Aug 02
Posted by malinee on Wednesday Aug 2, 2017 Under เกร็ดความรู้
ปัจจุบันนี้ วัยของการส่งบุตรหลานเรียนพิเศษจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเพียงเพื่อให้บุตรหลานได้เตรียมตัวกับเนื้อหาใหม่ๆ เท่านั้น กับอีกกลุ่มเพื่อให้เด็กๆ เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพิ่มอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เปิดขึ้นทุกๆ ปี และมีอยู่หลากหลายสนามการแข่งขัน
ดังนั้น ลักษณะการเรียนในเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะแตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก จะเรียนแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเร่งเนื้อหาเกินชั้นปีที่เรียนอยู่ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาและสามารถดูแลเรื่องการเรียนของบุตรหลานได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในที่ต่างๆ แต่เด็กอีกกลุ่มจำเป็นต้องเรียนอย่างหนัก และต้องมีการเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั้นปี (เนื่องจากการแข่งขันในสนามต่างๆ มักใช้ข้อสอบที่เกินเนื้อหาที่เรียน) นอกจากจะต้องเรียนเนื้ัอหาที่เกินระดับชั้นแล้ว ยังต้องมีการเรียนเทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ
เราจะเห็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ มากมายที่มักโชว์รูปเด็กที่ผ่านการคัดเลือก หรือชนะเลิศในการแข่งขันระดับต่างๆ อยู่มากมาย รูปของเด็กบางคน อาจถูกติดอยู่กับสถาบันมากกว่าหนึ่งสถาบัน (นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนที่ต้องชิงแชมป์ในสนามต่างๆ ต้องวิ่งเรียนในสถาบันต่างๆ มากกว่า 1 แห่ง) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มักมองว่าที่ทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเขา เพราะรักและ ปรารถนาดีกับเขา จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ
การเรียนในแบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับการที่เด็กอยู่กับเกมส์หรือทีวี แต่การเรียนในแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เวลาในวันหยุดที่จะได้เที่ยววิ่งเล่น ก็หมดไป เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวก็ลดลง เด็กในกลุ่มนี้ ก็จะเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีทักษะด้านสังคม หรือด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลายๆ คนคิดว่าเด็กในกลุ่มสายแข่ง ที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับดีมาก ควรจะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีเช่นกัน ข้อความนี้จะเป็นความจริง หากเด็กมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในกระบวนการประยุกต์ในแบบของตัวเอง ไม่ใช่โปรแกรมที่ถูกป้อนให้ทำซ้ำจนจำได้ขึ้นใจว่า โจทย์ในลักษณะแบบนี้ต้องแก้อย่างไร
หากคุณพ่อ คุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็กของตนเอง หลายๆ คนจะเห็นภาพของตนเองเล่นซน การทะเลาะกันกับพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แต่สุดท้ายก็ยังเล่นกันเหมือนเดิม มากกว่าการนั่งเรียนตั้งแต่วัยประถมแบบปัจจุบัน ลองเอาตัวเราเองไปนั่งแทนที่ลูก ว่าเขามีความสุขกับการแข่งขันหรือเปล่า เขาพอใจกับรางวัลที่ได้เมื่อเทียบกับความทุ่มเทหรือไม่ การแข่งขันสำหรับบางคนอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เพราะหากเขาคิดว่าทุกๆ คน แม้แต่เพื่อนคือคู่แข่ง ต้องการแข่งกับทุกๆ คน จนกลายเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ หรือแพ้ไม่เป็น จนไม่รู้จักแบ่งปัน (ความรู้) สุดท้ายเขาก็จะถูกสังคมบีบให้อยู่คนเดียว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากสักวันที่เขาจะต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง สู้ให้เขาเรียนรู้ที่จะแพ้ ชนะ และให้อภัย เพื่อให้เขาได้มีเพื่อน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันอย่างมีความสุขจะดีกว่าไหม
Oct 05
วันนี้เป็นวันสอบ TEDET ของเด็กหลายๆ โรงเรียน ผู้ปกครองหลายๆ คนก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นการสอบเพื่ออะไร รู้แต่เพียงว่าเป็นการสอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีความเข้าใจว่าเป็นการสอบเพื่ออะไร ส่วนตัวเด็กซึ่งเพิ่งสิ้นสุดการสอบปลายภาค แล้วยังต้องสอบนอกรอบอีก ซึ่งเป็นวิชาหลัก โดยมีข้อสอบที่ค่อนข้างยากอีก จะสอบไปเพื่ออะไร
คราวนี้เรามารู้จักการสอบ TEDET กันว่าคืออะไร TEDET เป็นโครงการประเมินและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ TME ซึ่งโครงการนี้จัดสอบคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาปีที่ 2 –มัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 –มัธยมศึกษาปีที่ 3 ข้อสอบจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นข้อสอบเพื่อการวัดความรู้พื้นฐานในระดับชั้นนั้นๆ และ อีกส่วนเป็นข้อสอบวัดอัจฉริยภาพหรือการประยุกต์เนื้อหาการเรียนเพื่อการแก้ไขปัญหา
เมื่อรู้จักการสอบ TEDET แล้ว มาดูความสำคัญของการสอบ การประเมินผลนอกจากจะเป็นการประเมินรายบุคคลแล้วยังมีการเปรียบเทียบกับกลุ่มโรงเรียน เด็กในระดับชั้นเดียวกันทั่วประเทศ การสอบดังกล่าวน่าจะเป็นผลดี เพื่อให้ผู้ปกครองที่ต้องการทราบว่าบุตรหลานมีอัจฉริยภาพ หรือบุตรหลานสามารถประยุกต์ใช้เนื้อหาที่เรียนมาในการแก้โจทย์ปัญหาได้ดีเพียงใด
เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ร่วมกันระหว่า สสวท กับประเทศเกาหลี ข้อสอบจะเป็นข้อสอบกลางที่เหมือนกันที่ส่งตรงมาจากประเทศเกาหลี ซึ่งเมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาในการสอบนี้ ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาการเรียนการสอนของบ้านเรา ซึ่งเมื่อเทียบกับการเปิดเรียนของโรงเรียนอินเตอร์ หรือ ต่างประเทศเป็นช่วงของภาคการศึกษาใหม่ การสอบจึงเป็นการสอบย้อนเนื้อหาเดิมทั้งหมด แต่บ้านเราเป็นการเปิดภาคการเรียนการสอนไปเพียง 1 ภาคการเรียนเท่านั้น ยังมีความรู้บางเรื่องที่เด็กๆ อาจยังไม่เรียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบ จึงมีผลให้เด็กๆ ได้ผลประเมินในเรื่องของความรู้พื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อความรู้พื้นฐานยังเรียนไม่ครอบคลุม ก็ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้ นอกจากช่วงเวลาที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีการเน้นเนื้อหาในการเรียนรู้ หรือจุดประสงค์ของการเรียนรู้ระหว่างของบ้านเรากับต่างประเทศก็แตกต่างกัน ซึ่งก็ยังเป็นอีกปัจจัยหลักที่มีผลต่อการประเมินเช่นกัน หากจะมีการสอบในแนวนี้ ควรเลือกช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้เรียนจบเนื้อหาในชั้นปีนั้นๆ ก่อน หรือเป็นการสอบย้อนเนื้อหา น่าจะเป็นธรรมกับเด็กไทยมากกว่า
ครูจา
Sep 21
จากบทความเมื่อครั้งที่แล้ว ก็มีคำถามมากมายเกี่ยวกับอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ ขอเรียกง่ายๆ ว่า เซ้นส์ทางคณิตศาสตร์ มักมีคำถามมากมายตามมาว่า เราจะสังเกตบุตรหลานได้อย่างไรว่าเป็นเด็กมีเซ้นส์ทางคณิตศาสตร์หรือไม่ วิธีที่ง่ายๆ คือ การสังเกตความสนใจในการเรียนก่อนเป็นอันดับแรก ว่าหากมีโอกาสเขาจะเลือกเรียนอะไรก่อน ซึ่งเซ้นส์นั้นจะทำให้เขามีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์โจทย์ปัญหาได้ดี มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบกว่า เด็กในวัยเดียวกัน คณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้หลักการ การคิดเป็นระบบ มาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา แต่การแก้ไขปัญหา ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดเหมือนๆ กัน เด็กที่มีเซ้นส์ทางคณิตศาสตร์ 2 คน อาจคิดโจทย์ปัญหาที่ต่างกัน แต่ให้คำตอบเดียวกันได้ เนื่องจากมุมมองที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างโจทย์การแข่งขันแนวคิดและการแก้ปัญหา คณิตศาสตร์ ระดับชั้น ป. 3-4 เช่น
น้ำยาล้างจานขวดหนึ่งหนัก 250 กรัม เมื่อใช้ไป 1 ใน 4 ของขวด ปรากฏว่าหนัก 195 กรัม อยากทราบว่าขวดเปล่าหนักกี่กรัม
ตัวอย่างดังกล่าว เด็กที่มีเซ้นส์ทางคณิตศาสตร์จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ มีการใช้ความรู้พื้นฐานทั้งในเรื่องของเศษส่วน และโจทย์ระคนมาใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม จึงสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่การที่เด็กจะมีอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่ว่าจะพบกันได้ทุกคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กที่ไม่มีเซ้นส์ทางคณิตศาสตร์จะไม่สามารถแก้ปัญหา หรือต้องเรียนคณิตศาสตร์อ่อนเสมอ เขาเหล่านั้นสามารถแก้ไขปัญหา หรือเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีเช่นกัน เพียงแต่ต้องมีการจัดระบบระเบียบการคิดวิเคราะห์ให้ดี และมีการฝึกฝนวิธีการคิดให้เป็นระบบ หรืออาจมีการสอนให้เด็กตีความจากประโยคบอกเล่า
ให้เป็นรูปธรรม และสิ่งที่ต้องมีอย่างเคร่งครัดคือ วินัยในการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เขามีความมั่นใจและมีทัศนคติที่ดีกับการเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ครูจา
Sep 14

ในการเรียนไม่ว่าจะอยู่ในระดับชั้นใด วิชาคณิตศาสตร์ เป็นวิชาที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นมีการทดสอบอัจฉริยภาพกันตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึง 6 ขวบ หลังจากทดสอบอัจฉริยภาพกันแล้วก็จะมีการมุ่งเน้นในด้านของอัจฉริยภาพในตัวเด็กอย่างเต็มที่ ซึ่งอัจฉริยภาพที่ทดสอบก็มีหลายด้าน และอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ด้านนั้น
การที่เด็กมีอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์นั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญและมีการสนับสนุนก็จะทำให้การเรียนของเด็กมีผลสัมฤทธิ์ที่ดี แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุน เขาก็จะเรียนได้ตามศักยภาพที่มีอัจฉริยภาพของตัวเขาอยู่ แต่อัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์นั้น ไม่ได้มีกันทุกคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เด็กที่ไม่มีอัจฉริยภาพไม่สามารถเรียนรู้ได้ เพียงแต่เด็กที่ไม่มีอัจฉริยภาพ จำเป็นต้องมีครูฝึกที่ดี ร่วมกับการมีวินัยในการฝึกฝน ซึ่งครูฝึก ณ ที่นี้หมายถึง ครูผู้สอน เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจในเนื้อหา แล้วยังรวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีหน้าที่ในการฝึกซ้อมให้เด็กๆ ได้มีทักษะทางคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้นได้ ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “พรแสวงฝึกได้” หรือคำว่า “อัจฉริยสร้างได้” เพียงแต่การไม่มีอัจฉริยภาพนั้นทำให้เด็กต้องมีวินัยในการฝึกปรือมากกว่าเท่านั้นเอง
แต่ในทางกลับกันพ่อแม่ผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน นอกจากจะไม่ส่งเสริมอัจฉริยภาพหรือการฝึกฝนให้กับเด็กๆ ยังทำให้ทุกอย่างดูแย่ลงด้วยการปล่อยปละละเลย ปล่อยให้เด็กขาดวินัย แม้แต่การทำการบ้านเลยทีเดียว แบบนี้ถึงตัวเด็กที่มีอัจฉริยภาพได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม อัจฉริยภาพไม่ว่าจะด้านใด ก็สามารถที่จะลดลงและหายไปในที่สุด
ครูจา
Jan 02
Posted by malinee on Wednesday Jan 2, 2013 Under เกร็ดความรู้
คราวนี้เราก็พอมองภาพกว้าง ๆ ออกแล้วว่า เราไม่ควรให้ความสนใจ หรือพัฒนาทักษะ หรืออัจฉริยภาพในด้านเดียว แต่ควรให้เด็กมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกาน คราวนี้มาดูว่าอีก 2 Q ที่เหลือจะหมายถึงอะไร และมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร
ความฉลาดทางสังคม (SQ) ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านให้คำจำกัดความว่า เป็นการที่บุคคลสามารถเจรจา ต่อรอง ในสภาวะต่าง ๆ หรือความเข้าใจในภาวะต่าง ๆ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างฉลาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ทดสอบด้าน SQ ที่ได้คะแนนมากกว่าจะมีความฉลาดทางสังคมมากกว่า เพียงแต่คนแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อ ความมุ่งมั่น ความสนใจ ความหวังและทัศนคติที่แตกต่างกันเท่านั้น
แต่ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะในการเข้าสังคม เมื่อเขาต้องเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกอึดอัด ขัดข้องได้ หากเขารู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มันอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากเขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ (นั่นก็คือ ทัศนคติที่แตกต่างกันนั่นเอง) เขาก็ไม่เดือดร้อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ MQ คือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีน้ำใจ ความเข้าใจผู้อื่น การรู้จักแยกแยะดีชั่ว สิ่งเหล่านี้หลาย ๆ คนมักคิดว่าเป็นเรื่องที่สอนยาก แต่จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างที่พ่อแม่เป็นผู้กระทำ และเด็ก ๆ จะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับรู้ ได้สัมผัส เป็นสิ่งที่เขาแสดงออกมา MQ เป็นสิ่งที่มีผลต่อสังคมมากที่สุด นั่นคือ หากเด็กถูกปลูกฝัง ให้รู้จักความดี ความชั่ว บาป บุญ คุณ และโทษ สังคมก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าเด็กถูกสอนให้รู้จักแต่เอาชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ หรือไม่ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็ไม่น่าอยู่เสียแล้ว
สุดท้ายเราคงต้องฝากอนาคตของชาติ สังคมไทย ที่อยู่ในมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าจะทำให้สังคมผันแปรไปในทิศทางใด หรือ อยากให้ลูกหลานเติบโตในสังคมแบบใด
ครูจา
Dec 04
เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า IQ คือวัตถุดิบที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จด้านการเรียน ส่วน EQ นั้น จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของทักษะการเข้าสังคม และทักษะทางอารมณ์ ที่แสดงออกมา นักวิจัยหลาย ๆ ท่านมักกล่าวว่า EQ จะทำให้คนประสบความสำเร็จได้มากกว่า IQ ทั้ง ๆ ที่IQ เป็นตัวชี้วัดความฉลาด นั่นเป็นเพราะการที่คนเราเมื่ออยู่ในองค์กรใด ๆ จะทำสิ่งใดก็ตามให้สำเร็จด้วยนั้น จะต้องมีการทำงานแบบเป็นทีม ต้องมีการติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแม้แต่การต่อรองทางธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สูงสุด ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ EQ มากกว่า IQ
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง IQ กับ EQ คือ EQ เป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรมเลย ดังนั้นพ่อแม่ หรือ ครู สามารถส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ได้
EQ คืออะไร?
เมื่อพูดถึง EQ หลาย ๆ คนมักคิดแต่เพียงเรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว EQ กล่าวโดยรวมว่า เป็นการเห็นคุณค่าของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การแสดงออกในเชิงบวก (การรู้จักควบคุมอารมณ์) และการมีทักษะทางด้านสังคมที่ดี นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การเรียนรู้ทางด้านสังคมและอารมณ์ นอกจากส่งผลให้เด็กมีบุคลิกภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงทางอารมณ์ลงอีกด้วย
วิธีการส่งเสริมให้เด็กมี EQ ที่ดี
ในช่วงที่เด็กอยู่ในวันก่อนวัยเรียน พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเด็ก เนื่องจากเด็กในวัยดังกล่าวจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ เราควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก รับฟังเมื่อเขาต้องการจะบอกบางอย่างกับเรา การหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท มีระเบียบวินัยที่ขัดเจน ลงโทษเมื่อเด็กทำผิด และกล่าวชื่นชมเมื่อเขาทำดี สร้างบรรยากาศให้มีความรู้สึกปลอดภัย ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ต้องคอยปกป้องทุกอย่างให้กับเขา ในบางเรื่องต้องให้เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดเป็นอันตราย หรือไม่ควรเข้าใกล้ ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และสิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวอย่างที่ดีโดยการที่พ่อแม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง การมีระเบียบวินัย และการเห็นคุณต่าของตนเอง
จากสิ่งที่กล่าวมาแล้วเราจะพบว่าการสร้าง หรือ พัฒนา EQ ให้กับเด็กเป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยดูแลเอาใจใส่ให้เขาเหล่านั้นเติบโตตามวัย และเขาก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุขต่อไป
ครู จา