Nov 06
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เด็กๆ กำลังเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าไม่ว่าจะเป็นม.1 หรือ ม.4 ซึ่งอัตราการแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการแบ่งสัดส่วนของเด็กในพื้นที่และเด็กนอกพื้นที่ ร่วมกับการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ถูกกำหนดให้ลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวในการแข่งขันในเขตโรงเรียนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าช่วงชั้นที่สูงขึ้น การแข่งขันยิ่งดุเดือดมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนจึงเป็นช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานเข้าสู่สถาบันติวที่มีผลงานการันตีเป็นรายชื่อนักเรียนที่สอบติดตามโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น พอถึงตอนเย็นก็หมดแรงที่จะทำอะไร เด็กๆ ก็จะเรียกร้องขอเวลาพักเนื่องจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ปล่อยเวลาดังกล่าวให้เป็นเวลาพักของเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยส่วนใหญ่ การติวสอบเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ที่มีการแข่งขันสูง ไม่สามารถใช้ข้อสอบแบบปกติเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องออกข้อสอบที่ยากเกินระดับ ดังนั้นการติวเพื่อสอบเข้าตามสถาบันต่างๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว แต่การที่เด็กเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็นนั้น เขาจะรู้สึกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด จึงทำให้ขาดการทำแบบฝึกหัด หรือการทบทวน หลังจากกลับถึงบ้านก็ใช้เวลาที่เหลือเล่นเกมส์ หรือผ่อนคลายในแบบที่ตนเองต้องการ ผลสุดท้ายเมื่อเด็กเข้าห้องสอบ กลับไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนก่อน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเรียนกวดวิชานั้น เขาจะให้สูตรและวิธีลัดมากมาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการและนำไปใช้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทบทวน และฝึกฝนทักษะของการทำโจทย์เพื่อให้รู้ขั้นตอน กระบวนการ และคิดอย่างเป็นระบบ หากเขาเรียนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกทำด้วยตนเอง เขาจะไม่เกิดทักษะของการวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว เริ่มต้นไม่ถูกได้แต่นึกคุ้นๆ
ดังนั้นการที่ส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตามดูว่าเขามีการทบทวน หรือได้ฝึกทำโจทย์ เพื่อให้เม็ดเงินและเวลาที่เสียไปเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
Feb 19
ข่าวการศึกษาในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. ซึ่งมีนโยบายการรับนักเรียนในระดับต่าง ๆ โดยกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้มีการขยายห้องเพิ่ม ได้แก่ในระดับก่อนประถม ให้มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง ส่วนในระดับประถมและมัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักกับโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะต้องมีการสอบคัดเลือก (การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น) และการเลื่อนชั้นของนักเรียนในโรงเรียนเดิมจาก ม.3 ขึ้น ม.4 ของเด็กหลายๆ คนที่เกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนก็มีกำแพงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
การออกนโยบายดังกล่าวจะให้โรงเรียนในสังกัดถือเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการผ่อนผันในปีการศึกษา 2561 นี้ เนื่องจาก สพฐ. มีความเข้าใจว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนการสอน
เมื่อได้รับข่าวสารดังกล่าว ครูเกิดคำถามขึ้นมากมาย จริงหรือที่จำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ สพฐ. สามารถแก้ไขในเรื่องของคุณภาพของการเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปีของการสอบคัดเลือก คือการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย ใช้ปัจจัย ตำแหน่งหน้าที่การงาน พร้อมกับการส่งบุตรหลานเข้าเรียนอย่างหนักในสถาบันกวดวิชาต่างๆ ไหนว่าลุงตู่มีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กลายเป็นลดเวลาเรียนในโรงเรียน แต่เพิ่มเวลา(เรียน)รู้ (วันเสาร์-อาทิตย์) นี่เป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กเรียนพิเศษลดลง วัยเด็กที่หายไป เป็นความหวังดีของพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงจุดประสงค์เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในที่มีการแข่งขันสูง ไม่ใช่เพียงเพราะอยากมีหน้ามีตาในสังคม แต่เป็นเพราะความเชื่อมั่นในศักยภาพของครู อาจารย์ ผู้สอน จึงได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้บุตรหลานได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของการเรียนนั้นหรอกหรือ ส่วนในอีกมุม โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของการแข่งขัน จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน กลายเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในแผนของการส่งบุตรหลานเลย ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ติดบ้านก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แน่ใจหรือว่าคุณภาพที่ได้นอกจากจะได้มาจากจำนวนนักเรียนเพียงอย่างเดียว หากเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราจะต้องมีการควบคุมตัวแปรต้นทุกตัวที่ส่งผลกับการตั้งสมมติฐาน แล้วจึงเลือกศึกษาปัจจัยทีละตัว เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สพฐ. ไม่ได้ควบคุมตัวแปรต้นเลย (คุณภาพของครู อุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจำนวนนักเรียนเลย) หากคุณภาพของครูหรือโรงเรียนอยู่ในระดับเดียวกันทั่วประเทศ คงไม่มีแรงกระเพื่อมจากนโยบายในครั้งนี้รุนแรงนัก แล้ว สพฐ. มีแผนรองรับที่จะแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่ผ่านการคัดเลือกแล้วหรือยัง
Jan 07
ต่อจากนี้ไป จะเป็นช่วงที่เด็กๆ จะต้องเรียนกันหนัก หลังจากการเที่ยวปีใหม่ผ่านไป เนื่องจากเด็กหลายๆ คนต้องมีการย้ายโรงเรียน จากชั้นประถม สู่ชั้นมัธยม และในปีการศึกษาหน้า การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลายๆ โรงเรียน จะเพิ่มอัตราส่วนของเด็กในพื้นที่มากขึ้น นั่นส่งผลให้ เด็กๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ของโรงเรียนดัง ต้องฝ่าด่านกันมากกว่าเดิม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานให้ได้เข้าโรงเรียนที่ได้เลือกไว้ สิ่งที่ทำได้ คือการสมัครลงสอบ Pre Test เพื่อให้ลองสนามจริง กับเวลาในการทำข้อสอบจริง
คราวนี้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับการสมัครสอบ Pre Test เนื่องจากเป็นการสอบ Pre Test จะรับนักเรียนประถมปลาย และผลการสอบก็ออกมาทั้งคะแนนสอบ ค่ากลาง และลำดับของการสอบ การสอบ Pre Test มีข้อดีคือ ทำให้เด็กๆ ได้รู้ข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง และได้เตรียมตัวให้มากขึ้น แต่ผลของลำดับที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า เด็กจะไม่ผ่าน หรือ ผ่านการสอบคัดเลือกดังกล่าว เด็กหลายๆ คนยังมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมได้อีก หนึ่งถึงสองปี นอกจากข้อดีดังกล่าวแล้ว ยังเป็นแนวให้ผู้ปกครองอีกว่า บุตรหลานจะเหมาะกับการสอบคัดเลือกในสนามนั้นหรือไม่ หากต้องทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเค้า ทำได้แค่เพียงการเข้าสถาบันกวดวิชาทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ทำให้ทักษะ หรือประสบการณ์ต่างๆ น้อยลง สู้ลดระดับการแข่งขันลง แต่เสริมกิจกรรม สร้างสรรค์ และเพิ่มทักษะด้านอื่นๆ คู่ไปด้วยจะดีกว่า เพราะเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่สำคัญ คือประสบการณ์ และทักษะต่างหาก ที่ทำให้เค้าดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข