คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เป็นยาขม อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ปกครองเองในวัยที่ตนเองเป็นเด็กก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ หากมาพิจารณาคณิตศาสตร์ในแต่ละช่วงวัย เราก็สามารถจะแก้ปัญหาให้กับบุตรหลานได้อย่างถูกจุดได้อย่างไม่ยากนัก เรามาดูวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยจะได้ส่งเสริมทักษะและพัฒนาการได้อย่างถูกต้องดังนี้

 -เด็กในวัยอนุบาล เป็นช่วงที่เรียนรู้คณิตศาสตร์ให้เชื่อมโยงหน้าตา (ภาษาๆ ใหม่ของเด็กๆ) กับจำนวน  และต่อยอดไปในเรื่องของค่าที่มากกว่า น้อยกว่า การนับเพิ่ม นับลด ซึ่งใช้เวลา 3 ปี เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ กับการใช้กล้ามเนื้อมือให้สัมพันธ์กับตาด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยนี้ คือทัศนคติกับการเรียน ครูผู้สอนมีผลที่สุดกับทัศนคติในการเรียนของเด็ก

-เด็กในวัยประถมต้น สิ่งที่จำเป็นในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณ หาร เด็กๆ จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องค่าประจำหลัก เพื่อให้เข้าใจการทดเลขเมื่อบวกเกิน หรือการลบเลขแบบขอยืม ฝึกทักษะของการบวก ลบ จนคล่อง ต่อจากนั้นควรเข้าใจถึงทฤษฏีพื้นฐานของการคูณ การหาร ซึ่งการท่องสูตรคูณ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในช่วงนี้ (ทางบ้านต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมผลักดันให้เด็กท่องสูตรคูณให้ได้)

-เด็กในวัยประถมปลาย จะมีการเรียนรู้ลำดับขั้นปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ เรขาคณิต และการแก้สมการ (ในชั้น ป.6) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เด็กๆ จะต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความจำ(สูตร)ต่างๆ รวมไปถึงการประยุกต์การแก้ไขปัญหาโจทย์ปัญหาที่มีการรวมเนื้อหาหลายๆ เรื่องให้เด็กๆ ได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่สำคัญในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการตีความโจทย์ปัญหาให้ถูกต้อง

-เด็กในวัยมัธยม การเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้จะเรียนในแบบที่ใช้ความรู้เดิมไม่เกิน 30% และจะเป็นความรู้ในแนวศาสตร์จริงๆ (Pure Mate) เด็กหลายๆ คนที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์มักเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้เสมอ เนื่องจากการเรียนไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเลย แต่ในการเรียนคณิตศาสตร์ระดับนี้เป็นการเรียนที่ต้องใช้ในการต่อยอดเพื่อใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อด้วย

            ดังนั้น ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ในแต่ละวัยของเด็กๆ นั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองตามติดการเรียนของบุตรหลาน ก็จะได้แก้ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับบุตรหลานได้อย่างทันท่วงที และถูกจุด เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีบุตรหลานอยู่ในประถมปลายซึ่งมีปัญหาทางคณิตศาสตร์ มักคิดว่าปัญหาเกิดจากการคิดคำนวณ ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นปัญหาของเด็กประถมปลายเกิดจากการวิเคราะห์โจทย์ โดยที่การวิเคราะห์โจทย์ผิดพลาด ส่งผลให้การคำนวณพลาดไปด้วย ซึ่งการคำนวณพลาดเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น  ดังนั้นปัญหาคณิตศาสตร์แต่ละช่วงวัยควรแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้เด็กได้เรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างมีเข้าใจ

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

            เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาดีอยู่ในระดับ 1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ในการสอบวัดผล PISA ใน 75 ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OCED)  เพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

            ผลการจัดอันดับการศึกษาที่ดีของสิงคโปร์มิใช่ได้มาจากความบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพนักงานของภาครัฐที่ต้องได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก และมีภารกิจที่ชัดเจนเพื่อพลิกโฉมสิงคโปร์ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้แล้วยังทุ่มงบประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด เพื่อทุ่มให้กับระบบการศึกษา บุคคลากรครูมีคุณภาพสูง บุคคลากรทางการศึกษามีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับอัตราเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม และการเงิน ซึ่งดึงดูดให้บัณฑิตที่มีคุณภาพสนใจทำงานด้านนี้

            หลายๆ คนคงไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย หลังจากปี ค.ศ. 1965 ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย มีเพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประชากรครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา สิงคโปร์จึงมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเชื่อฟัง เป็นการรับประกันความปลอดภัยและการอยู่ดีกินดี ซึ่งปรัชญานี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ซึ่งมีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กต้องเรียนเสริมจนเวลาในวัยเด็กหายไป ขาดความสุข เกิดความเครียด โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าการเรียนการสอนที่มีการแข่งขันสูงส่งผลให้เด็กขาดความสุข เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น และที่รุนแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย

            ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ไม่มีการสอบวัดระดับแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศว่าในปี 2019 เป็นต้นไปจะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้น ป.2 และนักเรียนชั้น ป.3,  ป.5,ม.1 และ ม.3 จะยกเลิกการสอบกลางภาคเท่านั้น ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์

 นายอ่อง เย กัง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าการยกเลิกการสอบในระดับประถมนั้นเพื่อรักษาความสมดุลในการเรียนรู้ของเด็กๆ และลดความกดดันในการแข่งขันลง แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาก็จะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินและรายงาน  

             โดยรวมแนววิธีการศึกษาบ้านเราใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์มาก สิ่งที่แตกต่างกันคือ เราไม่เคยติด 1 ใน 10 เหมือนสิงคโปร์  รัฐบาลของเราไม่เคยมีชุดไหนที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง ครูไม่ใช่อาชีพที่ 1 ที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่หาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและลูก โดยไม่ได้สอนให้เค้ามีจิตสำนึก ไม่ได้สอนให้รู้จักหน้าที่ เด็กทุกวันนี้ หากมีใครถามเขาว่า หนูเรียนหนังสือเพื่ออะไร อาจจะไม่ได้ตอบกลับมา  ดังนั้นหากจะเอาใครเป็นต้นแบบ ต้องศึกษาให้รอบคอบและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา ใช่ว่าเห็นช้างขี้แล้วจะขึ้ตามช้างได้

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments