สมาธิสั้น ปัญหาพฤติกรรม
Posted by malinee on Wednesday Nov 13, 2013 Under เกร็ดความรู้หลาย ๆ คน คงเคยได้ยินคำว่า สมาธิสั้น หรือ ไฮเปอร์ กันบ่อย ๆ บางครอบครัวอาจสงสัยว่ามันคืออะไร แต่หลาย ๆ ครอบครัวอาจจะประสบปัญหาลูกน้อยของตนเองเป็นสมาธิสั้น เรามาลองทำความเข้าใจกับคำว่า สมาธิสั้นกันดีกว่า
สมาธิสั้น เป็นภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมองในส่วนที่ควบคุมเรื่องของสมาธิ ซึ่งอาการหลักมักแสดงออกมาทางความผิดปกติทางพฤติกรรม 3 ด้านคือ
- การขาดสมาธิอย่างต่อเนื่อง เด็กมักมีอาการเหม่อลอย ขาดความพยายามในการทำงานที่ยากให้สำเร็จ สมาธิจะถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าได้ง่าย ไม่รอบคอบ
- อาการอยู่ไม่นิ่ง ซุกซนมากกว่าปกติ เล่นแรง ส่งเสียงดัง หยุกหยิก เด็กจะมีอาการน้อยลงเมื่อโตขึ้น (เป็นวัยรุ่น)
- ขาดการยั้งคิด หุนหันพลันแล่น มีอาการใจร้อน วู่วาม อดทนรอไม่ค่อยได้
เมื่อเราได้รู้ถึงประเภทของอาการสมาธิสั้นแล้ว คราวนี้เราลองมาดูพฤติกรรมบ่งชี้ของอาการสมาธิสั้นดังต่อไปนี้
9 พฤติกรรมบ่งชี้การขาดสมาธิ
- การขาดความละเอียดรอบคอบ ความผิดพลาดมักเกิดจากความสะเพร่า
- ขาดความตั้งใจที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในการทำงานหรือการเล่น
- ดูเหมือนไม่ฟัง เมื่อมีคนคุยด้วย
- ไม่ทำตามคำสั่ง หรือทำงานไม่สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย (โดยไม่ใช่เพราะดือ หรือไม่เข้าใจ)
- ขาดการจัดระเบียบในการทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ
- มักหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความพยายาม
- มักทำของหายบ่อย ๆ
- วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย
- มักหลงลืมในการทำกิจวัตรประจำวัน
9 พฤติกรรมบ่งชี้การไม่อยู่นิง – หุนหันพลันแล่นมีดังนี้
- ยุกยิก นั่งไม่นิ่ง
- มักนั่งไม่ติดที่ มักลุกจากที่นั้งในห้องเรียน
- มักวิ่งไปมา หรือปีนป่าย มากเกินควร
- เล่นหรือใช้เวลาอยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยได้
- มักไม่อยู่เฉย แสดงออกราวกับติดเครื่องยนต์ตลอดเวลา
- พูดมากเวินไป
- พูดโพล่งหรือตอบคำถามโดยไม่ฟังให้จบก่อน
- มักไม่ค่อยรอ
- ขัดจังหวะผู้อื่น เช่นการพูดแทรก หรือสอดแทรกการเล่นของผู้อื่น
การบ่งชี้ดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่ว่าเพียง 2 ใน 9 ข้อ แล้ววินิจฉัยเลยว่าเป็นสมาธิสั้น หากพฤติกรรมดังกล่าวต้องเป็นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และมีพฤติกรรมดังกล่าวอย่างน้อย 6 ข้อ และนอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้านอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ ความซนตามวัยของเด็ก และ ปัญหาการเลี้ยงดูที่ขาดการฝึกระเบียบวินัย
หลังจากทราบกันแล้วในข้างต้น คราวนี้ก็ต้องมาดูที่วิธีรักษา จากข้อมูลมักต้องมีการผสมผสานการรักษาหลาย ๆ วิธีด้วยกัน โดยแพทย์ต้องให้ความรู้และคำแนะนำในการเลี้ยงดูเด็ก ร่วมกับการประสานงานกับครูเพื่อช่วยเหลือเด็กในระหว่างการเรียน ควบคู่ไปกับการฝึกสมาธิเด็กและการใช้ยาร่วมด้วย
การให้ความช่วยเหลือแก่เด็กสมาธิสั้นในเรื่องของการเลี้ยงดู
- การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน และกำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน
- จัดบริเวณที่ไม่มีการรบกวนสมาธิ เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการทำการบ้าน
- แบ่งงานที่มาก ให้เด็กค่อย ๆ ทำทีละเล็กละน้อย โดยมีผู้ปกครองเป็นผู้กำกับดูแล จนงานเสร็จ
- ควรพูดหรือสั่งงานในขณะที่เด็กพร้อมที่จะฟัง
- ให้คำชมเมื่อเด็กทำงานแต่ละชิ้นสำเร็จ และวางเฉยเมื่อเด็กผิดพลาด
- เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเด็กเริ่มก่อกวนจากอาการสมาธิสั้น
- ตั้งกฎการาลงโทษ โดยการลดเวลาของสิ่งที่เด็กชอบลง หรือ แยกเด็กให้อยู่ตามลำพัง
- จัดกิจกรรม หรือกีฬาที่ต้องใช้แรง ให้กับเด็ก
- ผู้ปครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของระเบียบวินัย การรอคอย เพื่อสร้างนิสัยการมีระเบียบวินัยให้กับเด็ก
จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นได้ว่า การปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นนั้น ไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีการร่วมมือกัน ทั้งทางบ้าน โรงเรียนและแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค หากขาดการร่วมมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และสุดท้ายปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกระจัดกระจายในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา : http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/57-4/00-Vitharon.pdf