Nov 23
Posted by malinee on Thursday Nov 23, 2017 Under เกร็ดความรู้

ในการเรียนในโรงเรียนในแต่ละระดับชั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนในหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งในแต่ละกลุ่มสาระนั้น จะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น การเรียนในวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ จำเป็นที่จะต้องท่องจำเนื้อหาให้แม่นยำ ส่วนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หากการเรียนใช้วิธีการท่องจำนั้น การท่องจำนั้นไม่สามารถทำให้การเรียนรู้เกิดการประยุกต์ใช้ได้มากนัก เนื่องจากสองกลุ่มสาระดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเพื่อต่อยอดสู่การประยุกต์ในการทำโจทย์ที่แตกต่าง หลากหลายมากขึ้น
จริงอยู่ที่ในการเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องมีการท่องจำทฤษฏีในเบื้องต้น เช่น 5 x 2 หมายถึงการบวกกัน 5 กลุ่มของ 2 (2 + 2 + 2 + 2 + 2) ไม่ใช่ 5 + 5 ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่ในความหมายที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ทฤษฏีดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ที่ว่าคำว่าของทางคณิตศาสตร์คือการคูณ หากการเรียนโดยใช้ความจำเพียงอย่างเดียว มักส่งผลให้เมื่อเจอโจทย์ปัญหา หรือโจทย์ประ ยุกต์ ก็จะต้องจำโจทย์ทุกๆ โจทย์ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้
หากเป็นเช่นนี้ ที่จะต้องให้เด็กเรียนทุกอย่างด้วยความจำ หลังจากสอบเสร็จ หรือเมื่อเวลาผ่านไป เด็กก็จะลืมในที่สุด แล้ววิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่สามารถต่อยอดออกไป เนื่องจากต้องย้ำเนื้อหาเดิมให้จำได้ก่อนเพื่อจะได้จดจำเนื้อหาใหม่ที่ต่อเนื่องต่อไปให้ได้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเรื้อรังยาวนานไปเรื่อยๆ จนเด็กมีทัศนคติไม่ดี และเกลียดวิชาดังกล่าวในที่สุด หากเป็นเช่นนี้จะดีกว่าหรือไม่ หากเราส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาดังกล่าวด้วยความเข้าใจ มากกว่าด้วยวิธีการท่องจำ
Sep 07
จากประสบการณ์ในการสอน พบว่าเด็กๆในปัจจุบันมีแนวโน้ม อ่านออกเขียนได้ช้าลง ซึ่งมักส่งผลกับการเรียนในทุกวิชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากปัจจัยหลายๆด้าน
ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากตัวเด็กเองที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (ซึ่งพบไม่บ่อยนักที่เกิดจากตัวเด็กเอง) หรือการเข้าเรียนก่อนวัยอันควรซึ่งส่งผลให้พัฒนาการช้ากว่ากลุ่มเพื่อนจนเกิดเป็นความไม่มั่นใจ เก็บตัว แต่ปัจจัยหลักที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันนั้นมักเกิดเนื่องมาจากเทคโนโลยี เราจะสังเกตเห็นว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยีมีบทบทมาก ไม่ว่าจะอยู่มุมไหน บริเวณไหน เราจะพบเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่มี tablet หรือโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ซึ่งดูกลายเป็นเรื่องปกติ
ผู้ที่จะลดบทบาทของเทคโนโลยีได้ก็มีแต่พ่อแม่ผู้ปกครองเท่านั้น เปรียบเหมือนกับ ครูกับเทคโนโลยีอยู่กันคนละฝั่ง โดยมีเด็กอยู่ตรงกลาง แค่ลำพังเทคโนโลยี ครูก็ต้องใช้พลังพอสมควรเพื่อที่จะได้เสมอกับเทคโนโลยี คราวนี้ก็ขึ้นอยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่จะเลือกฝั่งให้กับเด็กว่าจะช่วยฉุดให้เด็กไปด้านไหน หากพ่อแม่ผู้ปกครองเลือกที่จะส่ง tablet ให้กับบุตรหลาน ก็ไม่มีทางที่ฝั่งของครูจะชนะได้ แต่หากพ่อแม่ผู้ปกครองเทแรงมาที่ฝั่งครูโดยให้เด็กรู้จักหน้าที่ มีระเบียบวินัย ดูแลเอาใจใส่ด้านการเรียนของบุตรหลาน เพียงเท่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ต้องนั่งกลุ้มใจภายหลัง ว่าจะแก้ปัญหาด้านการเรียนของบุตรหลานอย่างไร
ครูจา
Jul 26
ในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ๆ หลายๆคนจะสังเกตเห็นแนวโน้มพฤติกรรมของเด็กในยุคนี้ว่า เด็กส่วนใหญ่จะต้องการการดูแลเอาใจใส่มากกว่าปกติ ต้องให้มีผู้ดูแลคอยจี้ หรือกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งที่ตนเองทำได้นานนัก ซึ่งเราสามารถแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เด็กบางกลุ่มจะไม่สามารถนั่งนิ่งได้นานๆ กับอีกประเภทคือเด็กที่นั่งอยู่นิ่งนานจนผิดปกติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขามีสมาธิอยู่กับงานที่ทำ แต่เป็นอาการลอย ไม่มีสมาธิกับอะไรเลย เด็กทั้งสองกลุ่มดังกล่าวหากต้องทำงานที่ต้องใช้สมาธิ จะต้องมีคนคอยช่วยจี้ เพื่อกระตุ้นสมาธิให้อยู่กับงานที่ทำตลอดเวลา
เราลองมาย้อนดูสาเหตุของการต้องการการประกบดูแล หรือต้องคอยจี้อยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักเกิดจากในวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ควรพาออกไปสู่การกระตุ้นให้ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ร่วมกับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ให้มีความแข็งแรง แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เด็กๆ มักถูกละเลย โดยการให้ทีวี เกมส์ หรือแท็บเล็ต เป็นผู้ช่วย หรือพี่เลี้ยง แทนที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็เหลือเพียง ตา กับ นิ้วเล็กๆ เพียงนิ้วเดียวเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้การฝึกทักษะการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสอีก 4 ด้านก็ไม่พัฒนา อีกทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็ไม่แข็งแรง นอกจากนี้แล้ว เด็กๆ มักใจจดใจจ่อกับเกมส์ จนกลายเป็นเด็กที่ขาดสมาธิ ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า ได้ง่าย เป็นเหตุให้การเรียนในโรงเรียนที่กลุ่มใหญ่ขึ้นเมื่อโตขึ้น โดยที่ครูผู้สอนเริ่มประกบ หรือจี้น้อยลง จะทำให้ผลการเรียนไม่ค่อยดีนัก
ด้วยสาเหตุดังกล่าว การเลี้ยงดูบุตรหลานควรจะต้องมีกรอบ เช่นการมีกติกาในเรื่องของเวลา เพื่อไม่ให้เด็กๆ หลุดไปอยู่ในโลกจินตนาการที่ดึงเขาเหล่านั้นออกมายาก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ในที่สุด
ครูจา
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว