Sep 24
มีข่าวว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการมีการทบทวนการนำนโยบายการเรียนซ้ำชั้นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง หากมาลองคิดดู เราก็น่าจะได้คำตอบว่า สาเหตุของการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้นี้ เนื่องจากปัญหาเด็กในรุ่นหลัง ๆ มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ทำให้เด็กที่ผ่านการเรียนการสอนในชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยไม่มีคุณภาพ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการนำนโยบายดังกล่าวกลับมาใช้ จะสามารถแก้ไขระบบการศึกษา ที่มีปัญหาได้ทั้งหมด
ปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้น เราต้องมองแยกออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือ สถาบันการศึกษา , สถาบันครอบครัว และตัวเด็กเอง การเรียนการสอนแน่นอนเราต้องดูที่สถาบันการศึกษาเป็นอันดับแรก ว่ามีอัตราส่วนระหว่างจำนวนเด็กต่อครูเหมาะสมหรือไม่ , ความทุ่มเทของครูในปัจจุบันเทียบไม่ได้กับครูรุ่นก่อน ๆ ต่อมามาดูถึงสถาบันครอบครัว เราจะพบว่าในปัจจุบันสถาบันครอบครัวในบ้านเราไม่เข้มแข็ง เมื่อเด็กกลับถึงบ้าน ก็จะไม่เจอกับพ่อ หรือแม่ เพื่อปรึกษา หรือถามสิ่งที่ไม่เข้าใจในการเรียนในแต่ละวัน และพ่อแม่เองก็ไม่มีเวลาถามไถ่เรื่องชีวิตประจำวันของลูกซักเท่าใดนัก ปัจจัยสุดท้าย คือตัวเด็กเอง ซึ่งในปัจจุบันพบว่าสิ่งเร้าในชีวิตของเขามีเยอะจนทำให้การเรียนมันดูน่าเบื่อ และไม่มีใครคอยชี้แนะว่าการเรียนสำคัญอย่างไร ไม่มีจุดมุ่งหมายของการเรียน หากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เด็กที่กำลังเป็นอนาคตของชาติ ก็จะมีคุณภาพที่น้อยลงเรื่อย ๆ แล้วลองนึกภาพประเทศชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป
Sep 16
ในการเรียนจินตคณิตของเด็กนั้น ส่วนใหญ่จากสถิติการเรียนการสอน วัยที่เราจะเห็นประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การเรียนในช่วงวัยอนุบาล เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ หลาย ๆ เรื่อง ซึ่งการเรียนในช่วงนี้จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลข (นามธรรม) เป็นเม็ดลูกคิด (รูปธรรม) และนอกจากนี้ยังเป็นการเรียนเรื่องค่าประจำหลักโดยที่เขาไม่รู้ตัว และเมื่อเรียนไปจนขึ้นจิน (การนึกภาพเม็ดลูกคิด) ได้อย่างแม่นยำ และเมื่อเกิดความแม่นยำแล้ว เขาก็จะเกิดความมั่นใจและชอบทุกอย่างที่เป็นตัวเลข (นั่นหมายถึง ทัศนคติเป็นบวกกับวิชาคณิตศาสตร์ด้วย) แต่สิ่งที่กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่าการเรียนจินตคณิตในวัยประถมจะไม่เกิดประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ส่วนใหญ่พ่อแม่ ผู้ปกครองมักจะรู้สึกว่า เห็นผลช้ากว่า เนื่องจากเด็กมีความเข้าใจเรื่องการบวก-ลบ อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการคือ การคิดเลขได้เร็ว และแม่นยำ ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ไม่ว่าจะส่งบุตรหลานเรียนอะไรก็ตาม ต้องให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝนการใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือเหล่านั้นจนเกิดความชำนาญเสียก่อน จึงจะใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผล
Sep 06
จากข่าวนสพ. แนวหน้า ว่าช๊อก การศึกษาเด็กไทยรั้งท้าย อยู่ในอันดับ 8 ของอาเซียน ซึ่งเป็นคะแนนต่ำสุด รองจากเวียตนามและกัมพูชา โดยหลัก ๆเป็นการประเมินภาพรวมในการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ และใช้คะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) มาเป็นองค์ประกอบด้วย แนวการวัดผลดังกล่าวจะเป็นแนวของการคิดวิเคราะห์เป็นหลัก
จากข้อมูลดังกล่าวเป็นที่น่าสงสัยว่า เด็กไทยถูกส่งเรียนพิเศษกันมากมาย ทำไมถึงสู้เขาไม่ได้ หากมาวิเคราะห์กันจริง ๆ แล้ว การเรียนการสอนของบ้านเรา เน้นความถูกต้อง การสอบก็เป็นแบบเลือกว่า ข้อใดถูกที่สุด ไม่ใช่แนวข้อสอบแบบเปิดให้เด็กได้คิด เรามักไม่เห็นแนวข้อสอบของบ้านเราที่เป็นแบบให้เด็กได้เขียน ได้คิดซักเท่าใดนัก และการเรียนนอกเวลา ก็เป็นการเน้นการเรียนล่วงหน้า ไม่ใช่การเรียนแบบคิด แก้ปัญหา จึงไม่แปลกที่เมื่อเด็กไม่ได้ถูกฝึกมาให้คิด แต่ถูกฝึกแบบการป้อนความรู้ เมื่อเจอกับแนวข้อสอบแบบวิเคราะห์ก็จะได้ผลลัพธ์แบบที่เป็นอยู่ หากจะให้เด็กสามารถทำข้อสอบในแนวนี้ได้ดีขึ้น การประเมินผลสัมฤทธิ์ในแบบเดิม ๆ ก็ต้องเปลี่ยนไป ครูผู้สอนก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องมีการหาความรู้ที่เพิ่มขึ้น ไม่อยู่แต่ในตำราเรียน แนวการสอนก็ต้องมีการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น การประเมินผลก็ต้องเป็นปลายเปิดเพื่อให้เด็กได้คิด และไม่จำกัดความคิดของเด็ก ซึ่งมันเป็นการพลิกโฉมการเรียนการสอน หากระบบนี้เกิดขึ้น ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวนี้ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม