Feb 29
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555
เมื่อพูดถึง “อีคิว” หรือความฉลาดทางอารมณ์
นับได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้ “ไอคิว” ที่หมายถึงระดับสติปัญญาหรือเชาว์ปัญญาเลย
เพราะเด็กที่มีอีคิวดีย่อมสามารถจัดการอารมณ์ และดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจตนเอง
และผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกฝนให้ลูกมีอีคิวที่ดีขึ้นได้
แต่ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว
หรือถูกเปรียบเทียบอยู่บ่อย ๆ
เป็นการยากที่จะมีการพัฒนาอีคิวที่ดีได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้
พญ.สุธีรา ริ้วเหลือง
จิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวช สาขาจิตเวชเด็ก และวัยรุ่น
รพ.พระนั่งเกล้าฯ กล่าวภายหลังจบการเสวนาในงานเทศกาลนิทานในสวนครั้งที่ 8 เมื่อเร็ว
ๆ นี้ว่า ทุกวันนี้ระดับอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กหลาย ๆ
คนกำลังถูกทำลายด้วยความคาดหวัง ช่างเปรียบเทียบ และมุ่งแข่งขันของผู้ใหญ่
ส่งผลให้เด็กหาความพอดีทางจิตใจไม่ได้ กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน
ขาดทักษะทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ
โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหน้าที่การงาน
และชีวิตส่วนตัวย่อมมีได้น้อย
“การเปรียบเทียบเป็นส่วนหนึ่งของการที่พ่อแม่รู้สึกว่า
ลูกยังทำได้ไม่ดีพอ แล้วส่วนมากจะมีคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ตามออกมาโดยลืมมองว่า
ลูกก็ทำได้มากแล้วนะ เช่น ทำไมทำไม่ได้ เรื่องแค่นี้เอง ดูสิ ขนาดเพื่อน ๆ
เขายังทำกันได้เลย ทำให้เด็กรู้สึกว่า
พ่อแม่มองไม่เห็นเลยหรือว่าตัวเขาเองก็พยายามเต็มที่แล้วนะ
มองแต่ส่วนที่พลาดแล้วย้ำมันอยู่นั่นแหละ หรือบางบ้าน ทำผิดไม่ได้เลย
ผิดเมื่อไรถูกตี หรือถูกตำหนิทันที ทำให้อีคิวในด้านของการรู้จักคุณค่าในตัวเองลดลง
กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห
และไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์”
หากเด็กยังอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต่อไปเรื่อย
ๆ พญ.สุธีรา สะท้อนต่อไปว่า เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ
ตามมาได้
“พอเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะเริ่มรู้จักตัวเอง
และมองอย่างมีอคติว่า พ่อกับแม่ไม่เคยเห็นคุณค่าในตัวเขาเลย ซึ่งอันตรายมาก
เพราะเด็กจะขาดแรงยึดเหนี่ยว รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเกิดขึ้นในชีวิตของเขาเลย
ทำให้เสี่ยงต่อการหลงผิด และออกนอกลู่นอกทางได้สูงมาก เช่น ติดเพื่อน ตามเพื่อน
หรือบางคนอาจติดอยู่กับโลกออนไลน์อย่างเกม และโปรแกรมสนทนาต่าง ๆ
จนไม่สนใจสิ่งรอบตัวไปเลยก็มี”
“ดังนั้น มาสร้างแรงยึดเหนี่ยวให้ลูกตั้งแต่เล็ก ๆ
กันเถอะค่ะ เพราะถ้าเด็กมีคนที่เข้าใจ ยอมรับ และให้กำลังใจ
พวกเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเองว่าเขาก็ทำได้นะ ถึงแม้จะทำได้ไม่ดีก็ตาม
แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และรักเขาอยู่ เมื่อเด็กได้รับสิ่งเหล่านี้
หมอเชื่อว่า เด็กจะสามารถก้าวผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้ด้วยดี ต่อให้หลุดนอกวงโคจร
เด็กก็ยังรู้สึกว่า บ้านคือสิ่งที่อบอุ่น บ้านคือสิ่งที่ให้อภัยเขา
บ้านคือสิ่งที่รอรับเขาตลอดเวลา ซึ่งหมอบอกได้เลยว่า
ในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสหลุดได้สูง แต่ถ้าเขามีทักษะทางอารมณ์ที่ดี หลุดไม่นานค่ะ
แล้วเขาจะกลับมา” พญ.สุธีราทิ้งท้าย
Feb 24
Posted by malinee on Friday Feb 24, 2012 Under กิจกรรม
คอร์สปิดเทอม 2555
เปิดตั้งแต่ช่วง
19 มี.ค. – 4 พ.ค. 2555
สามารถติดต่อ
สอบถามรายละเอียด ได้ที่สถาบันคิดสแควร์ ค่ะ
Feb 15
จากมุมคุณครู หนังสือพิมพ์เมเนเจอร์ออนไลน์
MyfirstBrain.com
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนสนุก และในขณะเดียวกัน ก็ได้ความรู้ด้วยนั้น มิใช่มีแต่การทดลอง การสำรวจเท่านั้น การใช้เกม บทบาทสมมติ ฯลฯ ก็
เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและชวนให้นักเรียนสนุกเพลิดเพลินด้วยเช่นกัน
เกมที่เป็นที่รู้จักกันดีและครูคุ้นเคย คือการเล่นโดยใช้แผ่นเกมซึ่งเกมนี้จะมีผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อแข่งขันเดินตัวหมาก โดยผู้เล่นแต่ละคนจะทอดลูกเต๋า เพื่อเดินตัวหมากของตนเองผู้ที่เดินตัวหมากถึงช่องหมายเลขสุดท้ายก่อนจะเป็นผู้ชนะ เนื้อหาที่อาจใช้เป็นแนว ในการพัฒนาแผ่นเกม เช่น การใช้พลังงานอย่างฉลาด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้น้ำอย่าง ฉลาด
เป็นต้น
เกมอีกชนิดหนึ่งที่ครูคงรู้จักกันดีและนำมาใช้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาได้คือ โดมิโน
เนื้อหาที่อาจใช้เป็นแนวในการพัฒนา เช่น โซ่อาหาร ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของสัตว์ พืชใบเลี้ยง เดี่ยว – พืชใบเลี้ยงคู่ สถานะของสาร เป็นต้น ครูควรวาดรูปหรือติดรูปสีที่บัตรทั้ง 2 ด้านหรือ
ด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรอีกด้านเป็นรูป แทนการใช้ตัวอักษรเพียงอย่างเดียวทั้ง
2 ด้าน เพื่อดึง ดูดความสนใจ
ยังมีเกมอีกหลายชนิด เช่น Jigsaw อักษรปริศนา กรรไกร – ค้อน – กระดาษ บิงโก ซึ่งครู อาจนำแนวและกติกาการเล่นมาใช้ในการพัฒนาเกมที่มีเนื้อหาวิทยาศาสตร์ได้หรืออาจซื้อเกมสำเร็จรูปที่มีผู้ผลิตขึ้นมาใช้ เช่น แผ่นเกม ดังรูป ซึ่งเป็นแผ่นเกม ที่ออกแบบโดย สสวท. เป็นต้น ซึ่งอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพัฒนาขึ้นเองหรือซื้อ ครูต้องศึกษาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับจุดประสงค์ เนื้อหาและวัยของนักเรียนในระดับนั้นๆ
ครูอาจจัดเกมต่างๆ เหล่านี้ไว้ที่มุมห้องเพื่อให้นักเรียนได้เล่นในเวลาว่าง หรือท้ายคาบการ
เรียนเพื่อเป็นการสรุปหรือทบทวนในระหว่างเล่นครูอาจให้นักเรียนอธิบายเหตุผลถึงข้อ
ความที่ปรากฎในช่องบนแผ่นเกม หรือสาเหตุที่เลือกภาพหรือข้อความนั้นๆ
การใช้เกมเป็นกิจกรรมประกอบ
การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นั้นจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนานไม่เคร่งเครียดมากนักกับการเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิด ความรักความสนใจและต้องการเรียนวิทยาศาสตร์หรือมีเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ได้
โดย สมศรี ตั้งมงคลเลิศ
Feb 13
ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
Feb 06
ดวงตา เป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน ไวต่อเชื้อโรคมากที่สุด การดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันต้องเผชิญกับมลภาวะ และฝุ่นละอองเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นสาเหตุให้ดวงตาเกิดความผิดปกติได้
โรคตาแดง เป็นอีกโรคฮิตที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย และในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โรคตาแดงมักจะระบาดในช่วงฤดูฝน อาการของโรคเกิดได้ภายใน 1-2 วัน ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน
ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาร่วมด้วย ต่อมน้ำเหลือง หน้าหูมักเจ็บ และบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน และจะติดต่อมายังอีกข้างได้ ถ้าระมัดระวังไม่ให้น้ำตาข้างที่ติดเชื้อไวรัสมาถูกตาอีกข้าง ก็จะช่วยป้องกันตาข้างที่ยังไม่มีอาการได้
อาการแทรกซ้อนของโรคตาแดง คือจะมีอาการเคืองตามาก ลืมตาไม่ค่อยได้ มักมีอาการกระจกตาอักเสบ ซึ่งจะดีขึ้นได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือบางรายเป็น 1-2 เดือน ทำให้ตามัวพร่าอยู่เป็นเวลานาน
การป้องกันโรคตาแดง ทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้
1.ล้างมือด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง
2.ไม่คลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดง
3.ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
4.อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา เพราะเป็นพาหะของโรค
5.หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ
6.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค
7.หลีกเลี่ยงการใช้มือสกปรกสัมผัสที่ตา
การรักษา
ตาแดงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง หากมีอาการป่วยเกิดขึ้น อาทิ มีขี้ตามาก ควรใช้ยาหยอดตา ถ้ามีไข้ เจ็บคอร่วมด้วย ก็ควรรับประทานยาลดไข้ หรือยาแก้อักเสบ ผู้ป่วยโรคตาแดง ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามขยี้ตา ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นถ้ามีอาการกระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว และควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสง ควรงดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ก่อนใช้มือสัมผัสที่ตา ควรล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ เพราะเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายทางน้ำได้
อย่าปล่อยให้เชื้อไวรัสมาแผลงฤทธิ์ เมื่อรู้ตัวว่ามีอาการป่วยเป็นโรคตาแดง ต้องรีบทำการรักษา ถ้ารักษาด้วยการหยอดตาแล้วอาการยังไม่ทุเลา หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที หากชะล่าใจอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดได้