Jul 27
ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสียของการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการของประชาคมอาเซียน เราควรจะศึกษาถึงข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ก่อน
เริ่มด้วยความมุ่งหวังของการรวมกลุ่มจัดตั้งประชาคมอาเซียนเป็นอันดับแรก จุดประสงค์หลักเพื่อให้เราเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งหมายความถึงการมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ส่วนในแง่ของการผลิต ก็จะมีฐานการผลิตร่วมกันโดยเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี
หลังจากศึกษาถึงจุดมุ่งหมายหลักของการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนแล้ว ลองมาดูผลสำรวจที่น่าสนใจ จากรายงานของ The Global Competitiveness Report 2011-2012 โดย World Economic Forum (WEF) ที่สำรวจอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ 142 ประเทศ
ในปีนี้พบว่า ความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยลดลงจากอันดับที่ 27 เมื่อปีที่แล้วและอันดับที่ 26 เมื่อปี2553 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 30 เนื่องจากไทยมีปัญหาการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ส่งผลให้อันดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง 4 ด้าน คือประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ ด้านการทำงานของรัฐบาล ด้านธุรกิจ และโครงการสร้างพื้นฐาน
พบว่า อันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยปรับลดลง 1 ตำแหน่ง จากลำดับที่ 38 เมื่อปีที่แล้วเป็น 39 ในปีนี้(เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ปรับลดจากลำดับที่ 44 เป็น46 เวียดนาม จาก 59 เป็น 65) ขณะที่ประเทศที่มีลำดับดีขึ้นได้แก่ สิงคโปร์ ดีขึ้นจากลำดับ 3 เป็น 2 มาเลเซีย จาก 26 เป็น 21 ฟิลิปปินส์ จาก 85 เป็น 75 กัมพูชา จาก 109 เป็น 97 ส่วนบรูไน ลำดับเท่าเดิม คือ 28
ประกอบกับการรายงานของ International Institute for Management Development (2003) มีนักวิชาการหลายท่านสรุปว่าความสามารถในการแข่งขันนอกจากมาจากปัจจัยการผลิต 4 ประการ คือ ที่ดิน ทุน ทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานแล้ว การศึกษา และการเพิ่มองค์ความรู้พิเศษ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ลำพังความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษที่เราจะต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน 2558 เราก็พบว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ จากรายงานดัชนีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ปี 2011 ของสถาบันสอนภาษา Education First (EF) สถาบันสอนภาษาชั้นนำของโลก ซึ่งดัชนีดังกล่าวทำมาจากการรวบรวมข้อมูลจากประชากรในวัยทำงานกว่า 2 ล้านคนใน 44 ประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาแม่ทั่วโลก การวัดผลก็จะวัดจากการทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ
ผลของการวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษดังกล่าวปรากฏว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของไทยอยู่ในอันดับที่ 42 จาก 44 ประเทศ โดยจัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านภาษาอังกฤษต่ำมาก (Very Low Proficiency) และหากเทียบเฉพาะประเทศ ในทวีปเอเชียที่ทำการวิจัยมี 13 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย รองลงมา คือ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย คาซัคสถาน ตามลำดับ
หากเราพิจารณาถึงข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวในมุมของการศึกษาไทย ที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน คงเห็นภาพได้ลาง ๆ แล้วว่า ตลาดแรงงานไทย น่าจะมีผลกระทบในด้านใดมากกว่ากัน
ครูจา
ข้อมูลจาก http://www.thai-aec.com
Jul 24
จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์
วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ : ‘ธงชาติ’ อาเซียน : โดย…พี่ฮัมมิ่งเบิร์ด
ตอนนี้หันไปทางไหนก็มีแต่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนตลอด..ตลอด แต่น้องๆ อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ เพราะอาเซียน ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เหลืออีก 900 กว่าวันก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากใครไม่สนใจอาจพลาดโอกาสดีๆ ในอนาคตได้ ว่าแต่น้องๆ ทราบกันหรือเปล่าคะ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศนั้น มีลักษณะธงชาติเป็นเช่นไร
เริ่มด้วย ธงชาติไทย แผ่นดินเกิดของพวกเรา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน โดยภายในแบ่งเป็น 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอก ทั้งด้านบนและด้านล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ ความหมายสำคัญ คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน)
ต่อมา ธงชาติเวียดนาม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงแดง ดาวเหลือง” ลักษณะธงชาติเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีแดง ตรงกลางมีรูปดาวห้าแฉกสีเหลืองทอง สีแดงหมายถึง การต่อสู้เพื่อกู้เอกราชของชาวเวียดนาม สีเหลือง คือสีของชาวเวียดนาม ส่วนดาวห้าแฉกหมายถึงชนชั้นต่างๆ ในสังคมเวียดนาม คือนักปราชญ์ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้า และทหาร อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรวมชาติเวียดนามในปี 2519 ความหมายในธงได้มีการอธิบายใหม่ในทางการเมืองว่า สีแดง หมายถึงการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ และดาวสีทอง หมายถึงการชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก่อนหน้านี้ในปี 2488-2498
ธงชาติสิงคโปร์ เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประกอบด้วย แถบสองสีแบ่งครึ่งกลางธง แถบสีแดงอยู่ด้านบนแถบสีขาวอยู่ด้านล่าง ที่มุมธงบนมีรูปพระจันทร์เสี้ยวถัดจากรูปดังกล่าว มีรูปดาวห้าแฉก 5 ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมมีสีขาว ธงนี้เริ่มใช้ในปี 2502 ซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์ปกครองตนเองจากจักรวรรดิอังกฤษและถือเป็นธงชาติของรัฐเอกราชเมื่อสิงคโปร์ประกาศเอกราชในวันที่ 9 สิงหาคม 2508 ความหมายสำคัญขององค์ประกอบในธง ได้แก่ สีแดงหมายถึงภราดรและความเสมอภาคของมนุษย์ สีขาว ความบริสุทธิ์ ความดีงามที่แพร่หลายและคงอยู่ รูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น หมายถึงความเป็นชาติใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น ดาว 5 ดาวหมายถึง อุดมคติ 5 ประการของชาติได้แก่ ประชาธิปไตย สันติภาพ ความก้าวหน้า ความยุติธรรม และความเสมอภาค (แล้วติดตามอีก 7 ประเทศที่เหลือนะคะ)
Jul 12
จากหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ ออนไลน์
วันพฤหัสที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
กทม.คุมเข้มโรงเรียนในสังกัดดูแลความสะอาดและติดตามสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากอย่างใกล้ชิด วันนี้ (11 ก.ค.) แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์เอ็นเทอร์โรไวรัส 71 ในประเทศกัมพูชา จนทำให้มีเด็กเสียชีวิตจำนวนมากนั้น กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่กทม. อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือน ม.ค. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งจากการเปรียบเทียบต่อเดือนย้อนหลัง 5 ปี พบว่าสถิติการเกิดโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ซึ่งมีอากาศร้อน ชื้น พบผู้ป่วยสูงมากเป็นพิเศษ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นมา พบผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 2,000 คน เฉพาะวันที่ 1- 9 ก.ค. 2555 พบจำนวน 135 คน เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ค็อกซากี ซึ่งไม่มีความรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ที่พบในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้กำชับสถานศึกษาทุกแห่งเข้มงวดมาตรการการดูแลรักษาความสะอาดภายในโรงเรียน และมาตรการการดำเนินการหากพบผู้ป่วย โดยในกรณีพบผู้ป่วย 2 รายขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกันให้ปิดเฉพาะห้องเรียนนั้น และหากพบผู้ป่วยข้ามชั้นเรียนให้พิจารณาปิดโรงเรียนอย่างน้อย 7 วัน ทั้งนี้จะได้มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ปกครองต่อไป

ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เน็ต
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กที่ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หากพบเด็กมีอาการไข้สูงต่อเนื่อง ควรรีบพาไปพบแพทย์ ทั้งนี้โรคมือ เท้าปาก สามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัส ดังนั้นผู้ปกครองควรให้เด็กที่ป่วยรักษาตัวอยู่แต่ในบ้านเพื่อป้องกันการระบาดไปยังเด็กคนอื่น สำหรับโรงเรียนควรมีการดูแล ทำความสะอาดโรงเรียนอย่างสม่ำเสนอ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได โรงครัว ภาชนะใส่น้ำ อาหาร ห้องน้ำ เครื่องเล่นของเด็ก รวมทั้งสอนให้เด็กได้ล้างมืออย่างถูกวิธีทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายด้วย
Jul 07
Posted by malinee on Saturday Jul 7, 2012 Under เกร็ดความรู้
ในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า “ประชาคมอาเซียน หรือ อาเซียน 2558” อยู่บ่อยครั้ง หลาย ๆ คนคงสงสัยว่า อาเซียนซึ่งเป็นคำย่อมาจาก “Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN ”ก็มีมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงมีกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงนี้
หากมองย้อนกลับไปดี ๆ เราจะพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ นั่นคือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียตนาม แต่เพิ่งมีข้อตกลงและนโยบายที่จะใช้ร่วมกัน ที่กำลังจะเริ่มในปี 2558 ประชาคมอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community) โดยข้อตกลงส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสมาชิก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้