ในช่วงปิดภาคเรียน มักจะมีโอกาสได้พบปะกับผู้ปกครอง ที่พาน้องเข้ามาเรียน ส่วนใหญ่มักพูดกันเป็นแนวเดียวกันว่า ลูกหลานลืมง่าย ช่วงสอบที่มีการทบทวนให้ก็ทำคะแนนออกมาได้ดี แต่เมื่อผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์ให้ลองย้อนกลับมาทำแบบฝึกหัดอีกครั้ง กลับพบว่าเสมือนไม่เคยเจอแบบฝึกหัดดังกล่าวมาเลย ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากในช่วงของการสอบไม่ว่าจะเป็นกลางภาค หรือปลายภาค พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้อ่านหนังสือ เพื่อย่อยหรือย่นย่อความรู้ต่าง ๆ แล้วป้อนเข้าสู่การท่องจำของเด็ก สิ่งที่เค้าได้จึงเป็นเพียงตัวเลขในสมุดพกที่เป็นที่น่าพอใจของผู้ปกครอง แต่เมื่อทดสอบความรู้ที่ผ่านมา มันเปรียบเหมือนน้ำซัดหาดทรายที่ไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้ซักเท่าไร หากเหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันที่เขาต้องสอบแข่งขัน ซึ่งงจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานในหลายวิชาที่ได้เรียนมา จะมีความรู้สึกว่าทำไมสิ่งที่บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนมาตลอดเวลา มันได้อัตรธานหายไปหมดหลังจากที่เขาเดินออกจากห้องสอบนั้นเอง หากเรายังคงเป็นผู้ย่อยความรู้ และให้เขารับผิดชอบเพียงแค่ท่องจำในสิ่งที่ครูมีหัวข้อมาให้ ก็คงจะต้องเตรียมตัวเจอกับปัญหาตอนสอบแข่งขันแน่นอน
มาเสริมสร้างทักษะทางการเรียนรู้ให้ลูกกันดีกว่า (2)
Posted by malinee on Monday Apr 23, 2012 Under Uncategorizedเด็กทุก ๆ คนเมื่อเกิดมา นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก เขาจะใช้อวัยวะของร่างกายในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเป็นที่มาของนักจิตวิทยาเด็ก ที่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวมาวิจัยเกี่ยวกับเด็กทารก แล้วก็พบว่าประสบการณ์ทางด้านความรู้สึกทางอารมณ์และการเคลื่อนไหว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดและการเจริญเติบโตของเด็กทารกจนกระทั่งอายุ 2 ปี หากเด็กมีการเรียนรู้ทั้งสองด้านอย่างต่อเนื่อง ก็จะสะท้อนออกมาเป็นลักษณะทางกายภาพ (ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย) , วุฒิภาวะทางอารมณ์ และการเข้าสังคมเมื่อเขาเติบโตขึ้น (เรามักจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เมื่อลูกเข้าสู่วัยประถม)
จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เรากล่าวถึงประสบการณ์ในวัยทารกอยู่ 2 ด้าน ซึ่งได้แก่
- ประสบการณ์ด้านอารมณ์และความรู้สึก เมื่อมองย้อนกลับไปในวัยทารก เด็กส่วนใหญ่จะได้รับความรักความอบอุ่นจากแม่ ภาษากายที่แม่ส่งผ่านความรักให้กับลูกผ่านการอุ้ม การสัมผัสของแม่นั้น เป็นประสบการณ์ในเชิงบวกที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าตนเองจะปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมกอด หากแต่เมื่อใดที่ต้องการความช่วยเหลือ แค่เพียงร้องไห้ เขาก็จะได้สัมผัสที่เขาต้องการอีกครั้ง ซึ่งประสบการณ์ในเชิงบวกนี้มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในวัยทารกมาก เมื่อเขารู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย เขาก็สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างผ่อนคลาย แต่ในทางกลับกัน หากครอบครัวใดไม่มีความพร้อม หรือยังไม่ได้เตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะมีสมาชิกใหม่ตัวน้อย ๆ ที่ค่อนข้างเอาแต่ใจมาเพิ่ม การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นประสบการณ์ในเชิงลบ เนื่องจากในสถานการณ์ที่ยังไม่พร้อมนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตลอด 24 ชั่วโมงนั้น หมดความอดทนลงได้ในเสี้ยววินาที หากเป็นเช่นนั้น เด็กเองจะมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาให้พัฒนาช้าลง จนอาจกลายเป็นกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้เมื่อโตชึ้น
- การเคลื่อนไหว เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า ในวัยทารกนั้น เด็กในช่วง 7 เดือนแรกไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ทำให้การเรียนรู้ในช่วงนั้นจะต้องเป็นการเรียนรู้จากแขนขาที่ขยับได้เต็มที่ แล้วขยับไปเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ในช่วงของวัยที่ต้องอยู่ในเปล คนโบราณจึงนำโมบายมาห้อยไว้ที่หัวเตียง เพื่อเป็นอุบายให้เด็กขยับแข้งขา ให้เขามองแล้วไขว่ขว้า และก็เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของเด็ก ทั้งในเรื่องกล้ามเนื้อ ความจำ และบุคลิกภาพ
หลาย ๆ ครอบครัวมักจำกัดกรอบการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ไม่ให้ปีนป่าย เนื่องจากกลัวการลาดเจ็บ การจำกัดกรอบต่าง ๆ ดังกล่าว เท่ากับการปฏิเสธที่จะให้เขามีประสบการณ์ในการใช้กล้ามเนื้ออย่างมีประสิทธิภาพ หรือในกรณีที่เกิดการบาดเจ็บ เขาก็ยังได้ประสบการณ์ว่าในการปีนป่ายต้องมีความระมัดระวังในจุดไหนมากกว่าปกติ (จริง ๆ ผู้ใหญ่สามารถป้องกันการบาดเจ็บได้ หรือลดความเสี่ยงได้ โดยไม่ไปจำกัดกรอบการเล่น การเรียนรู้ของเด็ก) ซึ่งประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวนี่เอง เป็นพื้นฐานที่ทำให้เขามีสุขภาพดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
จากบทความข้างต้น ชี้ให้เห็นแล้วว่าวัยทารกนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญมาก หากเราต้องการให้ลูกหลานเป็นเด็กฉลาด สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การยื่นความรัก ความอบอุ่น และการเล่นโดยใช้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วน ที่จำกัดกรอบการเล่นให้น้อยที่สุด
ครูจา
คำถามเกี่ยวกับจินตคณิต หรือ คณิตศาสตร์
Posted by malinee on Wednesday May 11, 2011 Under เกร็ดความรู้การเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลาน เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงมักมีคำถามที่พบบ่อยกับการเรียนจินตคณิต หรือแม้กระทั่งคณิตศาตร์เอง ซึ่งแยกได้พอสังเขปดังนี้
– วัยใดที่เหมาะกับการเรียนจินตคณิตที่สุด จากประสบการณ์ในการสอนพบว่าเด็กแต่ละคนมีความพร้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งเราพบว่าการเรียนจินตคณิตในวัยที่เด็กยังไม่มีความชำนาญในการบวกลบตัวเลขที่คล่องจะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากเด็กที่คิดเลขได้คล่องแล้วจะรู้สึกยุ่งยากเมื่อต้องใช้ลูกคิดกับตัวเลขที่ง่าย ในขณะที่เด็กเล็ก ๆ ลูกคิดจะเป็นสื่อหรือเครื่องมือที่ช่วยให้เค้าได้คิดจำนวนซึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งออกมาเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งเมื่อเด็กมีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจนเกิดความคุ้นชินแล้ว มันยังสามารถสร้างจินตภาพให้เค้าได้อีกในระดับต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กที่คิดเลขคล่องไม่สามารถสร้างจินตภาพดังกล่าวได้ เพียงแต่การสร้างจินตภาพนั้นต้องผ่านการฝึกฝน ซึ่งเด็กทุกคนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็สามารถฝึกฝนได้เช่นเดียวกัน แต่ภาพที่เกิดกับผู้ใหญ่นั้นไม่ชัดเจน หรือมันเกิดการผสมผสานระหว่างตัวเลขกับจินตภาพมากกว่าในเด็ก ซึ่งจะเป็นภาพชัดเจน
– เด็กจำเป็นต้องคิดเลขให้ได้เร็วหรือไม่ เชื่อว่าทุกคนก็มีคำตอบอยู่แล้วว่าไม่จำเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นกับเด็กก็คือ การคิดเลขได้คล่อง ซึ่งมีกระบวนการหรือวิธีอยู่มากมายที่จะให้ได้คำตอบจากคำถามเพียงคำถามเดียว ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพและวิธีการของเด็กแต่ละคน
– ทำไมเด็กจึงต้องเรียนคณิตศาสตร์ การเรียนคณิตศาสตร์เป็นการเรียนเพื่อให้เด็กนั้นจะมีการเรียนแบบเป็นขั้นเป็นตอน ในช่วงแรกจะเป็นการเรียนในแนวของความเข้าใจด้านจำนวน ผ่านแบบฝึกหัดต่าง ๆ รวมถึงตัวเลขสัมพันธ์ มีการเรียนมิติสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างจินตภาพ ต่อมาเป็นการฝึกทักษะกระบวนการคิดให้เป็นขั้นเป็นตอนผ่านการวิเคราะห์โจทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการคิดเพื่อให้เด็กได้ฝึกความอดทน สมาธิการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย