ความแก่เป็นความทุกข์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ คนส่วนมากกลัวความแก่ไม่มากก็น้อย คนบางคนกลัวมากบางคนกลัวน้อย บางคนกลัวหน้าแก่ บางคนกลัวเซ็กส์แก่ แต่ที่ทุกคนกลัวเหมือนกันคือสมองแก่ สมองเสื่อม เนื่องจากสมองเป็นที่อยู่ของจิตใจ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความรู้สึกสุขทุกข์ได้มาก เมื่อมีอาการสมองแก่ เช่นขี้หลงขี้ลืม ทำเงินหาย ทำบัตรเอทีเอ็มหายบ่อยๆ ทำให้เกิดความทุกข์ใจมาก หลายคนจึงต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาทางป้องกันความแก่ทุกวิถีทาง
ในสมัยก่อนคนเราเที่ยวเสาะแสวงหายาอายุวัฒนะ เสียเงินเสียทอง เสียค่าโง่กันไปมากมาย โดยหลงเชื่อคำเล่าลือปากต่อปาก เช่น แนะให้กินสมองสัตว์ โสมเกาหลี แปะก๊วย มีเมียสาว ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้การแพทย์สมัยใหม่มีข้อมูลความเข้าใจ ในเรื่องสมองเสื่อมมากขึ้น ทำให้การชะลอภาวะสมองเสื่อมดีขึ้นบ้าง

เอาแค่สิ่งพื้นๆ ที่มีอยู่ตามบ้านเรา เช่น กาแฟซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีกินกันมานานนม มีการศึกษาวิจัยเรื่องการกินกาแฟกันมามาก ทุกวันนี้สามารถบอกได้ว่าคาเฟอีนในกาแฟ สามารถช่วยเพิ่มการทำงานของสมองหรือเพิ่มไอคิวของคนกินได้ การดื่มกาแฟช่วยกระตุ้นสมองให้แจ่มใสทำงานดีขึ้น เคยมีการทดลองที่อินสบรูคโดยใช้อาสาสมัคร 15 คน เขาให้อาสาสมัครกินกาเฟอีน 100 มก. (เท่ากับคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟ 2 แก้ว) แล้วทดลองความจำ ในเวลาต่อมาใช้อาสาสมัครกลุ่มเดียวกันทดลองให้กินยาหลอกเปรียบเทียบกัน ผลปรากฎว่าคนที่กินคาเฟอีนมีความจำระยะสั้นดีกว่าคนที่กินยาหลอกอย่างชัดเจน และเมื่อเขาใช้เครื่องตรวจสแกนสมองที่เรียกว่า Functional MRIS เขาพบว่าสมองบริเวณ anterior cingular cortex และสมองส่วนหน้า frontal lobe ทำงานมากขึ้นจากผลของคาเฟอีน สรุปได้ว่าการดื่มกาแฟทำให้การทำงานของสมองในระยะสั้นดีขึ้น แต่ไม่ควรดื่มมากเกินไปซึ่งจะมีผลข้างเคียงที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้

การเข้าสมาธิหรือกรรมฐานช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ไหม คำถามนี้เป็นคำถามที่ถูกถามมานาน แต่เพิ่งจะมีคำตอบออกมาเมื่อไม่นานมานี้เอง เป็นที่รู้กันแล้วว่าการฝึกกรรมฐานทำให้ใจสงบ มีสมาธิ ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น จากการวิจัยในประเทศอุตสาหกรรมพบว่า ทำให้ผลผลิตของพนักงานในบริษัท ในโรงงานดีขึ้น การลาป่วยขาดงานของพนักงานน้อยลง จนบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทรถยนต์ฟอร์ด และบริษัทใหญ่ๆ อีกหลายแห่งที่สหรัฐฯ รับเอาการฝึกกรรมฐานไปใช้กับพนักงานมากขึ้น ทุกวันนี้ชาวตะวันตกสนใจวิชากรรมฐานมากขึ้น จึงมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาโดยการตรวจสแกนสมองอาสาสมัคร 20 คน ที่ทำกรรมฐานเป็นประจำวันละ 40 นาที เขาพบว่าสมองส่วนเปลือกนอก (Cortex) ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์สมองมากมีขนาดหนาขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้ทำกรรมฐาน อันนี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ทางกายภาพที่ชัดเจนว่าการฝึกกรรมฐานมีผลดี สามารถต้านความเสื่อมของสมองได้ คนที่ต้องการลดความเสื่อมของสมองจึงควรฝึกหัดทำกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิปัสสนากรรมฐานของพระพุทธเจ้า ซึ่งรู้กันมานานแล้วว่ามีผลดีต่อจิตใจ และเราเพิ่งรู้กันตอนนี้ว่ามีผลดีต่อกายภาพของสมองด้วย

อาหารสมองเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมานาน มีการเอาสารเสริม-อาหารมาขายกันมาก บางอย่างเขาก็อ้างว่าทำให้สมองดีขึ้น ความจำดีขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจน ระยะหลังนี้มีข้อมูลจากการวิจัยมากขึ้น หมอแอนดรู วีล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแพทย์ทางเลือก เขียนแนะนำเรื่องอาหารสมองไว้หลายอย่าง เช่น เนื้อปลา น้ำมันปลา ขมิ้น ผักผลไม้ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม คาโรตีนอยด์

กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acid) ที่อยู่ในน้ำมันปลามีคุณสมบัติบำรุงสมองได้ ทั้งนี้เพราะสารตัวนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์สมอง ถ้าขาดไปจะทำให้เซลล์สมองอ่อนแอ เป็นโรคได้ง่าย อาหารของชนชาติญี่ปุ่น และเมดิเตอเรเนียน ทำให้คนของเขาอายุยืนล้วนมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มาก เนื่องจากมีเนื้อปลาอยู่มาก ผู้รู้จึงแนะนำให้กินเนื้อปลาบำรุงสมองมากกว่าเนื้อสัตว์อย่างอื่น คนที่ไม่ถนัดกินเนื้อปลาก็อาจจะใช้น้ำมันปลาที่ทำขายเป็นเม็ด (แต่ไม่ใช่น้ำมันตับปลาที่เหม็นคาว อย่างที่เด็กสมัยผมเคยถูกบังคับให้กิน) เช่น Krill Oil ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสสระและไม่เหม็นคาว เขาใช้สารตัวนี้รักษาโรคซึมเศร้า สมาธิสั้น ออทิซึม สำหรับนักมังสวิรัติ อาจจะหากรดไขมันโอเมก้า 3 กินในถั่ววอลนัท เม็ดแฟล็กซ์ ปอ หรือ สาหร่ายทะเล

ขมิ้นที่เราเอามาทำเครื่องแกงมีสาร Curcumin ต้านการอักเสบ ช่วยลดการเสื่อมของสมองจากโรคอัลโซเมอร์ได้ มีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตไว้ว่าคนอินเดียมีอัตราการเกิดโรคอัลโซเมอร์ต่ำที่สุดในโลก อาจเป็นเพราะคนอินเดียมีการใช้ขมิ้นทำเครื่องแกงกินกันมากนั่นเอง

หมอวีลแนะนำว่าควรกินผักผลไม้ให้มากเข้าไว้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านสารพิษ ที่ทำให้เกิดมะเร็งและทำลายสมอง วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม และคาโรทีนอยด์ ถ้ากินเสริมอาหารเข้าไปอาจช่วยป้องกันความเสื่อมของสมองได้ แต่ในบรรดาสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด หมอแอนดรู วีล กล่าวว่าไม่มีอะไรที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์สนับสนุนแข็งขันเท่ากับเนื้อปลาและน้ำมันปลา

ตั้งแต่ที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยต้มยำกุ้งถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำให้โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์นี้ มีคนรู้จักกันมาก ใครๆ ก็กลัวโรคนี้จนมีคำถามว่าโรคนี้ป้องกันได้หรือไม่ คำตอบคือป้องกันได้บางส่วน คือชะลอมันลงไปได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการป้องกันหรือชะลอโรคอัลไซเมอร์นี้คือ การรักษาสุขภาพของระบบหลอดเลือด และหัวใจให้อยู่ในสภาพดี โดยการออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว เต้นแอโรบิค ว่ายน้ำ เต้นรำ หรือที่ดีที่สุดคือ ทำหลายกิจกรรมอย่างว่า แบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป จะช่วยรักษาสมองของเราได้ดีกว่าอย่างอื่น (และทำให้บาดเจ็บจากการออกกำลังกายน้อยลง) นอกจากนี้ควรเลิกสูบบุหรี่ กินอาหารไขมันต่ำ ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ต้องใส่ใจควบคุมรักษาให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับดี กินผักผลไม้ให้เพียงพอ กินปลา และน้ำมันปลา (ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) ทุกอย่างที่ว่ามานี้ร่วมช่วยกัน รักษาให้หลอดเลือดทั่วร่างกาย รวมทั้งของสมองด้วยไม่ให้ตีบตัน สามารถนำออกซิเจนไปต้านความเสื่อมได้ดี

เมื่อไม่นานมานี้พบว่าการออกกำลังกายนอกจากจะมีผลดีต่อหลอดเลือด หัวใจ และสมองแล้ว ยังกระตุ้นให้มีการผลิตสารเร่งการเสริมสร้าง (Growth Factor) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เซลล์ประสาทมีสุขภาพดีด้วย

การฝึกสมองทดลองปัญญาเป็นประจำก็สามารถช่วยรักษาคุณภาพของสมองเอาไว้ได้ดี เช่น การเรียนภาษาใหม่ๆ ฝึกทดสอบความจำ ทำข้อสอบไอคิว ฯลฯ จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าการใช้สมองอ่านหนังสือ แก้ปริศนาอักษรไขว้ เล่นหมากรุก เล่นดนตรี สามารถลดการเกิดสมองเสื่อมได้ดีกว่าการอยู่เฉยๆ และพบว่ายิ่งทำมากยิ่งมีผลดีมาก เช่น คนแก้ปริศนาอักษรไขว้อาทิตย์ละ 4 ครั้ง สมองเสื่อมน้อยกว่าคนแก้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ถึง 47%

จากข้อมูลของผู้รู้เท่าที่กล่าวมานี้ ก็สามารถช่วยให้เรารักษาประคับประคองสมองอันเป็นที่รักของเรา ให้อยู่ยั้งยืนยงไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือต้องลงมือทำตั้งแต่บัดนี้เลย ไม่ว่าท่านจะยังหนุ่มยังสาวซิงๆ แค่ไหนก็ตาม
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร – HealthToday

Tags : , , , , , , | add comments

     มักมีข้อสงสัยในใจผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านที่ให้ลูกเรียนจินตคณิตว่า “ทำไมลูกยังมีปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หรือ ทำไมลูกเรียนแล้วไม่เห็นได้ผลเลย!”  ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า การเรียนจินตคณิตโดยใช้ลูกคิดนั้นเป็นการใช้ลูกคิดเป็นสื่อกลางในการคำนวณเปรียบเสมือนกับเครื่องคิดเลขชนิดหนึ่ง ดังนั้นก่อนที่เด็กจะสามารถคำนวณเลขได้โดยผ่านลูกคิดนั้น เด็กทุกคนจะต้องเรียนรู้และฝึกการใช้ลูกคิดให้มีประสิทธิภาพก่อน ซึ่งในการเรียนนั้นจะต้องผ่านลำดับขั้นของการเรียนรู้ตั้งแต่การดีดลูกคิดอย่างง่าย ๆ ไปจนถึงลำดับขั้นการดีดที่ความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเด็กจะต้องเป็นผู้เลือกใช้สำหรับการคำนวณโดยใช้ลูกคิดในแต่ละครั้งว่าจะใช้สูตรใด หรือคู่ใด (คู่ซี้เล็ก หรือคู่ซี้ใหญ่) เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความชำนาญ และความรวดเร็วในการดีดลูกคิด โดยที่เด็กส่วนใหญ่มักจะขาดการฝึกฝนการใช้ ทำให้เด็กเลือกใช้ได้ไม่ถูกต้อง หรือขาดความชำนาญ ทำให้ดีดลูกคิดได้ช้าหรือผิดพลาด ซึ่งเมื่อกลับเข้าชั้นเรียนและไม่ได้รับการฝึกฝนในระหว่างสัปดาห์ เด็กก็จะขึ้นเนื้อหาใหม่ได้ช้าลงเนื่องจากต้องเน้นย้ำเนื้อหาเก่าให้แม่นยำก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กจะจำเร็วและลืมเร็วเช่นกัน ดังนั้น การฝึกฝนการใช้ลูกคิดก็เหมือนกับการฝึกฝนการใช้เครื่องมืออื่นๆ นั้นคือ เด็กที่ผ่านการฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถคำนวณโดยใช้ลูกคิดได้คล่องกว่า ไปได้เร็วกว่า และมีความแม่นยำมากกว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้ฝึกฝน และส่วนหนึ่งคือผู้ปกครองบางท่านใจร้อน คืออยากเห็นพัฒนาการของลูกอย่างรวดเร็ว หรืออยากเห็นประโยชน์จากการเรียน จึงมักจะมองว่าทำไมลูกเรียนมาตั้งนานแล้วลูกยังเรียนไม่ทันตามเนื้อหาที่โรงเรียนเลย หรือ ไม่เห็นว่าลูกจะนำลูกคิดไปใช้ประโยชน์ในการเรียนที่โรงเรียนได้เลย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เนื้อหาที่เด็กเรียนในโรงเรียนมีความก้าวหน้าขึ้นทุกๆวัน ส่วนการเรียนจินตคณิตเป็นวิชาเสริมวิชาหนึ่งซึ่งเด็กทุกๆ คน ไม่ว่าจะเรียนอยู่ในระดับชั้นใดจำเป็นจะต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐานการดีดลูกคิดแล้วค่อย ๆ เพิ่มความยากขึ้นจนนำไปสู่การจินตนาการ ซึ่งการจินตนาการนี้เอง ก็จะทำให้ผู้ปกครองค่อยๆ เริ่มเห็นพัฒนาการของลูก นั่นคือเด็กที่เริ่มเรียนจินตคณิตในระดับอนุบาล หรือ ในระดับประถม 1 หรือ 2 ผู้ปกครองก็จะสามารถเห็นการนำจินตคณิตไปใช้ในโรงเรียนได้เร็วกว่า เด็กในระดับประถมปลาย หรือ ป.5 ป.6 ซึ่งมีเนื้อหาในการเรียนที่ซับซ้อนกว่าละยากกว่า ทำให้เด็กโต หลาย ๆ คนที่เข้ามาเรียน ไม่ยอมฝึกใช้และหันไปใช้วิธีเดิม ๆ เพราะคิดว่าการใช้ลูกคิดมันยุ่งยาก

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

จากเดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคาร ที่ 26 กรกฎาคม 2554
นายธีระพงษ์ โสดาศรี รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวในการแถลงข่าวการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติปี 2554 ว่า ในปีนี้ราชบัณฑิตยสถานได้บูรณาการการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุฯม.เกษตรศาสตร์ โดยจะจัดวันที่ 29 ก.ค. ที่ราชบัณฑิตยสถาน สนามเสือป่า กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 09.00-16.00 น.

น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า การจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยและช่วยกันอนุรักษ์ด้วยการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ซึ่งในงานจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการให้ความรู้ต่าง ๆ , การปาฐกถาและการเสวนา รวมทั้งจะแจกหนังสือรวม 120 สำนวนไทยที่น่าสนใจ เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีการจัดทำบทเรียนภาษาไทยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ซึ่งผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองที่ http://elearning.royin.go.th

ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต กล่าวว่า ความจริงแล้วภาษาคือชีวิต เพราะภาษาครอบคลุมทุกอย่างของชีวิต ไม่ว่าอะไรก็ต้องใช้ภาษาไทยทั้งสิ้น แต่คนไทยกลับละเลยทั้งที่ภาษาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรภาคภูมิใจ หลายคนไม่พูดคำควบกล้ำ ไม่ว่าจะมีการศึกษาหรือไม่ก็เป็นเหมือนกันหมด ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็ผันวรรณยุกต์ไม่เป็น เขียนวรรณยุกต์ใส่ผิดที่ผิดทาง บางคนพูดไทยคำอังกฤษคำ เพราะบอกว่านึกคำไทยไม่ออก และก็สนใจภาษาอื่นกันมาก แม้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่เราก็ควรเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ก่อนด้วยการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ไม่ใช่คิดแต่จะสากลอย่างเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้ใช้ภาษาไทย สมองก็จะไม่จดจำ ทำให้พูดภาษาไทยไม่เป็น แม้แต่ความคิดก็จะไม่เป็นไทย จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นภาษาไทยอาจสูญหายได้.

Tags : , , | add comments

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554
เด็กไทยเก่ง กวาด 51 รางวัล รวม 99 เหรียญ จากการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งทัพนักเรียนไทย ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 9 ทีม รวม 33 คน เข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา International Mathematics Competition 2011 (IMC) และการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น International Mathematics Competition:World Youth Mathematics Inter-City Competition 2011 (IMC:WYMIC) ระหว่างวันที่ 17-24 กรกฎาคม 2554 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งคณะนักเรียนไทยสามารถกวาด 51 รางวัล รวม 99 เหรียญ และสามารถคว้าเหรียญทองรางวัลชนะเลิศแชมป์เปี้ยนคะแนนรวมสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากการแข่งขันกับนักเรียนจาก 28 ประเทศ จะกลับถึงประเทศไทย เวลา 16.15 น.ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2554

Tags : , , , , | add comments

จากเดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดี ที่ 14 กรกฎาคม 2554
“คำศัพท์” ถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่การส่งเสริมทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน “ภาษาอังกฤษ” ยิ่งวัยเรียนมีคลังคำศัพท์ในความจำมากเท่าไหร่ ยิ่งสามารถหยิบจับมาใช้ได้สะดวกเท่านั้น แต่อุปสรรคส่วนใหญ่ที่หลายคนมักประสบจนพาลขี้เกียจเรียนรู้ไปเลย นั่นคือ “นึกศัพท์ไม่ออก” หรือ “แปลศัพท์ไม่ได้” ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาดังกล่าวแก้ได้ไม่ยาก เพียงฝึกฝนสม่ำเสมอด้วยเทคนิคต่อไปนี้

เรียนคำศัพท์จาก “ชีวิตประจำวัน” อาจเริ่มในสิ่งที่สนใจก่อน เช่น ฟังเพลง ดูหนัง หรือเมื่อพบข้อความตามสื่อต่าง ๆ ควรหมั่นอ่านอยู่ตลอดแม้ไม่รู้เรื่องทุกถ้อยคำ นอกจากจะช่วยสร้างความคุ้นเคยกับศัพท์มากมายแล้ว ยังเป็นการทบทวนความหมายของคำที่พบบ่อย ๆ ด้วย

เรียนคำศัพท์จาก “พจนานุกรม” โดยพกขนาดกะทัดรัดติดตัวไว้เปิดหาความหมายเมื่อเกิดข้อสงสัย ทั้งนี้ ควรเลือกใช้แบบอังกฤษ-อังกฤษ เพื่อฝึกทักษะการแปล หากมีตัวอย่างการใช้ศัพท์ด้วยจะดีทีเดียว

เรียนคำศัพท์จาก “กระดาษโน้ต” ด้วยการจดศัพท์ พร้อมคำแปลอย่างน้อยวันละ 10 คำ แล้วแปะไว้ในที่ ๆ มองเห็นได้ง่าย เช่น กระจกโต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะหนังสือ ตู้เย็น ผนังห้องนอน ฯลฯ โดยเมื่อกระทบสายตาเมื่อไหร่ให้ท่องเมื่อนั้น เป็นอีกหนึ่งเทคนิคช่วยจำได้ดี ขณะเดียวกัน ยังช่วยฝึกทักษะการเขียนอีกด้วย

เรียนคำศัพท์จาก “การจัดหมวดหมู่” โดยจำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กัน หรือมีความหมายตรงข้ามกัน จากนั้น ลองนึกถึงคำภาษาไทย แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนจะแต่งประโยค เพื่อฝึกการเรียบเรียงต่อไป

หลักการจำคำศัพท์ที่สำคัญอีกประการ คงต้องอยู่ที่ความขยัน และหมั่นทบทวน เพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างเห็นผลนั่นเอง.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

Tags : , , , | add comments

จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคาร ที่ 19 กรกฎาคม 2554
ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ประธานอนุกรรมการด้านวิชาการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยถึงการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้กำหนดการรับนักเรียนชั้นม. 4 ของโรงเรียนจุฬาภรณฯ ทั้ง 12 แห่ง รอบสอง โดยรับสมัครวันที่ 1-31 ส.ค. และสอบวันที่ 19 พ.ย. โดยจะรับเพียง 120 คนเท่านั้น และมีการปรับเปลี่ยนแนวข้อสอบใหม่จากเดิมที่เป็นข้อสอบปรนัยมาเป็นข้อสอบอัตนัย เพราะที่ผ่านมาได้รับทราบจากผู้ตรวจข้อสอบพบว่า มีเด็กหลายคนทำข้อสอบแบบมั่ว ๆ กาผิดกาถูก ในขณะที่เราต้องการเด็กที่เก่งจริงไม่ใช่มาเดาข้อสอบ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนแนวข้อสอบเป็นอัตนัยเชื่อว่าจะทำให้ได้เด็กเก่งและมีคุณภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากเด็กจะต้องใช้ความคิดและจินตนาการในการถ่ายทอดออกมาเป็นข้อเขียน

ดร.ธงชัย กล่าวต่อไปว่า เราต้องการสร้างเด็กให้คิดเป็น เพราะวิทยาศาสตร์สอนเรื่องของเหตุและผล ดังนั้นข้อสอบแบบใหม่จะสามารถทำให้เด็กสื่อสารกับคนอื่นเป็น และในอนาคตต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเพื่อออกไปสื่อสารกับคนภายนอกได้

“ผมอยากให้มั่นใจได้เลยว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เด็กเรียนในโรงเรียนจุฬาภรณฯ จะได้เห็นคุณค่าของการเป็นนักวิจัย เพราะเราจะบ่มเพาะเด็กเหล่านี้ให้เป็นนักวิจัยในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อย่างมาก ส่งผลให้ต้องไปจ้างพวกต่างชาติมาทำงานให้ แต่ต่อไปเราจะได้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งจากโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อทำงานให้กับประเทศไทยในอนาคตแน่นอน” ดร.ธงชัย กล่าว.

Tags : , , , | add comments