Mar 27
Posted by malinee on Wednesday Mar 27, 2013 Under เกร็ดความรู้
จากค่าเฉลี่ยของการสอบ O-Net ของโรงเรียนแต่ละโรง โดยรวมแล้วเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยในวิชาหลักไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (ร้อยละ 50) โดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 22 – 30% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลการประเมินที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับการร่ำเรียน ศึกษามาตลอด 1 ปีการศึกษา ที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นเพราะเรากำลังจะเปิด AEC ในปี 2558 ซึ่งเมื่อดูจากผลการสอบแล้ว เด็กไทยมีอาการเข้าขั้นวิกฤติเมื่อต้องแข่งขันกันในระดับอาเซียน ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันระดับโลกกันแล้ว หากการเรียนการศึกษาของลูกหลานเรายังคงมีผลประเมินในแนวทางนี้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานให้มีความรู้ที่ไม่ใช่ในแนวท่องจำเพียงอย่างเดียวแล้ว เราต้องฝึกให้เด็กได้มีการคิดวิเคราะห์ และการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้นแล้ว ไม่ใช่การอ่านและท่องจำเพื่อให้ได้คะแนนสอบในโรงเรียนเท่านั้น
Mar 18
ปัญหาของพ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คน ในช่วงปิดภาคเรียน คือการที่ไม่มีใครคอยดูแลบุตรหลาน จึงทำให้ต้องฝากบุตรหลานไว้กับญาติ หรือคุณปู่คุณย่าให้อยู่กับบ้าน โดยมีเครื่องทุ่นแรงอย่างเกมส์ หรือคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเวลาในการทำงานของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นจะอยู่ระหว่าง 8 – 10 ชั่วโมง ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครเป็นคนกำหนดเวลาในการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเกมส์ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับเกมส์เป็นเวลานาน ปัญหานี้จะมีความรุนแรงในเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต เนื่องจากเด็กเล็กต้องการการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องการอ่าน ซึ่งต้องมีประสบการณ์คือการอ่านให้มาก การเขียน ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ยากกว่าการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการฝึกให้เด็กมีความอดทน หรือสมาธิกับการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ในขณะที่เด็กโตผ่านการเขียน การอ่าน จึงไม่ต้องการการฝึกฝนในทักษะดังกล่าว ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักถือว่าช่วงเวลาปิดภาคเรียน ต้องการให้เด็ก ได้หยุดพักกับการคร่ำเคร่ง ร่ำเรียนวิชามากมาย แต่หากเราปล่อยให้เขาหยุดพักกับเกมส์ โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนเวลา สิ่งที่ได้กลับมา ก็คือเวลาที่หายไป
Mar 12
ในช่วงปิดภาคเรียน มักจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้ปกครอง ที่พาน้องเข้ามาเรียน ส่วนใหญ่มักพูดกันเป็นแนวเดียวกันว่า ลูกหลานลืมง่าย ช่วงสอบที่มีการทบทวนให้ก็ทำคะแนนออกมาได้ดี แต่เมื่อผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ให้ลองย้อนกลับมาทำแบบฝึกหัดอีกครั้ง กลับพบว่าเสมือนไม่เคยเจอแบบฝึกหัดดังกล่าวมาเลย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากในช่วงของการสอบไม่ว่าจะเป็นกลางภาค หรือปลายภาค พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้อ่านหนังสือ เพื่อย่อยหรือย่นย่อความรู้ต่าง ๆ แล้วป้อนเข้าสู่การท่องจำของเด็ก สิ่งที่เค้าได้จึงเป็นเพียงตัวเลขในสมุดพกที่เป็นที่น่าพอใจของผู้ปกครอง แต่เมื่อทดสอบความรู้ที่ผ่านมา มันเปรียบเหมือนน้ำซัดหาดทรายที่ไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้ซักเท่าไร หากเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันที่เขาต้องสอบแข่งขัน ซึ่งงจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานในหลายวิชาที่ได้เรียนมา จะมีความรู้สึกว่าทำไมสิ่งที่บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนมาตลอดเวลา มันได้อัตรธานหายไปหมดหลังจากที่เขาเดินออกจากห้องสอบนั้นเอง หากเรายังคงเป็นผู้ย่อยความรู้ และให้เขารับผิดชอบเพียงแค่ท่องจำในสิ่งที่ครูมีหัวข้อมาให้ ก็คงจะต้องเตรียมตัวเจอกับปัญหาตอนสอบแข่งขันแน่นอน
Mar 07
Posted by malinee on Thursday Mar 7, 2013 Under เกร็ดความรู้
หลาย ๆ คน มักสงสัยว่าถ้าลูกหลานเราเป็นเด็กปกติ แต่ทำไมไปเรียนแบบกลุ่มจึงไม่ได้ผล ถ้าน้อง ๆ ไม่มีปัญหาด้านการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่เราพบว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนแบบกลุ่มใหญ่ได้ เนื่องจากเนื้อหาที่ถูกสะสมความไม่เข้าใจน่าจะเป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากการเรียนในกลุ่มใหญ่ จะใช้ระดับชั้นเป็นเกณฑ์ในการเข้ากลุ่ม แต่เมื่อเด็กหลาย ๆ คนเกิดปัญหาหรือความไม่เข้าใจบทเรียนในช่วงปีแรก และไม่ได้รับความกระจ่าง ก็จะเกิดการสะสมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในเนื้อหาที่ลึกขึ้น ทำให้เมื่อเวลาเข้ากลุ่มใหญ่ เกิดความไม่กล้าที่จะถาม ไม่อยากตอบคำถาม และความไม่เข้าใจก็ยังไม่ได้ถูกสะสางให้ดีขึ้น หากความไม่เข้าใจสะสมนานวันเข้า การที่เราส่งบุตรหลานเรียนในกลุ่ม หากเด็กสะสมความไม่เข้าใจ 2 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนการส่งเด็ก ป.2 เข้าเรียนกับคนที่มีความรู้ในชั้น ป.4 ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่าจะมีความเข้าใจที่ใกล้เคียงกัน