จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์
วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2554
จากการที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายต้องการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีทักษะด้านอาชีพ เพื่อรองรับกับการมีงานทำและเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพด้านการประกอบอาชีพในอนาคต พร้อมรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดี หากหลักสูตรที่ว่านี้มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาความสามารถเด็กที่แต่ละคนมีอยู่อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง พร้อมต่อยอดในการศึกษาต่อระดับสูงทั้งสายสามัญและสายอาชีพจนเกิดความเป็นเลิศเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่หากเป็นหลักสูตรวิชาชีพที่ไปบังคับเด็กต้องเรียนตามที่ฝ่ายเหนือกำหนดโดยไม่นึกถึงศักยภาพความต้องการของเด็กแล้วประโยชน์ก็คงเกิดขึ้นไม่มากนัก สุดท้ายก็คงเหลือแค่ว่ามีหลักสูตรวิชาชีพเพิ่มให้เด็กต้องเรียนรู้เพื่อสอบให้ได้คะแนนผ่านตามเกณฑ์เท่านั้น

หากผลสำเร็จเกิดได้แค่นี้ก็คงไม่ต้องมาคิดกันใหม่เพราะด้วยหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมาแทบจะทุกฉบับต่างก็ได้กำหนดการเรียนรู้พื้นฐานด้านวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. 2503 ที่ได้กำหนดอยู่ในส่วนหัตถศึกษา หลักสูตร พ.ศ. 2521 เป็นวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ (กพอ.) หรือหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็จัดอยู่ในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นต้น

นอกจากนั้นในส่วนของระบบการจัดการศึกษาของชาติก็จัดให้มีสายอาชีพไว้อย่างชัดเจน ทำให้การเรียนรู้วิชาชีพจึงมิใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ที่ผ่านมาการพัฒนาส่งเสริมทักษะด้านอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนยังไม่บรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งการศึกษาสายอาชีพเท่าที่ควร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากเจตคติของเด็กและผู้ปกครองกับการศึกษาในยุคหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันแปรเปลี่ยนไป ด้วยไปคิดว่าการประกอบอาชีพตามสิ่งที่บรรพบุรุษทำกันมามีความลำบากหรือด้อยเกียรติไม่เหมือนการทำงานในห้องแอร์เป็นมนุษย์เงินเดือนทั้งที่อาชีพด้านเกษตรกรรมและงานฝีมือต่าง ๆ นั้นมีความพร้อมในทรัพยากรที่จะดำเนินการอย่างดียิ่งก็ตาม เมื่อความต้องการเป็นไปเช่นนี้การศึกษาของเด็กจึงมุ่งไปทางสายสามัญเป็นส่วนใหญ่โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ปริญญา โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีงานใดมารองรับได้ในอนาคต

ส่วนการจัดการศึกษาสายอาชีพเองก็มุ่งไปทางด้านปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้การเรียนรู้วิชาชีพหนักไปทางทฤษฎีมากกว่าที่จะสร้างสมทักษะประสบการณ์ภาคปฏิบัติจนเกิดความชำนาญด้านปฏิบัติจริง เมื่อรวมถึงความไม่พร้อมของสถาบันการจัดการศึกษาอาชีพเองที่ขาดความพร้อมและความทันสมัยของเครื่องมือ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ในการที่จะฝึกให้กับผู้เรียน แต่เมื่อจบออกมาต้องเจอกับเครื่องรุ่นใหม่จึงไม่สามารถดำเนินการได้หรือขาดความชำนาญซึ่งจะผิดกับเด็กที่อยู่ตามอู่รถหรือร้านซ่อมครุภัณท์ต่าง ๆ แม้ไม่ได้เรียนรู้หลักการทฤษฎี แต่จากการที่ได้ฝึกปฏิบัติจริงกับเครื่องยนต์ทั้งรุ่นเก่าและใหม่ที่แตกต่างกันอยู่ทุกวันทำให้เกิดทักษะประสบการณ์ ความชำนาญจึงมีมากกว่า แต่เด็กกลุ่มนี้กลับไม่มีโอกาสที่จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างสูงด้วยไม่มีวุฒิการศึกษา ทั้งนี้เพราะการรับบุคลากรเข้าทำงานทั้งในภาครัฐ และเอกชน ต่างก็ยังต้องใช้วุฒิการศึกษามาเป็นคุณสมบัติในการรับคนเข้าทำงานมากกว่าจะดูที่ความชำนาญและประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน และที่ร้ายกว่านั้นก็ยังมีบริษัทภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจมุ่งแต่ผลกำไรเป็นหลักจึงคิดจ้างแต่แรงงานราคาถูกไม่มีคุณภาพเข้ามาดำเนินการ จึงทำให้ผู้จบการศึกษาสายอาชีพถูกกดค่าแรงตามไปด้วยจึงไม่ค่อยมีผู้สนใจที่จะเรียนสายอาชีพมากนัก

ดังนั้นการที่จะคิดพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีทักษะอาชีพตามที่ตนเองถนัด เพื่อให้สามารถสร้างผลงานหรือผลิตงานเป็น “เถ้าแก่น้อย” ในอนาคตได้คงจะต้องปรับเปลี่ยนเจตคติและวิธีการพัฒนาในหลาย ๆส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเลยก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของเจตคติด้านการศึกษาของผู้ปกครองเอง ที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติจากที่ต้องการเห็นลูกเรียนเก่งด้านวิชาการสายสามัญเพื่อหวังเข้าโรงเรียนเด่น มหาวิทยาลัยดังและมีเป้าหมายอยู่ที่ปริญญาอย่างเดียว ทั้งที่ลูกหลานมีศักยภาพด้านสายอาชีพอยู่ในตัว หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องหันมาส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้งานด้านอาชีพตามศักยภาพและทักษะที่มีอยู่อย่างเต็มที่บ้าง เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้ประกอบอาชีพตรงกับความถนัดและความสนใจ และที่สำคัญจะทำให้การเรียนรู้ในปัจจุบันมีความสุขและเกิดคุณค่ากับผู้เรียนอย่างแท้จริง

ส่วนในด้านหลักสูตรและวิธีการพัฒนาก็คงต้องจัดให้สอดคล้องกับวัยและระดับการศึกษาของเด็ก เช่น ระดับประถมศึกษา ก็คงจะต้องเน้นด้านจิตสำนึกของเด็กให้มีนิสัยรักการทำงาน มีเจตคติที่ดีกับงานสุจริต และมีความมุ่งมั่น อดทนกับการทำงาน มากกว่าที่จะไปเน้นให้ฝึกทักษะจนสามารถประกอบอาชีพได้ เพราะยังเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่นั่นเอง ส่วนระดับมัธยมศึกษา นอกจากจะเน้นการสร้างจิตสำนึกให้มีนิสัยรักการทำงานแล้วก็คงจะต้องวางรากฐานในวิชาชีพที่ผู้เรียนมีความถนัดและศักยภาพที่มีอยู่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ด้วยวิธีการเปิดโรงเรียนเฉพาะทางรองรับศักยภาพด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับ โรงเรียนกีฬา หรือโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยทำให้เด็กได้รับการพัฒนาตรงตามศักยภาพ ความสามารถที่มีอยู่และเรียนรู้พร้อมฝึกในสิ่งที่ตนเองมีความถนัดอย่างลึกซึ้ง ต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้น ๆ ในอนาคต ไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่มีทักษะความสามารถ ผลที่เกิดขึ้นก็คงไม่ผิดกับเป็ดง่อยเป็นแน่

ส่วนวิธีการจัดการศึกษาสายอาชีพโดยตรงนั้นก็ควรมุ่งเป้าไปที่การผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญ เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องสามารถปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพที่เรียนมาอย่างมีคุณภาพ ความสำเร็จส่วนนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินงานของสถานศึกษาฝ่ายเดียวแต่คงจะต้องอาศัยทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานโดยเฉพาะบริษัท ห้างร้าน ภาคเอกชน ที่มีความพร้อมและทันสมัยทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญในงานแต่ละสาขาหากสามารถทำ MOU กับเครือข่ายภาคีที่ว่านี้ได้แล้ว สถาบันการศึกษาก็ควรจะทำหน้าที่เพียงให้ความรู้ด้านหลักการ ทฤษฎี เท่านั้น ส่วนการฝึกปฏิบัติจริงควรให้เป็นหน้าที่ของภาคีเครือข่าย ซึ่งหากสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้แล้วเมื่อภาคเอกชนเห็นว่าผู้เรียนมีความชำนาญในการปฏิบัติงานในสาขาที่ฝึกก็สามารถรับเข้าทำงานได้เลยโดยไม่ต้องมาสนใจกับใบประกาศหรือปริญญาบัตรเช่นปัจจุบันอีกต่อไป หากทำได้เช่นนี้ผู้เรียนก็จะมีความเชี่ยวชาญและมีงานในสาขาที่ถนัดทำ ส่วนบริษัทก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ ซึ่งก็จะส่งผลถึงคุณภาพของงานก็เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย

ส่วนสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมและดำเนินการให้เป็นผลอย่างต่อเนื่องและได้มาตรฐาน ก็คือ ต้องหาตลาดรองรับกับผลผลิตสินค้าของชุมชนที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตของบรรดาเถ้าแก่น้อย รวมถึงการตั้งราคามาตรฐานกลางที่สามารถทำให้ผู้ผลิตมีรายได้อย่างสมเหตุสมผล เพียงพอกับการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่ส่งเสริมให้ประชาชนผลิตสินค้าแต่ไม่มีตลาดหรือแหล่งที่จะรับซื้อรองรับให้ ซึ่งการที่ผู้ผลิตไม่มีความสามารถในด้านการตลาดแม้สินค้าจะมีคุณภาพก็ไม่อาจทำให้สินค้าขายดีอยู่ได้เช่นกัน

จึงเห็นได้ว่าการคิดหรือหาวิธีการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีนิสัยรักการทำงานหรือมีทักษะในการประกอบอาชีพตามที่ตนเองถนัดหรือชอบได้นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ทำให้มีหลักสูตรวิชาชีพหรือการบังคับให้เด็กต้องเรียนรู้อย่างเดียว แต่ความสำเร็จอย่างมั่นคงจะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยองค์ประกอบในหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันหาทางที่จะทำให้ปัจจัยรอบข้างที่ว่านี้มีเจตคติหรือแนวดำเนินการไปในทางเดียวกันให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว ความสำเร็จด้านวิชาชีพของเด็กไทยก็คงไม่ต่างไปจากหลักสูตรการศึกษาเดิม ๆ ที่ใช้กันมา คือ เรียนให้ครบจบหลักสูตรแล้วก็ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพตามสาขาที่เรียนมาได้ สุดท้ายก็ออกไปแข่งขันเป็นมนุษย์เงินเดือนต่ำกับสายสามัญอยู่เช่นเดิมต่อไป.

กลิ่น สระทองเนียม

Tags : , , | add comments