รู้คิด  รู้เท่าทัน  สร้างสรรค์เทคโนโลยี

ผ่านมาแล้วกับช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กๆ ทั้งการฉลองปีใหม่และเหตุการณ์ล่าสุด คือการเที่ยวเล่นในสถานที่ต่างๆ ในวันเด็กแห่งชาติ สิ่งที่เด็กๆ จะถูกถามมีอยู่เพียง สองคำถามหลักๆ คือคำขวัญวันเด็กประจำปี และโตขึ้นอยากเป็นอะไร

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ก็คงยังจำได้ว่า วันเด็กในช่วงที่ตนเองเป็นเด็ก ตอบไปว่าอะไร เช่นกัน วัฒนธรรมนี้ก็ยังคงยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป ก็คือคำตอบที่หลากหลายมากขึ้นของเด็กๆ เนื่องจากเด็กในยุคนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่อาชีพหลักๆ ยังคงเป็น แพทย์ วิศว และอื่นๆ อีกมากมาย ตามความคิดและจินตนาการของเด็กๆ ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงความฝัน ความคิดได้ตลอดเวลา

เด็กหลายๆ คน ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะเป็นหมอเมื่อโตขึ้น คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้เขาไปถึงฝั่งฝันให้ได้ การเป็นหมอในปัจจุบัน เราสามารถเลือกเรียนได้ทั้งในภาคภาษาไทย (ภาคปกติ) กับอีกหลักสูตรคือหลักสูตรภาคอินเตอร์ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือก จะเป็นข้อสอบวิชาการเป็นวิชาภาษาอังกฤษ และข้อสอบทักษะทางภาษาอังกฤษ ซึ่งการคัดเลือกจะเป็นการคัดเลือกในรอบแรก (ภาคอินเตอร์) เป็นรอบของ portfolio ส่วนภาคปกติจะอยู่ในรอบสาม

นอกจากเรื่องของช่วงเวลาและหลักสูตรในการเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความเข้าใจกับบุตรหลานว่าการเรียนหมอนั้น ต้องใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี นอกจากนี้แล้ว ความรู้ด้นวิชาการจะต้องแข็งมาก เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น ทุกๆคน ก็ต้องการเป็นหมอและได้เตรียมตัวด้านวิชาการมาเป็นอย่างดี หากเราเตรียมตัวไม่ดี ก็อาจพลาดโอกาสที่จะเป็นหมอได้  นอกจากนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นกำลังสำคัญที่จะคอยผลักดัน และให้กำลังใจกับบุตรหลานให้ทำความฝันให้สำเร็จ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ ย่อมต้องมีอุปสรรค จนอาจทำให้เกิดความท้อแท้ได้ ขอให้เด็กๆ มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ สิ่งที่ตั้งใจก็จะสำเร็จในที่สุด

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ท่านมีมาแต่กำเนิด มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตท่านตั้งแต่แรกเริ่ม เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมเชาวน์ปัญญา พวกเขามีความแหลมคม แต่พอพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้กลับหายไปจนเกือบจะหมดสิ้น มันต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างทางเป็นแน่

เพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่งได้ส่งเรื่องที่ชื่อว่า “โรงเรียนของสัตว์” ให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากจะเล่าให้ท่านฟัง เรื่องมีอยู่ว่า…

“ในวันหนึ่งสัตว์ทั้งหลายในป่าได้มารวมตัวกัน และตัดสินใจว่าจะตั้งโรงเรียนของสัตว์ขึ้นมา กระต่าย นก กระรอก ปลา และปลาไหล ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการพัฒนาหลักสูตร กระต่ายยืนกรานว่าเรื่องการวิ่งจะต้องเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตร นกบอกว่าเรื่องการบินก็ต้องอยู่ในหลักสูตร ปลาบอกว่าการว่ายน้ำจะต้องอยู่ในหลักสูตรเช่นกัน ส่วนกระรอกนั้นบอกว่าการปีนขึ้นต้นไม้ในแนวดิ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น และเห็นว่าน่าจะต้องรวมไว้ในหลักสูตรด้วย ซึ่งในที่สุดพวกสัตว์ทั้งหลายที่ได้รับมอบหมายให้ร่างหลักสูตรก็ได้นำวิชาต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน และจัดทำเป็นหลักสูตรขึ้นมา พวกมันได้ป่าวประกาศไปยังสัตว์ทั้งหลาย และบังคับให้สัตว์ที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้จะต้องผ่านทุกวิชาตามที่กำหนดไว้

กระต่ายซึ่งเคยได้เกรดเอจากการวิ่ง มีปัญหามากในเรื่องการปีนต้นไม้ในแนวดิ่ง มันปีนขึ้นไปแล้วก็ตกลงมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดหัวสมองของมันก็ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถจะวิ่งต่อไปได้ จากที่มันเคยได้เกรดเอในการวิ่ง ตอนนี้มันกลับได้เกรดซี และที่แน่นอนก็คือมันได้เอฟ (สอบตก) ในการปีนต้นไม้ นกที่เคยเก่งมากในเรื่องการบิน แต่พอต้องเรียนวิชาขุดโพรงลงไปในดิน มันก็ทำได้ไม่ดีนัก จะงอยปากของมันแตกและปีกของมันก็หัก ไม่ช้าไม่นานมันก็ได้เกรดซีในวิชาการบิน และได้เอฟในวิชาขุดโพรง และมันก็ประสบปัญหาในเรื่องการปีนต้นไม้ในแนวดิ่งเช่นกัน

ในที่สุดสัตว์ที่สามารถเรียนจบผ่านหลักสูตรนี้ไปได้กลับกลายเป็นเจ้าปลาไหล ที่ทำทุกอย่างผ่านได้แบบครึ่งๆ กลางๆ แต่มันก็ทำให้ผู้สร้างหลักสูตรมีความสุข ที่เห็นว่าสัตว์เหล่านั้นได้เรียนรู้ทุกวิชาที่เหล่าบรรดากรรมการหลักสูตรได้พัฒนาขึ้นมา และต่างพากันเรียกการศึกษาแบบนี้ด้วยความภูมิใจว่าการศึกษาแบบ “ครอบจักรวาล”

ฟังเรื่องนี้แล้วเราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขัน แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาของพวกเรา เราพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้คนทุกคนเหมือนกัน เราได้ทำลายศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในคนแต่ละคน เราบั่นทอนความเป็นตัวของตัวเองในคนแต่ละคนจนหมดสิ้น

เชาวน์ปัญญาที่ติดตัวมาเริ่มตายไปในขณะที่เราพยายามจะลอกเลียนคนอื่น หากท่านต้องการจะให้เชาวน์ปัญญาที่มีมาคงอยู่ ท่านต้องเลิกการเลียนแบบ เชาวน์ปัญญาจะถูกกำจัดไปโดยปริยายหากท่านทำตามผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่ท่านเริ่มคิดจะเป็นเหมือนคนอื่น ท่านจะสูญเสียเชาวน์ปัญญาทีท่านมีอยู่ไป ท่านเริ่มจะโง่เขลานับตั้งแต่วินาทีที่ท่านเริ่มเปรียบเทียบตัวท่านกับคนอื่น ท่านจะสูญเสียความสามารถตามธรรมชาติของท่าน ท่านจะไม่มีความสุขอีกต่อไป ท่านจะไม่ได้สัมผัสกับความใสสะอาด ท่านจะสูญเสียความคมชัด เสียวิสัยทัศน์ของท่านไป ท่านจะต้องหยิบยืมดวงตาของผู้อื่นมาใช้ แล้วเราจะมองผ่านดวงตาของคนอื่นได้อย่างไร? เราต้องใช้ดวงตาของเราเอง เราต้องเดินด้วยลำแข้งของเราเอง เราต้องใช้หัวใจที่เป็นของเราเอง คนหลายคนมีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยของที่หยิบยืมมาจากผู้อื่น คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าชีวิตของเขาติดขัดเป็นอัมพาต มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าโง่เง่าเบาปัญญา

โลกเราต้องการการศึกษาในรูปแบบใหม่ คนที่เกิดมาเป็นกวี จะรู้สึกว่าตัวเองนั้นโง่มากในวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนคนที่อัจฉริยะในทางคณิตศาสตร์ก็ต้องมามะงุมมะงาหราอยู่กับการท่องวิชาประวัติศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างมันกลับหัวกลับหางค่อนข้างยุ่งเหยิง เป็นเพราะว่าการศึกษาไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของคนแต่ละคน ไม่ได้ให้ความเคารพในสิ่งที่คนแต่ละคนมี ควบคุมบังคับให้ทุกคนเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด อาจจะมีคนบางคนที่เดินไปกับรูปแบบนี้ได้ แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนหลงทาง และลำบากใจ

ความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคือความรู้สึกที่ว่าตัวเองโง่ ไม่มีค่า ไม่มีเชาวน์ปัญญา เราต้องอย่าลืมว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับเชาวน์ปัญญา เราเกิดมาพร้อมกับความงดงามนี้ มันเป็นสิ่งที่หอมหวานที่ติดตามเรามาจากดินแดนอันไกลโพ้น แต่ครั้นเมื่อมาถึงโลกนี้ สังคมก็เริ่มโจมตีเรา เข้ามาจัดแจง เปลี่ยนแปลง สั่งสอน ตัดต่อ เติมแต่ง จนในที่สุดเราก็สูญเสียสิ่งเดิมที่มีติดมาจนไม่เหลืออะไรเลย นั่นคือวิถีทางที่ทำให้เชาวน์ปัญญาของเราถูกทำลาย

จากหนังสือ “ปัญญาญาณ” ของ OSHO แปลโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด สำนักพิมพ์ Free MIND

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments