จากค่าเฉลี่ยของการสอบ O-Net ของโรงเรียนแต่ละโรง โดยรวมแล้วเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยในวิชาหลักไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (ร้อยละ 50) โดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 22 – 30% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลการประเมินที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับการร่ำเรียน ศึกษามาตลอด 1 ปีการศึกษา ที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นเพราะเรากำลังจะเปิด AEC ในปี 2558 ซึ่งเมื่อดูจากผลการสอบแล้ว เด็กไทยมีอาการเข้าขั้นวิกฤติเมื่อต้องแข่งขันกันในระดับอาเซียน ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันระดับโลกกันแล้ว หากการเรียนการศึกษาของลูกหลานเรายังคงมีผลประเมินในแนวทางนี้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานให้มีความรู้ที่ไม่ใช่ในแนวท่องจำเพียงอย่างเดียวแล้ว เราต้องฝึกให้เด็กได้มีการคิดวิเคราะห์ และการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้นแล้ว ไม่ใช่การอ่านและท่องจำเพื่อให้ได้คะแนนสอบในโรงเรียนเท่านั้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสียของการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการของประชาคมอาเซียน เราควรจะศึกษาถึงข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ก่อน

เริ่มด้วยความมุ่งหวังของการรวมกลุ่มจัดตั้งประชาคมอาเซียนเป็นอันดับแรก จุดประสงค์หลักเพื่อให้เราเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งหมายความถึงการมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ส่วนในแง่ของการผลิต ก็จะมีฐานการผลิตร่วมกันโดยเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี

หลังจากศึกษาถึงจุดมุ่งหมายหลักของการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนแล้ว ลองมาดูผลสำรวจที่น่าสนใจ จากรายงานของ The Global Competitiveness Report 2011-2012 โดย World Economic Forum (WEF) ที่สำรวจอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ 142 ประเทศ

ในปีนี้พบว่า ความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยลดลงจากอันดับที่ 27 เมื่อปีที่แล้วและอันดับที่ 26 เมื่อปี2553 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 30 เนื่องจากไทยมีปัญหาการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ส่งผลให้อันดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง 4 ด้าน คือประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ ด้านการทำงานของรัฐบาล ด้านธุรกิจ และโครงการสร้างพื้นฐาน

พบว่า อันดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยปรับลดลง 1 ตำแหน่ง จากลำดับที่ 38 เมื่อปีที่แล้วเป็น 39 ในปีนี้(เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ปรับลดจากลำดับที่ 44 เป็น46 เวียดนาม จาก 59 เป็น 65) ขณะที่ประเทศที่มีลำดับดีขึ้นได้แก่ สิงคโปร์ ดีขึ้นจากลำดับ 3 เป็น 2 มาเลเซีย จาก 26 เป็น 21 ฟิลิปปินส์ จาก 85 เป็น 75 กัมพูชา จาก 109 เป็น 97 ส่วนบรูไน ลำดับเท่าเดิม คือ 28

ประกอบกับการรายงานของ International Institute for Management Development (2003) มีนักวิชาการหลายท่านสรุปว่าความสามารถในการแข่งขันนอกจากมาจากปัจจัยการผลิต 4 ประการ คือ ที่ดิน ทุน ทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานแล้ว การศึกษา และการเพิ่มองค์ความรู้พิเศษ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ลำพังความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษที่เราจะต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาเซียน 2558 เราก็พบว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ จากรายงานดัชนีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ปี 2011 ของสถาบันสอนภาษา Education First (EF) สถาบันสอนภาษาชั้นนำของโลก ซึ่งดัชนีดังกล่าวทำมาจากการรวบรวมข้อมูลจากประชากรในวัยทำงานกว่า 2 ล้านคนใน 44 ประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาแม่ทั่วโลก การวัดผลก็จะวัดจากการทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

ผลของการวัดความสามารถด้านภาษาอังกฤษดังกล่าวปรากฏว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของไทยอยู่ในอันดับที่ 42 จาก 44 ประเทศ โดยจัดอยู่ในกลุ่มความสามารถด้านภาษาอังกฤษต่ำมาก (Very Low Proficiency) และหากเทียบเฉพาะประเทศ ในทวีปเอเชียที่ทำการวิจัยมี 13 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย รองลงมา คือ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย คาซัคสถาน ตามลำดับ

หากเราพิจารณาถึงข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวในมุมของการศึกษาไทย ที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน คงเห็นภาพได้ลาง ๆ แล้วว่า ตลาดแรงงานไทย น่าจะมีผลกระทบในด้านใดมากกว่ากัน

 

ครูจา

ข้อมูลจาก  http://www.thai-aec.com

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ในช่วงปีที่ผ่านมา  เราจะได้ยินคำว่า “ประชาคมอาเซียน หรือ อาเซียน 2558” อยู่บ่อยครั้ง  หลาย ๆ คนคงสงสัยว่า อาเซียนซึ่งเป็นคำย่อมาจาก “Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN ”ก็มีมาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงมีกระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงนี้

หากมองย้อนกลับไปดี ๆ เราจะพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 10 ประเทศ นั่นคือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียตนาม แต่เพิ่งมีข้อตกลงและนโยบายที่จะใช้ร่วมกัน ที่กำลังจะเริ่มในปี 2558 ประชาคมอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community)  โดยข้อตกลงส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสมาชิก   ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

อาเซียน กับ ประเทศไทย และ คนไทย

 โดย   สมเกียรติ อ่อนวิมล

 

 

                “อาเซียน” เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทยและพลเมืองไทย เป็นความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราชาวไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“อาเซียน” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนพลเมืองในทั้งสิบประเทศที่รวมตัวกันเป็น “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือที่เรียกชื่อย่อว่า “อาเซียน” (ASEAN = Association of Southeast Asian Nations)

“อาเซียน” เป็นเรื่องสำคัญที่ยังมิได้ถูกกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ

 สื่อสารมวลชนทั่วไปยังไม่ตื่นตัวนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนในทางที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญ

สื่อสารมวลชนไทยโดยทั่วไปรายงานข่าวสารเรื่องอาเซียนตามที่จะมีเหตุการณ์ ตามวาระของการเกิดกิจกรรมเท่าที่พอจะเป็นข่าวสารได้เท่านั้น ไม่มีการขยายความ วิเคราะห์ให้ลึกซึ้งมากพอถึงผลกระทบของความตกลงในความร่วมมือต่างๆใน “กรอบอาเซียน” ที่จะมาถึงตัวประชาชนพลเมืองไทยโดยตรง ทั้งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม การประชุมที่สำคัญของอาเซียนแต่ละครั้งหากไม่มีประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ ผลการประชุมตามวาระหลักจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อสารมวลชนกระแสหลักทั้งหลายเท่าใดนัก

                “อาเซียน” มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคน แน่นอน

                แต่ข่าวสารที่จะอธิบายและย้ำเน้นให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของ “อาเซียน” นั้นมีน้อยมาก หรือมี “ไม่มาก” พอ หากไม่เร่งรีบช่วยกันให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเสียแต่บัดนี้ ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่สนใจว่าอาเซียนกำลังทำอะไรที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างไร ตรงไหน และ เมื่อไร บ้างแล้ว อีกสี่ปีเศษข้างหน้าก็จะไม่ทันกาล เพราะถึงปี พ.ศ. 2554/ค.ศ.2015

หากเราไม่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558/2015

หากรัฐบาลไม่เตรียมประเทศและประชาชนให้พร้อม

ทั้งประเทศไทยและพลเมืองไทย ซึ่งหมายถึงเราชาวไทยทุกคน ก็จะมิอาจเป็นผู้นำใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แล้วเราก็จะตกอยู่ในสภาวะผู้ตามที่ไม่มี “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” กับใครในอีกเก้าประเทศในอาเซียนได้ ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันใน “กรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน” เลย

                “อาเซียน” มีความสำคัญต่อคนไทยและประเทศไทย แน่นอน

                แต่ความสนใจสื่อสารเรื่อง “อาเซียน” อย่างจริงจังยังมีน้อยมาก ก็แน่นอนเช่นกัน

                นี่คือที่มาของการเริ่มต้นเขียนคอลัมน์ “บันทึกอาเซียน” หรือ “ASEAN Diary” ที่นี่ เป็นประจำ ทุกวันจันทร์ ทุกสัปดาห์ อันที่จริงแล้วเรื่องของอาเซียนนั้น มีให้เขียน มีให้รายงาน มีให้วิเคราะห์ มีให้เล่าถึงมากมายได้ทุกวันไม่จบสิ้น การได้เขียนบันทึกอาเซียนที่นี่สัปดาห์ละหนึ่งครั้งจะเป็นการส่งต่อการเชื่อมโยงความสนใจไปยังแหล่งขอมูลข่าวสารอื่นที่หลากหลายกว้างไกลและแยกย่อยไปตามความสนใจของผู้อ่านแต่ละท่าน

                ณ บทแรกของ “บันทึกอาเซียน” นี้ ขอบันทึกไว้แต่ตอนต้นก่อนว่า:

 1. “อาเซียน” มีความสำคัญมากต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตการแข่งขันของประเทศไทยและพลเมืองไทยทุกคน

 2. “อาเซียน” มีความสำคัญมากต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตการแข่งขันของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งสิบ พร้อมทั้งประชาชนพลเมืองทุกคนในทั้งสิบรัฐสมาชิกอาเซียนนั้น  

รายละเอียดอื่นๆทั้งข่าวสารและสาระความรู้เกี่ยวกับอาเซียนจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟัง ประกอบด้วยการอธิบาย วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนทัศนะกันไปทุกสัปดาห์ ตลอดปี อย่างน้อยๆก็ตลอด 5 ปีข้างหน้า บันทึกเรื่อง “อาเซียน” จะมีให้อ่านกันไปจนถึงปีเกิดของ ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558/2015

 

 

 

ความสำคัญของอาเซียน

“อาเซียน” เป็นกลุ่มการรวมตัวของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2510/1967 โดยมีสมาชิกแรกก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

ประเทศไทยมีสถานะพิเศษที่ชาวไทยภาคภูมิใจ เพราะไทยคือประเทศผู้ริเริ่มเสนอความคิดเรื่องการก่อตั้งอาเซียนในปี 2510/1967 เมื่อรัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.อ. (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาประชุมหารือและร่วมลงนามก่อตั้ง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 / ค.ศ.1967 ณ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร

ในเวลาต่อมามีอีก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทยอยเข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับ คือ บรูไน, เวียดนาม, ลาว, พม่า และ กัมพูชา อาเซียนจึงมีสมาชิกรวม 10 ประเทศในปัจจุบัน เหลือติมอร์เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) อีกเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคฯที่ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิก ซึ่ง ณ ปี 2554/2011 กระบวนการรับติมอร์เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนกำลังใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ในระยะเริ่มแรกอาเซียนทำงานร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ท่ามกลางความผันแปรของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของโลก งานของอาเซียนจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ มีการประชุมร่วมกันในระดับสูงสุด ระดับหัวหน้ารัฐบาล ที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน” (ASEAN Summit) ไม่บ่อยนักและ ไม่เป็นประจำรายปี บางครั้งก็เว้นช่วงประชุมนานหลายปี มีครั้งหนึ่งไม่มีการประชุมสุดยอดอาเซียนนานถึง 9 ปี แต่ด้วยเหตุแห่งความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในโลกที่นับวันจะต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างพลังต่อรองและสร้างความเข้มแข็งในเวทีโลกให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในที่สุดอาเซียนก็เริ่มจริงจังกับการทำงานร่วมกันแบบเข้มข้นมากขึ้นจนมีการประชุมสุดยอดอาเซียนทุกปี รวมทั้งการประชุมร่วมกันในระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมากขึ้น มาถึงปี 2551-2552 / 2008-2009 ช่วงที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียน การประชุมสุดยอดอาเซียนเริ่มมีปีละสองครั้ง ตามบทบัญญัติใน กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551/2008 เป็นต้นมา ต่อจากไทย เมื่อเวียดนามรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2010 ก็จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้ง มาปี 2011 อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนก็จัดประชุมสุดยอดอาเซียนไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อเดือนเมษายน และจะจัดอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2011 ซึ่งจะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ในประวัติศาสตร์ 44 ปีของอาเซียน

 

 

 

ทุกครั้งทุกปีที่ผู้นำอาเซียนในระดับต่างๆประชุมหารือกันจะมีความตกลงในสนธิสัญญา อนุสัญญา พิธีสาร ปฏิญญา และความตกลงในโครงการ-แผนแม่บท-แผนงาน-แผนปฏิบัติการ มากมายหลายหลาก และทุกความตกลงล้วนมีผลบังคับให้ทำตาม ล้วนมีผลกระทบในทางพัฒนาสร้างสรรค์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของรัฐสมาชิกทั้ง 10 ประเทศทั้งสิ้น ความตกลงที่รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับชาติอื่นๆในกรอบอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามให้ลุล่วงไปพร้อมๆกัน หากฝ่ายไทย หรือประเทศใดประหนึ่งทำไม่ได้ หรือทำได้ช้า ก็จะเป็นฝ่ายเสียโอกาส หรือ “เสียเปรียบ” ผลเสียก็จะเกิดกับประชนของประเทศไทย หรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ทุกวันนี้ผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนในกระบวนการทำงานร่วมกันในอาเซียนคือรัฐบาลและข้าราชการในระดับที่เกี่ยวข้องกับเจรจาทั้งหลาย การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาและตัดสินใจเป็นสิ่งที่รัฐบาลและอาเซียนต้องการ เพราะอาเซียนมีอุดมการณ์ในการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่ในเมื่อประชาชนยังไม่ได้รับข่าวสารความรู้มากพอและต่อเนื่อง ประชาชนก็จึงไม่ทราบว่าจะได้ประโยชน์และจะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบอย่างไร

                เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเร่งด่วน มีผลกระทบต่อชาวไทยและชาวอาเซียนอย่างถึงตัวโดยตรงฉับพลันทันที อาเซียนมีความตกลงตั้งเขตการค้าเสรีกันและเริ่มเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554/2010 และภายในปี 2558/2015 เขตการค้าเสรีอาเซียนจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสถาปนา “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ทั้ง 10 ประเทศจะร่วมกันไปมาหาสู่เดินทางทำมาค้าขาย-ลงทุน-หางานทำข้ามพรมแดนกันอย่างเสรี ทั้งแข่งขันกันเองและผนึกกำลังร่วมกันแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอื่นในโลก

“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นี้เองที่จะกระทบพลเมืองไทยทุกคนอย่างชัดเจน

หากคนไทยไม่รู้ว่าอาเซียนคืออะไร กำลังทำอะไรที่เราจะได้รับผลกระทบ หรือจะทำให้เราได้โอกาสพัฒนาชีวิตเศรษฐกิจของเราได้อย่างไรบ้าง

หากเราไม่รู้ ไม่สนใจ ไม่ตื่นตัว แล้วพลเมืองอีก 9 ชาติในอาเซียนเขารู้ เขาสนใจ เขาตื่นตัว

ถึงวันนั้นเราก็พ่ายแพ้ เพราะไม่ใช้โอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และพัฒนาตนเองให้เติบโตในโลกใหม่ที่อาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจของเราเอง 

เรื่องเศรษฐกิจกระทบทุกคนโดยตรง และความตกลงทุกเรื่องทุกประเด็นมีแต่จะเดินหน้าต่อไป ไม่มีหยุดเดิน ไม่มีถอยหลัง

– เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเดินหน้าตามที่อาเซียนกำหนด

– ถ้าจะให้ดีเราก็ควรเดินนำหน้า เป็นผู้นำในอาเซียน

– หรืออย่างน้อยๆก็เดินคู่เคียงบ่าเคียงไหล่กันไป

– มิฉะนั้นเราก็จะทำได้เพียงเป็นผู้เดินตามหลัง ซึ่งมีใช่ศักดิ์ศรีของประเทศไทยและชาวไทยที่เป็นผู้นำอาเซียนมาตั้งแต่แรกให้กำเนิด ในวันที่ 8 สิงหาคม 2510/1967

 

ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนก็ประกาศเป้าหมายก่อตั้ง “ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน” (ASEAN Political-Security Community) ในปี 2558/2015 เช่นกัน

 

ในด้านสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนก็ยึดปี 2558/2015 เป็นปีก่อตั้ง “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” (ASEAN Socio-Cultural Community) อีกด้วยเช่นกัน

 

รวมแล้ว ปี 2558/2015 เป็นปีที่จะเกิดประชาคมอาเซียน 3 ประชาคม เรียกรวมกันทั้งหมดว่า “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community)

 

                ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับประเทศไทยและประชาชนชาวไทย นอกจากจะเดินหน้าเต็มตัว คงความเป็นผู้นำในอาเซียนให้ได้ต่อเนื่องไป ด้วยการติดตามศึกษาหาข่าวสารความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนและในโลกได้อย่างสมภาคภูมิ

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

1 สิงหาคม 2554/2011

ที่มา   :    Website : http://m2.truelife.com/guru/content.php?id=66330

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments