Jan 25
ครูขอเล่าประสบการณ์ในการสอนจินตคณิตให้ฟัง เรื่องก็มีอยู่ว่า มีเด็กหญิงชายคู่หนึ่ง เร่มเข้ามาเรียนจินตคณิตกับทางสถาบันเรา โดยที่เด็กผู้หญิงเข้ามาเริ่มเรียนก่อน เด็กผู้หญิงเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ตั้งใจเรียน จนสามารถเรียนอยู่ในระดับที่ดีมาตลอด เด็กผู้หญิงคนนี้ สามารถเรียนโดยมีอัตราเร็วในระดับที่สามารถเร่งได้ จึงเรียนแบบเร่งมาตลอด ต่อมาเด็กผู้ชายที่เป็นเพื่อนเรียนในโรงเรียนเดียวกันมาเรียน เขาเริ่มไต่จากระดับเด็กเล็กมาเรื่อยๆ โดยเรียนตามอัตราเร็วของเด็กปกติทั่วไป การเรียนก็ดำเนินต่อไปโดยที่เด็กผู้ชายค่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ โดยมีเด็กผู้หญิงเป็นเหมือนต้นแบบ เขาอยากเก่งแบบเด็กผู้หญิง จึงใส่ความตั้งใจในการเรียน การฝึกฝนอย่างเต็มที่ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีความรู้สึกว่าตนเองนำหน้าเด็กผู้ชายไปแล้ว เกิดความประมาท ความตั้งใจที่เคยมีจึงลดลง สมาธิที่เคยดีก็กลับแย่ลงเรื่อยๆ เชื่อหรือไม่ว่าขณะนี้การเรียนของทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกัน โดยมีเด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะจินตนาการได้แม่นยำ และใช้เวลาสั้นกว่าเด็กผู้หญิง
ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นจริง เหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สาเหตุเกิดเนื่องจากการเปรียบเทียบกัน เด็กผู้หญิงคิดว่าตนเองเรียนได้เร็วกว่าก็เกิดความประมาท ไม่ฝึกฝนตนเอง มีความมั่นใจเกินไป ในขณะที่เด็กผู้ชายมีความพยายามเพื่อให้ถึงจุดหมายที่วางไว้ จึงมีความตั้งใจ และฝึกฝนตนเองเพื่อให้ถึงจุดหมายได้ในเร็ววัน เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหากเด็กทุกๆ คนไม่คอยเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เพียงแต่ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด ความสามารถที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การคอยแต่พะวงกับคู่แข่ง เปรียบเสมือนกับการปีนเขา ถ้าเราคอยพะวงข้างหลังสมาธิที่จะไต่ขึ้นสูงจะเสียไปจนอาจทำให้เราตกเขาลงมาเลยก็ได้ การเรียนจินตคณิตก็เช่นกันเด็กๆ จะต้องมีสมาธิในส่วนของตนเอง หากคอยไปพะวงเรื่องอื่น ก็เป็นเหตุให้สมาธิของตนเองในการก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นเสียไป ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยโดยการไม่สร้างความกดดันบุตรหลาน โดยการเปรียบเทียบบุตรหลานกับเพื่อนๆ เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนทักษะ รักษาระดับสมาธิของตนเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากฝึกเด็กได้ตามแนวทางดังกล่าวไม่ว่าเขาจะเรียนอะไร ก็จะสัมฤทธิ์ผลที่สูงที่สุดแน่นอน
ครูจา
Dec 08
มีคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการเรียนจินตคณิตหลายๆ คำถาม แต่ครั้งนี้ขอมาที่ประเด็นที่ว่า หลังจากเด็กโตขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้นจึงมักมีคำถามว่า การเรียนจินตคณิต จะเป็นการเรียนที่เปล่าประโยชน์หรือไม่ จากที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนๆ ว่าการเรียนจินตคณิตนั้นจะสอดคล้องกับวัยที่เริ่มเรียนด้วยเช่นกัน เช่น หากเรียนในวัยอนุบาล จินตคณิตจะเป็นการเรียนที่นำการเรียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะมีวิธีคิดคณิตศาสตร์ผ่านการใช้ลูกคิด แต่หากเริ่มเรียนในชั้นประถมต้น การเรียนจินตคณิตจะเป็นการเรียนคู่กับคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งเด็กๆ จะต้องเลือกการคิดคำนวณที่เขาถนัดกว่ามาใช้ (หากเขาถนัดการใช้จินตนาการ เขาก็จะใช้วิธีคิดแบบลูกคิด) และยิ่งเขาเรียนในวัยที่จินตคณิตตามหลังการเรียน คณิตศาสตร์ในโรงเรียน น้อยคนนักที่จะนำวิธีการจินตนาการไปใช้ (เนื่องจากการจินตนาการนั้น เด็กจะต้องใช้สมาธิมากการคิดเลขแบบปกติ เนื่องจากต้องจินตนาการเป็นภาพ แต่เขาอาจคิดในใจโดยใช้สูตรลูกคิดเข้ามาช่วย) แต่ไม่ใช่ว่าการเรียนในระดับที่โตขึ้นจะไม่ได้ผลเสมอไป เนื่องจากการเรียนจินตคณิตในหลายๆ ประเทศเป็นที่นิยมมาก และนอกจากนี้แล้ว หากการเรียนจินตคณิตไม่ให้ผลสัมฤทธิ์กับเด็กจริงๆ มันน่าจะหายไปตามกาลเวลา แต่ยังมีการเรียนการสอนมาจนถึงปัจจุบันในหลากหลายประเทศ
นอกจากวัยที่เริ่มเรียนจะมีผลต่อความถนัดแล้ว การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้ความคุ้นเคย หรือความถนัดเกิดขึ้นเช่นกัน เปรียบเหมือนกับการเรียนภาษาที่สอง หรือที่สาม หากเด็กเรียนภาษาแล้ว ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน หรือเขียน หากเรียนเพียงอย่างเดียว แล้วขาดการฝึกฝน หรือการใช้งาน เด็กก็จะลืมในที่สุด แต่หากได้ใช้งานทุกวัน ทักษะนั้นก็จะติดตัวเขาไป จะนำมาใช้เมื่อใดก็ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนอะไร ควรได้รับการฝึกฝนจนติดตัว เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
ครูจา
Oct 20
หลายครั้งที่เขียนเกี่ยวกับแนวการเรียนการสอนจินตคณิตไปแล้ว คราวนี้จะเป็นเรื่องของวัยที่เหมาะสมกับการเรียนจินตคณิต
อันที่จริงแล้วการเรียนจินตคณิตไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องว่าเด็กโตแล้วเรียนไม่ได้ แต่สำหรับเด็กที่เล็กเกินไป เป็นข้อจำกัดเรื่องกล้ามเนื้อมือเป็นหลัก
คราวนี้มาดูที่รายละเอียดกันว่าการเรียนจินตคณิตสำหรับวัยไหนที่เหมาะสมที่สุด เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย หรืออนุบาลก่อน เนื่องจากเด็กอนุบาลการเรียนคณิตศาสตร์จะเริ่มตั้งแต่จำนวนและตัวเลข แล้วจึงค่อยพัฒนาเข้าสู่การเรียนการบวก-ลบ การเรียนจินตคณิตจะเป็นการแนะนำตัวเลขให้กับเด็กได้จับต้องได้เป็นรูปธรรม และยังเป็นการนำการบวกเพิ่ม หรือการลด ให้เด็กได้มีความเข้าใจถึงการบวก-ลบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงถือว่าการเรียนจินตคณิตโดยใช้ลูกคิดเป็นสื่อนำให้เขาเข้าใจในการเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างดี วัยประถม(ต้น) เป็นวัยที่การเรียนจินตคณิตจะเป็นการจัดระบบความคิด ทั้งเรื่องของค่าประจำหลัก และการบวก-ลบ คูณ หาร ซึ่งเด็กบางคนที่มีปัญหากับคณิตศาสตร์อาจมีผลเนื่องจากความไม่เข้าใจเรื่องค่าประจำหลัก การบวก-ลบ เลขขอยืม ซึ่งในการเรียนลูกคิดจะเห็นเป็นภาพที่ชัดเจน และเด็กๆ จะสามารถปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง แต่ในเด็กประถม(ปลาย) ส่วนใหญ่จะมีกระบวนการคิดคำนวณคณิตศาสตร์ที่คล่องแล้ว การใช้ลูกคิดจะถือว่าตามหลังสิ่งที่เขารู้มาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองเรียนรู้จนชำนาญแล้ว จึงไม่แนะนำให้เด็กประถม(ปลาย) เรียนจินตคณิตสักเท่าใด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะเรียนไม่ได้ เพียงแต่ผลสัมฤทธิ์ที่จะนำไปใช้ ช้ากว่าบทเรียนคณิตศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียน แต่เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนมักเข้าใจว่าเด็กประถม(ปลาย)ที่มีปัญหาทางคณิตศาสตร์เกิดจากการคิดคำนวณผิดพลาด ควรได้รับการแก้ไข แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กที่มีปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ อาจไม่มีปัญหาการคำนวณเลยก็เป็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของเด็กโตจะอยู่ที่ความเข้าใจเป็นหลัก หากจะแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงกันก่อนจะเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ในการเรียนที่ไม่ได้แก้ปัญหาผิดทาง
ครูจา