงข้างหลังสมาธิที่จะไต่ขึ้นสูงจะเสียไปจนอาจทำให้เราตกเขาลงมาเลยก็ได้ การเรียนจินตคณิตก็เช่นกันเด็กๆ จะต้องมีสมาธิในส่วนของตนเอง หากคอยไปพะวงเรื่องอื่น ก็เป็นเหตุให้สมาธิของตนเองในการก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นเสียไป ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยโดยการไม่สร้างความกดดันบุตรหลาน โดยการเปรียบเทียบบุตรหลานกับเพื่อนๆ เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนทักษะ รักษาระดับสมาธิของตนเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากฝึกเด็กได้ตามแนวทางดังกล่าวไม่ว่าเขาจะเรียนอะไร ก็จะสัมฤทธิ์ผลที่สูงที่สุดแน่นอน
ครูจา
Jan 11
เคยสังเกตพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ของบุตรหลานไหมว่า เป็นเด็กที่ชอบคิดโจทย์คณิตศาสตร์ในหลายๆ รูปแบบ หรือหยุดทุกครั้งเมื่อเจอกับโจทย์ปัญหา
การเรียนคณิตศาสตร์นั้น เราต้องเริ่มตั้งแต่วัยอนุบาล ซึ่งการเรียนจะเป็นการที่ครู หรือผู้ปกครองจะเป็นผู้ชี้แนะ หรือแนะนำวิธีการคิดคณิตศาสตร์ในขั้นพื้นฐานให้ ตั้งแต่การเชื่อมโยงตัวเลขให้เป็นรูปธรรม ไปจนถึงการนับ การบวก การลบ ซึ่งการเรียนในวัยนี้จะต้องพึ่งพิงครูเป็นผู้แนะนำวิธีการให้กับเด็กๆ เป็นหลัก คอยให้กำลังใจเมื่อเด็กๆ เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ยังคอยชื่นชมที่เด็กๆ ทำสิ่งใหม่ๆได้ จนถึงวัยประถม การแนะนำหรือการชี้แนะยังคงวิธีการจะเป็นการสอนในช่วงเข้าสู่บทเรียนใหม่ และจะต้องปล่อยให้เด็กได้ฝึกฝนและฝึกทักษะเพื่อให้เกิดประสบการณ์ หรือรวมไปถึงการประยุกต์ใช้วิธีที่ได้รับแต่สิ่งที่ถูกลืมคือ การคอยให้กำลังใจและชื่นชมที่ขาดหายไป การแนะนำจากครูผู้สอน เนื่องจากเมื่อเด็กเริ่มที่จะฝึกฝน มักจะเกิดข้อผิดพลาดในช่วงแรกได้บ้าง ครูหรือผู้ปกครองไม่ควรตำหนิในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เนื่องจากเด็กจะมีความรู้สึกกลัวที่จะเริ่มในสิ่งใหม่ๆ กลัวจะทำผิดเพราะจะถูกตำหนิได้ เมื่อเด็กถูกตำหนิ หรือลงโทษในข้อผิดพลาดบ่อยๆ ทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ว่าไม่ควรเริ่มคิด หรือฝึกฝนอะไรด้วยตนเอง เพราะมักถูกตำหนิหรือลงโทษ เด็กที่อยู่ภายใต้ภาวะดังกล่าวจะไม่ยอมเริ่มเรียนรู้สิ่งใดๆ ด้วยตนเอง มักรอคอยการชี้แนะตลอดเวลาเป็นการเรียนแบบป้อน ซึ่งจะเป็นผลเสียกับการเรียนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนคณิตศาสตร์ เพราะการเรียนคณิตศาสตร์เป็นการเรียนที่ต้องคิดวิธีการแก้ปัญหาในแบบต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มลำดับความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ตามปีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การเรียนคณิตศาสตร์ในเด็กประเภทดังกล่าวจะย่ำอยู่กับที่และถอยหลังไปเรื่อยๆ เนื่องจากจะรอคอยการชี้แนะตลอดเวลา ไม่มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบด้วยตนเอง สิ่งที่ครูหรือผู้ปกครองควรทำคือ การชี้แนะให้เข้าใจว่าข้อผิดพลาดเกิดจากอะไร คอยให้กำลังใจ และชมเชยที่เด็กมีความพยายามในการฝึกฝนทักษะด้วยตนเอง ทำให้เด็กๆ ตองการที่จะฝึกทักษะและเกิดการเรียนรู้ในที่สุด
ครูจา
Jan 04
สังเกตไหม ว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมที่ทดถอย ในช่วงวันหยุดยาวๆ เคยสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือไม่ว่าในช่วงที่เป็นช่วงวันหยุดยาวเช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือ สงกรานต์ หรือรวมถึงช่วงปิดเทอม ว่าพฤติกรรมการเรียน หรือพฤติกรรมโดยรวมทดถอยลง จากเด็กที่เคยมีสมาธิดี ร่าเริ่ง กลับกลายเป็นเด็กที่มีสมาธิน้อยลงเรื่อยๆ หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักโดยทั่วไปที่ส่งผลให้เด็กๆ มีพฤติกรรมดังกล่าวคือการที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ถือว่าเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนทั้งของตนเองและบุตรหลาน จึงปล่อยเวลาให้เด็กๆ อยู่กับกรอบสี่เหลี่ยมประเภท จอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์มาก จนเด็กๆ ไม่สนใจกับการทำกิจกรรมอื่นๆ การเสพจอสี่เหลี่ยมที่ไม่ได้มีการจำกัดเวลา หรือมีกรอบของเวลาไว้ เด็กหลายๆ คนสมาธิก็เสียไปกับมันเลยทีเดียว จากเด็กที่เคยมีสมาธิ อยู่กับอะไรได้นานๆ สมาธิก็จะลดลงจนในที่สุด ก็อาจส่งผลให้เกิดสมาธิสั้นเนื่องจากการเลี้ยงดูในที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตพฤติกรรมที่ทดถอยของบุตรหลานได้ตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ก็ยังพอสามารถที่จะหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่ในยุคของเทคโนโลยี ที่ทุกคนต่างเร่งรีบในทุกกิจกรรม ยากนักที่จะรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ในช่วงต้นๆ และเด็กๆ จะถูกละเลย จนปัญหาเรื่องสมาธิแก้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นปัญหาใหญ่จนแก้ไม่ได้ เพียงแต่ยิ่งปล่อยให้เวลานานเท่าไร ปัญหายิ่งทับถมทวีคูณ จนไม่ใช่เป็นปัญหาเพียงปัญหาเดียว อาจมีปัญหาอื่นซ้อนขึ้นมาได้ การแก้ปัญหาทำได้โดยการมีกรอบเรื่องเงื่อนของเวลามาเป็นเกณฑ์ ไม่ควรปล่อยให้เขามีกิจกรรมอยู่กับจอสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว ควรมีกิจกรรมที่เสิรมทักษะที่เหมาะกับวัย เพื่อให้เขาได้รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มากกกว่าการนั่งจ้องเจ้าจอสี่เหลี่ยมไปตลอดวัน มาช่วยกันใส่กรอบให้กับเด็ก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้เรื่องวินัยไปพร้อมๆ กัน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ครูจา