Nov 23
Posted by malinee on Thursday Nov 23, 2017 Under เกร็ดความรู้
ในการเรียนในโรงเรียนในแต่ละระดับชั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนในหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งในแต่ละกลุ่มสาระนั้น จะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น การเรียนในวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ จำเป็นที่จะต้องท่องจำเนื้อหาให้แม่นยำ ส่วนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หากการเรียนใช้วิธีการท่องจำนั้น การท่องจำนั้นไม่สามารถทำให้การเรียนรู้เกิดการประยุกต์ใช้ได้มากนัก เนื่องจากสองกลุ่มสาระดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเพื่อต่อยอดสู่การประยุกต์ในการทำโจทย์ที่แตกต่าง หลากหลายมากขึ้น
จริงอยู่ที่ในการเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องมีการท่องจำทฤษฏีในเบื้องต้น เช่น 5 x 2 หมายถึงการบวกกัน 5 กลุ่มของ 2 (2 + 2 + 2 + 2 + 2) ไม่ใช่ 5 + 5 ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่ในความหมายที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ทฤษฏีดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ที่ว่าคำว่าของทางคณิตศาสตร์คือการคูณ หากการเรียนโดยใช้ความจำเพียงอย่างเดียว มักส่งผลให้เมื่อเจอโจทย์ปัญหา หรือโจทย์ประ ยุกต์ ก็จะต้องจำโจทย์ทุกๆ โจทย์ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้
หากเป็นเช่นนี้ ที่จะต้องให้เด็กเรียนทุกอย่างด้วยความจำ หลังจากสอบเสร็จ หรือเมื่อเวลาผ่านไป เด็กก็จะลืมในที่สุด แล้ววิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่สามารถต่อยอดออกไป เนื่องจากต้องย้ำเนื้อหาเดิมให้จำได้ก่อนเพื่อจะได้จดจำเนื้อหาใหม่ที่ต่อเนื่องต่อไปให้ได้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเรื้อรังยาวนานไปเรื่อยๆ จนเด็กมีทัศนคติไม่ดี และเกลียดวิชาดังกล่าวในที่สุด หากเป็นเช่นนี้จะดีกว่าหรือไม่ หากเราส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาดังกล่าวด้วยความเข้าใจ มากกว่าด้วยวิธีการท่องจำ
Nov 12
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งผลการประเมินการเรียนรู้ของเด็กๆ จากทางโรงเรียน เด็กหลายๆ คนผ่านการทุ่มเทในการอ่านหนังสือ และทบทวนบทเรียน เป็นผลให้ผลการเรียนออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ อดไม่ได้ที่จะต้องให้รางวัลแก่ความเพียงพยายาม และความตั้งใจ
รางวัลที่เด็กๆ อยากได้ในปัจจุบัน หรือพ่อแม่เลือกให้เป็นของรางวัลมักเป็นโทรศัพท์มือถือ แทปเลต หรือ เงินในเกมส์ การให้รางวัลของพ่อแม่ มักคิดว่าเพื่อเป็นกำลังใจ และตอบแทนในความตั้งใจ นอกจากนี้แล้วยังเป็นสิ่งที่บุตรหลาน ต้องการอีกด้วย จึงไม่ลังเลที่จะให้ แต่เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเด็กที่มีเครื่องมือสื่อสารแบบไร้พรมแดน สามารถท่องโลกออนไลน์อย่างอิสระ เมื่อใดก็ได้นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งเร้ามีผลกับสมาธิ และการเรียนรู้ของบุตรหลานอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการปิดกั้นให้บุตรหลานมีโลกส่วนตัวที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่สามารถรู้ความคิดที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ดีที่สุด คือ การประเมินผลการเรียนรู้จากทางโรงเรียน การรายงานพฤติกรรมทั้งด้านการเรียนรู้ ที่ไม่มีสมาธิ และพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากสะสมนานเข้า ปัญหาก็จะยิ่งสะสมตามเวลาที่ถูกปล่อยผ่าน จนในที่สุดไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย
ดังนั้นในเมื่อการให้รางวัลกับบุตรหลาน เป็นสิ่งที่อยากตอบแทนในความตั้งใจ พ่อแม่ควรจะเป็นผู้กำหนดรางวัลที่มีคุณค่า ควรพิจารณาถึงผลดีผลเสีย ที่จะส่งผลต่อตัวเด็กเป็นหลัก เพราะต่อไป เพราะเมื่อเขาเติบโตจนสามารถเป็นผู้เลือกด้วยตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีหน้าที่ชี้แนะให้เขาต่อไป
Nov 05
ช่วงภาคเรียนที่ 2 ของทุกปี จะมีการโยกย้ายโรงเรียนในชั้นที่โตขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจะส่งบุตรหลานไปเรียนในสถาบันที่มีการประกาศจำนวนนักเรียนที่ผ่านรอบคัดเลือกในโรงเรียนแต่ละโรง
การเรียนเพื่อการสอบเข้าในปัจจุบัน จะต้องเรียนรู้เนื้อหาที่เกินเนื้อหาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน เด็กหลายๆ คนที่มีผลการเรียนดีในโรงเรียน จึงไม่แปลกที่การเรียนโรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การเรียนในแนวดังกล่าวเป็นการเรียนในแนวติว โดยทุกคนต้องเรียนไปพร้อมกัน โดยที่ทักษะของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กที่มีทักษะทางคณิตศาสตร์ที่ดีกว่า ก็จะมีความเข้าใจได้มากกว่า การเรียนโดยโหนเนื้อหาขึ้นไปอีกช่วงชั้น (3 ปี) จะทำให้เด็กเกิดการเรียนคณิตศาสตร์โดยการจำ ไม่ใช่ความเข้าใจ ซึ่งการเรียนโหนระดับเพื่อการสอบเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บุตรหลานได้รับการคัดเลือกในการสอบเข้า แต่เนื้อหาพื้นฐาน เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น มีที่มาที่ไป ไม่ใช่เพียงแต่เรียนด้วยความจำ เมื่อเปลี่ยนแนวข้อสอบ เขาเหล่านั้นก็จะไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาได้ แต่ในทางกลับกัน หากเราเสริมทักษะพื้นฐานที่ดี จะทำให้เขาสามารถต่อยอดเนื้อหาได้อย่างมั่นคงต่อไป ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่า
“การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้น จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆกันได้”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓