Jan 07
ต่อจากนี้ไป จะเป็นช่วงที่เด็กๆ จะต้องเรียนกันหนัก หลังจากการเที่ยวปีใหม่ผ่านไป เนื่องจากเด็กหลายๆ คนต้องมีการย้ายโรงเรียน จากชั้นประถม สู่ชั้นมัธยม และในปีการศึกษาหน้า การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลายๆ โรงเรียน จะเพิ่มอัตราส่วนของเด็กในพื้นที่มากขึ้น นั่นส่งผลให้ เด็กๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ของโรงเรียนดัง ต้องฝ่าด่านกันมากกว่าเดิม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานให้ได้เข้าโรงเรียนที่ได้เลือกไว้ สิ่งที่ทำได้ คือการสมัครลงสอบ Pre Test เพื่อให้ลองสนามจริง กับเวลาในการทำข้อสอบจริง
คราวนี้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับการสมัครสอบ Pre Test เนื่องจากเป็นการสอบ Pre Test จะรับนักเรียนประถมปลาย และผลการสอบก็ออกมาทั้งคะแนนสอบ ค่ากลาง และลำดับของการสอบ การสอบ Pre Test มีข้อดีคือ ทำให้เด็กๆ ได้รู้ข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง และได้เตรียมตัวให้มากขึ้น แต่ผลของลำดับที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า เด็กจะไม่ผ่าน หรือ ผ่านการสอบคัดเลือกดังกล่าว เด็กหลายๆ คนยังมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมได้อีก หนึ่งถึงสองปี นอกจากข้อดีดังกล่าวแล้ว ยังเป็นแนวให้ผู้ปกครองอีกว่า บุตรหลานจะเหมาะกับการสอบคัดเลือกในสนามนั้นหรือไม่ หากต้องทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเค้า ทำได้แค่เพียงการเข้าสถาบันกวดวิชาทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ทำให้ทักษะ หรือประสบการณ์ต่างๆ น้อยลง สู้ลดระดับการแข่งขันลง แต่เสริมกิจกรรม สร้างสรรค์ และเพิ่มทักษะด้านอื่นๆ คู่ไปด้วยจะดีกว่า เพราะเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่สำคัญ คือประสบการณ์ และทักษะต่างหาก ที่ทำให้เค้าดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
Mar 01
จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555
วันนี้ ( 29 ก.พ.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2555 ว่า ในปีนี้ สพฐ. พยายามทำให้การรับนักเรียนมีความเป็นระบบ และต้องการให้ผู้ปกครอง และนักเรียนได้มีข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจเข้าเรียนต่อ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มีความชัดเจนในการวางแผน และเตรียมตัวที่ดี
ดังนั้น สพฐ. จึงจะจัดงานมหกรรมตลาดนัดเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 ในวันที่ 15-17 มี.ค.นี้ ที่อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนจะได้รับทราบนโยบาย ตลอดจนแนวทางการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง 290 แห่งทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เทพศิรินทร์ สตรีวิทยา เป็นต้น ซึ่งในปีนี้จะเปิดรับสมัครเพียงรอบเดียวเท่านั้น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ภายในงานยังจัดให้มีการทดลองทำข้อสอบแข่งขันคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง หรือข้อสอบ Pre-Test ด้วย ซึ่งข้อสอบดังกล่าวออกโดยครูของโรงเรียนนั้นๆ โดยจะมีความใกล้เคียงกับข้อสอบที่จะใช้ในการสอบเข้าเรียนจริง ดังนั้นหากนักเรียนต้องการเข้าเรียนที่โรงเรียนใดก็สามารถมาลองทำข้อสอบได้ เพื่อจะได้ทราบว่าแนวข้อสอบของแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร และตนเองทำคะแนนได้เท่าใด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าเรียนต่อไป ซึ่งหากคะแนนออกมาไม่ดีเด็กก็อาจจะไปศึกษาข้อมูลของโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายได้ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง
“การสอบจะมีทั้งหมด 19 สนามสอบ เปิดให้สมัครและสอบได้ภายในงาน โดยเปิดสอบวันละ 6 รอบ แบ่งเป็น เช้า 3 รอบ และบ่าย 3 รอบ สอบรอบละ 1 ชั่วโมง จากนั้นจะทำการตรวจข้อสอบโดยคอมพิวเตอร์ และประกาศผลให้เด็กทราบทันที”
ดร.ชินภัทร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยืนยันว่าขณะนี้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั้ง 290 แห่งได้จัดทำแผนการรับนักเรียนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะรับนักเรียนห้องละกี่คน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 40-50 คน ดังนั้นเมื่อมีการประการผลสอบ โรงเรียนเหล่านี้จะไม่สามารถเปิดรับสมัครรอบสองได้อีก ซึ่งเด็กที่พลาดจากการสอบรอบแรก ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเป็นผู้จัดที่นั่งให้แก่นักเรียนเอง โดยจะพิจารณาจากโรงเรียนเครือข่ายที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ
ดังนั้นหากนักเรียนต้องการเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่บริการ ก็ควรจะเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับตัวเอง มากกว่าที่จะไปเลือกเข้าโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะต้องมีการสอบคัดเลือก และใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET 20% ในการคัดเลือกเด็กด้วย