Apr 22
มีกระแสของการศึกษาที่มีอยู่เนืองๆ ว่าควรจะมีการยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพดีทั่วประเทศเสียที หลายๆ คนอาจกล่าวว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนควรจะมีการบูรณาการตามความสามารถของเด็ก หรือตามความสนใจของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความพร้อมและ ความสนใจที่แตกต่างกัน จึงควรมีการจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความถนัดของเด็ก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพียงการคัดเลือกข้าราชการครูเข้ามารับหน้าที่ในการสอน ยังไม่ตรงกับความถนัด หรือสาขาวิชาที่เรียนมาเลยด้วยซ้ำ อย่าพูดถึงคุณภาพของเด็กที่จะได้รับการเรียนการสอนที่ดีเลย นอกจากในส่วนของผู้สอนแล้ว ตัวผู้เรียนก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพในการเรียนด้วย เราต้องยอมรับก่อนว่าเด็กก่อนวัยเรียนในแต่ละครอบครัวก็มีความแตกต่างกันแล้ว ครูไม่ได้กล่าวถึงความพร้อมด้านเศรษฐกิจ แต่ ณ ที่นี้จะกล่าวถึงหน้าที่ในการสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ก่อนวัยเรียน เด็กหลายๆ คนถูกปล่อยปละ หรือขาดทักษะทางด้านร่างกาย ซึ่งหมายถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่ส่งผลต่อทักษะในการเรียนรู้ในวัยเรียน ที่จะต้องใช้ทักษะพื้นฐานในช่วงก่อนวัยเรียน หลายๆ ครอบครัวที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า การเล่นเกมส์เป็นการฝึกทักษะและภาษาให้กับเด็กโดยที่เด็กจะใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวในการเล่นเกมส์ ซึ่งต่างจากการเล่นของเล่นที่เป็นชิ้น ที่สามารถเสริมสร้างทั้งกล้ามเนื้อ ความสัมพันธ์ของการทำงานระหว่างมือกับตา อีกทั้งยังได้เรื่องของจิตนาการอีกด้วย
เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน ก็ไม่มีความพร้อมที่จะเรียน เนื่องจากกล้ามเนื้อไม่พร้อม สมาธิไม่ดี หรือแม้กระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในเรื่องพื้นฐานที่ควรจะถูกฝึกจากบ้าน คิดเพียงแต่ว่าโรงเรียนมีหน้าที่ที่จะสอนให้บุตรหลานอ่านออกเขียนได้ โดยขาดการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ
มันจะเป็นธรรมกว่าหรือไม่ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างโยนความรับผิดชอบให้พ้นๆ ตนเองไป พ่อแม่ผู้ปกครองก็โยนความรับผิดชอบไปให้โรงเรียน ครูชั้นอนุบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะในที่สุดเด็กก็จะต้องขึ้นไปเรียนชั้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ นี่เป็นเพียงความรับผิดชอบในงานเล็กๆ ของตนเอง เราก็ไม่ต้องหันไปพึ่งใครที่มีหน้าที่เพียงไม่กี่ปี หรือไม่กี่วาระที่จะมาแก้ปัญหาการศึกษาของไทยเลย เพราะต่างก็คิดว่า ปีหน้าเราก็หมดวาระ หรือหมดหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้น ครอบครัวจึงเป็นสถาบันเล็กๆ ที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้แข็งแกร่งที่สุด อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า ซึ่งมันไม่มีจริงเลย มันเป็นเพียงภาพลวงตา
May 07
จากตอนที่ 2 ที่มุ่งเน้นให้เด็กมีการเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับวัยทารก แต่เด็กแต่ละคนก็จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ในการเรียนรู้ของเขา แต่มีงานวิจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนว่า หากเด็ก ที่เข้าโรงเรียนโดยมีทัศนคติในเชิงบวก และมีการฝึกทักษะ (นั่นคือการเคลื่อนไหวในวัยทารก) แล้ว เขาจะมีทักษะในการเรียนรู้ที่ดี และมีความก้าวหน้าในการเรียนที่ดี ซึ่งเด็กทุกคนจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ หรือความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว เพียงแต่เรามีหน้าที่ที่จะต้องกระตุ่นหรือสร้างบรรยากาศให้เหมาะสม
เด็กวัยอนุบาล มักมีการเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคน การเข้าสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา ซึ่งเราสามารถให้ความช่วยเหลือให้เกิดการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ดังนี้
– กระตุ้นให้ทำสิ่งใหม่ให้สำเร็จ โดยให้ความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ แต่ความช่วยเหลือที่ให้ต้องไม่เกินขอบเขต สิ่งที่เด็กจะได้รับ คือประสบการณ์ที่จะคิดและทำในสิ่งใหม่ให้สำเร็จ
– สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้น่าสนใจ เพื่อเพิ่มหรือเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้
– การฝึกให้เด็กหัดสังเกต สิ่งแวดล้อม อาจทำได้ง่าย ๆ โดยการถามถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วในวันนั้น ๆ เช่นการถามว่าวันนี้คุณครูใส่เสื้อสีอะไร เพื่อกระตุ้นให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต
– ให้ความสนใจกับสิ่งที่เขาทำ หรือยินดีเมื่อเขาทำสำเร็จ เด็ก ๆ ทุกคนมักจะภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองเริ่มทำ และทำสำเร็จ ซึ่งเป็นประสบการณ์ในเชิงบวก และนอกจากนี้ ยังทำให้เขาเกิดความมั่นใจ กล้าทำในสิ่งใหม่ ๆ แต่หากเขาทำไม่สำเร็จ ต้องให้กำลังใจ ถึงแม้สิ่งที่เด็กได้รับจะไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เขาก็จะได้กระบวนการเรียนรู้ และ ความพยายามที่จะติดตัวเขาไป
– พูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้มีทักษะในการลำดับเหตุการณ์ และการใช้ภาษา โดยปล่อยให้เขาได้คิดอย่างอิสระ แก้ข้อบกพร่องให้น้อยที่สุด เพื่อให้เขาได้กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่ต้องการ
– สร้างสถานการณ์ผ่านกิจกรรม ให้เขาได้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
– หากิจกรรมประเภท การแยกประเภท สี ขนาด เพื่อฝึกการพิจารณาสิ่งของในแบบรูปต่าง ๆ ให้เขาสามารถแยกความแตกต่างของรูปทรงต่าง ๆ
หากเราสามารถสร้างกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ หรือเสริมทักษะ เขาก็จะยังคงมีธรรมชาติของการอยากเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น แต่หากเด็กไม่ได้พัฒนาการเรียนรู้ให้สนุก สิ่งที่ติดตัวเด็กมา (ความอยากรู้อยากเห็น การชอบการเรียนรู้) ก็จะหายไปในที่สุด
ครูจา
Apr 23
เด็กทุก ๆ คนเมื่อเกิดมา นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก เขาจะใช้อวัยวะของร่างกายในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเป็นที่มาของนักจิตวิทยาเด็ก ที่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวมาวิจัยเกี่ยวกับเด็กทารก แล้วก็พบว่าประสบการณ์ทางด้านความรู้สึกทางอารมณ์และการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดและการเจริญเติบโตของเด็กทารกจนกระทั่งอายุ 2 ปี หากเด็กมีการเรียนรู้ทั้งสองด้านอย่างต่อเนื่อง ก็จะสะท้อนออกมาเป็นลักษณะทางกายภาพ (ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย) , วุฒิภาวะทางอารมณ์ และการเข้าสังคมเมื่อเขาเติบโตขึ้น (เรามักจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถม)
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เรากล่าวถึงประสบการณ์ในวัยทารกอยู่ 2 ด้าน ซึ่งได้แก่
- ประสบการณ์ด้านอารมณ์และความรู้สึก เมื่อมองย้อนกลับไปในวัยทารก เด็กส่วนใหญ่จะได้รับความรักความอบอุ่นจากแม่ ภาษากายที่แม่ส่งผ่านความรักให้กับลูกผ่านการอุ้ม การสัมผัสของแม่นั้น เป็นประสบการณ์ในเชิงบวกที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าตนเองจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมกอด หากแต่เมื่อใดที่ต้องการความช่วยเหลือ แค่เพียงร้องไห้ เขาก็จะได้สัมผัสที่เขาต้องการอีกครั้ง ซึ่งประสบการณ์ในเชิงบวกนี้มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในวัยทารกมาก เมื่อเขารู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย เขาก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างผ่อนคลาย แต่ในทางกลับกัน หากครอบครัวใดไม่มีความพร้อม หรือยังไม่ได้เตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะมีสมาชิกใหม่ตัวน้อย ๆ ที่ค่อนข้างเอาแต่ใจมาเพิ่ม การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นประสบการณ์ในเชิงลบ เนื่องจากในสถานการณ์ที่ยังไม่พร้อมนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตลอด 24 ชั่วโมงนั้น หมดความอดทนลงได้ในเสี้ยววินาที หากเป็นเช่นนั้น เด็กเองจะมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาให้พัฒนาช้าลง จนอาจกลายเป็นกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้เมื่อโตชึ้น
- การเคลื่อนไหว เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า ในวัยทารกนั้น เด็กในช่วง 7 เดือนแรกไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ทำให้การเรียนรู้ในช่วงนั้นจะต้องเป็นการเรียนรู้จากแขนขาที่ขยับได้เต็มที่ แล้วขยับไปเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ในช่วงของวัยที่ต้องอยู่ในเปล คนโบราณจึงนำโมบายมาห้อยไว้ที่หัวเตียง เพื่อเป็นอุบายให้เด็กขยับแข้งขา ให้เขามองแล้วไขว่ขว้า และก็เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของเด็ก ทั้งในเรื่องกล้ามเนื้อ ความจำ และบุคลิกภาพ
หลาย ๆ ครอบครัวมักจำกัดกรอบการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ไม่ให้ปีนป่าย เนื่องจากกลัวการลาดเจ็บ การจำกัดกรอบต่าง ๆ ดังกล่าว เท่ากับการปฏิเสธที่จะให้เขามีประสบการณ์ในการใช้กล้ามเนื้ออย่างมีประสิทธิภาพ หรือในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บ เขาก็ยังได้ประสบการณ์ว่าในการปีนป่ายต้องมีความระมัดระวังในจุดไหนมากกว่าปกติ (จริง ๆ ผู้ใหญ่สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้ หรือลดความเสี่ยงได้ โดยไม่ไปจำกัดกรอบการเล่น การเรียนรู้ของเด็ก) ซึ่งประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวนี่เอง เป็นพื้นฐานที่ทำให้เขามีสุขภาพดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
จากบทความข้างต้น ชี้ให้เห็นแล้วว่าวัยทารกนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก หากเราต้องการให้ลูกหลานเป็นเด็กฉลาด สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การยื่นความรัก ความอบอุ่น และการเล่นโดยใช้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วน ที่จำกัดกรอบการเล่นให้น้อยที่สุด
ครูจา