ลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือ
Posted by malinee on Thursday May 17, 2018 Under เกร็ดความรู้ระบบการศึกษาไทย ยิ่งปรับยิ่งก้าวหน้าหรือถอยหลัง แต่เดิมที่มีการสอบคัดเลือกเพียงครั้งเดียว โดยให้เลือกอันดับของคณะและสถาบันที่ต้องการเรียน ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนให้มีการสอบเป็นสองรอบ เพื่อให้ปรับแก้วิชาที่ยังคะแนนได้ไม่ดี จนมาถึงปัจจุบันเป็นระบบที่เรียกว่า TCAS ซึ่งแบ่งเป็นการสอบและยื่นคะแนนออกเป็น 5 รอบ โดยในแต่ละรอบจะใช้คะแนนที่แตกต่างกัน โดยแยกเป็นรอบดังนี้
รอบแรก คือการยื่น portfolio ซึ่งในรอบนี้มหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
รอบที่ 2 เป็นรอบของโควตามหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน โดยราคาเริ่มต้นที่ 300 บาทถ้าเลือกสอบที่เดียว เพิ่มอีกที่ละ 200 บาท รวม 4 วิชา 900 บาท
รอบที่ 4 แอดมิชชันราคาเริ่มต้นที่ 100 บาทถ้าเลือกสอบที่เดียว เพิ่มอีกที่ละ 50 บาท รวม 4 ที่ 250 บาท
รอบ 5 รับตรงอิสระมหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
โดยมีค่าสอบในข้อสอบกลางดังนี้
- GAT/PAT วิชาละ 140 บาท ตามเกณฑ์ของคณะที่สนใจ
- 9 วิชาสามัญ วิชาละ 100 บาท
- วิชาเฉพาะ กสพท 800 บาท
- ข้อสอบตรงของมหาวิทยาลัย
- O-Net ไม่เสียค่าใช้จ่าย
จากการแจกแจงค่าใช้จ่ายด้านบน เราจะพบว่า หากการเลือกสอบในแต่ละรอบไม่ได้คะแนนตามเกณฑ์ของคณะที่กำหนด เราจะต้องสมัครในรอบต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในแต่ละขั้นตอน เด็กๆ จะต้องมีการสอบเผื่อในทุกๆ รอบ จะเห็นว่าไม่ว่าจะสอบในรอบไหนๆ ก็เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการสอบ และส่วนของการยื่น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะที่มั่นคง ก็อาจถูกตัดโอกาสทางการศึกษาไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นช่องว่างจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจเป็นปัญหาทางสังคม เพราะเขาเหล่านั้นอาจคิดว่าการทำอาชีพสุจริตได้รายได้น้อยเกินกว่าที่จะใช้จ่าย และก่อให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมกันตามมาเป็นลูกโซ่