เนื่องจากครูมีโอกาสได้เข้าไป​เป็น​ out source ของโรงเรียนหลาย​ๆ​ แห่ง​ ก็จะได้เห็นวัฒนธรรม​การดูแลเด็กในแต่ละโรงเรียน​ การปฏิบัติ​ต่อผู้ปกครอง​ การให้คำปรึกษา​ การเรียนการสอน​ นโยบาย​ ของแต่ละโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน​
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้การเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียน​ ทำให้ครูต้องปรับการเรียนการสอนแปรผันตามความพร้อมของเด็ก ไม่ใช่ว่าเด็กมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน​ แต่เด็กได้รับการฝึกทักษะกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน​
เด็กแต่ละคนมีความเป็นปัจเจก​บุคคล​ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เค้าเติบโตมาตั้งแต่เค้าเกิดมา​ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่คุยเล่นกัน​ มีอะไรคุยกัน​ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันบนโต๊ะอาหาร​ โดยทิ้งทุกอย่าง​ มีแต่การสนทนากัน​ จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าความของความสุขเกิดขึ้นจริง​ๆ​ บ้านคือบ้าน​ ไม่ว่าเค้้าจะมีปัญหาสักแค่ไหน​ เค้าจะกลับมาตรงนี้​ ตรงที่มีคนฟังเค้า​ ในทางกลับกัน ถ้าเค้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนไม่พูดไม่จากันก้มหน้าก้มตา​ online อยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ​ เขาก็จะเติบโตมาแบบไม่ได้รู้สึกว่าการปฏิสัมพันธ์​กับคนรอบข้างเป็นเรื่องปกติ​ กลายเป็นเด็กเก็บตัว​ คุณพ่อคุณแม่จะไม่มีทางได้รับรู้ว่าเค้ามีความสุข​หรือเค้ามีปัญหาเรื่องอะไร​ เพราะเค้าไม่เคยเรียนรู้ที่จะพูดเรื่องอะไรตอนไหน​ ไม่รู้ว่าจะมีใครฟังหรือไม่​ ในบ้านเองเขายังไม่รู้จะพูดกับใครเลย​ มันกลายเป็นการสร้างกำแพงขึ้น​เมื่อเขาโตขึ้น​ เขาไม่ได้ถูกสอนให้เข้ากลุ่ม​เพื่อน​ เพราะคุณเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้การอยู่แบบทางเดียว​คือการสื่อสารผ่าน​ social​ ที่เค้าไม่เคยเห็นเลย
อย่าเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้เค้า​ ก่อน​ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของเค้าเพื่อให้เค้าได้เติบโตอย่างมีความสุขไม่ว่าเค้าจะเจออุปสรรค​ใดๆ​ อย่างน้อยคุณยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้้เค้ารู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้ง​ และเป็นกำลังใจให้เค้าได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง​ ไม่มีโรงเรียนไหนดีเท่าโรงเรียนพ่อแม่หรอก…. เชื่อสิ

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

มีกระแสมากมายเรื่องการเรียนพิเศษ​ มีทั้งนักวิชาการ​ นักวิจัย​ จิตแพทย์เด็ก​ ออกมาแสดงความคิดเห็น​ต่างๆ​ แต่โดยรวมไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษ
หากกล่าวถึงเรื่องการเรียนพิเศษ​ในบ้านเรา​ ต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ​ ออกเป็นกลุ่มๆ โดยหากแยกตามวัย​แล้ว​ เด็กเล็กก็ไม่มีความจำเป็น​ที่จะต้องเรียนพิเศษ​ เพราะไม่มีเรื่องที่ยากจนพ่อแม่ผู้ปกครองสอนเองไม่ได้​ แต่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้น​ ในช่วงของประถมปลาย​ ความจำเป็นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในชั้นเรียน​ กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพ​ ซึ่งหมายความถึงครูที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวย่อมถูกคัดกรองอย่างมีคุณภาพ​เฉกเช่นเดียวกับเด็กที่ต้องฝ่าด่านการสอบคัดเลือกอย่างดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้​ เกิดเนื่่องจากคุณภาพของโรงเรียนในบ้านเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน​เดียวกันทั้งหมด​ คุณภาพของครูผู้สอนก็เช่นกัน​ หากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย​ ทำให้ครูในเครื่องแบบในปัจจุบัน​ หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว​ ถ้าไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง​ ก็แทบไม่ได้คิดวิธีใหม่ๆในการสอนเลย​ สอนตามหน้าที่ให้หมดวัน..เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ พอคะแนนสอบออกมาสอบตก ครูก้อบอกให้ไปเรียนพิเศษ..เรียนกับครูก็จะได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ถ้าเรียนที่อื่นคะแนนก้อตามความจริง..คิดเพียงแต่จะหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษ​ให้เด็กมาเรียนกับตน จิตสำนึกของความเป็นครูเพื่อทำให้ลูกศิษย์​มีความรู้เหมือนครูในสมัยก่อนหายไป​ ซึ่งทำให้ผ้ปกครองทุกวันนี้ต้องหาที่เรียนพิเศษ..ไม่ใช่ความผิด ของครูแต่มันเป็นที่ระบบการศึกษาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้ามาเลยเพราะสอบราชการยากมาก ต้องติวจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผ่านการบรรจุ ซึ่งเขาถือว่ามันคือการลงทุน​ การเรียนพิเศษ​ในคนเอเชียกลายเป็นเรื่องปกติ​ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย​ เหตุผลเพียงเพราะ​ ใครๆก็อยากได้ในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น…
..#ฝากไว้สักนิด.. การเป็นครูไม่แค่สอนให้หมดวัน แต่เราต้องสอนเค้าในทุกเรื่องเพื่อให้เค้าเติบโตไปมีความรู้และเป็นคนดี..

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

ในการเรียนในโรงเรียนในแต่ละระดับชั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนในหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้  ซึ่งในแต่ละกลุ่มสาระนั้น จะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น การเรียนในวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ จำเป็นที่จะต้องท่องจำเนื้อหาให้แม่นยำ ส่วนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หากการเรียนใช้วิธีการท่องจำนั้น การท่องจำนั้นไม่สามารถทำให้การเรียนรู้เกิดการประยุกต์ใช้ได้มากนัก เนื่องจากสองกลุ่มสาระดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเพื่อต่อยอดสู่การประยุกต์ในการทำโจทย์ที่แตกต่าง หลากหลายมากขึ้น

จริงอยู่ที่ในการเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องมีการท่องจำทฤษฏีในเบื้องต้น เช่น 5 x 2 หมายถึงการบวกกัน 5 กลุ่มของ 2 (2 + 2 + 2 + 2 + 2) ไม่ใช่  5 + 5 ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่ในความหมายที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ทฤษฏีดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ที่ว่าคำว่าของทางคณิตศาสตร์คือการคูณ หากการเรียนโดยใช้ความจำเพียงอย่างเดียว มักส่งผลให้เมื่อเจอโจทย์ปัญหา หรือโจทย์ประ ยุกต์ ก็จะต้องจำโจทย์ทุกๆ โจทย์ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

หากเป็นเช่นนี้ ที่จะต้องให้เด็กเรียนทุกอย่างด้วยความจำ หลังจากสอบเสร็จ หรือเมื่อเวลาผ่านไป เด็กก็จะลืมในที่สุด แล้ววิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่สามารถต่อยอดออกไป เนื่องจากต้องย้ำเนื้อหาเดิมให้จำได้ก่อนเพื่อจะได้จดจำเนื้อหาใหม่ที่ต่อเนื่องต่อไปให้ได้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเรื้อรังยาวนานไปเรื่อยๆ จนเด็กมีทัศนคติไม่ดี และเกลียดวิชาดังกล่าวในที่สุด หากเป็นเช่นนี้จะดีกว่าหรือไม่ หากเราส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาดังกล่าวด้วยความเข้าใจ มากกว่าด้วยวิธีการท่องจำ

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เป็นการประกาศผลการสอบ o-net ของนักเรียนชั้น ป。6 ,ม。3 และม。6 ซึ่งผู้ปกครองหลายๆ คน มักมีคำถามการสอบ o-net เป็นการสอบเพื่ออะไร มีประโยชน์หรือจุดประสงค์ใด

เรามาดูแนวคิดและจุดประสงค์ของการสอบกัน

วัตถุประสงค์ของการสอบ O-net
1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียน ป.6, ม.3 และ ม.6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

  1. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน
  2. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษา
  3. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ
  4. เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินผลการเรียนของผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
  5. ใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันอุดมศึกษา

จากวัตถุประสงค์ของจัดสอบนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ดี หากได้มีการดำเนินปรับปรุงแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของเด็กหรือพัฒนาการเรียนรู้ตามนโยบายให้ดีขึ้น

แต่จากผลการสอบมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เห็นนโยบายในการพัฒนาการทางด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่วิเคราะห์ได้คือ นโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นนโยบายที่ล้มเหลว ซึ่ง ครูได้มีโอกาสได้คุยกับนักเรียนที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาที่ได้รับนโยบายดังกล่าว เด็กๆ จะไม่มีการเรียน ไม่มีกิจกรรม ในคาบสุดท้าย แล้วครูถามว่าแล้วเด็กๆ ทำอะไร คำตอบที่ได้คือ การท่องโลกอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เค้าเหล่านั้นอย่างอิสระ  ในปีนี้ ผลคะแนนเฉลี่ยของเด็กในกรุงเทพเอง มีเพียงภาษาไทยและสังคมศึกษาเท่านั้น ที่มีคะแนนมากกว่า 50% ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเห็นผลคะแนนเฉลี่ยในระดับประเทศแล้ว เหลือเพียงภาษาไทยวิชาเดียวที่เกินครึ่ง ที่เหลือคะแนนจะอยู่ระหว่าง 30 – 45% เท่านั้น ซึ่งคะแนนที่ครูนำมาอ้างอิงเป็นคะแนนในระดับป。6 เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างชัดเจน เมื่อค่าเฉลี่ยต่ำตั้งแต่ในช่วงชั้นประถม เราก็จะเห็นแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยในระดับที่สูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย  badgradeclipart

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

335338,1282066796,12            ในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization)  ทำให้โลกดูแคบลง วิวัฒนาการรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ มีการแผ่ขยายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดนส่งผลให้การใช้เวลาในการหาข้อมูล การติดต่อสื่อสารได้แม่นยำและรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน การรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เราให้เวลาในการศึกษาถึงผลดี ผลเสียน้อยเกินไปจนทำให้เกิดผลเสีย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ เกมส์

เกมส์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มของเด็กในยุคปัจจุบัน คือเกมส์ที่ผู้เล่นมักเป็นตัวทำลายล้าง หรือ โจรปล้นธนาคาร ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหนีตำรวจ หรือแม้กระทั่งการยิงตำรวจเพื่อให้ได้แต้มมา ในเกมส์จะสอนวิธีการปล้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อเด็กได้เริ่มเล่น ในช่วงแรกจะเป็นการเรียนรู้วิธีเล่นจนรู้สึกสนุก จนเกิดการหล่อหลอมจนเด็กเป็นเด็กที่ก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ปล่อยปละละเลย เพราะถือว่าเป็นเพียงเรื่องในเกมส์ จนกระทั่งการหล่อหลอมนานวันเข้า จนความก้าวร้าวกลายเป็นนิสัยของเด็กโดยที่พ่อแม่หลายๆ ครอบครัวไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ไม่สามารถดึงเด็กออกจากเกมส์ได้ ไม่สามารถใช้เหตุผลกับเค้าได้ ก็ได้แต่มานึกเสียใจกับการหาเพื่อน (ผู้ก้าวร้าว) ให้กับลูกในวันที่ผ่านมา

อย่าให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับครอบครัวของใครเพิ่มขึ้นอีกเลย มิฉะนั้นสังคมเมืองไทยจะกลายเป็นสังคมแห่งความก้าวร้าว เห็นแก่ตัว ในอนาคตอันสั้นไม่นาน

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

images            บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่เข้าใจ หรือค่อนข้างอ่อน หลังจากที่ส่งไปเรียนตามสถาบันต่างๆ หลายสถาบันก็ยังไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของบุตรหลาน มักจะมีความคิดที่จะหาครูเพื่อสอนบุตรหลานแบบตัวต่อตัว ก่อนที่จะคิดแก้ปัญหาโดยการหาครูเพื่อมาสอนบุตรหลานแบบตัวต่อตัวนั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีไหมว่าบุตรหลานของเรามีความจำเป็นในการเรียนแบบตัวต่อตัวเหมือนเด็กพิเศษหรือ เนื่องจากการเรียนคณิตศาสตร์แบบตัวต่อตัวนั้น มักเหมาะกับการที่เด็กไม่สามารถเรียนรวมกับกลุ่มได้ มีสมาธิอยู่ในช่วงสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เหมาะกับเด็กที่เป็นเด็กพิเศษ ดังนั้นจึงต้องมีครูพี่เลี้ยงคอยประกบในการเรียนอยู่ค่อนข้างตลอดเวลา

หากบุตรหลานไม่ได้เป็นเด็กพิเศษ การเรียนแบบตัวต่อตัวในมุมมองของครู แทบไม่ได้ส่งผลดีเลยในการเรียนคณิตศาสตร์ ครูเคยเขียนบทความเรื่องที่ว่าทำไมเด็กบางคนไม่สามารถเรียนในกลุ่มใหญ่ได้ (ลองย้อนกลับไปดูได้นะคะ) การที่เด็กบางคนเรียนตามกลุ่มเพื่อนไม่ทัน ไม่ได้หมายความว่าเขาจำเป็นต้องเรียนตัวต่อตัว เพียงแต่ว่าพื้นฐานและทักษะทางคณิตศาสตร์ของเขาไม่ทันกับกลุ่ม เนื่องจากความเข้าใจยังไม่สามารถเข้ากลุ่มที่เรียนไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งการเรียนคณิตศาสตร์ที่เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้คือการเรียนที่ไม่ได้ไปพร้อมกันการเรียนเป็นการแบ่งกลุ่มเล็กๆ ที่มีเนื้อหาขึ้นอยู่กับเด็กและทักษะความเข้าใจของเด็กแต่ละคน ครูจะต้องทำความเข้าใจหรืออธิบายเนื้อหาให้กับเด็กก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ต้องปล่อยให้เขาทำแบบฝึกหัดในการแก้ไขปัญหา นอกจากเด็กจะเกิดทักษะ และมีกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แล้วยังเป็นการวัดความเข้าใจในบทเรียนที่ครูสอน ว่าเขามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้แล้วการเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ จะทำให้เด็กมีสังคม มีเพื่อน คอยกระตุ้นกันเองด้วย การเรียนแบบตัวต่อตัว ผู้ปกครองมักคิดว่าบุตรหลานจะได้รับความรู้ความเข้าใจเต็มชั่วโมง แต่ในทางกลับกันการเรียนคณิตศาสตร์แบบตัวต่อตัว เป็นความจริงที่ครูจะต้องเป็นคนประกบเด็กตลอดเวลา ถ้าเด็กเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ก็จะไม่กล้าที่จะเริ่มคิดวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง ครูก็จะเป็นฝ่ายที่จะเริ่มชี้นำวิธีคิดให้เขา เช่นเดียวกับเด็กที่เฉื่อย เนื่องจากเป็นเด็กที่เฉื่อยจะไม่พยายามทำอะไรด้วยตนเองอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่มีความพยายามที่จะคิดเมื่อมีคนคอยช่วย กระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองก็ไม่เกิดขึ้น  นอกจากนี้แล้วยังเกิดปัญหาการเข้าสังคมด้วย เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นลูกคนเดียว โดยปกติก็มีปัญหาการเข้าสังคมอยู่แล้ว หากยิ่งจัดสรรการเรียนให้เป็นแบบตัวต่อตัว นอกจากปัญหายังแก้ไม่ถูกจุดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหาด้านสังคมเพิ่มขึ้นอีกปัญหาด้วย

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

images (5)          เคยสงสัยมั้ยว่า เรียนคณิตศาสตร์ไปเพื่ออะไร ทำไมคณิตศาสตร์ จึงเป็นวิชาหลักตั้งแต่ปฐมวัย หรือเด็กหลายๆ คนอ่ตเคยตั้งคำถามนี้กับคุณพ่อคุณแม่ สำหรับวิชาอื่นๆ คงไม่ยากกับการอธิบายให้บุตรหลานได้เข้าใจ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เราก็รู้อยู่แล้วว่าเรียนเพื่อการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ส่วนวิชาสังคม ก็เพื่อให้รู้ประวัติศาสตร์ วิชาพละ ก็เพื่อออกกำลังกายให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ส่วนคณิตศาสตร์ละ ในเมื่อในที่สุดเราก็มีเครื่องช่วยอย่างเครื่องคิดเลขอยู่แล้ว และการทำงานหากไม่ได้เรียนเกี่ยวกับบัญชี คณิตศาสตร์แทบไม่มีส่วนในชีวิตประจำวันเลย

จุดประสงค์หลักในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น เพื่อฝึกการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล โดยใช้ความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนมา หรือการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานในการแก้ปัญหาหลายขั้นตอน เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เนื่องจากคำตอบในโจทย์ปัญหาแต่ละข้อนั้นมักมีคำตอบเพียงคำตอบเดียว แต่ในการหาคำตอบสามารถคิดได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรู้พื้นฐานของเด็กแต่ละวัยที่จะใช้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเด็กๆ แทบจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองเลย   แม้กระทั่งการเรียน คราวนี้เรามาดูรายละเอียดการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปัจจุบัน การเรียนในปัจจุบันนี้ เด็กๆ จะถูกส่งเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นการเรียนในแนวติว (นั่นคือการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานแล้ว) การเรียนในแนวติว เปรียบเหมือนกับการชี้ทางให้เด็กเรียบร้อยแล้ว โดยที่เด็กๆ ไม่ต้องฝึกทักษะหรือกระบวนการคิดขั้นพื้นฐานก่อน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองเน้นผลการสอบหรือเกรดของเด็กเป็นหลัก จึงมักส่งเด็กเรียนในแนวดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เด็กขาดการฝึกฝนทักษะกระบวนการคิดของตนเอง ดังนั้นหากต้องการให้เด็ก สามารถที่จะคิดเป็นระบบ เราควรให้อาวุธคือความรู้พื้นฐานแก่เด็กๆ ให้โอกาสและเวลากับเขา ในการฝึกทักษะและกระบวนการซึ่งเด็กๆ จะต้องเป็นผู้สร้างเองจากการทำแบบฝึกหัด เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในการแก้ปัญหาได้อย่างรอบคอบและเป็นระบบในที่สุด

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

จากกระแสที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูตอนนี้  นั่นก็คือ รายการไทยแลนด์ ก๊อต ทาเลนท์ 2013 ที่มีการออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการสัญญาณหลาย ๆ อย่างมายังสังคม หากกรณีนี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่ใช่เจตนาของผู้จัดรายการ ก็สามารถสื่อให้เห็นได้ว่า สังคมไทยมันอยู่ในช่วงขาลงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มันเป็นสัญญาณของบ่งบอกถึงทัศนคติการดูแล เอาใจใส่ หรือ การเลี้ยงดู แต่สิ่งที่บ่งบอกชัดเจนคือ ผู้จัดรายการใช้สื่อโดยไม่นึกถึงผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากรายการนี้เป็นรายการที่สามารถตัดต่อเทปได้  แต่ทางผู้จัดก็ไม่คิดจะตัดตอนนี้ออกไป อีกทั้งรายการนี้เป็นรายการในช่วงเย็นของวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักอยู่หน้าจอทีวี แต่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ในการสร้างกระแสเพื่อให้รายการเป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้ง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ปกครองหลาย ๆ คนที่ปล่อยเด็ก ๆ ไว้หน้าทีวี โดยการเลือกช่วงเวลาของเด็ก ๆ ควรจะอยู่หน้าจอทีวี (ที่ผู้จัดรายการขาดสำนึกผู้รับผิดชอบต่อสังคม) ผู้ปกครองควรจะอยู่กับบุตรหลานเพื่อคอยชี้แนะ ทั้งในสิ่งที่ดี และสิ่งที่ไม่ดี เนื่องจากเด็ก ๆ ยังไม่สามารถเลือกเสพแต่รายการดี ๆ ได้ด้วยตนเอง

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

คราวนี้เราก็พอมองภาพกว้าง ๆ ออกแล้วว่า เราไม่ควรให้ความสนใจ หรือพัฒนาทักษะ หรืออัจฉริยภาพในด้านเดียว แต่ควรให้เด็กมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกาน คราวนี้มาดูว่าอีก 2 Q ที่เหลือจะหมายถึงอะไร และมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร

ความฉลาดทางสังคม (SQ) ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านให้คำจำกัดความว่า เป็นการที่บุคคลสามารถเจรจา ต่อรอง ในสภาวะต่าง ๆ หรือความเข้าใจในภาวะต่าง ๆ และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างฉลาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ทดสอบด้าน SQ ที่ได้คะแนนมากกว่าจะมีความฉลาดทางสังคมมากกว่า เพียงแต่คนแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อ ความมุ่งมั่น ความสนใจ ความหวังและทัศนคติที่แตกต่างกันเท่านั้น

แต่ในทางกลับกันหากเด็กไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะในการเข้าสังคม เมื่อเขาต้องเข้าสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจจะทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกอึดอัด ขัดข้องได้ หากเขารู้สึกว่าไม่อยากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มันอาจเป็นแรงกระตุ้นให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากเขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ (นั่นก็คือ ทัศนคติที่แตกต่างกันนั่นเอง) เขาก็ไม่เดือดร้อนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

สุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ MQ คือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีน้ำใจ ความเข้าใจผู้อื่น การรู้จักแยกแยะดีชั่ว สิ่งเหล่านี้หลาย ๆ คนมักคิดว่าเป็นเรื่องที่สอนยาก แต่จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เรียนรู้จากการเห็นตัวอย่างที่พ่อแม่เป็นผู้กระทำ และเด็ก ๆ จะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับรู้ ได้สัมผัส เป็นสิ่งที่เขาแสดงออกมา  MQ  เป็นสิ่งที่มีผลต่อสังคมมากที่สุด นั่นคือ หากเด็กถูกปลูกฝัง ให้รู้จักความดี ความชั่ว บาป บุญ คุณ และโทษ สังคมก็จะน่าอยู่ แต่ถ้าเด็กถูกสอนให้รู้จักแต่เอาชนะไม่ว่าจะด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ หรือไม่ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็ไม่น่าอยู่เสียแล้ว

สุดท้ายเราคงต้องฝากอนาคตของชาติ สังคมไทย ที่อยู่ในมือของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าจะทำให้สังคมผันแปรไปในทิศทางใด หรือ อยากให้ลูกหลานเติบโตในสังคมแบบใด

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

        ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง หรือมีวิวัฒนาการเพียงไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือ การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็ก ๆ ซึ่งก็คือ ครอบครัว จนกระทั่งสังคมที่ใหญ่ขึ้น
จากกระแสข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ ,วิทยุ หรือแม้กระทั่งทางสังคมออนไลน์ หลายคนคงตระหนักได้ถึงแนวโน้มและทิศทางของสังคมที่แย่ลงเรื่อย ๆ หากแต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรม ศีลธรรม มัวมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ตัวเลขทางการตลาด มุ่งหาแต่ประโยชน์ตน จนขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาต่าง ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต เป็นไฟไหม้ฟาง หากสังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ครอบครัว” มีการเตรียมความพร้อม โดยการสร้างภูมิต้านทาน นั่นก็คือ การร่วมกันสร้างสมาชิกที่มีคุณภาพ นั่นหมายถึงสมาชิกตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ไม่ว่าสิ่งใด ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป ยังคงมีอีกอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรื่องของพัฒนาการในแต่ละวัย เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงปฐมวัย ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ และการตอบสนองอย่างถูกทาง จากพ่อแม่ผู้ปกครอง จนเมื่อเขาเหล่านั้นก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่เขาก็ยังต้องการความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาเกิดความผิดพลาด คอยบอกข้อผิดพลาดเพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวต่อไปในสังคมที่กว้างขึ้น
หากลองสืบค้นกัน จะพบว่าปัญหาของเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และก้าวร้าว มักเกิดจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความเอาใจใส่ หรือตอบสนองต่อความต้องการของเด็กที่ผิด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นบางครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องข้าวของเงินทอง จนลืมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคน คือความกตัญญู ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คุณค่าของคนอื่น หรือแม้กระทั่งตัวเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความถูกต้อง
ดังนั้น หากเราต้องการสังคมคุณภาพ ก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมของตนเอง ในการเลี้ยงดูสมาชิกตัวน้อย นั่นคือการให้ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างจิตสำนึกของความรู้จักผิดชอบชั่วดี โดยการทำโทษเมื่อทำผิด ชื่นชมเมื่อเขาเป็นคนดี ให้อภัยเมื่อเกิดความผิดพลาด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาด เพื่อเป็นบทเรียนให้เขาก้าวเดินไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments