Nov 06
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เด็กๆ กำลังเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าไม่ว่าจะเป็นม.1 หรือ ม.4 ซึ่งอัตราการแข่งขันในปัจจุบันค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการแบ่งสัดส่วนของเด็กในพื้นที่และเด็กนอกพื้นที่ ร่วมกับการลดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ถูกกำหนดให้ลดลงตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวในการแข่งขันในเขตโรงเรียนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยิ่งถ้าช่วงชั้นที่สูงขึ้น การแข่งขันยิ่งดุเดือดมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนจึงเป็นช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานเข้าสู่สถาบันติวที่มีผลงานการันตีเป็นรายชื่อนักเรียนที่สอบติดตามโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น พอถึงตอนเย็นก็หมดแรงที่จะทำอะไร เด็กๆ ก็จะเรียกร้องขอเวลาพักเนื่องจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ปล่อยเวลาดังกล่าวให้เป็นเวลาพักของเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยส่วนใหญ่ การติวสอบเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ ที่มีการแข่งขันสูง ไม่สามารถใช้ข้อสอบแบบปกติเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาได้ จึงจำเป็นที่จะต้องออกข้อสอบที่ยากเกินระดับ ดังนั้นการติวเพื่อสอบเข้าตามสถาบันต่างๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว แต่การที่เด็กเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็นนั้น เขาจะรู้สึกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด จึงทำให้ขาดการทำแบบฝึกหัด หรือการทบทวน หลังจากกลับถึงบ้านก็ใช้เวลาที่เหลือเล่นเกมส์ หรือผ่อนคลายในแบบที่ตนเองต้องการ ผลสุดท้ายเมื่อเด็กเข้าห้องสอบ กลับไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนก่อน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเรียนกวดวิชานั้น เขาจะให้สูตรและวิธีลัดมากมาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการและนำไปใช้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทบทวน และฝึกฝนทักษะของการทำโจทย์เพื่อให้รู้ขั้นตอน กระบวนการ และคิดอย่างเป็นระบบ หากเขาเรียนเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ฝึกทำด้วยตนเอง เขาจะไม่เกิดทักษะของการวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาโจทย์ดังกล่าว เริ่มต้นไม่ถูกได้แต่นึกคุ้นๆ
ดังนั้นการที่ส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตามดูว่าเขามีการทบทวน หรือได้ฝึกทำโจทย์ เพื่อให้เม็ดเงินและเวลาที่เสียไปเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
Mar 28
Posted by malinee on Wednesday Mar 28, 2018 Under เกร็ดความรู้
จากกระแสข่าวเรื่องการสอบแข่งขัน เข้าเรียนในชั้น ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต จนเป็นกระแสทำให้มีข่าวว่าจะไม่ให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในชั้น ป.1 เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เราจะพบเห็นกันเป็นประจำในการสอบคัดเลือกในทุกระดับชั้น การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในทุกช่วงชั้นในบ้านเรา
หลายๆ คนก็คงเคยได้ยินว่าในหลายๆ ปะเทศก็มีการแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐเช่นกัน (เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น) แต่หากเราลองมาดูถึงรายละเอียดกันจะพบว่า ในการแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกๆ โรงเรียนรัฐ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนบางโรงเรียนเหมือนอย่างบ้านเรา สาเหตุของการแข่งขันดังกล่าวในบ้านเราแตกต่างจากประเทศที่กล่าวมาแล้ว นั่นเป็นเพราะมาตรฐานของโรงเรยนในบ้านเราไม่เท่าเทียมกัน ความสามารถในการสอนแตกต่างกัน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานศึกษาเกิดกระจุกอยู่เพียงโรงเรียนไม่กี่แห่ง นอกจากนี้แล้ว การประเมนผลในระดับประเทศของบ้านเรา มักนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละโรงเรียน เทียบกับขนาดของโรงเรียน เทียงระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ และประกาศกันอย่างแพร่หลาย
ดัชนีชี้วัดดังกล่าวแทนที่จะนำมาช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือเป็นตัวชี้วัดว่าต้องมีการเพิ่มศักยภาพของการเรียนการสอนของครูผู้สอน ให้มีสัมฤทธิผลที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นตัวชี้วัดการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน มาประกอบกับแถลงการณ์ของกระทรวงศึกษา ที่รับจำนวนเด็กต่อห้องไม่เกิน 40 คน ยิ่งเป็นเหตุให้อัตราการแข่งขันเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ เหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดกลุ่มเด็กที่แยกกันอย่างชัดเจน คือเด็กในกลุ่มที่ฐานะทางบ้านไม่สามารถแทรกตัวบุตรหลานให้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีครูที่(พ่อแม่คาดหวังว่า)ดีได้ ก็จะต้องไปอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสเลือกเท่าใดนัก เด็กที่รวมตัวกัน จะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยใส่ใจในการเรียนเท่าใดนัก สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของสังคม
ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีผู้ที่คิดจะลงมือแก้ไขปฏิบัติ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป นั่งในตำแหน่งเพื่อรับเงนเดือน และเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล แต่ไม่ได้คิดที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ เพราะคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานเกินกว่าจะแก้ไข หรืออาจนั่งในตำแหน่งแต่ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เกิดในสังคมปัจจุบันเกี่ยวกับการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข เพราะรับช่วงต่อจากผู้บริหารคนเก่า เสมือนตำแหน่งที่ได้มาเป็นสมบัติผลัดกันชม ได้แต่ทำตามในสิ่งที่เคยทำ ให้เวลามันผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
Mar 27
Posted by malinee on Wednesday Mar 27, 2013 Under เกร็ดความรู้
จากค่าเฉลี่ยของการสอบ O-Net ของโรงเรียนแต่ละโรง โดยรวมแล้วเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยในวิชาหลักไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (ร้อยละ 50) โดยส่วนใหญ่ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 22 – 30% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลการประเมินที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับการร่ำเรียน ศึกษามาตลอด 1 ปีการศึกษา ที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นเพราะเรากำลังจะเปิด AEC ในปี 2558 ซึ่งเมื่อดูจากผลการสอบแล้ว เด็กไทยมีอาการเข้าขั้นวิกฤติเมื่อต้องแข่งขันกันในระดับอาเซียน ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันระดับโลกกันแล้ว หากการเรียนการศึกษาของลูกหลานเรายังคงมีผลประเมินในแนวทางนี้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานให้มีความรู้ที่ไม่ใช่ในแนวท่องจำเพียงอย่างเดียวแล้ว เราต้องฝึกให้เด็กได้มีการคิดวิเคราะห์ และการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้นแล้ว ไม่ใช่การอ่านและท่องจำเพื่อให้ได้คะแนนสอบในโรงเรียนเท่านั้น