Jan 05
เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่ตอนปลายอนุบาล 3 จะเป็นช่วงที่เด็กจะต้องมีการฝึกอ่าน และเขียนให้คล่องแคล่วมากขึ้น การฝึกในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ต้องจัดกิจกรรมการอ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ระบบโรงเรียนที่เป็นแบบปกติ นั่นคือโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ซึ่งภาษาไทยจะเป็นแกนกลางของการอ่านในทุก ๆ วิชา ในช่วงแรกต้องให้เด็กสามารถอ่านตัวหนังสือที่มีแต่สระโดยไม่มีตัวสะกดและวรรณยุกต์ แล้วค่อย ๆ เพิ่มตัวสะกด และวรรณยุกต์ หรืออาจจะทำเป็น flash card สระ แล้วให้คิดตัวพยัญชนะใส่เข้าไป แล้วออกเสียงให้ถูกต้อง หรืออาจเล่นเกมส์ต่อคำโดยให้เป็นคำพ้องเสียง ในเวลาที่อยู่ในรถ ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ ก็ใช้เป็นความคิดแทน
สำหรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนสองภาษาก็จะต้องเน้นทั้งสองภาษา การเรียนภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพในเรื่องของการอ่าน ระบบที่จะทำให้เด็กสามารถอ่านได้เร็วที่สุด ก็คือ phonics เนื่องจากเป็นการจำรูปแบบของการวางสระ ซึ่งมีเพียง 5 ตัวแต่สามารถแบ่งออกเป็น สระเสียงสั้น (short vowel sound) และ สระเสียงยาว (long vowel sound) ได้ขึ้นอยู่กับแบบรูปที่วาง โดยเด็กจะต้องผ่านเสียงของพยัญชนะทั้งหมดก่อน เพื่อให้สามารถอกเสียงทั้ง เสียงต้น (beginning sound) และเสียงท้าย (ending sound) ต่อมาก็ แล้วจึงจะเข้าสู่การเรียนสระเสียงสั้น และต้องเพิ่ม sight word บางคำ ซึ่งไม่เข้ากฏของ phonics เมื่อสิ้นสุดสระเสียงสั้นทั้งหมด เด็กก็จะสามารถอ่านได้บ้างแล้ว (เราสามารถเลือกหนังสือ หรือบทความสั้น ๆ ให้หัดอ่านได้จาก website ซึ่งบางเว็บสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งภาพและเสียง) และต่อมาก็ยังเป็นช่วงของสะเสียงยาว , r-controlled soundในช่วงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คนมักจะประเมินว่าตนเองนั้นไม่สามารถให้ความรู้หรือสอนลูกได้ แต่ความจริงแล้ว เราไม่ได้เป็นตัวหลักเพียงแต่เป็นตัวช่วย และนอกจากนี้แล้วยังมีแหล่งข้อมูลใน website ต่าง ๆ มากมายที่จะเป็นฐานข้อมูลให้เราได้ และผลที่เราจะได้รับก็คือ ทำให้กระบวนการในการอ่านไปได้เร็วมากขึ้น สร้างความมั่นใจ และทัศนคติที่ดีกับการเรียน เนื่องจากในการเรียนแบบสองภาษา ก็จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นแกนกลางในการเรียนหลาย ๆ วิชา หรืออาจจะทุกวิชาเลยก็ได้
เรามักพบว่าเด็กที่มีพัฒนาการในการอ่านช้า จะทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน ดังนั้นในช่วงของการฝึกอ่าน ฝึกสะกดจะเป็นช่วงที่สำคัญที่จะทำให้เด็กแต่ละคนมีทัศนคติที่ดีการเรียนหรือไม่ หากทัศนคติในการเรียนไม่ดี มันจะทำให้เขาหันเหความสนใจไปในเรื่องอื่น ซึ่งในยุคสมัยนี้มีสิ่งเร้ามากมาย ซึ่งมักจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดที่ไม่ดีมากกว่าการทำดี เป็นการตัดโอกาสของตนเองที่จะก้าวไปในอนาคตที่ดี
ในทางกลับกันเด็กที่ได้รับการฝึก การพัฒนาการอ่านที่ดี เขาจะ สามารถอ่านประโยคสั้น ๆ ได้แล้ว คราวนี้ก็ต้องฝึกให้หัดแบ่งวรรคตอน เพื่อการจับใจความ ซึ่งโจทย์ทางคณิตศาสตร์นั้นจะต้องอ่านโดยเว้นวรรคตอนให้ดี เขาถึงจะสามารถจับใจความได้ว่าโจทย์ดังกล่าวให้อะไรมาบ้าง แล้วตีความได้ว่าโจทย์ต้องการอะไร เมื่อฝึกบ่อย ๆ
เขาก็จะมีประสบการณ์ที่จะตีความได้ด้วยตนเอง จากข้างต้นท่านผู้ปกครองจะเห็นได้ว่า การอ่านเป็นส่วนสำคัญและมีผลอย่างยิ่งต่อการเรียนคณิตศาสตร์ หากท่านผู้ปกครองต้องการให้ลูก ๆ หลาน ๆ เก่งคณิตศาสตร์ ท่านก็จำเป็นต้องส่งเสริมเด็ก ๆ ในเรื่องการอ่านและการตีความด้วยเช่นกัน
ครูจา
Dec 06
จากที่ได้นำเสนอในตอนที่แล้วว่า การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างไร เราจะได้พบประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดทัศนคติในเชิงลบกับการเรียนคณิตศาสตร์ได้พอสังเขป (โดยที่กล่าวถึงเฉพาะเด็กที่ความสามารถในการเรียนรู้อยู่ในระดับปกติเท่านั้น) ดังนี้
– ปัญหาด้านการอ่าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการเรียนของลูกของเรา
พ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่า ลูกหลานของท่านมีปัญหาในการอ่าน ดัชนีชี้วัดที่ง่ายที่สุดก็คือ บุตรหลานของท่านจะได้คะแนนในแต่ละวิชาอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก นั่นหมายความว่าบุตรหลานของท่านมีปัญหากับการเรียนในทุก ๆ วิชาที่มีเนื้อหาที่จะต้องอ่านทบทวน บ่อยครั้งที่เราพบว่าเกรดที่ได้จากโรงเรียนไม่สามารถชี้ถึงความบกพร่องในการเรียนในโรงเรียนได้ (เนื่องจากแนวการตัดเกรดของกระทรวงไม่ได้มุ่งเน้นที่คะแนนสอบ แต่จะเน้นจากคะแนนเก็บในระหว่างเทอมแทน) พ่อแม่ผู้ปกครองยังสามารถสืบทราบการเรียนของลูกหลานตนเองได้โดยการปรึกษา หรือพูดคุยกับครูประจำวิชาในแต่ละวิชาได้ไม่ยากนัก
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ การติดตามบทเรียนในแต่ละระดับชั้น เช่นในเด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักจะอ่านออกเขียนได้ อย่างคล่องแคล่วเมื่อสิ้นสุดเทอมต้นในระดับประถมปีที่ 1 แต่อาจจะมีติดขัดบ้างในการผันวรรณยุกต์ หรือในเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนสองภาษาก็เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วน่าจะสามารถอ่านภาษาอังกฤษ ในระบบของ phonics คือสระเสียงสั้น (short vowels sound) ได้ทั้งหมด ซึ่งก็พอที่จะทำให้เขาสามารถอ่านโจทย์คณิตศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษได้
หากพ่อแม่ผู้ปกครอง พอจะรู้บทเรียนในแต่ละชั้นปีพอสังเขป ก็จะสามารถส่งเสริม สนับสนุน หรือเพิ่มพูน ทักษะในการอ่านของลูกให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เจียดเวลาที่ทุ่มเทให้กับงานบางส่วน มาเพิ่มเวลาคุณภาพที่จะเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านวิชาการและจริยธรรมของลูก ที่นับวันจะน้อยลงทุกทีเมื่อเขาโตขึ้น
– ปัญหาด้านการตีความ
ในบางครั้งเด็กอาจไม่มีปัญหาด้านการอ่าน แต่เนื่องจากขาดทักษะในการอ่าน (ที่จะได้มาจากการฝึกฝน หรือการอ่านบ่อย ๆ) ทำให้ไม่สามารถจะเว้นวรรคตอน หรือจับใจความในแต่ละประโยคได้อย่างถูกต้อง
ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก เนื่องจากเด็กเพียงขาดทักษะในการอ่าน วิธีแก้คือ คุณพ่อคุณแม่ควรได้มีเวลาอ่านหนังสือกับลูกบ่อย ๆ หรือการสลับกันอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน ถ้าอ่านผิดวรรคตอน ก็ใช้วิธีแนะโดยการอ่านในแบบที่ถูกต้อง และในแบบที่ไม่ถูกต้อง โดยให้ลูกเป็นผู้เลือกเองว่า การอ่านแบบไหนที่ทำให้เขามีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องที่อ่าน หรือจับใจความได้ดีกว่า
วิธีดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าความผิดพลาดของตนเองเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เขามีความกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเขาในการอ่านมากขึ้นและประการสำคัญที่จะได้จากการอ่านหนังสือด้วยกันก็คือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะแน่นแฟ้นมากขึ้น ลองดูนะคะ ลดกิจกรรมนอกบ้านลง (เช่นการพาลูกไปช็อปปิ้ง) เอาเวลาที่ว่างนั่งคุยเรื่องหนังสือที่อ่านและร่วมกันแสดงความคิดเห็น คุณอาจจะได้พบผู้ใหญ่ตัวน้อย ๆ ในอนาคตที่จะบอกคุณว่าเมื่อโตขึ้นเขาจะไปในทิศทางใด
– ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมที่ถูกปลูกฝังจากทางบ้านจนเป็นนิสัย
บ่อยครั้งที่เราพบว่าพฤติกรรมที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีชีวิตที่เร่งรีบ จนไม่มีเวลาที่ให้เด็กสามารถคิด หรือฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง สุดท้ายจึงเป็นการสร้างนิสัยที่เด็กไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำด้วยตนเอง เมื่อเด็กต้องเรียนในสิ่งที่ยากขึ้น หรือต้องทำงานที่ซับซ้อน ก็จะปฏิเสธ หรือต่อต้าน สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคนี้ปฏิบัติกับลูกหลานก็คือ การเลือกทุกสิ่งที่ดีที่สุด ให้ความสะดวกสบาย ส่งลูกเรียนกวดวิชา โดยมีวิธีลัดต่าง ๆ ให้จดจำมากมาย หลังเลิกเรียนก็ผ่อนคลายด้วยเกมส์ ทุกอย่างเป็นตารางที่วางไว้แล้ว เพียงแต่ลูกหลานเอาตัวเองไปในที่ต่าง ๆ ที่พ่อแม่จัดการไว้แล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูก แต่มันกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไม่มีความพยายามที่จะฟันฝ่าอุปสรรค ไม่คิดหรือวางแผน เพราะว่าไม่เคยมีโอกาสได้วางแผนอะไรเลย
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง พอจะปรับแก้ได้ก็คือ การฝึกให้ลูกหลานได้รับผิดชอบหน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในบ้าน ให้เขาได้จัดสรรเวลาหลังเลิกเรียนด้วยตัวเอง เมื่อเกิดอุปสรรค หรือปัญหา พยายามดูอยู่ห่าง ๆ ให้กำลังใจว่าเขาต้องทำได้ ไม่ใช่เข้าไปแก้ปัญหาให้ทุกครั้ง สร้างตารางคร่าว ๆ ว่าเขาจะต้องทำอะไรบ้างใน 1 วัน แล้วให้เขาเป็นคนเลือกเองว่าจะทำอะไรในเวลาไหน ซึ่งเป็นการฝึกวินัยให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองด้วย
– ปัญหาบุคลากรในโรงเรียนไม่เพียงพอ
ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกับเด็กจำนวนมาก เนื่องจากความเอาใจใส่ไปไม่ถึง และส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กนักเรียนที่ไม่ค่อยมีสมาธิ
ปัญหาเรื่องบุคลากรนี้ เป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือเตรียมความพร้อมของลูกหลานให้มีสมาธิกับเรื่องที่ทำ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และการติดตามการเรียนการสอนของแต่ละวิชา ไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ครูพูดเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก หรือท้อแท้ในการเรียน ดังที่กล่าวมาปัญหาส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวพ่อแม่ ผู้ปกครองเอง โดยการให้เวลาและความสำคัญกับลูกมากขึ้น เพื่อให้เขามีอนาคตที่เขาสามารถเป็นผู้เลือกเอง โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นเสมือนลมที่อยู่ใต้ปีกนกอินทรีย์ที่บินไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ
ครูจา