ในช่วงของสถานการณ์​ที่พ่อ​แม่ผู้ปกครอง​หลายๆ​คน​มีโอกาส​ได้อยู่บ้านแบบยาวๆ​ เด็กๆ​ เองก็หยุดแบบยาวๆ​ กัน​ การมีเวลาว่างๆ​ ของเด็ก ถ้าเป็นครอบครัวที่สรรหากิจกรรม​ต่างๆ​ ได้ทำร่วมกัน​ ก็จะทำให้เด็กๆ​ อาจมีเวลาค้นหาตัวตนของตนเองว่าชอบอะไร​ แต่ในปัจจุบันน่าเสียดายที่เวลาของครอบครัว​ถูกเบียดด้วยจอสี่เหลี่ยม​ที่เราเป็นคนพามันเข้าสู่ครอบครัว​ แล้วทำให้เวลาในการปฏิสัมพันธ์​กันในครอบครัว​หายไป​ ทั้งๆ​ ที่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน
จากสถานการณ์​ของการระแพร่ระบาด​ ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ​ ปรากฏ​การณ์ใหม่ๆ​ หรืออาจเรียกว่าวิวัฒนาการ​ที่ทำให้การดำรงชีวิต​ของเราเปลี่ยนแบบไปบ้างไม่มากก็น้อย​ แต่ที่แน่ๆ​ คือ​เด็กในรุ่นนี้ต้องเผชิญ​กับการแข่งขันที่สูงมาก​ คงไม่มีพ่อแม่​ คนไหนคิิดจะให้บุตรหลานอยู่ภายใต้ปีกที่อบอุ่นของตนเองจนเค้าจากไป​ เรามีเพียงหน้าที่ที่จะดูแล​ชี้นำในสิ่งที่ถูกต้องหรือ​ เลือก#โรงเรียน สังคมให้เขาในวัยเด็กเท่านั้น​ สิ่งที่เราต้องคิดคือ​ เราได้เตรียมความพร้อมให้กับเขาสำหรับยุคของการใช​ AI (Artificial Intelligence) แล้วหรือยัง​
ยุคของ​ AI คืออะไร​ คือยุคที่มีการเปลี่ยนจากแรงงานคนเป็นคอมพิวเตอร์​เกือบทั้งหมด​ คำว่าแรงงานไม่ได้หมายความแค่ผู้ใช้แรงงาน​ แต่หมายรวมถึงพนักงาน​ทั่วไป​ ที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบที่มีฐานข้อมูล​ของคอมพิวเตอร์​ทั้งหมด​ ด้วยความที่เกิดมาในยุคดิจิทัล​ ทำให้ทุกอย่างต้องรวดเร็ว​ จึงขาดทักษะ​ของการรอคอย​ ไม่เห็นคุณค่า​ของการสิ่งของที่ได้มา​เพราะไม่เคยต้องแลกกับการรอคอย​ หรือการต้องทำบางอย่างเพื่่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ประกอบกับทางเลือกของพ่อแม่ผู้ปกครอง​ ทำให้เด็กทุกคนกลายเป็นลูกเทวดาในโรงเรียน​ เพราะโรงเรียนมีการแข่งขันกันสูงจึงถือว่าเด็กนักเรียนเป็นลูกค้า​ ความพึงพอใจ​ของลูกค้าต้องมาก่อน​ เมื่อหันไปหาโรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนอินเตอร์​ ซึ่งในช่วงของปฐมวัยจนจบระดับประถมศึกษา​ เน้นการเรียนแบบ​ child center นั่นคือแบบบูรณาการ​ที่เราคุ้นเคย​ การเรียนขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็ก บางโรงเรียนการบ้านเป็นแบบ​ optional คือส่งหรือไม่ส่งก็ได้​ กลับกลายเป็นทำให้เด็กขาดวินัยอย่างรุนแรง สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เด็กในยุค​ ​4.0 กลับกลายเป็นการบ่มเพาะความเปราะบาง​ทางด้านอารมณ์​ ขาดวินัย​ ไร้ความพยายาม​ ไม่มีความอดทน​ สิ่งต่างๆ​ เหล่านี้​ไม่สามารถ​ทำให้เขาเติบโตในยุคของการแข่งขันกับเทคโนโลยี​ได้เลย
ดังนั้น​ อย่าให้เขาต้องเผชิญ​ปัญหา​ในขณะที่เขาไม่สามารถแก้ไขนิสัยได้​ เราซึ่งเป็นพ่อแม่​ ผู้ปกครอง​ เป็นผู้ที่วางกรอบให้​ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการตีกรอบ​ วางให้เขาอยู่ในระเบียบวินัย​ ใส่ทักษะของการรอคอย​ ปล่อยให้เรียนรู้ที่จะผิดหวัง​ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม​ สร้างภูมิต้านทานให้เขาได้ก้าวเดินอย่างมั่นคงในเวลาที่เขาต้องเดินโดยไม่มีไหล่คุณให้เกาะ..
#เรามีสิทธิเลือกเส้นมางให้ลูก
#เลือกผิด= เหนื่อยเพิ่มขึ้น
#เลือกถูก= อนาคตที่ดีของลูกเรา
#สถาบันคิดสแควร์

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เนื่องจากครูมีโอกาสได้เข้าไป​เป็น​ out source ของโรงเรียนหลาย​ๆ​ แห่ง​ ก็จะได้เห็นวัฒนธรรม​การดูแลเด็กในแต่ละโรงเรียน​ การปฏิบัติ​ต่อผู้ปกครอง​ การให้คำปรึกษา​ การเรียนการสอน​ นโยบาย​ ของแต่ละโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน​
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้การเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียน​ ทำให้ครูต้องปรับการเรียนการสอนแปรผันตามความพร้อมของเด็ก ไม่ใช่ว่าเด็กมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน​ แต่เด็กได้รับการฝึกทักษะกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน​
เด็กแต่ละคนมีความเป็นปัจเจก​บุคคล​ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เค้าเติบโตมาตั้งแต่เค้าเกิดมา​ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่คุยเล่นกัน​ มีอะไรคุยกัน​ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันบนโต๊ะอาหาร​ โดยทิ้งทุกอย่าง​ มีแต่การสนทนากัน​ จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าความของความสุขเกิดขึ้นจริง​ๆ​ บ้านคือบ้าน​ ไม่ว่าเค้้าจะมีปัญหาสักแค่ไหน​ เค้าจะกลับมาตรงนี้​ ตรงที่มีคนฟังเค้า​ ในทางกลับกัน ถ้าเค้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนไม่พูดไม่จากันก้มหน้าก้มตา​ online อยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ​ เขาก็จะเติบโตมาแบบไม่ได้รู้สึกว่าการปฏิสัมพันธ์​กับคนรอบข้างเป็นเรื่องปกติ​ กลายเป็นเด็กเก็บตัว​ คุณพ่อคุณแม่จะไม่มีทางได้รับรู้ว่าเค้ามีความสุข​หรือเค้ามีปัญหาเรื่องอะไร​ เพราะเค้าไม่เคยเรียนรู้ที่จะพูดเรื่องอะไรตอนไหน​ ไม่รู้ว่าจะมีใครฟังหรือไม่​ ในบ้านเองเขายังไม่รู้จะพูดกับใครเลย​ มันกลายเป็นการสร้างกำแพงขึ้น​เมื่อเขาโตขึ้น​ เขาไม่ได้ถูกสอนให้เข้ากลุ่ม​เพื่อน​ เพราะคุณเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้การอยู่แบบทางเดียว​คือการสื่อสารผ่าน​ social​ ที่เค้าไม่เคยเห็นเลย
อย่าเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้เค้า​ ก่อน​ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของเค้าเพื่อให้เค้าได้เติบโตอย่างมีความสุขไม่ว่าเค้าจะเจออุปสรรค​ใดๆ​ อย่างน้อยคุณยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้้เค้ารู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้ง​ และเป็นกำลังใจให้เค้าได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง​ ไม่มีโรงเรียนไหนดีเท่าโรงเรียนพ่อแม่หรอก…. เชื่อสิ

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

          จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเป็นยุค Globalization ซึ่งทั่วโลกสามารถสื่อสารและมีวิวัฒนาการส่งถึงกันได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้ทุกๆ วงการรวมไปถึงวงการการศึกษาที่มีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนจากประเทศต่างๆ มาช่วยในการสอน หรือบางโรงเรียนในต่างประเทศก็มาเปิดเป็นโรงเรียนทางเลือกในบ้านเรามากมาย

            ผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีบุตรหลานที่กำลังจะต้องเข้าโรงเรียน ก็มีโรงเรียนทางเลือกอยู่ มากมาย แต่หากแยกกันจริงๆ แล้วมีเพียง 2 แนว คือ โรงเรียนในแนวเร่งเรียน และโรงเรียนในแนวบูรณาการ ซึ่งความแตกต่างกันอยู่ตรงที่นโยบายของโรงเรียนในแนวบูรณาการคือ การเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยไม่เร่งให้เด็กได้ขีดเขียน แต่ใช้กิจกรรมในการสอน ส่วนในแนวของโรงเรียนที่เร่งเรียน ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเร่ง นั่นคือ เด็กจะต้องเริ่มจับดินสอ ขีดเขียนหนังสือตั้งแต่ในวัยอนุบาล ซึ่งนโยบายแต่ละโรงเรียนก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โรงเรียนในแนวบูรณาการที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนในแนวอินเตอร์นั้น ซึ่งหลักๆ แนวบูรณาการนี้เกิดจากหลักสูตรอังกฤษ หรืออเมริกัน ซึ่งครูจะมีการพัฒนาอุปกรณ์และวิธีการสอนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วหลักสูตรที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้กับประเทศในแถบยุโรป ซึ่งประเทศต่างๆ เหล่านั้นจะดูแลบุตรหลานจนถึง 7 ปีแล้วจึงส่งเข้าเรียน และจะสร้างกฎกติกาภายในบ้านให้เด็กต้องทำตาม ให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง ไม่มีพี่เลี้ยงคอยดูแล ต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งเมื่อเขาเข้าสู่โรงเรียน เขาจะเรียนรู้ที่จะทำตามกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และการเรียนการสอนจะเน้น creative thinking คือการให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์ คำถามเป็นคำถามปลายเปิดที่คำตอบไม่มีผิดไม่มีถูก เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดของตนเอง ทำให้เด็กกล้าคิด กล้าแสดงออก ส่วนโรงเรียนในแนวเร่งเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กนั่งเรียน อ่านเขียนไม่วิ่ง ไม่ซน ไม่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น แต่เน้นการแสดงวิธีทำที่ถูก หรือการหาคำตอบที่ถูกต้อง

            โรงเรียนในบ้านเราหลายๆ โรงเรียนก็นำเอาแนวบูรณาการมาปรับใช้ แล้วนำเป็นนโยบายการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ความแตกต่างของบ้านเราคือ ครูผู้สอนของบ้านเรา ตอนที่เขาเป็นเด็ก เขาถูกสอนให้อยู่ในกรอบ ไม่มีการโต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนั้นครูในบ้านเราเน้นเรื่องการทำวิทยฐานะเพื่อปรับเลื่อนขั้นเพื่อความมั่นคงในอาชีพ มากกว่าการทุ่มเทให้กับการพัฒนาการเรียนการสอน นอกจากนี้แล้วครอบครัวคนไทยค่อนข้างมองข้ามเรื่องกฎระเบียบ หรือหน้าที่ความรับผิดชอบ มีข้อแก้ตัวให้กับเด็กว่าเขายังเล็กอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นว่าเด็กถูกละเลยเรื่องการเรียนรู้ เพราะกิจกรรมที่ใช้ในการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกนั้น เป็นวิธีการเรียนที่ทำให้เด็กอ่านออกอย่างได้ผลดี แต่แต่ทักษะการอ่านและการการเขียน เป็นคนละทักษะ ทางบ้านต้องเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็ก เพราะการเขียนต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก ซึ่งหลายๆ ครอบครัวจะมองข้าม ปล่อยเรื่องการเรียน เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว ทำให้เด็กเขียนไม่ได้หรือใช้เวลามากกว่าปกติ หรือเด็กบางคนจะไม่ยอมเขียนเลย เพราะไม่เคยชินกับการขีดเขียน เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเขียนจะรู้สึกเบื่อ หรืออาจถึงขั้นต่อต้าน เพราะมีความรู้สึกเหมือนถูกบังคับ ทำให้เด็กไม่ชอบการเรียน

            จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ว่าโรงเรียนในแนวบูรณาการไม่ดี เพียงแต่ว่าหากทางครอบครัวมีการเสริมเรื่องกล้ามเนื้อมือมัดเล็กให้กับบุตรหลาน จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเขียน จะทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่หลายๆ ครอบครัวที่ทิ้งทุกอย่างให้กับโรงเรียน เด็กก็จะมีพัฒนาการค่อยเป็นค่อยไป แต่หากครอบครัวที่นอกจากทิ้งเรื่องเรียนให้กับโรงเรียน และครอบครัวเป็นผู้ส่งความสุข (เกมส์ , ทีวี) ให้กับบุตรหลาน เขาจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน และจะกลายเป็นปัญหาในที่สุด 

ดังนั้นก่อนที่จะเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน เราควรเลือกให้เหมาะกับตัวเด็กและวิธีการดูแลบุตรหลานของเรา อย่าทิ้งหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งให้กับใคร เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้ พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของเขาตั้งแต่เขาลืมตาดูโลก  

Tags : , , , , , , | add comments

            ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว

            ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค)  , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต) และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่ เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน  การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้ แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถแก้ไขได้             เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

            ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง   เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้ ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้ ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย 5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ 6 ปี

            แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่ ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ของการสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจยังมีความไม่เข้าใจอยู่บ้าง  เรามาดูว่าการสอบ O-Net เป็นการสอบเพื่ออะไร และส่งผลอย่างไรกับใครบ้าง

ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า O-Net กันก่อน ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก  Ordinary National Educational Test  ซึ่งเป็นข้อสอบกลางที่ออกมาจาก สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดยจะมีการสอบ 8 กลุ่มสาระ ผลการสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นหลัก โดยคะแนนของเด็กแต่ละคนจะมีการเปรียบเทียบกับโรงเรียนของตนเอง โรงเรียนในเขตพื้นที่ เทียบขนาดของโรงเรียน เทียบคะแนนระดับจังหวัด  และภูมิภาค หลักๆ แล้วการจัดการสอบเพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นหลายๆ โรงเรียนจึงมีการเรียนเพิ่มโดยมีติวเตอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาสอนให้กับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนจัดอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ  ส่วนหลายๆ โรงเรียนผลของการสอบประเมินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ก็ไม่เห็นได้รับการแก้ไข หรือกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้เด็กมีคุณภาพของการเรียนการสอนมากขึ้น หากผลของการสอบไม่ได้มีผลกับทั้งตัวนักเรียน เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น การสมัครสอบอยู่ในช่วงเวลาที่ผลสอบยังไม่ออก และการสอบคัดเลือกของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น ระดับความซับซ้อนของการสอบในวิชาหลักจะมีความยากกว่าการสอบ O-Net อย่างมาก เด็กในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น จะมีระดับคะแนน O-Net ที่สูงมากใกล้เคียงกันหมด  จึงไม่สามารถนำข้อสอบกลางชุดดังกล่าวมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย นอกจากนี้แล้วทางฝ่ายทะเบียนก็ยุ่งยากเกินกว่าที่จะนำคะแนนมามีส่วนในการคัดเด็กด้วย

ดังนั้นหากการสอบระดับชาตินี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาของการเรียนการสอนในโรงเรียน  ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดให้กับภาครัฐว่าโรงเรียนบางโรงจำเป็นต้องมีบุคลากรครูที่ต้องมีการอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ก็หยุดใช้งบประมาณส่วนนี้ ที่ให้ผู้บริหารกระทรวงเดินทางต่างประเทศเพื่อดูงานการศึกษาในหลายๆ ประเทศอย่างไร้ประโยชน์ พร้อมกับ งบประมาณที่ใช้ในการจัดสอบ มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ด้านการศึกษาในเรื่องอื่น เช่นการซื้ออุปกรณ์ในห้องทดลอง หรือสื่อการเรียนการสอนที่มีประโยชน์กับการเรียน ยังดีกว่าการทุ่มงบประมาณไปกับข้อสอบระดับชั้นละ 8 ฉบับกับผลที่เป็นเพียงกระดาษ 2 แผ่น ที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนอย่างแท้จริง

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงเนื่องจากภาวะของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว ส่งผลให้อัตราการแข่งขันกันของสถาบันการศึกษาดุเดือด ส่งผลให้โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากสถานศึกษา กลายเป็นสถานที่ ที่ให้บริการ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นลูกค้า นโยบายเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ กิจกรรมต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน

โรงเรียนมีหน้าที่ รายงานว่าวันนี้เด็กรับประทานอะไรในเวลากลางวัน มุ่งเน้นเรื่องสุขลักษณะ การเอาใจใส่ของครูในเรื่องของการดูแลมากกว่าพัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กจะต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และ

ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมา ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในแต่ละเทอม

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ครูไม่สามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ครูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความร่วมมือกับทางบ้านเพื่อพัฒนาเด็กให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนๆ ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับใบประเมินผลที่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ว่าบุตรหลานควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมด้านใดเพิ่มเติม กลายเป็นการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้ต้องการครูอีกต่อไป เพื่อสนองนโยบายของผู้บริหารที่ว่า ลูกค้าถูกเสมอ ครูจะมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ

ว่าจะเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าครอบครัวไหนที่ต้องการครูเพื่อสอนบุตรหลาน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงนโยบายของโรงเรียนก่อน เพื่อให้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และครูผู้สอนเพื่อร่วมกันประเมินและพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของบุตรหลานได้อย่างแท้จริง

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย

หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน  นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย

จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป

อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

โรงเรียนไหนดี?

Posted by malinee on Tuesday Nov 27, 2018 Under เกร็ดความรู้

ในปัจจุบัน ทางเลือกของการศึกษามีอยู่หลากหลายแบบ ครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์ก็จะส่งเสริมบุตรหลานให้ได้การศึกษาที่ดีที่สุด  หากตามข่าวการศึกษาบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ก็จะเบื่อหน่ายกับระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่ผู้ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งของผู้ดูแลกระทรวงศึกษา ก็ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับความทุ่มเทเอาใจใส่ของครูที่มีน้อยลง หวังแต่จะรับสอนพิเศษเพื่อให้ได้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อมันในระบบการศึกษาไทยถูกบันทอนลงไปเรื่อยๆ

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีความมั่นใจกับการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงส่งบุตรหลานเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียง แทนที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อออกกำลังกาย หรือเพื่อเล่นซน ก็หมดไปกับการเรียน เป็นเหตุให้เด็กในยุคนี้ไม่มีประสบการณ์หรือทักษะด้านอื่น นอกจากการเรียน

การส่งบุตรหลาน เรียนพิเศษไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัย เช่นในวัยอนุบาล พ่อแม่สามารถจะหากิจกรรมเพื่อให้เด็กได้มีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งทำได้ในบ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และคอยดูการเรียนในโรงเรียน แล้วเสริมหรือทบทวนเพื่อให้บุตรหลานมีความมั่นใจ และรักการเรียนรู้ ส่วนของประถมต้น เด็กๆ จะเริ่มมีการเรียนเรื่องความยาว น้ำหนัก ความจุ ทางบ้านก็ส่งเสริมให้เห็นของจริง เช่นการเลือกซื้อนม ให้ดูปริมาตรข้างกล่อง เปรียบเทียบขนาดกล่อง น้ำหนักของพ่อ แม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเอง แล้วเมื่อถึงบทเรียนที่เราเริ่มจะรู้สึกว่าไม่สามารถอธิบายได้ ค่อยหาตัวช่วยอื่น

สิ่งที่สำคัญของการเรียน คือทัศนคติของการเรียนไม่ว่าจะเรียนอะไร และครูคนแรกของลูกก็คือพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บุตรหลานมีทัศนคติอย่างไรกับการเรียน และยังทำให้ความเป็นครอบครัวแน่นแฟ้นมากขึ้น อย่าให้เครื่องมือทางเทคโนโลยีมาแทรกแซงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เพราะ ณ วันนึง เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเติบโตอย่างมั่นใจว่าถึงอย่างไรเขาก็มีครอบครัวที่คอยสนับสนุน หรือเป็นกำลังใจเมื่อเขาเกิดท้อแท้ และอย่าให้ครูคนแรกของลูกเป็นคนอื่น เพราะไม่มีใครปรารถนาดีกับบุตรหลานเท่าพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิดแล้ว และอย่าคาดหวังว่าระบบการศึกษาของบ้านราจะได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนา เพื่อให้คนทุกคนมีการศึกษาที่ดีเทียบเท่ากันทั้งประเทศ …. คงไม่มีวันนั้น

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เป็นที่ถกเถียงกันมากมายเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตในช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการหลายๆ ท่านก็มีความคิดเห็นที่ไม่สนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปติวหนักเป็นปี เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี การส่งให้เด็กติวเข้านั้น ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองย่อมคาดหวังว่าเม็ดเงินที่เสียไป จะต้องทำให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีในสายตาของตนเอง

การติวเข้าโรงเรียนแนวสาธิต จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กในเรื่องของเชาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสถาบันต่างๆ มักสร้างสถานการณ์ในช่วงของการใกล้สอบจนบางครั้งมีเด็กบางคนเกิดอาการเครียด โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองยังส่งผลต่อเด็ก เมื่อเขาไม่ได้มีชื่อที่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งการไม่ได้รับเลือกเป็นนักเรียนในโรงเรียน ไม่ได้มีผลต่อตัวเขา หรือความรู้สึกใดๆ เลย แต่ผู้ที่มีผลกับเขาคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหมือนพู่กันที่แต้มสีสันลงบนความรู้สึกนึกคิดของเขามากกว่า หากส่งผ่านความผิดหวังไปที่เด็ก ก็เปรียบกับการแต้มสีดำ หรือเทา ทำให้ผ้าขาวเกิดจุด หรือรอยด่างดำ ซึ่งมันจะติดตัวเขาไปตลอด ความรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบ่มเพาะจนกลายเป็นลักษณะนิสัยของเขาไปเลย ซึ่งเด็กในวัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่จะต้องก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพื่อสอบจอหงวน เขาควรได้เล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม เล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นเป็นกลุ่มยังส่งผลให้เขาได้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยในการเล่นอีกด้วย มันเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนี้แล้วการเล่นยังเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุขในวัยนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็ควรจะเป็นจิตรกรผู้แต่งแต้มสีสันอันสดใสให้กับเขา ชีวิตในวัยเด็กที่สดใส สนุกสนาน ให้ได้อยู่กับเขาได้นานที่สุด

แต่เมื่อโตขึ้น ในวัยที่เขามีความต้องการที่จะเลือกโรงเรียน แนวการเรียนของเขาเอง บางครั้งพ่อแม่ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เลือกทุกอย่าง รวมถึงปกป้อง จนเด็กไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกใดๆ เลย จริงๆ แล้วหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังคงมีหน้าที่รักเค้าเหมือนเดิม แต่เมื่อเค้าโตขึ้น ต้องฝึกให้เค้าได้มีทักษะด้านอารมณ์ ให้มากขึ้น ให้รู้จักอดทนอดกลั้นมากขึ้น พ่อแม่เป็นเพียงผู้ชี้แนะ แล้วให้เขาเป็นผู้เลือกชีวิตและทางเดินของเขาด้วยตัวเอง เรามีหน้าที่ยอมรับในการตัดสินใจของเขา และเมื่อเขาผิดหวัง เขาต้องยอมรับข้อผิดพลาด รู้จักความผิดหวัง ต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนการเรียน การเลือก และสุดท้ายคือจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกที่อาจผิดหวัง โดยมีพ่อแม่ เป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้ หรือผิดหวัง ชื่นชมในความสำเร็จแม้เพียงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments