ไอคิว’สูง-ต่ำ’เด็กไทยเรื่อง(ไม่)เล็ก
Posted by malinee on Wednesday Jan 18, 2012 Under Uncategorized, เกร็ดความรู้จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์
วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555
ไอคิว’สูง-ต่ำ’เด็กไทยเรื่อง(ไม่)เล็ก ที่ต้องใส่ใจ โดย…พิมพ์ชนก ศรเพชร
“เด็กไอคิวสูง หรือที่เรียกว่า “เด็กอัจฉริยะ” ภาษาวิชาการเรียกว่า “เด็กที่มีความสามารถพิเศษในระดับสูง” เป็นเด็กเรียนรู้ได้รวดเร็ว จำได้ดี จะจัดการเรียนการสอนเหมือนเด็กปกติไม่ได้ จะทำให้เด็กมีปัญหาและเกิดความกดดัน” ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก บอกว่า “เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้เร็ว ครูควรเปลี่ยนการเรียนสอนให้ยากและท้าทายมากขึ้น แต่ใช้สาระการเรียนรู้เดียวกับเด็กอื่นๆ เขาจะได้ไม่รู้สึกเบื่อ ให้ความสำคัญเรื่องที่เขาสนใจนอกเหนือจากการเรียนและใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่ชอบ เพื่อลดความกดดัน เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญดูแล ส่วนใหญ่ไอคิว 160 ขึ้นไป หรือเฉพาะกรณีที่ไอคิวสูงมาก มีความสามารถพิเศษโดดเด่นกว่าคนอื่น”
“ถ้าพูดถึงเด็กที่ไอคิวต่ำ จริงๆ แล้วต้องจัดการเรียนการสอนต่างจากเด็กคนอื่น เน้นการเรียนการสอนที่ง่าย สอนซ้ำหลายๆ ครั้ง มีการสอนหลากหลาย ชัดเจน เข้าใจง่าย และต้องให้เวลาด้วย เพราะเขาต้องใช้เวลาเรียนรู้นาน จะประเมินผลร่วมกับเด็กอื่นไม่ได้ ควรประเมินตามศักยภาพของเขา เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการที่แท้จริง”
นอกเหนือจากการเรียน กิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถของเด็ก อย่าง “ดนตรี ศิลปะ กีฬา เป็นอีกทักษะที่ต้องให้ความสำคัญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก เน้นย้ำ
เพลงโมสาร์ท หรือเพลงบรรเลง ทำให้คลื่นสมองเปลี่ยนแปลง เกิดคลื่นอัลฟา เมื่อเด็กได้ฟัง สมองเขาจะผ่อนคลาย แล้วมีสมาธิมากขึ้นถึงในระดับที่ดีมาก เห็นมั้ยว่าดนตรีมีส่วนทำให้เด็กมีสมาธิ สามารถเรียนรู้และจดจำได้รวดเร็วขึ้น
กีฬามีส่วนพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็ก เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำทำให้สมองตื่นตัว แข็งแรง เมื่อสุขภาพจิตดีเด็กก็มีการเรียนรู้ดีขึ้น ด้านศิลปะมีส่วนช่วยในการพัฒนาอารมณ์และเป็นตัวแทนด้านความคิดจิตใจ ที่สำคัญทำให้เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
“อยากฝากถึงภาครัฐ ครูผู้สอน ผู้บริหาร เปลี่ยนทัศนคติและทำความเข้าใจใหม่ เพราะปัจจุบันมีการจัดการเรียนสอนแบบขนมชั้น ไล่ระดับชั้นไปเรื่อยๆ ไม่มีการซ้ำชั้น เหมือนถูกผลักไปเรื่อยๆ ตามชั้นเรียนต่างๆ ปัจจุบันพบว่า มีเด็ก ป.6 อ่านหนังสือไม่คล่อง เห็นมั้ยว่าเกิดปัญหาแล้ว ควรให้เด็กได้รับการศึกษาตามศักยภาพและระดับการเรียนรู้ จัดให้มีการทดสอบก่อนเรียน จัดการเรียนการสอนให้ตรงกับระดับสติปัญญาและความสามารถของเด็ก” ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก กล่าวทิ้งท้าย
นพ.อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “จากการสำรวจระดับไอคิวเด็กอายุ 6-15 ปี เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ไอคิวเฉลี่ยเด็กไทยอยู่ที่ 91 ปัจจุบันไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.59 ถึงจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรเป็นไปตามมาตรฐานโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 100 แม้ว่าระดับไอคิวใกล้เกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและน่าเป็นห่วง”
คุณหมอบอกอีกว่า องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกกล่าวถึงการพัฒนาสติปัญญาทำได้ 3 ปัจจัย คือ การบริโภคเกลือไอโอดีน การพัฒนาการเลี้ยงดูของครอบครัว ปัจจัยสุดท้ายคือ การพัฒนาการเรียนการสอน แต่ที่ทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การบริโภคเกลือที่มีไอโอดีน เกลือไอโอดีนมีความสำคัญต่อการพัฒนาเซลล์สมอง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ถ้าไม่ได้รับไอโอดีนที่เพียงพอก็จะทำให้สมองหยุดการพัฒนา ทำให้ระดับการเรียนรู้ไม่ดี ถ้าขาดไอโอดีนมากก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของร่างกายและสติปัญญา ระดับไอโอดีนที่ควรได้รับนั้นมีปริมาณน้อย แต่ไอโอดีนไม่สามารถสะสมในร่างกายได้นาน จึงต้องบริโภคไอโอดีนเป็นประจำทุกวัน
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็ก คือ อาหารและสุขภาพ เด็กต้องได้รับอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมองและพัฒนาการเรียนรู้ ส่วนเรื่องสุขภาพต้องได้รับการดูแลตั้งแต่ในครรภ์ สมองและร่างกายต้องไม่ได้รับการกระทบกระเทือน จนเป็นปัญหาสุขภาพส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญา”
คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลเด็ก บอกด้วยว่า เด็กแต่ละคนมีระดับสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน คนที่อยู่กับเด็กต้องมีความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาให้เขามีการตอบสนองต่อการเรียนรู้ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการเรียนรู้ มีสื่อ กิจกรรมที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่างๆให้กับเด็ก
สาเหตุที่ทำให้สติปัญญาเด็กหยุดพัฒนา คือ สมองได้รับความกระทบกระเทือน หรือป่วยจากโรคที่ส่งผลต่อภาวะทางสมอง อย่างเช่น โรคไข้สมองอักเสบ ที่อาจทำให้สมองหยุดการเรียนรู้ไป ถึงจะฟื้นกลับมาได้ แต่ไม่ปกติเท่าเดิม
“การฟื้นฟูส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก อย่างพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ ต้องทำให้สมรรถภาพการทำงานกับประสาทสัมพันธ์กัน “การเล่น” กับเด็กเป็นสิ่งคู่กัน ช่วยคลายความเครียด ทำให้ผ่อนคลายและสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ให้ตัวเด็กด้วย” คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลเด็ก กล่าว
เด็กที่ไม่ได้รับการพัฒนาระดับสติปัญญาและส่งเสริมความรู้ความสามารถให้ถูกทางถือว่าเป็นการเสียโอกาส เพราะการพัฒนาการเรียนรู้เป็นพื้นฐานที่เด็กต้องได้รับ เพียงแต่ อย่าละเลยการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตามวัย เด็กจะได้เติบโตขึ้น เป็นกำลังสำคัญที่พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป