Dec 16
วันที่ 9 ธ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ “สำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา เด็กไทยปี 2554” ซึ่งกรมสุขภาพจิตร่วมกับกรม พินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยจำนวนประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ ว่า ข้อมูลจากหนังสือของ Lynn ปี 2006 ได้ทำการสำรวจ IQ ของเด็กทั่วโลก พบว่า IQ ของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 91 จัดอยู่ในระดับที่ 53 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่ำกว่าระดับ IQ ของเด็กในประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น เด็กในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม รวมทั้งมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2002-2006 อันดับ IQ ของเด็กไทยแทบจะไม่มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ระดับ IQ ของเด็กเพิ่มจาก 103 ในปี ค.ศ.2002 เป็น 108 ในปี ค.ศ. 2006 ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อนำระดับ IQ แสดงผลเป็นกราฟรูประฆังคว่ำ พบว่า IQ ที่ระดับ 91 ของเด็กไทย มีแนวโน้มที่จะเอียงไปทางซ้ายของกราฟ ซึ่งเป็นด้านที่ตรงข้ามกับระดับการแปรผลที่ฉลาดกว่า รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาของ นพ.อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์รางวัลโนเบลในปี 2553 พบว่า การเรียนรู้ ความรู้ ความจำ ความคิด อารมณ์ สติปัญญา เกิดจากการที่เซลล์สมองแตกกิ่งมาเชื่อมต่อกันเป็นวงจร สมองส่วนที่มีการจัดระเบียบใยประสาทจะเพิ่มการเชื่อมต่อใหม่ๆเพิ่มขึ้นจำนวน มาก ขณะที่ใยประสาทส่วนที่ไม่ได้ใช้จะหายไป ใยประสาทส่วนที่ใช้บ่อยจะหนาตัวขึ้น ทั้งนี้ ทารกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี จะเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการมากที่สุด ดังนั้น การสร้างการพัฒนาสมองให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทที่แข็งแรงจะมีส่วน ทำให้เด็กมีระดับ IQ ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นอกจากระบบใยประสาทในสมองแล้ว ยังพบว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการพัฒนาสมองของคนอย่างมาก การวิจัยในสัตว์และคนให้ผลยืนยันตรงกันว่า ความสามารถของสมองในการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Neuro-Plasticity หมายถึง การที่เราใช้สมองส่วนใดบ่อยๆ สมองส่วนนั้นจะเจริญเติบโตได้ดี แต่หากเราไม่ได้ใช้สมองส่วนนั้นเลย นานๆเข้า สมองส่วนนั้นก็จะฝ่อไป
ในปีพ.ศ.2541 มีการศึกษาพบว่า หลังคลอดออกมา สมองเด็กทุกคนทั่วโลกจะมีรูปแบบที่เหมือนกัน แต่วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ และอบรมเลี้ยงดูต่างกัน
จะทำให้ IQ เด็กต่างกัน เซลล์สมองส่วนไหนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันจะถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพของสมองส่วนนั้นถูกทำลาย เช่นการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นจะหายไป
จึงมีการสรุปว่า จินตนาการของคนไทยหายไป เนื่องจากเราไม่ค่อยกระตุ้นให้เด็กฝึกคิด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมอง
เด็กจำนวนมาก ระบุตรงกันถึงการกระตุ้นการใช้สมองที่เหมาะสม
เช่น การพบว่าสมองของเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามีบางส่วนเสียการทำงานไป คล้ายๆกับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือ เด็กที่ถูกทารุณกรรมจะมีระดับสารความเครียดในเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ และจะมีปัญหาพัฒนาการสมอง อารมณ์ ความประพฤติ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า เด็กที่ได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูช้า เช่น ปล่อยให้ร้องไห้นานๆ หิวแล้วยังไม่ได้กิน เกิดความกลัวโดยไม่มีใครมาอยู่ใกล้ชิด ไม่มีใครมาสัมผัส
โอบอุ้ม เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มั่นคงในชีวิต หวาดระแวง ฯลฯ
“ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น เซลล์ประสาทจะมีการสร้างขึ้นมากกว่าแสนล้านเซลล์ แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นจะด้วยการเสริมอาหาร หรือการเลี้ยงดู ที่เหมาะสม ก็จะขาดเครือข่ายเส้นใยประสาทที่ยื่นยาวออกมา ที่พร้อมจะส่งเสริมให้เด็กฉลาดและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น”นพ.อภิชัย กล่าว
สาเหตุ
ระดับเฉลี่ยของสติปัญญาเด็กไทย ต่ำกว่า ในประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ ในโลกซึ่งอยู่ที่ 104 เรายังต่ำอยู่ค่อนข้างมาก หลายคนยัง เชื่อว่า เด็กไทยส่วนหนึ่ง ฉลาดมาก เพราะ เท่าที่เห็น ไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ทีไร กวาดชัยชนะทุกที แต่โดยภาพรวม ยังน่าห่วง
สำหรับสาเหตุหลักๆ น่าเกิดจาก
1. การขาดไอโอดีน ไอโอดีนมีผลต่อระดับ IQ
2. การศึกษา ไม่เอื้อต่อการพัฒนา อาจเป็นเพราะ หลักสูตร วิธีการสอน เทคโนโลยียัง
น้อยมาก 3G บ้านเรายังไม่มี
3. สภาพแวดล้อม ในการเลี้ยงดู
4. กรรมพันธุ์ไม่น่ามีผล เพราะ โดยหลักวิชาการ น่าจะ อยู่ในระดับสูง
จาก : OK Nation blog วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553
Dec 08
วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2553
สทศ. ให้คะแนนฟรี สอบ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์หลังโจทย์ไม่ชัดเจน ตรวจข้อสอบใหม่ประกาศผล 8 ธ.ค.นี้…
จาก กรณีตัวแทนนักเรียนและผู้ปกครองและชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ ยื่นหนังสือถึง รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เรียกร้องให้ สทศ.ตรวจกระดาษคำตอบใหม่ วิชา PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ ในการสอบ GAT/ PAT ครั้งที่ 3/2553 โดยข้อ 78 เกี่ยวกับเสียงระฆัง สทศ. ยืนยันคำตอบเดิม ทำให้ชมรมค่านิยมฯ จะฟ้องต่อศาลปกครอง และยังพบว่าข้อ 46 โจทย์ก็ไม่ชัดเจนด้วยนั้น
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อสอบ PAT 3 แล้ว พบว่า ข้อ 46 ให้คะแนนฟรี 3 คะแนน เนื่องจากโจทย์ไม่ชัดเจน ข้อ 78 ให้คะแนนฟรี 6 คะแนน เนื่องจากโจทย์ไม่ชัดเจน ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของนักเรียนที่เข้าสอบ สทศ.จะทำการตรวจกระดาษคำตอบใหม่อีกครั้ง และประกาศผลใหม่ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
ด้านนายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณ สทศ.ที่รับฟังเหตุผลต่างๆ และจะไม่ฟ้องต่อศาลปกครอง
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 3/2553 สทศ. ได้ให้คะแนนฟรีกับผู้เข้าสอบ จากวิชา PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ข้อ 57 จำนวน 3 คะแนน PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ให้คะแนนฟรี ข้อ 46 จำนวน 3 คะแนน ข้อ 78 ฟรี 6 คะแนน และข้อ 79 มี 2 คำตอบ.
Dec 01
Posted by malinee on Wednesday Dec 1, 2010 Under เกร็ดความรู้
จินตคณิต คืออะไร
วันชัย ตัน / เรื่อง
๑๒ หาร ๓ เป็นเท่าไร เชื่อว่าหลายคนคงคิดในใจหาคำตอบได้
แต่ ๙๙๒.๕๘๗๓๑๘ หาร ๕,๖๔๗.๗๒๓ คำตอบคืออะไร ?
ในการแข่งขันประลองความเป็นหนึ่ง ของเซียนจินตคณิต ในประเทศญี่ปุ่น ฮิโรเอกิ ทะซูชิยา ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หาคำตอบได้เป็นคนแรก โดยไม่ใช้เครื่องคิดเลขใด ๆ คำตอบคือ ๐.๑๗๕๗๕๐๐๐๐๑๓๒๗๙๖๘๘๑๑๕๐๑๕๕๕๕๘๒๖๖๕๘
เปล่าครับ สมองของเด็กชายทะซูชิยา วัย ๑๓ ปี ไม่ได้มีชิปคอมพิวเตอร์ช่วยคิดเลข แต่เขาใช้ลูกคิดช่วยในการคำนวณ เหมือนกับพ่อค้าในอดีต และที่น่าสนใจก็คือ ทะซูชิยาไม่ได้ใช้นิ้วมือดีดลูกคิด คำนวณตัวเลขจริง ๆ แต่คำนวณโดยการสร้างภาพรางลูกคิดขึ้นในใจ ซึ่งวิธีนี้คนในเอเชียหลายชนชาติ ใช้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว
จินตคณิตคือเทคนิคการพัฒนาสติปัญญา เสริมสร้างสมาธิ เพื่อดึงอัจฉริยภาพในตัวเด็กออกมาให้ปรากฏ โดยใช้ลูกคิดเป็นสื่อสำคัญในการฝึก ซึ่งเมื่อฝึกถึงขั้นสูง เด็กจะมีจินตภาพ สามารถสร้างภาพลูกคิดขึ้นในใจ เพื่อช่วยในการคิดเลขได้เอง ครูสอนจินตคณิตกล่าวว่า คนส่วนใหญ่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญจินตคณิตได้ หากเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเด็ก แต่จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนนาน ทั้งยังต้องควบคุมจิตใจ และทุ่มเทพลังสมาธิอย่างมหาศาล
“ถ้าสติคุณไม่อยู่กับตัวเมื่อไหร่ คุณก็แพ้เมื่อนั้น” ทะซูชิยา ผู้ครองแชมป์การแข่งขันจินตคณิตแห่งเกียวโตรายล่าสุด และมีอายุน้อยที่สุด กล่าว
ลูกคิดเป็นเครื่องคำนวณเลขของจีน แพร่เข้ามาในญี่ปุ่นช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๕๐๐ การใช้ลูกคิดเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด ในการคำนวณตัวเลขจำนวนมาก อุปกรณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยไม้นี้ มีลูกกลมขนาดใหญ่หลายตัว ทำหน้าที่เป็นตัวนับ โดยการใช้นิ้วมือเขี่ยให้เลื่อนไปมาบนแกนเหล็ก เพื่อหาคำตอบทั้งบวก ลบ คูณ หาร หรือแม้กระทั่งถอดรากที่สาม แต่ไม่นานนัก ปรมาจารย์ลูกคิดทั้งหลายต่างเห็นพ้องว่า การคำนวณโดยใช้จินตภาพว่ามีลูกคิดนั้น สามารถคิดเลขได้ง่ายกว่ามาก และคนที่เป็นเซียนจินตคณิต ก็สามารถคำนวณได้เร็วกว่าแคชเชียร์ ที่ใช้เครื่องคิดเลขด้วยซ้ำ
โคจิ ซูซูกิ ครูสอนจินตคณิตในโตเกียว แง้มเทคนิคสั้น ๆ ว่า “แทนที่เราจะคิดถึงตัวเลข ๑ ก็ให้จินตนาการถึงผลแอ๊ปเปิ้ลหนึ่งใบในกระเป๋าเสื้อคุณแทน ซึ่งมันมีรูปทรง และจับต้องได้ ในการคำนวณแบบจินตคณิต เราพยายามจะมองให้เห็นภาพลูกคิดเหล่านั้น”
อาการของเด็ก ขณะที่กำลังแก้ปัญหาตัวเลขในการแข่งขันจินตคณิต จะต่างกันไป บางคนทำท่าขยับนิ้วไปมาบนลูกคิดล่องหน ที่อยู่บนโต๊ะ บางคนโยกตัวอยู่บนเก้าอี้ และเคลื่อนไหวเหมือนคนไร้สติ ตามจังหวะการดีดลูกคิดในจินตนาการ ดูไปคล้ายๆ ผีลูกคิดเข้าสิง
บรรดาครูจินตคณิตกล่าวว่า การเล่นกายกรรมสมองแบบนี้ ไม่ได้ช่วยแค่การประหยัดเงินซื้อแบตเตอรี่เครื่องคิดเลข แต่ยังให้ประโยชน์ด้านอื่นด้วย
“คุณต้องคำนวณอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ถ้าคุณเอาแต่กดเครื่องคิดเลขอยู่ตลอดเวลา สมองของคุณก็จะเฉื่อยลงเรื่อย ๆ” อาจารย์อีกคนกล่าว
เด็กนักเรียนที่เก่งจินตคณิตยืนยันว่ามันไม่เพียงช่วยให้พวกเขาเก่งวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ช่วยให้พวกเขาเรียนวิชาอื่นได้ดีขึ้นด้วย
คิมิโกะ คาวาโน นักวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์นิปปอน ซึ่งวิเคราะห์การทำงานของสมอง ในหมู่เซียนจินตคณิต ให้ข้อมูลว่าการฝึกฝนทักษะแบบนี้ ไม่มีผลในการเร่งรัด หรือพัฒนาการเจริญเติบโตของสมอง แต่เทคนิคการใช้สมาธิ และจินตภาพซึ่งจำเป็นสำหรับจินตคณิต จะช่วยบริหารสมองส่วนขวา ซึ่งควบคุมด้านจิตใจ อารมณ์ มากกว่าสมองส่วนซ้าย ที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ หรือการคำนวณขึ้นพื้นฐาน การบริหารสมองส่วนขวา จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของคณิตศาสตร์ คือจะช่วยให้คนที่เรียนจินตคณิต สามารถเรียนรู้เรื่องอื่น ๆได้เร็วกว่าคนที่ไม่ได้เรียน
แต่ปัจจุบัน เด็กญี่ปุ่นก็เหมือนเด็กเอเชียส่วนใหญ่ คือเลิกใช้ลูกคิดแล้ว ทั้งยังใช้วิธีคำนวณในหัวสมองน้อยลง เวลาคิดเลขก็จิ้มไปที่เครื่องคิดเลข หรือเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียว
มิน่าเล่า สมองของเด็กรุ่นใหม่ จึงเหมือนคอมพิวเตอร์ คิดเองไม่ค่อยเป็น สงสัยเด็กรุ่นใหม่ต้องหันไปหาลูกคิด เพื่อฝึกให้สมองมีจินตนาการมั่งแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารสารคดี
Dec 01
Posted by malinee on Wednesday Dec 1, 2010 Under เกร็ดความรู้
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับคำว่าจินตคณิตคืออะไร
คำว่าจินตคณิตเป็นการรวมคำระหว่าง “ จินต”(จินตะ) คือ การนึก +
“คณิต” คือ การนับหรือการคำนวณ โดยรวมหมายถึง
การนึกถึงตัวเลขหลังจากผ่านปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์
ซึ่งแนวการเรียนการสอนจินตคณิตนั้นจะมีอยู่ 2 แนวหลัก ๆ ได้แก่
– จินตคณิตในแนวของการทำซ้ำ ซึ่งเป็นการทำแบบฝึกหัดบ่อย ๆ จนเกิดความเคยชิน โดยในการทำแบบฝึกหัดแต่ละครั้งจะมีเรื่องของการจับเวลาเข้ามาเพื่อกระตุ้นให้เด็กเพิ่มศักยภาพในเรื่องความเร็วและการจดจำ (เป็นการใช้สมองซีกซ้าย) จนเกิดความคุ้นชิน
– การเรียนจินตคณิตในแนวของการใช้ลูกคิด เป็นแนวการเรียนการสอนที่สอนให้เด็กฝึกการใช้ลูกคิดเป็นสื่อกลางในการคำนวณในระดับต้นจนทำให้เกิดความคุ้นชิน และหลังจากนั้นจึงฝึกให้เด็กเกิดจินตภาพขึ้น (เป็นส่วนของการใช้สมองซีกขวาร่วมกับสมองซีกซ้ายในการคำนวณ) แต่ในการเรียนการสอนจะต้องค่อย ๆ เพิ่มหลักหรือจำนวนตัวเลขร่วมกับการจับเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพของหน่วยความจำ ความแม่นยำ และความเร็วควบคู่กัน
จากแนวการเรียนการสอนจินตคณิตทั้ง 2 แนวนี้ต่างก็ให้ผลหรือจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือ การเพิ่มความมั่นใจในการเรียนคณิตศาสตร์ หรือการปรับทัศนคติทางคณิตศาสตร์ให้แก่เด็ก เนื่องจากในการเรียนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถมต้นจะเน้นเนื้อหาของค่าประจำหลัก และจำนวน โดยเด็กที่ผ่านการเรียนจินตคณิตจึงมักไม่พบปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์กับกลุ่มดังกล่าว