Jan 02
Posted by malinee on Wednesday Jan 2, 2013 Under เกร็ดความรู้
คราวนี้เราก็พอมองภาพกว้าง ๆ ออกแล้วว่า เราไม่ควรให้ความสนใจ หรือพัฒนาทักษะ หรืออัจฉริยภาพในด้านเดียว แต่ควรให้เด็กมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกาน คราวนี้มาดูว่าอีก 2 Q ที่เหลือจะหมายถึงอะไร และมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร
ความฉลาดทางสังคม (SQ) ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านให้คำจำกัดความว่า เป็นการที่บุคคลสามารถเจรจา ต่อรอง ในสภาวะต่าง ๆ หรือความเข้าใจในภาวะต่าง ๆ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างฉลาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ทดสอบด้าน SQ ที่ได้คะแนนมากกว่าจะมีความฉลาดทางสังคมมากกว่า เพียงแต่คนแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อ ความมุ่งมั่น ความสนใจ ความหวังและทัศนคติที่แตกต่างกันเท่านั้น
แต่ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะในการเข้าสังคม เมื่อเขาต้องเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกอึดอัด ขัดข้องได้ หากเขารู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มันอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากเขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ (นั่นก็คือ ทัศนคติที่แตกต่างกันนั่นเอง) เขาก็ไม่เดือดร้อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ MQ คือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีน้ำใจ ความเข้าใจผู้อื่น การรู้จักแยกแยะดีชั่ว สิ่งเหล่านี้หลาย ๆ คนมักคิดว่าเป็นเรื่องที่สอนยาก แต่จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างที่พ่อแม่เป็นผู้กระทำ และเด็ก ๆ จะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับรู้ ได้สัมผัส เป็นสิ่งที่เขาแสดงออกมา MQ เป็นสิ่งที่มีผลต่อสังคมมากที่สุด นั่นคือ หากเด็กถูกปลูกฝัง ให้รู้จักความดี ความชั่ว บาป บุญ คุณ และโทษ สังคมก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าเด็กถูกสอนให้รู้จักแต่เอาชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ หรือไม่ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็ไม่น่าอยู่เสียแล้ว
สุดท้ายเราคงต้องฝากอนาคตของชาติ สังคมไทย ที่อยู่ในมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าจะทำให้สังคมผันแปรไปในทิศทางใด หรือ อยากให้ลูกหลานเติบโตในสังคมแบบใด
ครูจา
Nov 16
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า IQ และ EQ มาแล้ว เนื่องจากในข่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มักมีข่าวมากมายเกี่ยวกับนักศึกษา หรือแม้แต่นักบริหาร ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีประวิติผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ต้องจบชีวิตลงด้วยเรื่องของความผิดหวังเพียงเล็กน้อย (ในสายตาของคนอื่น) ทิ้งไว้แต่ความฉงนของคนที่ได้ข่าวว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ ความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหา ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้ในยุคนั้นมักถูกเรียกว่า “คนที่มี IQ สูง” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีงานวิจัย นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นประวัติการเลี้ยงดูในวัยเด็ก แลการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงดู หรือสังเกตพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต
หลังจากนั้น คำว่า “EQ” จึงเกิดขึ้น และนักจิตวิทยาจะให้ความสำคัญของ EQ ใกล้เคียงกับ IQ แต่ในการศึกษาทางด้านจิตวิทยาแล้ว ยังมี Qs อื่น ๆ ที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ดี เหมาะสมกับวัย และการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเมื่อเติบโตขึ้น
ครู จา
Jun 03
หากคุณพ่อ คุณแม่สมัยใหม่นึกย้อนกลับไปดี ๆ เมื่อสมัยที่คุณยังเป็นเด็กอยู่นั้น จะพบว่าเด็กในสมัยก่อน กับสมัยนี้นั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่ ขนาดของครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว การดูแลเอาใจใส่ การเลือกโรงเรียน หรือแม้แต่การอบรมเลี้ยงดู
สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของวิถีชีวิตในแบบตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของคนไทย ทุกสิ่งทุกอย่างสะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารใช้เวลาสั้นลง จนเกิดเป็นความเคยชินจนลืมนึกถึงบางอย่างที่ไม่สามารถเร่งหรือย่นระยะเวลาได้ด้วยเทคโนโลยี เช่น เราไม่สามารถเร่งให้เด็กเดินได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก ซึ่งการที่เด็กแต่ละคนจะสามารถเดินได้นั้น ก็ต้องเริ่มมีการพัฒนาเรื่องการทรงตัวจากการนั่ง และการคลานก่อน นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างทางด้านร่างกายก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน หากเด็กยังมีกระดูกหรือกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง การเดินก็ถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อตัวเขาเช่นกัน
การยกตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เปรียบเสมือนกับการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน หรือเด็กหลาย ๆ คนอาจต้องการวิธีการที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นไม่ได้แปลว่าเขามีปัญหาในการเรียนรู้ แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งหมายถึงพ่อแม่ ครู อาจารย์ มักใช้ข้อสอบหรือแบบทดสอบในการวัดผลออกมาในรูปของคะแนน เนื่องจากเป็นผลที่ออกมาเป็นตัวเลขได้แน่นอน สิ่งต่าง ๆ ที่วัดออกมา บางคนอาจเรียกว่าความฉลาด ความเข้าใจ หรือความรู้ แต่โดยรวมเข้าใจได้ว่าคือ “IQ” นั่นเอง
นอกจาก IQ แล้ว งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นก็ยังสนับสนุนว่ายังมีความฉลาดด้านอื่น ๆ อีกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็ก ซึ่งพอสรุปได้อีก 2 ประเด็นก็คือ EQ , SQ
เราจะมาพูดถึงทีละประเด็น ซึ่ง Q ต่อมาคือ EQ หลาย ๆ คนทราบดีว่า EQ คือความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมายความว่าเขาสามารถจัดการกับอารมณ์ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ หลาย ๆ ครอบครัวที่ปล่อยปละละเลยกับการส่งเสริมการมี EQ ของเด็ก มักทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่รู้จักการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การส่งเสริมนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เกมส์ต่าง ๆ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ ให้รู้จักแพ้ชนะ (เกมส์ที่แนะนำควรเล่นกันในครอบครัว เช่น เกมส์เศรษฐี บันไดงู) ในช่วงแรกของการเล่น เด็กจะไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ แต่เมื่อสร้างสถานการณ์ขึ้นบ่อย ๆ แล้วมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะ เด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการที่มีผู้ใหญ่ที่คอยชี้แนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม การที่เด็กถูกปล่อยให้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ IPad โดยเล่นอยู่คนเดียว จึงมีโอกาสที่เด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้อย่างง่ายดาย
Q ต่อมาคือ SQ (Spiritual intelligence) ความหมายของ SQ ไม่มีบทเฉพาะตัว แต่พอจะกล่าวกว้าง ๆ ได้ว่าคือความฉลาดในความอดทน การประเมินตนเอง การรู้คุณค่าของตนเอง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าความรู้หลายเท่ามาก หากเด็กคนใดที่มีการฝึกในเรื่องของ AQ, SQ, MQ มาเป็นอย่างดี ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขทั้งในหน้าที่การงานและชีวิต เนื่องจากเขาสามารถเปลี่ยนทัศนคติในเชิงลบให้เป็นบวกได้ หรือปล่อยวางสิ่งที่ตนเองไม่สามารถแก้ไขได้ คนที่มี SQ ที่ดีมักเป็นคนที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี (ซึ่งไม่ได้หมายถึงฐานะทางการเงิน แต่เป็นความรักความอบอุ่น)นั่นเอง
ครูจา