Dec 21
เคยได้ยินเรื่องหมาขี้เรื้อนกันบ้างรึเปล่า เรื่องมีอยู่ว่า มีหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่ง หลังจากเป็นขี้เรื้อนแล้ว ก็เฝ้าแต่ย้ายที่นอนไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าที่ที่ตนนอนอยู่นั้น มันสกปรกจึงทำให้ตัวเองคัน จึงเปลี่ยนที่นอนไปเรื่อยๆ หวังว่าจะเจอที่นอนที่สะอาดแล้วทำให้มันหลับสบายซักที่ ได้แต่โทษว่าที่นอนไม่สะอาด แต่ลืมย้อนกลับมาดูที่ตนเองว่าจริงๆ แล้วสาเหตุของการคันจริงๆ เป็นเพราะตัวมันเองที่มีปัญหา
จากเรื่องหมาขี้เรื้อนก็เปรียบได้กับการหาที่เรียนของเด็กบางคน บางครั้งปัญหาอาจเกิดจากตัวเด็กเอง เช่น การที่เด็กอาจขาดสมาธิและความตั้งใจ หรือ การที่เด็กขาดการสื่อสารกับครูผู้สอน ซึ่งการสื่อสารกับครูผู้สอนเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากว่าครูจะได้รู้ว่าเด็กยังติดกับตรงไหน เป็นต้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็คอยแต่จะเปลี่ยนที่เรียนไปเรื่อยๆ เผื่อว่าจะสามารถหาที่ๆ เหมาะกับบุตรหลานตนเองในที่สุด แต่บางครั้งเราอาจต้องปรับปรุงหรือสำรวจตัวเราเองบ้าง เพื่อให้บุตรหลานของเราได้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในที่สุด
ครูจา
Dec 14
เคยมีผู้ปกครองหลายๆ คนถามว่า เด็กที่เรียนเก่งอยู่แล้ว ทำไมยังต้องเรียนเสริมอีก และบางทีอาจเป็นคำถามจากตัวเด็กเอง คำอธิบายมีอยู่ว่า การเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์นั้น ในแต่ละช่วงชั้น หรือแม้กระทั่งในแต่ละปีระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น จะสอดคล้องกับระดับของความยาก ความซับซ้อนของการแก้ไขปัญหาโจทย์ก็จะมากขึ้นตามลำดับ ในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น สิ่งที่จำเป็นในการเรียน เบื้องต้นคือความเข้าใจ สิ่งต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือทักษะ นั่นหมายความว่าเด็กจะต้องมีความเข้าใจในการเรียน และมีการฝึกทักษะโดยการทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ จากโจทย์ปัญหาที่ผ่านการฝึกฝนโจทย์ปัญหาก็จะกลายเป็นแบบฝึกหัดธรรมดาในที่สุด การฝึกทักษะไม่จำเป็นต้องส่งบุตรหลานเรียนเสริมก็ได้ หากที่บ้านสามารถฝึกฝนให้เด็กมีการฝึกทักษะได้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แต่ในความเป็นจริงของยุคปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถฝึกทักษะต่างๆ ด้วยตนเองได้ การส่งบุตรหลานไปเรียน เป็นทั้งการฝึกทักษะเดิมให้มีความชำนาญมากขึ้น และนอกจากนี้แล้วยังเป็นการเรียนรู้เนื้อหาที่ลึกซึ้งมากขึ้น หรืออาจเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย
นอกจากนี้การเรียนเพื่อเพิ่มทักษะ และความเข้าใจแล้ว ยังเป็นการเตรียมตัวให้เด็ก ซึ่งต้องมีวันใดวันหนึ่งที่เขาจะต้องเข้าสู่สนามสอบแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเด็กเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือในที่สุดก็เป็นสนามสอบเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง
ครูจา
Dec 08
มีคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการเรียนจินตคณิตหลายๆ คำถาม แต่ครั้งนี้ขอมาที่ประเด็นที่ว่า หลังจากเด็กโตขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้นจึงมักมีคำถามว่า การเรียนจินตคณิต จะเป็นการเรียนที่เปล่าประโยชน์หรือไม่ จากที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนๆ ว่าการเรียนจินตคณิตนั้นจะสอดคล้องกับวัยที่เริ่มเรียนด้วยเช่นกัน เช่น หากเรียนในวัยอนุบาล จินตคณิตจะเป็นการเรียนที่นำการเรียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะมีวิธีคิดคณิตศาสตร์ผ่านการใช้ลูกคิด แต่หากเริ่มเรียนในชั้นประถมต้น การเรียนจินตคณิตจะเป็นการเรียนคู่กับคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งเด็กๆ จะต้องเลือกการคิดคำนวณที่เขาถนัดกว่ามาใช้ (หากเขาถนัดการใช้จินตนาการ เขาก็จะใช้วิธีคิดแบบลูกคิด) และยิ่งเขาเรียนในวัยที่จินตคณิตตามหลังการเรียน คณิตศาสตร์ในโรงเรียน น้อยคนนักที่จะนำวิธีการจินตนาการไปใช้ (เนื่องจากการจินตนาการนั้น เด็กจะต้องใช้สมาธิมากการคิดเลขแบบปกติ เนื่องจากต้องจินตนาการเป็นภาพ แต่เขาอาจคิดในใจโดยใช้สูตรลูกคิดเข้ามาช่วย) แต่ไม่ใช่ว่าการเรียนในระดับที่โตขึ้นจะไม่ได้ผลเสมอไป เนื่องจากการเรียนจินตคณิตในหลายๆ ประเทศเป็นที่นิยมมาก และนอกจากนี้แล้ว หากการเรียนจินตคณิตไม่ให้ผลสัมฤทธิ์กับเด็กจริงๆ มันน่าจะหายไปตามกาลเวลา แต่ยังมีการเรียนการสอนมาจนถึงปัจจุบันในหลากหลายประเทศ
นอกจากวัยที่เริ่มเรียนจะมีผลต่อความถนัดแล้ว การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้ความคุ้นเคย หรือความถนัดเกิดขึ้นเช่นกัน เปรียบเหมือนกับการเรียนภาษาที่สอง หรือที่สาม หากเด็กเรียนภาษาแล้ว ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน หากเรียนเพียงอย่างเดียว แล้วขาดการฝึกฝน หรือการใช้งาน เด็กก็จะลืมในที่สุด แต่หากได้ใช้งานทุกวัน ทักษะนั้นก็จะติดตัวเขาไป จะนำมาใช้เมื่อใดก็ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนอะไร ควรได้รับการฝึกฝนจนติดตัว เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
ครูจา
Dec 01
หลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นใด มักคาดหวังว่าการเรียนของบุตรหลานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่สิ่งที่คาดหวังอาจเป็นจริงไม่ได้หากขาดการเอาใจใส่ดูแล กวดขันตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนคณิตศาสตร์ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้บุตรหลานมีปัญหา
คราวนี้เราลองมาพิจารณากันดูว่า การเรียนคณิตศาสตร์สามารถเกิดปัญหาด้านใดได้บ้าง เราต้องมาเริ่มกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีปัญหาคณิตศาสตร์หากเขาไม่สามารถแปลงภาษาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นรูปธรรมได้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยได้ คือการให้จับต้องสิ่งของที่เป็นรูปธรรม พร้อมกับเชื่อมโยงกับตัวเลข ซึ่งถือเป็นภาษาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจ วัยต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้ช่วงปฐมวัย คือประถมต้น การเรียนคณิตศาสตร์เริ่มมีปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ต่างๆ นั่นคือการบวก ลบ คูณ หาร เข้ามา ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ คือความไม่เข้าใจเรื่องจำนวน ความไม่แม่นยำ เนื่องจากการขาดการฝึกฝน หากเด็กไม่สามารถเข้าใจการเพิ่ม ก็ส่งผลต่อเนื่องให้เด็กไม่เข้าใจการบวกซ้ำ ๆ ซึ่งหมายถึงการคูณ และนอกจากนี้ หากการบวกมีปัญหา การลบก็ย่อมมีปัญหาด้วยเช่นกัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเด็กก็จะหยุดเดินเพราะต้องสะดุดกับปมมากมาย ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ และทัศนคติด้านการเรียนเป็นลบไป
การเรียนคณิตศาสตร์หากเกิดปมตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการเรียน มักส่งผลให้การต่อยอดมีปัญหา เหมือนเชือกที่สั้นลงเนื่องจากการมัดปมไปเรื่อยๆ หากปัญหาได้รับการแก้ไข ก็เปรียบเหมือนการคลายปมให้เชือกได้ยาวขึ้น และต่อยอดได้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากต้องการให้เด็กๆ สามารถต่อยอดทางคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลการเรียนของเด็กๆ เผื่อว่าปมที่เพิ่งเกิดจะได้รับการแก้ไขก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการแกะปมที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นย่อมใช้เวลาน้อยกว่า ปมที่ถูกสะสมมานาน แต่ก็ยังดีกว่าที่มันจะกลายเป็นเงื่อนจนไม่สามารถแกะมันออกในที่สุด
ครูจา