Nov 24
ในแต่ละครอบครัวที่มีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มขึ้นมาแต่ละคน คงไม่มีใครคัดค้านว่านอกจากความสมบูรณ์ แข็งแรงทางร่างกายแล้ว ทุกคนต้องการให้เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการที่ดี และฉลาดหลักแหลม เราจึงต้องให้ความสำคัญของ IQ ไม่น้อยกว่าตัวอื่น ๆ
มักมีความเชื่อกันว่าความฉลาดนั้นเกิดจากปัจจัยพันธุกรรมเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น แต่จากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น กล่าวว่าความฉลาดนั้นมีปัจจัยจากพันธุกรรมเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเราสามารถพัฒนาได้จากการเลี้ยงดู และสามารถพัฒนาได้ในช่วงที่เด็กมีอายุ 0 – 3 ปีเท่านั้น ตามทฤษฏีทางด้านพันธุกรรมคือ ยีน (gene) ที่มีหน้าที่ถ่ายทอดพันธุกรรมนั้น ยีนของอัจฉริยะเป็นยีนด้อย ซึ่งทำให้โอกาสที่เด็กเกิดมาจะเป็นอัจฉริยะนั้นน้อยมาก
จากข้อมูลต่าง ๆ เราจะพบว่าความฉลาด หรือ IQ ของคนส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก (ในด้านของพันธุกรรม) แต่สิ่งที่ทำให้ความฉลาดในเด็กแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ วิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันนั่นเอง การเลี้ยงดูที่มีการพัฒนาให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย และส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละวัยอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการเล่น หรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่นวัย 6 – 8 เดือน เด็กจะมีการใช้ทักษะมือให้สัมพันธ์กับตา เป็นการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อกับระบบประสาท หากเด็กได้รับการส่งเสริมจะทำให้การเรียนรู้ทางมิติสัมพันธ์เมื่อเขาโตขึ้นได้ดี ส่วนเด็กที่อยู่ในช่วงกำลังหัดพูด ก็ต้องมีการพัฒนาทางด้านการฟังก่อน แล้วจึงพัฒนาการเลียนแบบเสียงต่าง ๆ ต่อไป การพัฒนาในด้านการพูด การฟัง ก็สามารถต่อยอดให้เด็กมีทักษะทางด้านภาษาที่ดีในอนาคตได้
จากวัย 0 – 3 ปี พัฒนาการของเด็กนั้นจะต้องผ่านกิจกรรมที่ใช้ทักษะทางด้านร่างกายเป็นหลัก ทั้งการมอง การฟัง การพูด การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ซึ่งหากเด็กได้มีการเล่นผ่านของเล่นที่จับต้องได้ ควบคู่ไปกับใช้ทักษะต่าง ๆ (ยิ่งมาก ยิ่งนาน) เด็กก็จะเกิดประสบการณ์ ความชำนาญ จนกลายเป็นการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว แต่ในทางกลับกัน เด็กที่อยู่นิ่ง ๆ ใช้ทักษะด้านใดด้านหนึ่ง เช่นการให้เด็กนั่งเล่นเกมส์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเกมส์การศึกษาก็ตาม เด็กจะใช้สายตาในระยะเดียว (ระยะที่อยู่ภายในจอ ไม่ได้กวาดสายตาไปหลายจุด) และกล้ามเนื้อก็ใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น ความฉลาดที่ได้จึงได้จากพันธุกรรมที่เหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว
ครูจา
Nov 16
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า IQ และ EQ มาแล้ว เนื่องจากในข่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มักมีข่าวมากมายเกี่ยวกับนักศึกษา หรือแม้แต่นักบริหาร ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีประวิติผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ต้องจบชีวิตลงด้วยเรื่องของความผิดหวังเพียงเล็กน้อย (ในสายตาของคนอื่น) ทิ้งไว้แต่ความฉงนของคนที่ได้ข่าวว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ ความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่มาแก้ไขปัญหา ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้ในยุคนั้นมักถูกเรียกว่า “คนที่มี IQ สูง” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีงานวิจัย นอกจากนี้ยังมีการสืบค้นประวัติการเลี้ยงดูในวัยเด็ก แลการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงดู หรือสังเกตพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต
หลังจากนั้น คำว่า “EQ” จึงเกิดขึ้น และนักจิตวิทยาจะให้ความสำคัญของ EQ ใกล้เคียงกับ IQ แต่ในการศึกษาทางด้านจิตวิทยาแล้ว ยังมี Qs อื่น ๆ ที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ดี เหมาะสมกับวัย และการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเมื่อเติบโตขึ้น
ครู จา
Feb 29
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555
เมื่อพูดถึง “อีคิว” หรือความฉลาดทางอารมณ์
นับได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้ “ไอคิว” ที่หมายถึงระดับสติปัญญาหรือเชาว์ปัญญาเลย
เพราะเด็กที่มีอีคิวดีย่อมสามารถจัดการอารมณ์ และดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจตนเอง
และผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกฝนให้ลูกมีอีคิวที่ดีขึ้นได้
แต่ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เต็มไปด้วยความหวาดกลัว
หรือถูกเปรียบเทียบอยู่บ่อย ๆ
เป็นการยากที่จะมีการพัฒนาอีคิวที่ดีได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้
พญ.สุธีรา ริ้วเหลือง
จิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวช สาขาจิตเวชเด็ก และวัยรุ่น
รพ.พระนั่งเกล้าฯ กล่าวภายหลังจบการเสวนาในงานเทศกาลนิทานในสวนครั้งที่ 8 เมื่อเร็ว
ๆ นี้ว่า ทุกวันนี้ระดับอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กหลาย ๆ
คนกำลังถูกทำลายด้วยความคาดหวัง ช่างเปรียบเทียบ และมุ่งแข่งขันของผู้ใหญ่
ส่งผลให้เด็กหาความพอดีทางจิตใจไม่ได้ กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน
ขาดทักษะทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ
โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหน้าที่การงาน
และชีวิตส่วนตัวย่อมมีได้น้อย
“การเปรียบเทียบเป็นส่วนหนึ่งของการที่พ่อแม่รู้สึกว่า
ลูกยังทำได้ไม่ดีพอ แล้วส่วนมากจะมีคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ตามออกมาโดยลืมมองว่า
ลูกก็ทำได้มากแล้วนะ เช่น ทำไมทำไม่ได้ เรื่องแค่นี้เอง ดูสิ ขนาดเพื่อน ๆ
เขายังทำกันได้เลย ทำให้เด็กรู้สึกว่า
พ่อแม่มองไม่เห็นเลยหรือว่าตัวเขาเองก็พยายามเต็มที่แล้วนะ
มองแต่ส่วนที่พลาดแล้วย้ำมันอยู่นั่นแหละ หรือบางบ้าน ทำผิดไม่ได้เลย
ผิดเมื่อไรถูกตี หรือถูกตำหนิทันที ทำให้อีคิวในด้านของการรู้จักคุณค่าในตัวเองลดลง
กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห
และไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์”
หากเด็กยังอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต่อไปเรื่อย
ๆ พญ.สุธีรา สะท้อนต่อไปว่า เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ
ตามมาได้
“พอเข้าสู่วัยรุ่น เด็กจะเริ่มรู้จักตัวเอง
และมองอย่างมีอคติว่า พ่อกับแม่ไม่เคยเห็นคุณค่าในตัวเขาเลย ซึ่งอันตรายมาก
เพราะเด็กจะขาดแรงยึดเหนี่ยว รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเกิดขึ้นในชีวิตของเขาเลย
ทำให้เสี่ยงต่อการหลงผิด และออกนอกลู่นอกทางได้สูงมาก เช่น ติดเพื่อน ตามเพื่อน
หรือบางคนอาจติดอยู่กับโลกออนไลน์อย่างเกม และโปรแกรมสนทนาต่าง ๆ
จนไม่สนใจสิ่งรอบตัวไปเลยก็มี”
“ดังนั้น มาสร้างแรงยึดเหนี่ยวให้ลูกตั้งแต่เล็ก ๆ
กันเถอะค่ะ เพราะถ้าเด็กมีคนที่เข้าใจ ยอมรับ และให้กำลังใจ
พวกเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเองว่าเขาก็ทำได้นะ ถึงแม้จะทำได้ไม่ดีก็ตาม
แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และรักเขาอยู่ เมื่อเด็กได้รับสิ่งเหล่านี้
หมอเชื่อว่า เด็กจะสามารถก้าวผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้ด้วยดี ต่อให้หลุดนอกวงโคจร
เด็กก็ยังรู้สึกว่า บ้านคือสิ่งที่อบอุ่น บ้านคือสิ่งที่ให้อภัยเขา
บ้านคือสิ่งที่รอรับเขาตลอดเวลา ซึ่งหมอบอกได้เลยว่า
ในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสหลุดได้สูง แต่ถ้าเขามีทักษะทางอารมณ์ที่ดี หลุดไม่นานค่ะ
แล้วเขาจะกลับมา” พญ.สุธีราทิ้งท้าย
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว
Jan 19
Posted by malinee on Wednesday Jan 19, 2011 Under เกร็ดความรู้
ปัจจุบันการเรียนการสอนคณิตศาสตร์บ้านเราเมื่อเทียบกับประเทศไต้หวัน หรือ สิงคโปร์ เราจะพบว่าความเข้มข้นของเนื้อหาในการเรียนในช่วงประถมต้นนั้นค่อนข้างเบา ซึ่งมีแนวคิดหรือทัศนคติจากหลายฝากฝั่ง บ้างก็ว่าเด็กควรจะมีอิสระในความเป็นเด็ก นั่นคือปล่อยให้เขาได้เล่นในวัยของเขา บ้างก็ว่าเด็กควรจะมีการเรียนผ่านการเล่น (ซึ่งมีโรงเรียนในแนวของการเรียนผ่านการเล่นมากมาย แต่ก็มีปัญหาบ้างว่าโรงเรียนเหล่านั้นส่วนใหญ่เปิดสอนเพียงระดับชั้นประถมเท่านั้น แล้วเด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบดังกล่าวอาจต้องมีการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่เมื่อเข้าสู่มัธยม) ซึ่งในแนวคิดแต่ละแนวไม่มีแนวใดผิดแนวใดถูก แต่สิ่งที่สำคัญคือ ในช่วง 10 ปีแรกเป็นวัยทองของเด็กในการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีวิธีการสอนที่ดีควบคู่กันไปด้วย ตามแนวการเรียนการสอนของทางสิงคโปร์ เนื้อหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์จะค่อนข้างเข้มข้นตั้งแต่ประถมต้น หรืออาจเรียกได้ว่ามีความสม่ำเสมอจนกระทั่งเข้าสู่วัยมัธยม ส่วนในบ้านเราการวางแนวทางการสอนคณิตศาสตร์นั้น เพื่อให้เด็กส่วนใหญ่ (ซึ่งค่าเฉลี่ย IQ ต่ำกว่ามาตรฐาน) ได้มีความเข้าใจในเนื้อหา จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่จะทำคะแนนได้ดีเมื่ออยู่ในประถมต้น แต่เมื่อเข้าสู่ประถมปลายจะมีเนื้อหาใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามามากมาย ทำให้คะแนนในตอนประถมปลายของเด็กแตกต่างจากตอนประถมต้นอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถ้าเราไม่ได้มีการเสริมการเรียนรู้ในแนวอื่น ๆ จะทำให้เด็กถูกจำกัดความสามารถ แต่เมื่อถึงประถมปลาย เนื่องจากต้องเร่งเนื้อหาให้ทันกับการเรียนในชั้นมัธยมต่อไป ทำให้เด็กถูกเร่งให้รับข้อมูล หรือสิ่งต่าง ๆ ในเวลาที่น้อยลง จึงดูเหมือนกับว่าพัฒนาการทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของเด็กจะถดถอยลง
Dec 16
วันที่ 9 ธ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ “สำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา เด็กไทยปี 2554” ซึ่งกรมสุขภาพจิตร่วมกับกรม พินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยจำนวนประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ ว่า ข้อมูลจากหนังสือของ Lynn ปี 2006 ได้ทำการสำรวจ IQ ของเด็กทั่วโลก พบว่า IQ ของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 91 จัดอยู่ในระดับที่ 53 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่ำกว่าระดับ IQ ของเด็กในประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น เด็กในประเทศจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม รวมทั้งมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2002-2006 อันดับ IQ ของเด็กไทยแทบจะไม่มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ระดับ IQ ของเด็กเพิ่มจาก 103 ในปี ค.ศ.2002 เป็น 108 ในปี ค.ศ. 2006 ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อนำระดับ IQ แสดงผลเป็นกราฟรูประฆังคว่ำ พบว่า IQ ที่ระดับ 91 ของเด็กไทย มีแนวโน้มที่จะเอียงไปทางซ้ายของกราฟ ซึ่งเป็นด้านที่ตรงข้ามกับระดับการแปรผลที่ฉลาดกว่า รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาของ นพ.อีริค อาร์ แคนเดล จิตแพทย์รางวัลโนเบลในปี 2553 พบว่า การเรียนรู้ ความรู้ ความจำ ความคิด อารมณ์ สติปัญญา เกิดจากการที่เซลล์สมองแตกกิ่งมาเชื่อมต่อกันเป็นวงจร สมองส่วนที่มีการจัดระเบียบใยประสาทจะเพิ่มการเชื่อมต่อใหม่ๆเพิ่มขึ้นจำนวน มาก ขณะที่ใยประสาทส่วนที่ไม่ได้ใช้จะหายไป ใยประสาทส่วนที่ใช้บ่อยจะหนาตัวขึ้น ทั้งนี้ ทารกอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี จะเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการมากที่สุด ดังนั้น การสร้างการพัฒนาสมองให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทที่แข็งแรงจะมีส่วน ทำให้เด็กมีระดับ IQ ที่เพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นอกจากระบบใยประสาทในสมองแล้ว ยังพบว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อการพัฒนาสมองของคนอย่างมาก การวิจัยในสัตว์และคนให้ผลยืนยันตรงกันว่า ความสามารถของสมองในการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Neuro-Plasticity หมายถึง การที่เราใช้สมองส่วนใดบ่อยๆ สมองส่วนนั้นจะเจริญเติบโตได้ดี แต่หากเราไม่ได้ใช้สมองส่วนนั้นเลย นานๆเข้า สมองส่วนนั้นก็จะฝ่อไป
ในปีพ.ศ.2541 มีการศึกษาพบว่า หลังคลอดออกมา สมองเด็กทุกคนทั่วโลกจะมีรูปแบบที่เหมือนกัน แต่วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ และอบรมเลี้ยงดูต่างกัน
จะทำให้ IQ เด็กต่างกัน เซลล์สมองส่วนไหนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันจะถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพของสมองส่วนนั้นถูกทำลาย เช่นการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นจะหายไป
จึงมีการสรุปว่า จินตนาการของคนไทยหายไป เนื่องจากเราไม่ค่อยกระตุ้นให้เด็กฝึกคิด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมอง
เด็กจำนวนมาก ระบุตรงกันถึงการกระตุ้นการใช้สมองที่เหมาะสม
เช่น การพบว่าสมองของเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามีบางส่วนเสียการทำงานไป คล้ายๆกับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือ เด็กที่ถูกทารุณกรรมจะมีระดับสารความเครียดในเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ และจะมีปัญหาพัฒนาการสมอง อารมณ์ ความประพฤติ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า เด็กที่ได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูช้า เช่น ปล่อยให้ร้องไห้นานๆ หิวแล้วยังไม่ได้กิน เกิดความกลัวโดยไม่มีใครมาอยู่ใกล้ชิด ไม่มีใครมาสัมผัส
โอบอุ้ม เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มั่นคงในชีวิต หวาดระแวง ฯลฯ
“ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น เซลล์ประสาทจะมีการสร้างขึ้นมากกว่าแสนล้านเซลล์ แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นจะด้วยการเสริมอาหาร หรือการเลี้ยงดู ที่เหมาะสม ก็จะขาดเครือข่ายเส้นใยประสาทที่ยื่นยาวออกมา ที่พร้อมจะส่งเสริมให้เด็กฉลาดและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น”นพ.อภิชัย กล่าว
สาเหตุ
ระดับเฉลี่ยของสติปัญญาเด็กไทย ต่ำกว่า ในประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ ในโลกซึ่งอยู่ที่ 104 เรายังต่ำอยู่ค่อนข้างมาก หลายคนยัง เชื่อว่า เด็กไทยส่วนหนึ่ง ฉลาดมาก เพราะ เท่าที่เห็น ไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ทีไร กวาดชัยชนะทุกที แต่โดยภาพรวม ยังน่าห่วง
สำหรับสาเหตุหลักๆ น่าเกิดจาก
1. การขาดไอโอดีน ไอโอดีนมีผลต่อระดับ IQ
2. การศึกษา ไม่เอื้อต่อการพัฒนา อาจเป็นเพราะ หลักสูตร วิธีการสอน เทคโนโลยียัง
น้อยมาก 3G บ้านเรายังไม่มี
3. สภาพแวดล้อม ในการเลี้ยงดู
4. กรรมพันธุ์ไม่น่ามีผล เพราะ โดยหลักวิชาการ น่าจะ อยู่ในระดับสูง
จาก : OK Nation blog วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553