หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ยังเป็นเด็กนักเรียน เราไม่เห็นความแตกต่างของการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของเราพัฒนาไปจากเดิมเลย ซ้ำร้ายบุคลากร (ครูผู้สอน) ในปัจจุบันเป็นเพียงลูกจ้างของทางโรงเรียน ที่หาจิตวิญญาณในการสอนเหมือนแต่เก่าก่อนยากขึ้นเรื่อย ๆ  สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันอาจเกิดจากระบบของเรื่องค่าตอบแทนที่บุคลากรควรได้รับ เพื่อให้มีการทุ่มเทแรงกายแรงใจ พัฒนาเด็กรุ่นต่อ ๆ ไป ให้มีคุณภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับตรงกันข้าม เนื่องด้วยค่าตอบแทนที่ส่งผลต่อขวัญ กำลังใจ หรือทัศนคติที่ดีกับการสอน ซึ่งส่งผลให้ครูในปัจจุบัน มีความรับผิดชอบต่อการเรียนการสอน และมาตรฐานการสอนที่ต่ำลง

ปัจจัยหลักของการเรียนในวัยเด็กว่าจะมีทัศนคติในเชิงบวกหรือลบนั้น ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ หรือสื่อการสอนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กสามารถเข้าใจบทเรียน หรือการแปลงจากข้อความ ที่เป็นนามธรรม ให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กเพิ่งเริ่มเรียนเรื่องเศษส่วน จะเกิดความสับสนทุกครั้งในเรื่องของการเปรียบเทียบเศษส่วนว่าตัวไหนมีค่ามากกว่าตัวไหน ซึ่งถ้าเรามีสื่อการสอนที่ดี จะทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าการเปรียบเทียบเศษส่วนจะมีหลักอย่างไร

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการเรียนของเด็ก คือความเข้าใจโดยให้เห็นเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

เลือกโรงเรียนให้ลูก (ตอนจบ) บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงโรงเรียนทางเลือกในแบบสุดท้ายที่เราเรียกกันว่า “Project based learning” (PBL) เป็นแนวที่มีความคิดพื้นฐานว่าการเพิ่มทักษะด้านวิชาการ (การอ่าน การเขียน) ควบคู่กับการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเพิ่มความสนใจในการเรียนของเด็กมากกว่าการท่องจำบทเรียน นอกจากนี้ยังฝึกให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์ภายใต้สภาวะวิกฤติ คิดอย่างมีระบบ มีการติดต่อสื่อสารกันในกลุ่ม และมีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้วิชาการโดยไม่ใช่การท่องจำข้อมูลต่าง ๆ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น มีการระดมสมอง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีม มีการฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำมาเป็นข้อโต้แย้ง หรือข้อสนับสนุนความคิดของตนเอง การเรียนในแนวนี้ทำให้เด็กต้องมีการค้นคว้า การอ่านเพิ่มเติมจากเนื้อหาในห้องเรียน และสุดท้ายคือการนำเสนอข้อมูลให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ การเรียนแบบ PBL ที่ดีจะต้องมีการตั้งหัวข้อที่น่าสนใจ (ครูต้องทำให้หัวข้อน่าสนใจ ในการค้นคว้าหาข้อมูล) มีการตั้งคำถามที่เป็นปลายเปิดเพื่อให้เด็กสืบหาข้อมูลในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ ใช้คำถามเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ และความท้าทายในการหาคำตอบ การเรียนในแนว PBL ก็น่าสนใจมิใช่น้อย แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเรียนในแนวนี้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่ครูผู้สอนว่าจะสามารถคิดคำถามเพื่อก่อให้เกิดโครงงานเพื่อกระตุ้นให้เด็กต้องการหาความรู้ได้มากน้อยเพียงใด และการตั้งคำถามที่เป็นคำถามปลายเปิดนั้น ครูผู้สอนเองก็จำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล หรือแหล่งความรู้ที่มากขึ้นและทันสมัยตลอดเวลา เพื่อที่ว่าเวลาเกิดการระดมสมอง หรือมีข้อโต้แย้งก็มีข้อมูลเพียงพอ สุดท้ายก็อยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองที่เลือกโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ ได้ศึกษาข้อมูลของโรงเรียนในแต่ละแบบให้มากขึ้น และจะได้เลือกโรงเรียนในแบบที่ตนเองต้องการให้มากที่สุด

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

 

จากตอนที่แล้วเราได้รู้จักโรงเรียนในแนว Woldorf ไปแล้ว คราวนี้ก็จะกล่าวถึงโรงเรียนทางเลือกอีกแนวหนึ่ง ซึ่งอยู่ในนามของ มอนเตสเซอร์รี่ (Montessori) ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางการศึกษาที่มีแนวนโยบาย (ต้นแบบ) ที่ชัดเจน

แนวคิดของการเรียนแบบมอนเตสเซอร์รี่ คือการเรียนแต่ละวิชาจะถูกเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเรียนแบบทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน นักการศึกษาพบว่าตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 การศึกษาควรมีแบบแผนการเรียนที่แน่นอน และสัมพันธ์กับความต้องการของผู้เรียน เด็ก ๆ จะมีอิสระในการเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ ไม่ถูกบังคับให้เรียนในสิ่งที่ยังไม่เหมาะกับพัฒนาการของตน  งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นพบว่าเด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบอิสระจะทำให้เด็กมีวินัย ถูกกระตุ้นทักษะต่าง ๆ เป็นอย่างดี และนอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนรู้

แนวความคิดแบบมอนเตสเซอร์รี่นั้นจะมีพื้นฐาน 3 อย่างดังต่อไปนี้

  1. โครงสร้างสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ นั่นหมายรวมถึงการจัดอุปกรณ์ที่มีความน่าสนใจในการสอนเพื่อให้เด็กทุกคนมีมุ่งความสนใจในการเรียน การจัดบรรยากาศในการเรียนจะเป็นการเรียนแบบเปิด ให้เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ สัมผัสกับธรรมชาติรอบตัว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว อุปกรณ์การเรียนให้เด็กเลือกใช้เอง ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับเด็ก ซึ่งห้องเรียนแบบเปิดนี้จะกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ทักษะหลายด้าน การสังเกต หรือแม้กระทั่งการเข้าสังคมกับผู้อื่น การให้เด็กได้หยิบจับอุปกรณ์อย่างอิสระ ทำให้เด็กได้เรียนรู้จากของที่จับต้องได้ (รูปธรรม)ให้เป็นนามธรรมได้ไม่ยากนัก ในการเรียนแนวนี้จะมีการแบ่งช่วงอายุเด็กเป็นช่วงละ 3 ปี เริ่มจาก 3 ปีไปจนถึง 18 ปี
  2. หลักสูตรมอนเตสเซอร์รี่ กรอบการจัดการเรียนรู้ของแนวมอนเตสเซอร์รี่จะแบ่งเป็นส่วนย่อยดังนี้

–             ทักษะการดำเนินชีวิต

–             ความรู้สึก

–             คณิตศาสตร์

–             ภาษาและวรรณคดี

–             วัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ

–             ศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ หมายรวมถึงดนตรี การเคลื่อนไหว และละคร

  1. ครูในแนวมอนเตสเซอร์รี่ เนื้องจากการสอนในแนวมอนเตสเซอร์รี่ ครูจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทำให้ต้องมีการฝึกอบรมครูผู้สอนเพื่อการประเมินตัวเด็กจะได้ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

 

จากข้อมูลพื้นฐานของแนวการเรียนการสอนแบบมอนเตสเซอร์รี่ที่กล่าวมาพอสังเขป เราจะเห็นว่าหลักสูตรดังกล่าวก็มีความน่าสนใจไม่น้อย แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับลูกหลาน และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่เราควรพิจารณาให้รอบคอบ

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments