Jul 27
การเรียนของเด็กๆ นั้น วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นั่นอาจเกิดจากเหตุผลหลายประการ เช่น ตัวพ่อแม่ผู้ปกครองเองไม่ชอบคณิตศาสตร์ จึงไม่อยากให้บุตรหลานไม่ชอบคณิตศาสตร์เหมือนตนเอง หรืออาจเนื่องมาจากพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่าหากเด็กๆ ไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ จะส่งผลระยะยาวจนเขาโตขึ้น โอกาสในการเลือกเรียนนสาขาวิชาต่างๆ ก็จะน้อยลงด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายๆ ครอบครัวจึงปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย บางครอบครัวก็เลือกวิธีที่จะสอนเอง โดยใช้สิ่งของเป็นสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายๆ ครอบครัวใช้วิธีการส่งบุตรหลานเรียน หลายครั้งที่เด็กๆ ทำแบบฝึกหัดแบบซ้ำเดิม จนในที่สุดเด็กจำได้ เมื่อเห็นตัวเลขก็สามารถตอบได้ทันที การเรียนในแบบดังกล่าวให้ผลทั้งสองด้านกับเด็ก คือเด็กจะมีความมั่นใจและชอบคณิตศาสตร์มากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม การเรียนโดยวิธีการใช้ความจำไม่เหมาะกับการเรียนคณิตศาสตร์ เนื่องจากเมื่อเด็กเจอตัวเลขที่พลิกแพลงไม่ตายตัว เขาก็อาจจะติดอยู่ในกรอบของการจำจนทำไม่ได้ เช่น หากมีการให้ใส่ตัวเลข อะไรก็ได้ที่มีผลลัพธ์เป็น 5 หากเด็กรู้จักเพียงแค่ 4 + 1 แล้ว เขาจะได้เพียงคำตอบเดียว ซึ่งหลายๆ ครั้งที่คณิตศาสตร์ไม่ได้ต้องการเพียงคำตอบเดียว การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่วิชาท่องจำเหมือนวิชาประวัติศาสตร์ (เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นบันทึกความจริงที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้) ส่วนการเรียนคณิตศาสตร์ เมื่อเรียนขึ้นไปจนถึงชั้นมัธยม การเรียนคณิตศาสตร์จะเป็นการเรียนในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งต้องใช้จินตนาการและความเข้าใจมากขึ้นในการเรียน เด็กที่ถูกฝึกให้คิดอยู่ในกรอบ จะมีแบบและวิธีคิดแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ได้ค่อนข้างจำกัดจนในที่สุดความมั่นใจและความชอบคณิตศาสตร์ก็จะลดลง หากเป็นเช่นนี้ มันคงจะดีกว่าหากเราไม่ใส่กรอบในการเรียนคณิตศาสตร์
ครูจา
Jul 20
หลังจากเปิดภาคเรียนกันมาระยะหนึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงของการเข้าสู่ฤดูสอบกลางภาค หลายๆ ครอบครัวจะเตรียมตัวบุตรหลานอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้เด็กๆ ได้ทบทวนบทเรียน ซึ่งในแต่ละครอบครัวก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน บางครอบครัว ก็จะปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้หรืออ่านหนังสือด้วยตนเอง แต่หลายๆ ครอบครัว พ่อแม่จะเป็นผู้ย่อยและคัดกรองเนื้อหาต่างๆ ให้กับบุตรหลาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนที่ดี
แนวทางแบบใดที่ดีกว่า หากมองกันจริงๆ การเรียนในบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ก็เหมือนกับการฝึกให้เด็กมีความมุมานะ พยายาม ในการแก้ปัญหา หากเพียงเรื่องเรียนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเด็กๆ ยังไม่สามารถที่จะทำได้ เราก็ต้องตั้งคำถามก่อนว่าเราจะสามารถช่วยเขาได้ถึงเมื่อไร และหลังจากที่เราไม่ช่วยเขาแล้ว เขาจะสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเองเมื่อใด หากเป็นเช่นนี้ ทำไมเราไม่ใช้วิธีที่ค่อยๆ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ลองผิดลองถูก เหมือนกับการเดิน ก่อนการเดินเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะคืบ คลานและตั้งไข่ตามลำดับ คงไม่มีใครที่ไม่ผ่านกระบวนการดังกล่าวหรือข้ามขั้นใดขั้นหนึ่งไปได้ การเรียนก็เช่นกัน หากเราทำหน้าที่เป็นโค้ชที่คอยแนะนำ ให้กำลังใจ อยู่ข้างสนามเพื่อคอยชี้นำหรือแนะวิธีการที่ถูกต้องก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เขาได้มุมานะ พยายามด้วยความสามารถของตนเอง ไม่เคยมีโค้ชคนไหนเข้าไปเล่นแทนนักกีฬาเลย โค้ชมีหน้าที่เพียงชี้แนะและฝึกหัดให้มีข้อด้อย น้อยที่สุดเท่านั้น เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่คอบชี้แนะ ให้เขาได้ลองผิดลองถูกและสร้างกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ซักวันเขาก็จะกลายเป็นนักเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดในที่สุด
ครูจา
Jul 13
Posted by malinee on Sunday Jul 13, 2014 Under กิจกรรม
นับถอยหลังจากนี้ไปอีก 5 สัปดาห์ จะมีการจัดการแข่งขันคณิตคิดเร็ว ของ PAMA Thailand ซึ่งประกาศรับสมัครทั้งบุคคลทั่วไป และสำหรับเด็กตามวัย ในวันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2557 นี้ หากท่านผู้ปกครองมีความสนใจ สามารถส่งบุตรหลานเข้าร่วมการแข่งขันได้
ในการแข่งขันคณิตคิดเร็วนั้น ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องเรียนจินตคณิตมาถึงจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ แต่ในความเป็นจริงคือ แนวการแข่งขันในรูปแบบนี้ เหมาะสำหรับเด็กที่ถูกฝึกมาให้คิดแบบต่อเนื่อง โดยไม่ใช้วิธีการจับคู่คิดในใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีดังกล่าวใช้ไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันดังกล่าวทางคณะกรรมการจะใช้ความเร็วและ ความถูกต้องแม่นยำ เป็นตัวตัดสินการแพ้ชนะ แต่หากต้องการเปิดหูเปิดตา พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถพาบุตรหลานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันและจะได้พบกับกลุ่มเด็กๆ ที่เรียนจินตคณิตที่มีประสิทธิผล เด็กนับร้อย ที่ใช้วิธีการคิดเลขแบบจินตคณิต เพียงชั่วพริบตาก็สามารถหาคำตอบได้เป็นสิบๆ ข้อ
ทางสถาบันก็มีการจัดการซ้อมเพื่อส่งเด็ก ๆเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เด็กๆ ได้พบกับกลุ่มเพื่อนที่ใช้วิธีการคิดเลขในแบบเดียวกัน ได้มีประสบการณ์ของการแข่งขัน โดยมีความตั้งใจ และ มุ่งมั่นในการฝึกซ้อม ต้องขอขอบพระคุณ คุณพ่อคุณแม่ ที่เสียสละเวลาอันมีค่า เพื่อสร้างความมุมานะให้กับบุตรหลานด้วยคะ
ครูจา
Jul 07
พอกล่าวถึงการเรียนจินตคณิต ร้อยละ 90 มักมีความเข้าใจว่า การเรียนจินตคณิต เปรียบเหมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ช่วยในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนมักส่งบุตรหลานให้เรียนจินตคณิต เมื่อพบว่าบุตรหลานมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์
ก่อนอื่นต้องมอง ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ การอ่าน , การคำนวณ และการตีความ ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงชั้นแรก (ป.1 – 2) ปัจจัยในการเรียนคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในเรื่องจำนวน หรือเรื่องค่าประจำหลัก เท่านั้น เนื่องจากในช่วงวัยนี้ยังไม่มีการแก้ไขโจทย์ปัญหาเท่าใดนัก เป็นการเรียนรู้เพื่อปูความรู้พื้นฐานเข้าสู่การแก้ไขโจทย์ปัญหาในระดับที่โตขึ้น ซึ่งหากเด็กมีปัญหาในข่วงวัยนี้ การเรียนจินตคณิต เป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้อย่างแน่นอน แต่หากเด็ก อยู่ในวัยที่โตขึ้น (ตั้งแต่ ป.3 ขึ้นไป) การเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มมาจากปัจจัย เรื่องการอ่าน หรือ เป็นเพียงปัญหาการตีความ แต่ในเด็กบางคน ที่มีปัญหาเรื่องจำนวน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการไม่ยอมท่องสูตรคูณ หรือความไม่เข้าใจเรื่องการคูณ หรือการหาร หากบุตรหลานประสบปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง จำเป็นต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และแก้ไข
เราจะทราบได้อย่างไรว่าสาเหตุของปัญหา อยู่ตรงไหน หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน เด็กจะมีปัญหากับทุกๆ วิชา ไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียว แต่หากเด็กมีปัญหาเพียงวิชาคณิตศาสตร์ ก็ต้องมาดูว่าปัญหาเกิดเพียงอย่างเดียวคือเรื่องของการตีความ หรือมีปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งการตีความและการคำนวณ หากเด็กมีปัญหาในเรื่องของการคำนวณ ในความเป็นจริงการแก้ไขในเรื่องของการคำนวณทำได้ไม่ยาก นั่นคือให้เด็กมีการฝึกทักษะ หรือทำแบบฝึกหัดให้มากขึ้น ส่วนการตีความนั้น เราสามารถแก้ได้ด้วยการวาดเป็นภาพในช่วงแรกเด็กยังต้องมีการชี้นำ แต่เมื่อเขามีความเข้าใจ เขาจะสามารถตีความเป็นภาพออกมาได้ชัดเจน และสามารถแก้ไขปัญหาโจทย์ได้อย่างเป็นระบบดังนั้นหากบุตรหลานมีปัญหาในเรื่องของการเรียน อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นทัศนคติที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้
ครูจา