Jun 23
หลายๆ
คนคงทราบว่ากระแสของเด็กในปัจจุบันจะเป็นเด็กพิเศษกันเพิ่มขึ้น หลายๆ
ครอบครัวก็มักระแวงว่าบุตรหลานของตนเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ บุตรหลานของเราเป็นเด็กเรียนรู้ช้าหรือทำไมเขามีพัฒนาการหรือการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน
แต่ก็มีอีกหลายๆ ครอบครัวไม่ยอมรับว่าบุตรหลานของตนเป็นเด็กพิเศษ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่หล่อหลอมเด็กแต่ละคนเติบโตมา
มีปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ปัจจัยต่างๆ
ที่เกิดขึ้นตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์เพราะเป็นช่วงที่ลูกอยู่ในท้องนั้น
จะมีการแบ่งเซลล์เพื่อพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆ ตลอดระยะเวลา 40 สัปดาห์
หากมีสิ่งที่มีผลมากระทบต่อแม่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ย่อมมีผลต่อต่อลูกที่เชื่อมโยงกันแน่นอน หลังจากที่เขาลืมตา นั่นคือจุดเริ่มต้นของการดูแลเอาใจใส่ต่อสิ่งเร้าภายนอกที่มากระตุ้นการพัฒนาทั้งสมอง
ร่างกาย และจิตใจของเด็กแต่ละคน
ช่วง 3 ขวบปีแรก เป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
ให้ได้ทำงานอย่างสมบูรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย และการเข้าสังคม
ให้เข้าโรงเรียน หลังจากนั้นเป็นวัยที่เด็กเข้าเรียนในชั้นอนุบาล
หากเด็กถูกฝึกทักษะทางด้านกล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัสทั้ง 5 แล้ว
เด็กจะพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่เด็กหลายๆ ครอบครัวไม่ได้ใช้ช่วงเวลาใน 3
ขวบปีแรกเสริมพัฒนาการให้กับบุตรหลาน ทำให้เขามีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อนๆ ทำให้เขาเกิดความไม่มั่นใจ
ไม่กล้าแสดงออก บ่มเพาะจนกลายเป็นนิสัยที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จริงอยู่เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน
และเด็กทุกคนต้องมีลักษณะเด่นหรือความชอบด้านด้านหนึ่ง
ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องคอยกระตุ้นความเชื่อมั่น หรือพยายามส่งเสริมกิจกรรมที่เพิ่มศักยภาพให้เขาได้เรียนรู้ได้ใกล้เคียงกับเด็กในรุ่นเดียวกัน
อย่าปล่อยให้เค้ารู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อตั้งแต่เล็กๆ หมั่นสอบถามครูประจำชั้นถึงพัฒนาการด้านการเรียนในชั้นเรียนของเขา
อย่ายอมรับในทุกๆ เรื่องว่ามันคือ นิสัยของลูกเรา ทั้งๆ
ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งที่เราสร้างปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่ายอมรับอะไรง่ายๆ
โดยที่ยังไม่ได้เริ่มที่จะคิดแก้ไขอะไรเลย………
Jun 16
ครอบครัวในปัจจุบันเป็นครอบครัวที่มีลูกโทนเป็นส่วนใหญ่
พ่อแม่ผู้ปกครองจึงสรรหาทุกอย่างที่ดีที่สุดเพื่อให้บุตรหลานได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด
ทุ่มเทความรัก ความเอาใจใส่ ความปรารถนาดี คัดสรรสิ่งที่ตนคิดว่าเหมาะสมที่สุดให้กับเขา
จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้เขาได้รับความลำบากน้อยที่สุด
ในวัยที่เขาเข้าสู่วัยแห่งการเรียนรู้
หลายๆ ครอบครัวนอกจากจะเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานแล้ว ยังส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ
เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะการแสดง เพื่อให้เขาได้มีทางเลือกอื่นนอกจากการเรียนพิเศษด้านวิชาการ
เด็กหลายๆ คนเรียนด้วยความสนุกสนาน แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่เรียนทั้งน้ำตา
เพราะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับวิชาการที่อัดแน่นและกิจกรรมที่พ่อแม่จัดให้ในวันหยุด จนในที่สุดเด็กจะฝืนทำโดยที่ไม่มีความตั้งใจ
ไม่เอาใจใส่กับสิ่งที่ทำจนกลายเป็นนิสัย พ่อแม่ส่งให้เรียนอะไร ก็เรียน ไม่ขัดข้อง
แต่ไม่มีความตั้งใจ ซ้ำร้ายบางครอบครัวถึงกับต้องมีข้อแลกเปลี่ยนว่าถ้าทำสิ่งนี้จะได้สิ่งนั้นเป็นการตอบแทน
มันกลายเป็นว่าเด็กทำทุกอย่างเพื่อหวังผลตอบแทน โดยที่ไม่ได้มองถึงประโยชน์หรือความปรารถนาดีที่พ่อแม่พยายามปูทางให้ตนเองในอนาคตในเวลาที่เค้าต้องอยู่ด้วยตนเอง
จริงอยู่ในวัยเด็ก
พ่อแม่ต้องเลือกที่เรียน และกิจกรรมให้กับบุตรหลาน
แต่ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย อย่างน้อยให้เค้าได้เข้าไปทดลองเรียน
ให้มีส่วนร่วมว่าเค้าชอบ หรือไม่ชอบ การเรียนในแนวนั้นๆ
พ่อแม่เป็นผู้เลือกแต่ต้องให้เค้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
เมื่อเขาโตขึ้นให้เขาได้เลือกที่เรียนหรือกิจกรรมที่เรียนด้วยตัวเอง
ไม่ใช่พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด แล้วให้เขามีหน้าที่เป็นเพียงผู้ทำตาม
มิฉะนั้น หากถามว่าอนาคตเขาอยากเป็นอะไร เราจะได้คำตอบว่า ต้องถามพ่อกับแม่
เพราะเขาไม่เคยวางแผนในอนาคต หรือตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย ลองนึกดูว่า
ถ้าวันนึงคุณจากโลกนี้ไป โดยที่เขาเป็นลูกโทน เขาจะมีใครเป็นคนเลือกทางให้เขา
ในเมื่อคุณเป็นคนเลือกทางให้เขาตั้งแต่เกิดจนคุณจากไป โดยเขาไม่เคยมีทางเลือกของเขาเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว……
Jun 03
จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเป็นยุค Globalization ซึ่งทั่วโลกสามารถสื่อสารและมีวิวัฒนาการส่งถึงกันได้อย่างง่ายดาย
จึงทำให้ทุกๆ
วงการรวมไปถึงวงการการศึกษาที่มีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนจากประเทศต่างๆ
มาช่วยในการสอน หรือบางโรงเรียนในต่างประเทศก็มาเปิดเป็นโรงเรียนทางเลือกในบ้านเรามากมาย
ผู้ปกครองหลายๆ
คนที่มีบุตรหลานที่กำลังจะต้องเข้าโรงเรียน ก็มีโรงเรียนทางเลือกอยู่ มากมาย
แต่หากแยกกันจริงๆ แล้วมีเพียง 2 แนว คือ โรงเรียนในแนวเร่งเรียน
และโรงเรียนในแนวบูรณาการ ซึ่งความแตกต่างกันอยู่ตรงที่นโยบายของโรงเรียนในแนวบูรณาการคือ
การเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยไม่เร่งให้เด็กได้ขีดเขียน แต่ใช้กิจกรรมในการสอน
ส่วนในแนวของโรงเรียนที่เร่งเรียน ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเร่ง นั่นคือ
เด็กจะต้องเริ่มจับดินสอ ขีดเขียนหนังสือตั้งแต่ในวัยอนุบาล ซึ่งนโยบายแต่ละโรงเรียนก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
โรงเรียนในแนวบูรณาการที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนในแนวอินเตอร์นั้น ซึ่งหลักๆ
แนวบูรณาการนี้เกิดจากหลักสูตรอังกฤษ หรืออเมริกัน
ซึ่งครูจะมีการพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วหลักสูตรที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้กับประเทศในแถบยุโรป
ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านั้นจะดูแลบุตรหลานจนถึง 7 ปีแล้วจึงส่งเข้าเรียน
และจะสร้างกฎกติกาภายในบ้านให้เด็กต้องทำตาม ให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง
ไม่มีพี่เลี้ยงคอยดูแล ต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งเมื่อเขาเข้าสู่โรงเรียน
เขาจะเรียนรู้ที่จะทำตามกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และการเรียนการสอนจะเน้น creative thinking คือการให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์
คำถามเป็นคำถามปลายเปิดที่คำตอบไม่มีผิดไม่มีถูก
เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดของตนเอง ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก
ส่วนโรงเรียนในแนวเร่งเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กนั่งเรียน
อ่านเขียนไม่วิ่ง ไม่ซน ไม่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น
แต่เน้นการแสดงวิธีทำที่ถูก หรือการหาคำตอบที่ถูกต้อง
โรงเรียนในบ้านเราหลายๆ
โรงเรียนก็นำเอาแนวบูรณาการมาปรับใช้ แล้วนำเป็นนโยบายการเรียนการสอนของโรงเรียน
แต่ความแตกต่างของบ้านเราคือ ครูผู้สอนของบ้านเรา ตอนที่เขาเป็นเด็ก
เขาถูกสอนให้อยู่ในกรอบ ไม่มีการโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นอกจากนั้นครูในบ้านเราเน้นเรื่องการทำวิทยฐานะเพื่อปรับเลื่อนขั้นเพื่อความมั่นคงในอาชีพ
มากกว่าการทุ่มเทให้กับการพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้แล้วครอบครัวคนไทยค่อนข้างมองข้ามเรื่องกฎระเบียบ
หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ มีข้อแก้ตัวให้กับเด็กว่าเขายังเล็กอยู่ตลอดเวลา
กลายเป็นว่าเด็กถูกละเลยเรื่องการเรียนรู้ เพราะกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกนั้น
เป็นวิธีการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกอย่างได้ผลดี แต่แต่ทักษะการอ่านและการการเขียน
เป็นคนละทักษะ ทางบ้านต้องเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก เพราะการเขียนต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก
ซึ่งหลายๆ ครอบครัวจะมองข้าม ปล่อยเรื่องการเรียน
เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว ทำให้เด็กเขียนไม่ได้หรือใช้เวลามากกว่าปกติ
หรือเด็กบางคนจะไม่ยอมเขียนเลย เพราะไม่เคยชินกับการขีดเขียน
เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเขียนจะรู้สึกเบื่อ หรืออาจถึงขั้นต่อต้าน เพราะมีความรู้สึกเหมือนถูกบังคับ
ทำให้เด็กไม่ชอบการเรียน
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น
ไม่ใช่ว่าโรงเรียนในแนวบูรณาการไม่ดี
เพียงแต่ว่าหากทางครอบครัวมีการเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็กให้กับบุตรหลาน
จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเขียน จะทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
แต่หลายๆ ครอบครัวที่ทิ้งทุกอย่างให้กับโรงเรียน เด็กก็จะมีพัฒนาการค่อยเป็นค่อยไป
แต่หากครอบครัวที่นอกจากทิ้งเรื่องเรียนให้กับโรงเรียน และครอบครัวเป็นผู้ส่งความสุข
(เกมส์ , ทีวี) ให้กับบุตรหลาน เขาจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน
และจะกลายเป็นปัญหาในที่สุด
ดังนั้นก่อนที่จะเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน
เราควรเลือกให้เหมาะกับตัวเด็กและวิธีการดูแลบุตรหลานของเรา
อย่าทิ้งหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งให้กับใคร เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้
พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของเขาตั้งแต่เขาลืมตาดูโลก