Jul 29
เนื่องจากมีคำถามที่น่าสนใจ ทิ้งไว้ใน Facebook ของทางสถาบันว่า น้องอายุ 12 ปีจะช้าไปหรือไม่สำหรับการเรียนจินตคณิต หรือหลาย ๆ คำถามมักถามถึงการเรียนจินตคณิตว่าอายุเท่าไรจึงจะเหมะสมในการเริ่มเรียนจินตคณิต เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานของการเลี้ยงดู และการเรียนที่แตกต่างกัน การเรียนจินตคณิตจึงไม่ตายตัวสำหรับเด็กทุก ๆ คน แต่จากสถิติและประสบการณ์ เรามักพบว่า เด็กในวัยอนุบาลที่เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับจำนวนและตัวเลข จะเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่รู้สึกว่าการเรียนลูกคิดง่ายหรือยากเกินไป เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่แล้ว และเมื่อถึงการจินตนาการภาพลูกคิด เด็ก ๆ ก็จะทำได้อย่างไม่ยากเย็นเหมือนเด็กที่โตกว่า ที่ผ่านกระบวนการคิดแบบทด หรือการคิดในใจ ที่ถูกฝึกมาจนชิน ทำให้การสร้างจินตภาพมักเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่าเด็กเล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่โตกว่าจะทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าในช่วงสร้างจินตภาพนั้น เขาต้องใช้สมาธิและความพยายามในการจินตนาการในช่วงแรกมากกว่าเด็กเล็กเท่านั้นเอง แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนก็สามารถทำได้ไม่ยากเช่นกัน
แต่ข้อได้เปรียบของเด็กเล็กอีกประการหนึ่งคือ หลังจากที่มีการฝึกใช้อย่างต่อเนื่อง เด็กเล็กมักเกิดความคุ้นเคยและคล่องแคล่ว เมื่อใดที่มีการคิดเลข ก็สามารถนำการจินตนาการมาใช้ได้ทันที และส่วนใหญ่มักได้คำตอบที่เร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ทัศนคติในการเรียนคณิตศาสตร์ดี มีความมั่นใจในการเรียนมากขึ้นด้วย
Jul 15
ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลการสอบกลางภาคของเด็ก ๆ เป็นช่วงที่มักจะเห็นหน้าตาที่คร่ำเคร่งของเด็ก ๆ แต่คร่ำเครียดของผู้ปกครอง
เรามักพบว่าหลาย ๆ ครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งอ่านหนังสือกับลูก กับอีกหลาย ๆ ครอบครัวที่คุณพ่อ คุณแม่อ่านจับใจความและทำการขีดเส้นใจความสำคัญให้บุตรหลาน เพื่อเป็นการย่นระยะเวลาในการอ่านเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกไป
การอ่านหนังสือที่คุณพ่อคุณแม่ อ่านไปพร้อมกับลูก โดยที่ให้เด็กมีหน้าที่หลักในการอ่าน และคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเสริม หรือบรรยาย ให้เด็กมีความเข้าใจมากขึ้น อาจจะเสียเวลามากกว่าแต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ การได้ฝึกบุตรหลานทั้งทักษะในการอ่าน การอ่านจับใจความ และเพิ่มสีสันให้กับการอ่านหนังสือสอบที่ไม่น่าเบื่อ เพราะจะมีประสบการณ์หรือเรื่องเล่าจากคุณพ่อคุณแม่เพิ่ม แต่ในทางกลับกันหากคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ลงมืออ่าน และจับใจความให้กับบุตรหลาน สิ่งที่ได้กลับมาคือ การอ่านหนังสือแบบไม่สามารถจับใจความสำคัญของบทเรียน เบื่อหน่ายกับการอ่านหนังสือที่เป็นเพียงตัวหนังสือที่ถูกขึดเป็นช่วงเป็นตอน ที่ไม่น่าสนใจ และเมื่อเขาโตขึ้น บทเรียน และกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะมีมากขึ้น ทำให้การอ่านเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะเลือก ทั้งการหาความรู้ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง
หากแต่วันนี้คุณพ่อ คุณแม่ต้องอดทน รอคอย ฝึกฝน ให้เขาได้เพิ่มพูนทักษะอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่เล็ก และเขาจะสามารถนำมาใช้เมื่อเขาโตขึ้นได้ด้วยตนเอง
Jul 04
Posted by malinee on Thursday Jul 4, 2013 Under เกร็ดความรู้
ตอนนี้กระแสของ AEC (การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน) มีผลต่อการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาหลาย ๆ โรง มีนโยบายให้มีการเรียนการสอนภาษาของประเทศอาเซียนเพิ่มอีก 1 ภาษา หากเราคิดกันดี ๆ แล้ว ประโยชน์ของการเรียนภาษาเพิ่มอีก 1 ภาษานั้นคุ้มค่ากับเวลาในการเรียนที่เสียไปหรือไม่ หากเรามองกันดี ๆ แล้ว ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาที่สองที่ถูกเน้นให้เรียนกันอย่างน้อย 3 – 4 คาบต่อสัปดาห์ ยังไม่สามารถทำให้เด็กมีความสามารถ หรือทักษะมากพอที่จะสนทนา โต้ตอบกับชาวต่างชาติได้เลย กับการเพิ่มภาษาอีก 1 ภาษา กับเวลาที่เสียไป 1 คาบต่อสัปดาห์ ที่ไม่ได้ใช้ และไม่คุ้นเคย จะได้อะไรที่คุ้มค่ากลับมาหรือไม่
หากเป็นไปได้ ผู้บริหารทั้งทางโรงเรียนและประเทศ ควรพิจารณาทั้งกรอบของเวลา และประโยชน์ที่จะได้รับว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ หากเราได้การสนทนาเพิ่มอีก 1 ภาษา (เช่น ภาษาพม่า) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้เพียงประเทศเดียว ไม่ใช่เป็นภาษาที่ใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารกันทั่วโลก หากเป็นเช่นนั้น เรามามุ่งเน้นภาษาอังกฤษ ทั้งในหมวดของการฟัง และการพูด จะได้ประโยชน์มากกว่าหลายสิบเท่านัก