จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2554
จากการที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายต้องการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีทักษะด้านอาชีพ เพื่อรองรับกับการมีงานทำและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพด้านการประกอบอาชีพในอนาคต พร้อมรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดี หากหลักสูตรที่ว่านี้มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาความสามารถเด็กที่แต่ละคนมีอยู่อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง พร้อมต่อยอดในการศึกษาต่อระดับสูงทั้งสายสามัญและสายอาชีพจนเกิดความเป็นเลิศเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่หากเป็นหลักสูตรวิชาชีพที่ไปบังคับเด็กต้องเรียนตามที่ฝ่ายเหนือกำหนดโดยไม่นึกถึงศักยภาพความต้องการของเด็กแล้วประโยชน์ก็คงเกิดขึ้นไม่มากนัก สุดท้ายก็คงเหลือแค่ว่ามีหลักสูตรวิชาชีพเพิ่มให้เด็กต้องเรียนรู้เพื่อสอบให้ได้คะแนนผ่านตามเกณฑ์เท่านั้น

หากผลสำเร็จเกิดได้แค่นี้ก็คงไม่ต้องมาคิดกันใหม่เพราะด้วยหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมาแทบจะทุกฉบับต่างก็ได้กำหนดการเรียนรู้พื้นฐานด้านวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. 2503 ที่ได้กำหนดอยู่ในส่วนหัตถศึกษา หลักสูตร พ.ศ. 2521 เป็นวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) หรือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็จัดอยู่ในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นต้น

นอกจากนั้นในส่วนของระบบการจัดการศึกษาของชาติก็จัดให้มีสายอาชีพไว้อย่างชัดเจน ทำให้การเรียนรู้วิชาชีพจึงมิใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ที่ผ่านมาการพัฒนาส่งเสริมทักษะด้านอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนยังไม่บรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งการศึกษาสายอาชีพเท่าที่ควร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากเจตคติของเด็กและผู้ปกครองกับการศึกษาในยุคหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันแปรเปลี่ยนไป ด้วยไปคิดว่าการประกอบอาชีพตามสิ่งที่บรรพบุรุษทำกันมามีความลำบากหรือด้อยเกียรติไม่เหมือนการทำงานในห้องแอร์เป็นมนุษย์เงินเดือนทั้งที่อาชีพด้านเกษตรกรรมและงานฝีมือต่าง ๆ นั้นมีความพร้อมในทรัพยากรที่จะดำเนินการอย่างดียิ่งก็ตาม เมื่อความต้องการเป็นไปเช่นนี้การศึกษาของเด็กจึงมุ่งไปทางสายสามัญเป็นส่วนใหญ่โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ปริญญา โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีงานใดมารองรับได้ในอนาคต

ส่วนการจัดการศึกษาสายอาชีพเองก็มุ่งไปทางด้านปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้การเรียนรู้วิชาชีพหนักไปทางทฤษฎีมากกว่าที่จะสร้างสมทักษะประสบการณ์ภาคปฏิบัติจนเกิดความชำนาญด้านปฏิบัติจริง เมื่อรวมถึงความไม่พร้อมของสถาบันการจัดการศึกษาอาชีพเองที่ขาดความพร้อมและความทันสมัยของเครื่องมือ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ในการที่จะฝึกให้กับผู้เรียน แต่เมื่อจบออกมาต้องเจอกับเครื่องรุ่นใหม่จึงไม่สามารถดำเนินการได้หรือขาดความชำนาญซึ่งจะผิดกับเด็กที่อยู่ตามอู่รถหรือร้านซ่อมครุภัณท์ต่าง ๆ แม้ไม่ได้เรียนรู้หลักการทฤษฎี แต่จากการที่ได้ฝึกปฏิบัติจริงกับเครื่องยนต์ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ที่แตกต่างกันอยู่ทุกวันทำให้เกิดทักษะประสบการณ์ ความชำนาญจึงมีมากกว่า แต่เด็กกลุ่มนี้กลับไม่มีโอกาสที่จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างสูงด้วยไม่มีวุฒิการศึกษา ทั้งนี้เพราะการรับบุคลากรเข้าทำงานทั้งในภาครัฐ และเอกชน ต่างก็ยังต้องใช้วุฒิการศึกษามาเป็นคุณสมบัติในการรับคนเข้าทำงานมากกว่าจะดูที่ความชำนาญและประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน และที่ร้ายกว่านั้นก็ยังมีบริษัทภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจมุ่งแต่ผลกำไรเป็นหลักจึงคิดจ้างแต่แรงงานราคาถูกไม่มีคุณภาพเข้ามาดำเนินการ จึงทำให้ผู้จบการศึกษาสายอาชีพถูกกดค่าแรงตามไปด้วยจึงไม่ค่อยมีผู้สนใจที่จะเรียนสายอาชีพมากนัก

ดังนั้นการที่จะคิดพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีทักษะอาชีพตามที่ตนเองถนัด เพื่อให้สามารถสร้างผลงานหรือผลิตงานเป็น “เถ้าแก่น้อย” ในอนาคตได้คงจะต้องปรับเปลี่ยนเจตคติและวิธีการพัฒนาในหลาย ๆส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเลยก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของเจตคติด้านการศึกษาของผู้ปกครองเอง ที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติจากที่ต้องการเห็นลูกเรียนเก่งด้านวิชาการสายสามัญเพื่อหวังเข้าโรงเรียนเด่น มหาวิทยาลัยดังและมีเป้าหมายอยู่ที่ปริญญาอย่างเดียว ทั้งที่ลูกหลานมีศักยภาพด้านสายอาชีพอยู่ในตัว หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องหันมาส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้งานด้านอาชีพตามศักยภาพและทักษะที่มีอยู่อย่างเต็มที่บ้าง เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้ประกอบอาชีพตรงกับความถนัดและความสนใจ และที่สำคัญจะทำให้การเรียนรู้ในปัจจุบันมีความสุขและเกิดคุณค่ากับผู้เรียนอย่างแท้จริง

ส่วนในด้านหลักสูตรและวิธีการพัฒนาก็คงต้องจัดให้สอดคล้องกับวัยและระดับการศึกษาของเด็ก เช่น ระดับประถมศึกษา ก็คงจะต้องเน้นด้านจิตสำนึกของเด็กให้มีนิสัยรักการทำงาน มีเจตคติที่ดีกับงานสุจริต และมีความมุ่งมั่น อดทนกับการทำงาน มากกว่าที่จะไปเน้นให้ฝึกทักษะจนสามารถประกอบอาชีพได้ เพราะยังเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่นั่นเอง ส่วนระดับมัธยมศึกษา นอกจากจะเน้นการสร้างจิตสำนึกให้มีนิสัยรักการทำงานแล้วก็คงจะต้องวางรากฐานในวิชาชีพที่ผู้เรียนมีความถนัดและศักยภาพที่มีอยู่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ด้วยวิธีการเปิดโรงเรียนเฉพาะทางรองรับศักยภาพด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับ โรงเรียนกีฬา หรือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยทำให้เด็กได้รับการพัฒนาตรงตามศักยภาพ ความสามารถที่มีอยู่และเรียนรู้พร้อมฝึกในสิ่งที่ตนเองมีความถนัดอย่างลึกซึ้ง ต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้น ๆ ในอนาคต ไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่มีทักษะความสามารถ ผลที่เกิดขึ้นก็คงไม่ผิดกับเป็ดง่อยเป็นแน่

ส่วนวิธีการจัดการศึกษาสายอาชีพโดยตรงนั้นก็ควรมุ่งเป้าไปที่การผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญ เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องสามารถปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพที่เรียนมาอย่างมีคุณภาพ ความสำเร็จส่วนนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานของสถานศึกษาฝ่ายเดียวแต่คงจะต้องอาศัยทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานโดยเฉพาะบริษัท ห้างร้าน ภาคเอกชน ที่มีความพร้อมและทันสมัยทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญในงานแต่ละสาขาหากสามารถทำ MOU กับเครือข่ายภาคีที่ว่านี้ได้แล้ว สถาบันการศึกษาก็ควรจะทำหน้าที่เพียงให้ความรู้ด้านหลักการ ทฤษฎี เท่านั้น ส่วนการฝึกปฏิบัติจริงควรให้เป็นหน้าที่ของภาคีเครือข่าย ซึ่งหากสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้แล้วเมื่อภาคเอกชนเห็นว่าผู้เรียนมีความชำนาญในการปฏิบัติงานในสาขาที่ฝึกก็สามารถรับเข้าทำงานได้เลยโดยไม่ต้องมาสนใจกับใบประกาศหรือปริญญาบัตรเช่นปัจจุบันอีกต่อไป หากทำได้เช่นนี้ผู้เรียนก็จะมีความเชี่ยวชาญและมีงานในสาขาที่ถนัดทำ ส่วนบริษัทก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ซึ่งก็จะส่งผลถึงคุณภาพของงานก็เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย

ส่วนสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมและดำเนินการให้เป็นผลอย่างต่อเนื่องและได้มาตรฐาน ก็คือ ต้องหาตลาดรองรับกับผลผลิตสินค้าของชุมชนที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตของบรรดาเถ้าแก่น้อย รวมถึงการตั้งราคามาตรฐานกลางที่สามารถทำให้ผู้ผลิตมีรายได้อย่างสมเหตุสมผล เพียงพอกับการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่ส่งเสริมให้ประชาชนผลิตสินค้าแต่ไม่มีตลาดหรือแหล่งที่จะรับซื้อรองรับให้ ซึ่งการที่ผู้ผลิตไม่มีความสามารถในด้านการตลาดแม้สินค้าจะมีคุณภาพก็ไม่อาจทำให้สินค้าขายดีอยู่ได้เช่นกัน

จึงเห็นได้ว่าการคิดหรือหาวิธีการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีนิสัยรักการทำงานหรือมีทักษะในการประกอบอาชีพตามที่ตนเองถนัดหรือชอบได้นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ทำให้มีหลักสูตรวิชาชีพหรือการบังคับให้เด็กต้องเรียนรู้อย่างเดียว แต่ความสำเร็จอย่างมั่นคงจะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยองค์ประกอบในหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันหาทางที่จะทำให้ปัจจัยรอบข้างที่ว่านี้มีเจตคติหรือแนวดำเนินการไปในทางเดียวกันให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว ความสำเร็จด้านวิชาชีพของเด็กไทยก็คงไม่ต่างไปจากหลักสูตรการศึกษาเดิม ๆ ที่ใช้กันมา คือ เรียนให้ครบจบหลักสูตรแล้วก็ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพตามสาขาที่เรียนมาได้ สุดท้ายก็ออกไปแข่งขันเป็นมนุษย์เงินเดือนต่ำกับสายสามัญอยู่เช่นเดิมต่อไป.

กลิ่น สระทองเนียม

Tags : , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์
วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ชี้การศึกษาไทย’ระบบขนมชั้น’ อนาคตเด็กอัจฉริยะ’สมองฝ่อ-สูญสิ้น’ โดย… ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ

โจทย์ใหญ่ที่สังคมต้องร่วมหาคำตอบให้เร็วที่สุด กับเด็กเยาวชนอนาคตของชาติที่กำลังเผชิญกับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ ส่งผลให้กล้าไม้พันธุ์ดี เฉกเช่น “เด็กที่มีความสามารถพิเศษ” หรือ “เด็กอัจฉริยะ” หรือ “เด็กหัวกะทิ” ไร้ซึ่งปุ๋ยคุณภาพบำรุงรากให้เติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ให้ร่มเงาแก่สังคมต่อไป
ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษและเด็กที่มีความต้องการพิเศษแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะ “กูรูเด็กอัจฉริยะ” บอกว่า เป็นที่ทราบกันว่า ” เด็กที่มีความสามารถพิเศษ” สมองที่เป็นเลิศทางความคิดด้านทักษะต่างๆ เหนือกว่าคนปกติ ถ้าคิดชอบจะทำอะไรต้องทำได้สำเร็จ และผลงานออกมาดี แต่ “น่าเสียดายที่ไม่ว่าจะยุคไหน รัฐบาลใครก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลอย่างถูกวิธีให้เขาได้ใช้ศักยภาพสร้างสังคมให้ทัดเทียมนานาประเทศ”

ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ภาพที่ปรากฏด้านเด็ก การจัดการการศึกษาของไทย ยังคงเดินตามหลังประเทศแถบยุโรปอยู่มาก ทั้งๆ ที่มีแนวทางการจัดที่สามารถนำการศึกษาให้มีคุณภาพได้ แต่ติดที่ไม่มีใครคิดที่จะวางแผนการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ตราบใดที่การเมืองยังคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลใหม่ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอีกกี่ปีการศึกษาก็ยังคงไม่มีคุณภาพเช่นเคย

“สถิติเด็กเกิดประมาณ 7-8 แสนคนต่อปี จะมีเด็กที่มีความสามารถพิเศษประมาณจำนวน 7-8 หมื่นคนต่อปี เกือบทั้งหมดที่ถูกลืมจากสังคมผู้มีอำนาจบริหารการจัดการ ท้ายที่สุดพวกเขาต้องกลับคืนสู่สังคมเสมือนคนปกติทั่วไปมาถึงวันนี้”

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาที่ทำงานด้านนี้ ยอมรับว่าเหนื่อยมาก เหนื่อยจริงๆ แทนที่จะสนับสนุนส่งเสริมเด็กที่มีอยู่จำนวนน้อยมากได้รับการพัฒนา…แต่กลับต้องวิ่งป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกไป ซึ่งมันยากและเหนื่อยกว่ากันเยอะ

ถามว่าวันนี้ควรจะเริ่มได้หรือยัง “กูรูเด็กอัจฉริยะ” บอกว่า มันควรเริ่มได้ เพราะการเริ่มต้นไม่มีคำว่าสาย เริ่มจากการปรับ ” การศึกษาที่เป็นแบบขนมชั้น” ไม่มีซ้ำชั้นเรียน ให้ ” เรียนตามศักยภาพ” ก่อนเข้าเรียนเด็กทุกระดับชั้นต้องทำ “แบบทดสอบเพื่อวัดการศึกษารายบุคคล” เพื่อจัดว่าเด็กมีความรู้แต่ละวิชามากน้อยแค่ไหน แล้วจัดให้เข้าเรียนตามชั้น เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แบบ 3 ชั้นตามลำดับความยาก เช่น เด็กบางคนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้น 1 แต่วิชาวิทยาศาสตร์เรียนชั้น 3 บางคนทุกวิชา แต่ระดับชั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถพิเศษของเด็กแต่ละคน

ส่วนครูก็ต้องมีเครื่องมือที่จะวัดเด็ก เสมือนคุณหมอมีเครื่องมือใช้ตรวจผู้ป่วยว่าจะมีแนวทางการรักษาด้วยวิธีใด แต่ครูไทยไม่มีอะไรสักอย่าง เด็กมาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ใครเรียนได้ไม่ได้ก็ไม่รู้ หากเด็กทำไม่ได้ก็ลอกเพื่อน สุดท้ายก็ไม่ได้เลื่อนชั้นอยู่ดี

“ครูไทยสอนคูณเลข ทั้งๆ ที่เด็กบางคนยังบวกเลขไม่เป็นด้วยซ้ำ ยังไงละเด็กคนนั้นก็ตายไปเลย บวกเลขก็ยากแล้วยังต้องมาคูณ แต่ถ้ามีการสอบวัดแวว และเรียนตามชั้น เชื่อว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” กูรูเด็กอัจฉริยะ กล่าว

“กูรูเด็กอัจฉริยะ” บอกว่า การจัดการศึกษาและดูแลให้เข้ากับสภาพของเด็ก ยกตัวอย่างเด็กนักเรียนในคนหนึ่งในโครงการ ศึกษาอยู่ชั้นป.5 วันปกติจะเรียนที่โรงเรียนกับเพื่อนวัยเดียวกัน ชั้นเดียวกัน ส่วนวันเสาร์ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย “กูรูเด็กอัจฉริยะ” เล่าว่าตอนที่เรียนที่ห้องกับเพื่อนๆ เด็กมีพฤติกรรมไม่ดี ก้าวร้าวกับครู ไม่ส่งการบ้าน หนีเรียน แต่ไม่น่าเชื่อว่าเพื่อน คณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชื่นชมเด็กคนนี้ว่า นิสัยดี ตั้งใจเรียน เข้ากับทุกคนได้ดี นั่นแสดงว่า เด็กจะทำได้ดีเพราะเขาอยู่ในที่ที่เขาควรอยู่

“ตอนที่อาจารย์เรียนอยู่ต่างประเทศ มีเด็กคนหนึ่งเรียนระดับประถม แต่ไปเรียนกับพี่ๆ ในมหาวิทยาลัย พอตกกลางคืนพี่ๆ จะไปเที่ยวสาว พกถุงยางอนามัยติดตัว เอาออกมาให้น้องดู น้องก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ใช้ทำอะไร น้องก็เลยไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่าน เห็นไหมตลกนะเพราะในบางมุมเขาก็ยังเด็กๆ” “กูรูเด็กอัจฉริยะ” กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม จะต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี หากแต่เขาถูกปล่อยปละจะทำให้สมองกลับสู่ภาวะปกติ เช่น มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ แต่หากเด็กต้องไปเรียนดนตรี เขาจะทำไม่ได้ดีเท่าสิ่งที่เขาชื่นชอบ แต่หากได้เรียนคณิตศาสตร์เขาจะทำได้ดี และได้เร็วกว่าคนอื่นๆ เช่น ใช้เวลาเรียน 10 วัน แต่เด็กคนนี้อาจเรียนแค่ 5 วัน

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปยัดเยียดให้เขาเรียนหนัก ฝึกหนัก นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพียงแค่อย่าให้เขาทิ้ง ต้องได้เรียนสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากเด็กไม่ได้อยู่ทำในสิ่งที่เขาชอบและมีความสามารถ จะส่งผลให้สมองที่เป็นอัจฉริยะกลายเป็นคนปกติทั่วไป หรือที่เรียกว่า สมองฝ่อไปเลยก็ได้

ขณะเดียวกันการดูแลด้านจิตใจ อารมณ์ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเพื่อนที่เรียนวัยเดียวกันอาจจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เพราะความคิดเขาเหมือนผู้ใหญ่ในเรื่อง หรือเมื่อคุยกับผู้ใหญ่อาจจะไม่รู้เรื่อง เพราะในบางมุมอาจมีนิสัยเป็นเด็ก ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องดูแลอย่างเหมาะสม ปรึกษานักวิชาการควบคู่ไปด้วย

————————————————————

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์เมเนเจอร์ออนไลน์
myfristbrain.com
วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554
โรคสมาธิสั้นเป็นความผิดปกติของพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ พบได้ร้อยละ 2-7 และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-6 เท่า อาการจะเกิดก่อนอายุ 7 ขวบ และแสดงออกอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน

อาการของเด็กสมาธิสั้น แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วย ได้แก่
1. สมาธิสั้น เด็กมักไม่สามารถสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน เบื่อง่าย ขาดความตั้งใจ ไม่ใส่ใจเรียน
2. พฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง เด็กจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซุกซนมากกว่าปกติ ติดเล่น วิ่งวุ่นไปมา หรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม พูดมากเกินไป
3. หุนหันพลันแล่น มักทำตามใจตนเอง ขาดการยั้งคิด ทำไปด้วยอารมณ์ สะเพร่า ประมาทเลินเล่อ ทำงานบกพร่องผิดพลาด ดื้อ ก้าวร้าวเกเร มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
สาเหตุของสมาธิสั้น ได้แก่

พันธุกรรม ผลการศึกษาส่วนใหญ่เชื่อว่าโรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยพบว่าเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กอื่นถึง 4 เท่า การที่พ่อแม่ติดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด หรือมีโรคภูมิแพ้ในครอบครัว ก็เชื่อว่าเป็นสาเหตุเช่นกัน

ความผิดปกติของสมอง เช่น สมองส่วนที่ควบคุมสมาธิทำงานผิดปกติ สมองถูกกระทบกระเทือน คลื่นสมองผิดปกติ หรือสารเคมีบางอย่างในสมองไม่สมดุล เช่น โดปามีน เซโรโทนิน ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี แม้เด็กจะพยายามควบคุมตนเองแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กสมาธิสั้น อีก 3 ประการ คือ
อาการสมาธิสั้นจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อม คือ ภาวะที่เด็กได้รับสารตะกั่วมากเกินไป จากการสำรวจพบว่าเด็กในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นจะมีอาการสมาธิสั้น ขณะที่เด็กในชนบทจะไม่ค่อยเป็น ทั้งนี้เพราะเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งอายุ 7 ขวบ จะไม่มีระบบป้องกันสารตะกั่วขึ้นสู่สมองเหมือนกับผู้ใหญ่ที่สมองเติบโตเต็มที่แล้ว สารตะกั่วนี้สามารถส่งผ่านทางสายรกสู่สมองเด็กได้ เด็กที่มีระดับตะกั่วสูงตั้งแต่แรกเกิดจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการสมาธิสั้นและมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ

มีการวิจัยโดยนำเอาสารตะกั่วที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันไปผสมอาหารให้แม่หมูที่ตั้งท้องกิน พบว่าเมื่อลูกหมูคลอดออกมา เซลล์สมองหลายๆ ส่วนถูกตะกั่วทำลายหมด โดยเฉพาะในส่วนที่ควบคุมสมาธิ เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นอันเนื่องมาจากได้รับสารตะกั่วมากเกินไป จะเป็นกลุ่มที่มีสมาธิสั้นแท้ คือนอกจากจะมีสมาธิสั้นแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ถ้าพบว่าเด็กมีอาการแบบนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะอาการแบบนี้เกิดจากความบกพร่องบางอย่างในสมอง

อาการสมาธิสั้นจากการแพ้สารอาหาร เด็กสมาธิสั้นกลุ่มนี้จะมีอาการคล้ายๆ กับกลุ่มสมาธิสั้นแท้ เพียงแต่ไม่มีอาการลุกลี้ลุกลน ซึ่งจะทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน และผลการเรียนออกมาไม่ดี มีงานวิจัยในเด็กกลุ่มนี้ พบว่าในเด็ก 100 คน มีเกือบ 20 คน ที่มีอาการเนื่องมาจากการแพ้สารอาหาร คือแพ้สีผสมอาหาร และเมื่อทดลองให้รับประทานอาหารที่ไม่มีสีผสมอาหาร ปรากฏว่าอาการดีขึ้น

สีผสมอาหารที่เด็กได้รับส่วนใหญ่จะมาจากหวานเย็นสีสดใสต่างๆ ของเล่นที่เด็กเอาเข้าปากได้ และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่แพ้น้ำตาลทรายขาวซึ่งถูกฟอกสี รวมทั้งช็อกโกแลต เพราะในช็อกโกแลตจะมีสารกระตุ้นบางอย่าง

อาการสมาธิสั้นจากการนอนไม่หลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เด็กควรนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง การที่เด็กนอนไม่เต็มอิ่ม เมื่อตื่นขึ้นมาจะมีอาการงัวเงีย ปวดศีรษะ เนื่องจากสมองขาดเลือดและออกซิเจน ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพื่อให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น และเส้นเลือดที่ขยายออกก็จะไปดันเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เมื่อไปโรงเรียนก็จะนั่งสัปหงก ไม่มีสมาธิในการเรียน

โดยมากจะพบในเด็กที่นอนกรนเนื่องจากทอนซิลโตหรือทอนซิลอักเสบ ทางเดินหายใจไม่ดี ซึ่งจะทำให้ตื่นบ่อย เนื่องจากหายใจได้ไม่เต็มปอด หรือพบในกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป

เมื่อพ่อแม่สงสัยว่าลูกอาจจะเป็นเด็กสมาธิสั้น ก่อนอื่นควรพาเด็กไปรับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมเสียก่อน หากไม่ใช่โรคสมาธิสั้น ก็อาจเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น เลี้ยงดูอย่างตามใจ ไม่มีขอบเขต และไม่มีการฝึกให้ควบคุมตนเองเท่าที่ควร

คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามจัดการกับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น อย่าตามใจจนเกินไป อย่าให้เด็กเล่นสนุกสุดเหวี่ยง หมั่นฝึกระเบียบวินัยให้ลูกเสมอ ลูกของคุณอาจจะเป็นเพียงเด็กซุกซนว่องไวมากเท่านั้นก็ได้ เวลาที่ต้องมีสมาธิจริงๆ เขาก็อาจจะทำได้ดี

แต่หากตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นจริงๆ โรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายได้ เด็กสามารถปรับเปลี่ยนกลับมามีพฤติกรรมเท่าหรือใกล้เคียงกับเด็กปกติ ซึ่งรักษาได้โดยการใช้ยาร่วมกับการฝึกทักษะ ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องเข้าใจ ไม่อายที่จะนำลูกมารักษา และช่วยเหลือฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

Tags : , , , , | add comments

หลังจากการเตรียมความพร้อมที่ทางบ้านมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนจนเด็ก ๆ มีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อที่ดี ควบคู่ไปกับการนับเลข (ทั้งนับเพิ่มและนับถอยหลัง)
ในกระบวนการต่อมาก็เพิ่มสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ( + , -) โดยชี้นำให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าการนับเพิ่มก็คือการบวก ส่วนการลบก็คือการหักออก ซึ่งก็คือการนับถอยหลัง ที่เค้าคุ้นเคยนั่นเอง ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ อาจใช้ตัวต่อเพื่อทำให้ประโยคสัญลักษณ์เป็นรูปธรรมมากขึ้น การใช้ตัวต่อต่างสี ก็เป็นวิธีที่ทำให้เด็กเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
(การเห็นภาพจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจที่กระจ่างมากกว่าการใช้สัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว) ในการเพิ่มสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์นี้ ช่วงแรกควรให้ผลลัพธ์ไม่เกิน 10 ก่อน ในการทำความคุ้นเคยกับประโยคสัญลักษณ์นั้น เราแต่งโจทย์ที่เป็นประโยคในแนวของนิทาน ให้เขาคิดตามแล้วหาคำตอบที่แทรกอยู่ สิ่งที่จะได้รับคือเด็ก ๆ จะสามารถตีความ
และเกิดความคุ้นเคยกับการแปลโจทย์
ต่อจากนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งที่ทำได้ก็คือการหาเกมส์ต่าง ๆ เช่น การต่อจุด (dot to dot) เพื่อไม่ให้จำเจอยู่กับตาราง 100 ช่องเพียงอย่างเดียว ซึ่งการเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ของทางบ้านก็จะทำให้เด็กเชื่อมโยงไปใช้ในโรงเรียนได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวก็จะไปตรงพอดีกับเนื้อหาในโรงเรียนในชั้นประถมปีที่ 1
การที่เด็กมีพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ที่ดีที่สุดนั้นจะต้องเป็นความร่วมมือของคน 3 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ ครู (ในโรงเรียน) , พ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง แน่นอนทางโรงเรียนต้องเป็นเอกในด้านการให้ความรู้พื้นฐาน แต่ทางบ้านมีส่วนสำคัญที่จะปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นในการเรียน และยังมีส่วนผลักดันให้เด็กดึงศักยภาพที่เด็ก ทุก ๆ
คนมีอยู่ให้นำออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่รู้สึกเสียดายกับวันเวลาที่เป็นวัยทองของการเรียนรู้ที่หายไป และไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

ครูจา

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2554
ปรารถนาจะเรียนหนังสือเก่ง ทำงานดี มีความจำเลิศ อย่าละเลยการสร้าง “สมาธิ” ตัวช่วยสำคัญหยุดจิตสับสน ว้าวุ่น ทำสมองปลอดโปร่ง ฝึกง่าย ๆ ด้วย 4 วิธี
สร้างสมาธิก่อนเรียน หรือ ทำงาน โดยนั่งบนเก้าอี้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องหลับตา เพียงให้มีสติรู้ลมหายใจเข้า-ออก กำหนดจุดเพ่งมอง ปฏิบัติประมาณ 5-10 นาที ช่วยขจัดความยุ่งเหยิงทางใจ สมองคลายเครียด พร้อมใช้ความคิด ทั้งยังรับรู้ และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ลดความเร็วในการเดิน ให้จิตใจจดจ่ออยู่กับการก้าว สลับกับพิจารณาสิ่งแวดล้อมรอบตัว ช่วยผ่อนคลายความเครียด และกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต สามารถประยุกต์ใช้เมื่อเดินเล่น เดินไปเรียน และทำงานได้

รับประทานช้าลง โดยค่อย ๆ ตักอาหาร และเคี้ยวให้ละเอียด ไม่เพียงลดอาการท้องอืด และลดการทำงานหนักของกระเพาะอาหาร ยังเป็นการฝึกรวบรวมสมาธิให้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำด้วย

เลี่ยงคาเฟอีนเข้มข้น แม้คาเฟอีนจัดเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ลดความง่วง เหนื่อยล้า เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ทำให้กลไกการคิดรวดเร็ว และมีสมาธิขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับในปริมาณไม่มากเกินไป โดยเฉพาะวัยเรียน อาจลดความเข้มข้นจากการดื่มกาแฟเป็นชาแทน

หากต้องการกำจัดความฟุ้งซ่าน เข้าสู่โหมดสงบ มีสติ ลองสร้างสมาธิด้วยวิธีข้างต้น สามารถฝึกปฏิบัติได้ทุกที่ เมื่อสติมาปัญญาย่อมเกิดแน่นอน.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

Tags : , , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2554
นักศึกษาครูทวงถามการให้ทุนครูพันธุ์ใหม่ปี 2554 หึ่ง บิ๊ก ศธ. เมินพิจารณางบประมาณโครงการครูพันธุ์ใหม่ในปี 2555
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.)เปิดเผยว่า จากการประชุม ส.ค.ศ.ท. เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้รับทราบปัญหากรณีการจัดสรรทุนโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) หรือ โครงการครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โดยการให้ทุน 2 ประเภท คือ 1.ให้ทุนการศึกษาและประกันการมีงานทำ หรืออัตราบรรจุเมื่อสำเร็จการศึกษา และ 2.ให้เฉพาะอัตราบรรจุเมื่อสำเร็จการศึกษา แต่จนถึงขณะนี้ในส่วนของปีการศึกษา 2554 ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการพิจารณาทุนครูพันธุ์ใหม่ ทั้งในส่วนทุนที่ให้แก่นิสิต นักศึกษาครูที่กำลังเรียนชั้นปีที่ 4 และนิสิต นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ทำให้ทางสถาบันต่างๆ ต้องคอยตอบคำถามนิสิต นักศึกษาตลอดเวลา และหากยังไม่มีคำตอบนิสิต นักศึกษาอาจจะมาทวงถามความคืบหน้าด้วยตนเอง ซึ่งสภาคณบดีฯไม่ประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น จึงมีมติให้ติดตามสอบถามความคืบหน้าของโครงการทุนครูพันธุ์ใหม่ จากนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

“สำหรับการให้ทุนโครงการครูพันธุ์ใหม่ในปี 2554 ประเภทให้เงินและอัตราบรรจุนั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือและฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในหลายจังหวัด ดังนั้นอาจปรับเหลือเพียงให้อัตราบรรจุไม่ต้องให้เงินทุนการศึกษา แต่ขอให้คงจำนวนทุนทั้ง 2 ประเภทไว้ เพื่อให้เป้าหมายการผลิตครูเป็นไปตามแผนการผลิต ซึ่งสภาคณบดีฯไม่ติดใจเกี่ยวกับชื่อของโครงการฯ หาก รมว.ศธ.ต้องการปรับเปลี่ยนชื่อโครงการก็สามารถทำได้ แต่อยากให้มีวัตถุประสงค์เหมือนเดิม คือเพื่อผลิตครูที่มีคุณภาพ ได้คนดี คนเก่งเข้าไปเป็นครู”รศ.ดร.สมบัติ กล่าวและว่า หาก รมว.ศธ.ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการทุนครูพันธุ์ใหม่ ทางสภาคณบดีฯ ยินดีที่จะเข้าพบและชี้แจงรายละเอียด เพื่อให้โครงการนี้สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมาย และเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน และคุณภาพการศึกษาของชาติต่อไป

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่การดำเนินโครงการครูพันธุ์ใหม่ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ซึ่งเดิมมีนายไชยยศ จิรเมธากร อดีต รมช.ศธ.เป็นประธาน และคณะกรรมการชุดต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้หมดวาระลงตามรัฐบาล และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่นายวรวัจน์ ก็ไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา และไม่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน ส่งผลให้รายชื่อนิสิต นักศึกษาที่ได้รับทุนบางส่วน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯพิจารณาก็ต้องยุติไปด้วย นอกจากนี้งบประมาณโครงการครูพันธุ์ใหม่ในปี 2555 ที่ สกอ.เสนอไปก็ไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ยุติการดำเนินโครงการครูพันธุ์ใหม่ไปโดยปริยาย.

Tags : , , | add comments

1-10

จากเมื่อตอนที่แล้วได้กล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการเรียนคณิตศาสตร์ไปบ้างแล้ว ต่อมาก็จะเป็นแนวทางในการดูแลบุตรหลาน และสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเหล่านั้นมีทัศนคติในเชิงบวกกับการเรียน

ในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น เรื่องของการคำนวณเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งในช่วงวัยอนุบาลการเรียนคณิตศาสตร์เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถแปลตัวเลขจาก 1 – 9 จากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หลาย ๆ ครอบครัวมักมีความคิดว่า การส่งเด็กเข้าโรงเรียนก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตน เพราะโรงเรียนต้องมีหน้าที่สอนให้เด็กเกิดความเข้าใจได้ ความจริงแล้ว ในที่สุดเด็กก็จะสามารถเข้าใจจำนวนได้ แต่ถ้าทางบ้านมีส่วนช่วย (โดยการเล่นเกมส์ หรือหากิจกรรมโดยเชื่อมตัวเลขเข้าไป) จะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากตั้งแต่เริ่มต้น
ในช่วงวัยอนุบาล เราอาจยังไม่เน้นให้เด็กสามารถเขียนตัวเลขได้ถูกต้อง บางครั้งเด็กในวัยนี้ยังเขียนกลับด้านอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในวัยนี้ แต่สิ่งที่ควรเอาใจใส่คือสร้างกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์ของตัวเลขให้เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีทางคณิตศาสตร์แล้วยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในในครอบครัวอีกด้วย
กิจกรรมที่ทำสำหรับน้อง ๆ อนุบาล คือ การทำแผ่นป้ายตัวเลขที่มีขนาดใหญ่ (เนื่องจากเด็กเล็กจะไม่เหมาะกับการใช้ตัวอักษรขนาดเล็ก) ในช่วงแรก อาจทำตัวเลขเพียง 1 – 5 คู่กับแผ่นป้ายที่มีภาพในจำนวนเดียวกัน เพื่อให้เด็ก ๆ จับคู่ภาพกับจำนวน ในตอนแรกเราอาจต้องนับไปกับเขา เมื่อเห็นว่าเขาสามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ให้เขาลองนับและจับคู่ด้วยตนเอง (เพิ่มความเชื่อมั่นในการทำอะไรด้วยตัวเอง) หลังจากที่เริ่มคุ้นเคยกับจำนวน 1 – 5 ก็เพิ่มจำนวนขึ้นจนถึง 9 และรวมเลขศูนย์เข้าไปด้วยในภายหลัง

หลังจากที่ลูกน้อยเกิดความคุ้นเคยกับจำนวนต่าง ๆ แล้ว เราก็ค่อย ๆ เพิ่มเรื่องการบวก โดยให้เค้ารู้ว่าการเพิ่มต้องทำอย่างไร (การสร้างกิจกรรมดังกล่าวต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน หากเด็กเกิดความเบื่อหน่าย ให้เปลี่ยนแบบของกิจกรรมไปเรื่อย ๆ) การบวกและลบเราสามารถจัดกิจกรรมได้ในคราวเดียวกัน
แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ควรเกิน 10
กิจกรรมการบวก-การลบ เช่น การเล่นขายของ โดยการนำเส้นสปาเกตตีดิบมาแทนเงิน ให้เขาเป็นแม่ค้าเพื่อเล่นการบวก และเป็นคนซื้อเมื่อเป็นการลบ
เมื่อเขาเริ่มเพิ่ม – ลด จนคล่องแคล่วแล้วก็นำเข้าสู่การเขียนประโยคสัญลักษณ์ สอนการนับเพิ่ม และนับถอยหลัง ในช่วงนี้ถ้าเด็กมีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรงพอ คุณพ่อคุณแม่อาจทำตารางให้ลูกเขียนตัวเลขที่หายไป
จนในท้ายที่สุดให้เป็นตารางว่าง ๆ ให้เขาเติมตัวเลขเอง เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วในการนับ จนเป็นการเติมตัวเลขลงตาราง 100 ช่อง ในที่สุด

จากกิจกรรมข้างต้นดังกล่าว จะพบว่าการเสริมพัฒนาการทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์นั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และไม่ต้องการอุปกรณ์ใด ๆ ที่ซับซ้อน สิ่งที่ต้องการคือเวลาที่เจียดให้กับลูกน้อย และความคิดที่จะพัฒนาลูกหลานของตนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันเพื่อก้าวไปสู่สังคมต่อไปในอนาคต

ลองดูตัวอย่างที่ทางครูทำเอาไว้ให้เด็ก ๆ เล่นจาก file ด้านบน (1-10) กันนะคะ

ครูจา

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์
วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554
รองเลขาธิการ กพฐ. เผยรายชื่อโรงเรียนสำนักเขตพื้นที่การศึกษา 12 เขต ใน 5 จังหวัด รวม 145 โรงเรียน ไม่สามารถเปิดภาคเรียนที่ 2 ได้ทัน 6 ธ.ค.นี้ ส่วน กทม.ทำแผนเรียนชดเชยวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แล้ว…

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายพิษณุ ตุลสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ทั้ง 12 เขต ใน 5 จังหวัด ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร ได้ทยอยส่งรายชื่อโรงเรียน (ร.ร.) ที่ไม่สามารถเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ได้ในวันที่ 6 ธ.ค.54 มายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วเบื้องต้นมีจำนวน 145 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังเหลือ สพท.อีก 5 เขต ที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูลมา

กรุงเทพฯ ได้แก่ ร.ร.ราชวินิตบางแคปานขำ ร.ร.นวลนรดิศวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ร.ร.ทีปังกรวิทยาพัฒน์(ทวีวัฒนา) ร.ร.ไทยรัฐวิทยาเฉลิมพระเกียรติ และ ร.ร.ราชวินิตประถมบางแค

นครปฐม ได้แก่ ร.ร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา ร.ร.งิ้วรายบุญมีรังสฤษดิ์ ร.ร.บางเลนวิทยา ร.ร.บ้านรางปลาหมอ ร.ร.บ้านรางกระทุ่ม ร.ร.บ้านคลองพระมอพิสัย ร.ร.บ้านคลองนกกระทุง ร.ร.บ้านกระทุ่มล้ม ร.ร.วัดสุวรรณาราม ร.ร.บ้านคลองมหาสวัสดิ์ ร.ร.วัดสาลวัน ร.ร.บ้านคลองโยง ร.ร.บุณยศรีสวัสดิ์ ร.ร.บ้านคลองสว่างอารมณ์ และ ร.ร.วัดมะเกลือ

สมุทรสาคร ได้แก่ ร.ร.วัดอ้อมน้อย และ ร.ร.วัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง

นนทบุรี ได้แก่ ร.ร.แก้วอินทร์สุธาอุทิศ ร.ร.คล้ายสอนศึกษา ร.ร.เจริญรัฐอุปถัมภ์ ร.ร.เฉลิมพระเกียรติ 60พรรษา ร.ร.ชลประทานสงเคราะห์ ร.ร.ชุมชนไมตรีอุทิศ ร.ร.ชุมชนวัดต้นเชือก ร.ร.ชุมชนวัดไทรน้อย ร.ร.ชุมชนวัดบ้านโค ร.ร.ดีมากอุปถัมภ์ ร.ร.บ้านคลองฝรั่ง ร.ร.บ้านคลองพระพิมล ร.ร.บ้านคลองหนึ่ง ร.ร.บ้านดอนตะลุมพุก ร.ร.บ้านหนองเพรางาย ร.ร.ประชารัฐบำรุง ร.ร.ประสานสามัคคีวิทยา ร.ร.รุ่งเรืองวิทยา

ร.ร.วัดตำหนักเหนือ ร.ร.วัดศรีเขตนันทาราม ร.ร.วัดศาลากุล ร.ร.วัดอินทราราม ร.ร.สามัคคีวิทยา ร.ร.วัดพระเงิน ร.ร.วัดศรีราษฎร์ ร.ร.วัดสังวรพิมลไพบูลย์ ร.ร.วัดอินทร์ ร.ร.วัดอินทร์ ร.ร.วัดเอนกดิษฐาราม ร.ร.อนุบาลบางใหญ่ ร.ร.วัดมาลี ร.ร.วัดลาดปลาดุก ร.ร.วัดลำโพ ร.ร.สุเหร่าเขียว ร.ร.สุเหร่าปากคลองลำสารี ร.ร.แสงประทีปรัฐบำรุง และ ร.ร.แสงประเสริฐ

ปทุมธานี ได้แก่ ร.ร.วัดชินวราราม ร.ร.วัดบางนางบุญ ร.ร.วัดบางคูวัด ร.ร.วัดบางเดื่อ ร.ร.วัดโบสถ์ ร.ร.วัดมะขาม ร.ร.วัดดาวเรือง ร.ร.วัดเวฬุวัน ร.ร.วัดไพร่ฟ้า ร.ร.วัดราษฎร์ศรัทธาทำ ร.ร.วัดฉาง ร.ร.วัดโคก ร.ร.วัดหงส์ปทุมาวาส ร.ร.วัดรังสิต ร.ร.สุลักขณะ ร.ร.วัดนาวง ร.ร.วัดบางพูน ร.ร.วัดบางกุฎีทอง ร.ร.ขจรทรัพย์อำรุง ร.ร.วัดพืชนิมิตร ร.ร.วัดครู 2502 ร.ร.ชุมชนวัดบางขัน ร.ร.บุญคุ้มราษฎร์บำรุง ร.ร.ประถมศึกษาธรรมศาสตร์

ร.ร.วัดมงคลพุการาม ร.ร.วัดตะวันเรือง ร.ร.บึงเขาย้อน ร.ร.วัดเพิ่มทาน ร.ร.คลองห้า (พฤกษชัฏฯ) ร.ร.ชุมชนวัดหัตถสารเกษตร ร.ร.วัดศิริจันทาราม ร.ร.ลำสนุ่น ร.ร.วัดกล้าชอุ่ม ร.ร.วัดเกิดการอุดม ร.ร.วัดกลางคลองสาม ร.ร.ลิ้นจี่อุทิศ รร.วัดหว่านบุญ ร.ร.อินทรนาวีราษฎร์อุปถัมภ์ ร.ร.ชุมชนวัดบัวแก้วเกษร ร.ร.คลองบางโพธิ์ ร.ร.คลองพระอุดม ร.ร.คลองลากค้อน ร.ร.คลองลาดช้าง ร.ร.ชุมชนวัดหน้าไม้ ร.ร.บางโพธิ์ใหม่

ร.ร.บ้านคลองขวางบน ร.ร.คลองเจ้าเมือง ร.ร.วัดจันทาราม ร.ร.วัดเนกขัมมาราม ร.ร.วัดบ่อทอง ร.ร.วัดบัวขวัญ ร.ร.บัวสุวรรณประดิษฐ์ ร.ร.วัดลาดหลุมแก้ว ร.ร.สุทธาวาส ร.ร.สุวรรณจินดาราม ร.ร.สังฆรักษ์บำรุง ร.ร.สามวาวิทยา ร.ร.ศาลาพัน ร.ร.คลองสระ(สภาวิทยาอุทิศ) ร.ร.ชุมชนวัดจันทร์กะพ้อ ร.ร.ชุมชนวัดจันทร์กะพ้อ ร.ร.บางโพธิ์เหนือ ร.ร.วัดเชิงท่า ร.ร.วัดบางเตยนอก ร.ร.วัดบางเตยใน

ร.ร.วัดบางนา ร.ร.วัดเมตารางค์ ร.ร.วัดสหราษฎร์บำรุง ร.ร.วัดสองพี่น้อง ร.ร.วัดสามัคคิยาราม ร.ร.สี่แยกบางเตย ร.ร.สุเหร่าใหม่เจริญ ร.ร.ชุมชนวัดไก่เตี้ย ร.ร.วัดสะแก ร.ร.วัดปทุมทอง ร.ร.คลองบ้านพร้าว และ ร.ร.วัดบ้านพร้าวใน

อย่างไรก็ตาม ที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา ที่ยังเปิดเรียนไม่ได้ทุกชั้นปี จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ร.ร.วัดคลองเจ้า ร.ร.วัดคลองตาคล้าย ร.ร.วัดไทรใหญ่ ร.ร.วัดเพรางาย ร.ร.วัดมะสงมิตรภาพที่ 55 ร.ร.วัดยอดพระพิมล ร.ร.วัดเสนีย์วงศ์ ร.ร.วัดลากค้อน และ ร.ร.วัดสมบูรณ์ศาสตร์พัฒนา

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า หากพ้นจากวันที่ 6 ธันวาคมไปแล้วยังเปิดเรียนไม่ได้ จะมีผลต่อปฏิทินการศึกษาค่อนข้างแน่นอน ทั้งการเรียน การสอบ และการรับนักเรียน โดยการเลื่อนเปิดภาคเรียนในโรงเรียนที่ยังเปิดไม่ได้นั้น จะให้เป็นวันที่ 13 ธันวาคมไปก่อน และหลังจากนั้นต้องประเมินกันรายวัน เพราะถือว่าทุกวันมีค่าต่อการเรียนในภาคเรียนนี้ คงไม่มีการเลื่อนคราวละสัปดาห์อีก ซึ่งในบางพื้นที่อาจเป็นการเปลี่ยนสถานที่เรียนชั่วคราว แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

“ถ้าเลยจากวันที่ 6 ไปแล้ว การพิจารณาจะเป็นรายกรณี เพราะสภาพการณ์ได้คลี่คลายในหลายพื้นที่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศทั่วทั้งพื้นที่ แต่ต้องมีระบบการแจ้งและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองทราบอย่างกว้างขวาง” นายชินภัทรกล่าว

ส่วนแผนการเรียนชดเชย กรุงเทพมหานครเผยแพร่ตารางการเรียนชดเชยผ่านทางเฟซบุ๊ก The Bangkok Governor ระบุให้เด็กที่เปิดภาคเรียนในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ ต้องเรียนชดเชยวันละ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ 15.00-16.00 น.ของวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.-27 ก.พ.2555 และสอนชดเชยในวันเสาร์ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ 08.00-15.00 น.โดยระบุว่า ระยะเวลาที่ปิดเรียนเนื่องจากภาวะน้ำท่วมตั้งแต่ 1 พ.ย.-5 ธ.ค.รวม 24 วัน 120 ชั่วโมง

ส่วนแผนการสอนชดเชยสำหรับเด็กที่เปิดภาคเรียนในวันที่ 13 ธันวาคม นอกจากการเรียนชดเชยวันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 1 ชั่วโมง วันเสาร์และวันอาทิตย์จะต้องเรียนชดเชยอีกวันละ 5 ชั่วโมง เนื่องจากโรงเรียนต้องปิดเรียนในภาวะน้ำท่วม 28 วัน รวมเวลาการเรียนที่หายไป 140 ชั่วโมง

โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแผนการเลื่อนสอบ O-Net ออกไป 2 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้โรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนได้ในวันที่ 6 ธันวาคม ไม่จำเป็นต้องเร่งสอนชดเชยเพิ่มในวันเสาร์อีก 4 ชั่วโมง ซึ่งเห็นว่า อาจจะทำให้เด็กเครียด และการเรียนการสอนไม่เกิดประสิทธิผล ทั้งนี้การพิจารณาการเลื่อนการสอบ O-Net อยู่ที่สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) จะหารือกับสพฐ. ต่อไป.

Tags : , | add comments

จากที่ได้นำเสนอในตอนที่แล้วว่า การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างไร เราจะได้พบประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดทัศนคติในเชิงลบกับการเรียนคณิตศาสตร์ได้พอสังเขป (โดยที่กล่าวถึงเฉพาะเด็กที่ความสามารถในการเรียนรู้อยู่ในระดับปกติเท่านั้น) ดังนี้

– ปัญหาด้านการอ่าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการเรียนของลูกของเรา
พ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่า ลูกหลานของท่านมีปัญหาในการอ่าน ดัชนีชี้วัดที่ง่ายที่สุดก็คือ บุตรหลานของท่านจะได้คะแนนในแต่ละวิชาอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก นั่นหมายความว่าบุตรหลานของท่านมีปัญหากับการเรียนในทุก ๆ วิชาที่มีเนื้อหาที่จะต้องอ่านทบทวน บ่อยครั้งที่เราพบว่าเกรดที่ได้จากโรงเรียนไม่สามารถชี้ถึงความบกพร่องในการเรียนในโรงเรียนได้ (เนื่องจากแนวการตัดเกรดของกระทรวงไม่ได้มุ่งเน้นที่คะแนนสอบ แต่จะเน้นจากคะแนนเก็บในระหว่างเทอมแทน) พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถสืบทราบการเรียนของลูกหลานตนเองได้โดยการปรึกษา หรือพูดคุยกับครูประจำวิชาในแต่ละวิชาได้ไม่ยากนัก
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ การติดตามบทเรียนในแต่ละระดับชั้น เช่นในเด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักจะอ่านออกเขียนได้ อย่างคล่องแคล่วเมื่อสิ้นสุดเทอมต้นในระดับประถมปีที่ 1 แต่อาจจะมีติดขัดบ้างในการผันวรรณยุกต์ หรือในเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสองภาษาก็เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วน่าจะสามารถอ่านภาษาอังกฤษ ในระบบของ phonics คือสระเสียงสั้น (short vowels sound) ได้ทั้งหมด ซึ่งก็พอที่จะทำให้เขาสามารถอ่านโจทย์คณิตศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษได้
หากพ่อแม่ผู้ปกครอง พอจะรู้บทเรียนในแต่ละชั้นปีพอสังเขป ก็จะสามารถส่งเสริม สนับสนุน หรือเพิ่มพูน ทักษะในการอ่านของลูกให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เจียดเวลาที่ทุ่มเทให้กับงานบางส่วน มาเพิ่มเวลาคุณภาพที่จะเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านวิชาการและจริยธรรมของลูก ที่นับวันจะน้อยลงทุกทีเมื่อเขาโตขึ้น

– ปัญหาด้านการตีความ
ในบางครั้งเด็กอาจไม่มีปัญหาด้านการอ่าน แต่เนื่องจากขาดทักษะในการอ่าน (ที่จะได้มาจากการฝึกฝน หรือการอ่านบ่อย ๆ) ทำให้ไม่สามารถจะเว้นวรรคตอน หรือจับใจความในแต่ละประโยคได้อย่างถูกต้อง
ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก เนื่องจากเด็กเพียงขาดทักษะในการอ่าน วิธีแก้คือ คุณพ่อคุณแม่ควรได้มีเวลาอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ หรือการสลับกันอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ถ้าอ่านผิดวรรคตอน ก็ใช้วิธีแนะโดยการอ่านในแบบที่ถูกต้อง และในแบบที่ไม่ถูกต้อง โดยให้ลูกเป็นผู้เลือกเองว่า การอ่านแบบไหนที่ทำให้เขามีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องที่อ่าน หรือจับใจความได้ดีกว่า
วิธีดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าความผิดพลาดของตนเองเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เขามีความกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเขาในการอ่านมากขึ้นและประการสำคัญที่จะได้จากการอ่านหนังสือด้วยกันก็คือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะแน่นแฟ้นมากขึ้น ลองดูนะคะ ลดกิจกรรมนอกบ้านลง (เช่นการพาลูกไปช็อปปิ้ง) เอาเวลาที่ว่างนั่งคุยเรื่องหนังสือที่อ่านและร่วมกันแสดงความคิดเห็น คุณอาจจะได้พบผู้ใหญ่ตัวน้อย ๆ ในอนาคตที่จะบอกคุณว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะไปในทิศทางใด

– ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังจากทางบ้านจนเป็นนิสัย
บ่อยครั้งที่เราพบว่าพฤติกรรมที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีชีวิตที่เร่งรีบ จนไม่มีเวลาที่ให้เด็กสามารถคิด หรือฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง สุดท้ายจึงเป็นการสร้างนิสัยที่เด็กไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำด้วยตนเอง เมื่อเด็กต้องเรียนในสิ่งที่ยากขึ้น หรือต้องทำงานที่ซับซ้อน ก็จะปฏิเสธ หรือต่อต้าน สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคนี้ปฏิบัติกับลูกหลานก็คือ การเลือกทุกสิ่งที่ดีที่สุด ให้ความสะดวกสบาย ส่งลูกเรียนกวดวิชา โดยมีวิธีลัดต่าง ๆ ให้จดจำมากมาย หลังเลิกเรียนก็ผ่อนคลายด้วยเกมส์ ทุกอย่างเป็นตารางที่วางไว้แล้ว เพียงแต่ลูกหลานเอาตัวเองไปในที่ต่าง ๆ ที่พ่อแม่จัดการไว้แล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูก แต่มันกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไม่มีความพยายามที่จะฟันฝ่าอุปสรรค ไม่คิดหรือวางแผน เพราะว่าไม่เคยมีโอกาสได้วางแผนอะไรเลย
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง พอจะปรับแก้ได้ก็คือ การฝึกให้ลูกหลานได้รับผิดชอบหน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้าน ให้เขาได้จัดสรรเวลาหลังเลิกเรียนด้วยตัวเอง เมื่อเกิดอุปสรรค หรือปัญหา พยายามดูอยู่ห่าง ๆ ให้กำลังใจว่าเขาต้องทำได้ ไม่ใช่เข้าไปแก้ปัญหาให้ทุกครั้ง สร้างตารางคร่าว ๆ ว่าเขาจะต้องทำอะไรบ้างใน 1 วัน แล้วให้เขาเป็นคนเลือกเองว่าจะทำอะไรในเวลาไหน ซึ่งเป็นการฝึกวินัยให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองด้วย

– ปัญหาบุคลากรในโรงเรียนไม่เพียงพอ
ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกับเด็กจำนวนมาก เนื่องจากความเอาใจใส่ไปไม่ถึง และส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กนักเรียนที่ไม่ค่อยมีสมาธิ
ปัญหาเรื่องบุคลากรนี้ เป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือเตรียมความพร้อมของลูกหลานให้มีสมาธิกับเรื่องที่ทำ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และการติดตามการเรียนการสอนของแต่ละวิชา ไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ครูพูดเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก หรือท้อแท้ในการเรียน ดังที่กล่าวมาปัญหาส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวพ่อแม่ ผู้ปกครองเอง โดยการให้เวลาและความสำคัญกับลูกมากขึ้น เพื่อให้เขามีอนาคตที่เขาสามารถเป็นผู้เลือกเอง โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเสมือนลมที่อยู่ใต้ปีกนกอินทรีย์ที่บินไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ

ครูจา

Tags : , , , , , , , , | add comments

การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาสำคัญอย่างไร
คำตอบก็คือการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมนั้นเป็นการปูพื้นฐาน ในเรื่องของจำนวนและการแก้ไขปัญหา (โจทย์คณิตศาสตร์) เป็นหลัก ซึ่งพื้นฐานดังกล่าวจะถูกต่อยอดไปในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และแน่นอนว่าถ้าเด็กเหล่านั้นไม่มีความเข้าใจในบทเรียนขั้นพื้นฐาน เด็กก็จะเกิดความท้อแท้ และขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ อีกทั้งทัศนะคติทางคณิตศาสตร์ที่ไม่ดี และนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจคณิตศาสตร์เกิดความต่อต้าน ปฏิเสธการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม และนั่นก็หมายถึงทางเลือกในอนาคตของตัวเขาเองก็จะมีน้อยลงเช่นกัน

เราพบว่าสาเหตุสำคัญของการเรียนคณิตศาสตร์แล้วจะเข้าใจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการอ่านและความสามารถในการจับใจความของประโยค หากย้อนมาดูการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียน จะพบว่าแบบของการเรียนการสอนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ลักษณะการสอนโจทย์คณิตศาสตร์จะเป็นในลักษณะที่ให้นักเรียนเขียนประโยคสัญลักษณ์ หรือเขียนข้อความต่าง ๆ ที่โจทย์ให้ไล่เรียงลงมาเป็นบรรทัด ซึ่งแนวการเรียนการสอนดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหามากเท่าใดนักกับเด็กที่สามารถอ่านจับใจความในบทความยาว ๆ ได้ แต่จะเป็นปมใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาทางด้านการอ่าน และการตีความ
แน่นอนที่สุดว่า เด็กที่มีปัญหาการอ่านย่อมมีปัญหาในการเรียนไม่เพียงแต่วิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจะต้องคอยดูแล เอาใจใส่ ทบทวนบทเรียนให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะลำพังครูผู้สอน (ภาษาไทย) ในห้องซึ่งบรรจุนักเรียนอย่างน้อย 25 คนขึ้นไป ก็ไม่สามารถดูแลนักเรียนให้ทั่วถึงได้

ในการแก้ปัญหาการตีโจทย์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กที่ไม่สามารถตีความจากโจทย์ยาว ๆ ได้นั้น เราสามารถสอนให้เด็กจับใจความในแต่ละประโยคของโจทย์ปัญหา แล้วมาวาดเป็นภาพ (ในระดับประถม 1) เพื่อให้เด็ก ๆ แปลความเป็นรูปธรรมได้ หลังจากฝึกให้เด็กจับใจความทีละประโยค แล้วแปลงเป็นภาพที่เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อโจทย์ยากขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น รูปแบบของการวาดภาพก็จะซับซ้อนขึ้น แต่ก็ยังคงสามารถทำให้เขาได้เข้าใจในสิ่งที่โจทย์ต้องการได้ในที่สุด

เขียนบทความโดย : ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments