Feb 05
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ของการสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจยังมีความไม่เข้าใจอยู่บ้าง เรามาดูว่าการสอบ O-Net เป็นการสอบเพื่ออะไร และส่งผลอย่างไรกับใครบ้าง
ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า O-Net กันก่อน ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Ordinary National Educational Test ซึ่งเป็นข้อสอบกลางที่ออกมาจาก สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดยจะมีการสอบ 8 กลุ่มสาระ ผลการสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นหลัก โดยคะแนนของเด็กแต่ละคนจะมีการเปรียบเทียบกับโรงเรียนของตนเอง โรงเรียนในเขตพื้นที่ เทียบขนาดของโรงเรียน เทียบคะแนนระดับจังหวัด และภูมิภาค หลักๆ แล้วการจัดการสอบเพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นหลายๆ โรงเรียนจึงมีการเรียนเพิ่มโดยมีติวเตอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาสอนให้กับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนจัดอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ ส่วนหลายๆ โรงเรียนผลของการสอบประเมินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ก็ไม่เห็นได้รับการแก้ไข หรือกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้เด็กมีคุณภาพของการเรียนการสอนมากขึ้น หากผลของการสอบไม่ได้มีผลกับทั้งตัวนักเรียน เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น การสมัครสอบอยู่ในช่วงเวลาที่ผลสอบยังไม่ออก และการสอบคัดเลือกของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น ระดับความซับซ้อนของการสอบในวิชาหลักจะมีความยากกว่าการสอบ O-Net อย่างมาก เด็กในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น จะมีระดับคะแนน O-Net ที่สูงมากใกล้เคียงกันหมด จึงไม่สามารถนำข้อสอบกลางชุดดังกล่าวมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย นอกจากนี้แล้วทางฝ่ายทะเบียนก็ยุ่งยากเกินกว่าที่จะนำคะแนนมามีส่วนในการคัดเด็กด้วย
ดังนั้นหากการสอบระดับชาตินี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาของการเรียนการสอนในโรงเรียน ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดให้กับภาครัฐว่าโรงเรียนบางโรงจำเป็นต้องมีบุคลากรครูที่ต้องมีการอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ก็หยุดใช้งบประมาณส่วนนี้ ที่ให้ผู้บริหารกระทรวงเดินทางต่างประเทศเพื่อดูงานการศึกษาในหลายๆ ประเทศอย่างไร้ประโยชน์ พร้อมกับ งบประมาณที่ใช้ในการจัดสอบ มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ด้านการศึกษาในเรื่องอื่น เช่นการซื้ออุปกรณ์ในห้องทดลอง หรือสื่อการเรียนการสอนที่มีประโยชน์กับการเรียน ยังดีกว่าการทุ่มงบประมาณไปกับข้อสอบระดับชั้นละ 8 ฉบับกับผลที่เป็นเพียงกระดาษ 2 แผ่น ที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนอย่างแท้จริง
Mar 28
Posted by malinee on Wednesday Mar 28, 2018 Under เกร็ดความรู้
จากกระแสข่าวเรื่องการสอบแข่งขัน เข้าเรียนในชั้น ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต จนเป็นกระแสทำให้มีข่าวว่าจะไม่ให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในชั้น ป.1 เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เราจะพบเห็นกันเป็นประจำในการสอบคัดเลือกในทุกระดับชั้น การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในทุกช่วงชั้นในบ้านเรา
หลายๆ คนก็คงเคยได้ยินว่าในหลายๆ ปะเทศก็มีการแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐเช่นกัน (เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น) แต่หากเราลองมาดูถึงรายละเอียดกันจะพบว่า ในการแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกๆ โรงเรียนรัฐ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนบางโรงเรียนเหมือนอย่างบ้านเรา สาเหตุของการแข่งขันดังกล่าวในบ้านเราแตกต่างจากประเทศที่กล่าวมาแล้ว นั่นเป็นเพราะมาตรฐานของโรงเรยนในบ้านเราไม่เท่าเทียมกัน ความสามารถในการสอนแตกต่างกัน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานศึกษาเกิดกระจุกอยู่เพียงโรงเรียนไม่กี่แห่ง นอกจากนี้แล้ว การประเมนผลในระดับประเทศของบ้านเรา มักนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละโรงเรียน เทียบกับขนาดของโรงเรียน เทียงระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ และประกาศกันอย่างแพร่หลาย
ดัชนีชี้วัดดังกล่าวแทนที่จะนำมาช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือเป็นตัวชี้วัดว่าต้องมีการเพิ่มศักยภาพของการเรียนการสอนของครูผู้สอน ให้มีสัมฤทธิผลที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นตัวชี้วัดการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน มาประกอบกับแถลงการณ์ของกระทรวงศึกษา ที่รับจำนวนเด็กต่อห้องไม่เกิน 40 คน ยิ่งเป็นเหตุให้อัตราการแข่งขันเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ เหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดกลุ่มเด็กที่แยกกันอย่างชัดเจน คือเด็กในกลุ่มที่ฐานะทางบ้านไม่สามารถแทรกตัวบุตรหลานให้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีครูที่(พ่อแม่คาดหวังว่า)ดีได้ ก็จะต้องไปอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสเลือกเท่าใดนัก เด็กที่รวมตัวกัน จะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยใส่ใจในการเรียนเท่าใดนัก สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของสังคม
ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีผู้ที่คิดจะลงมือแก้ไขปฏิบัติ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป นั่งในตำแหน่งเพื่อรับเงนเดือน และเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล แต่ไม่ได้คิดที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ เพราะคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานเกินกว่าจะแก้ไข หรืออาจนั่งในตำแหน่งแต่ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เกิดในสังคมปัจจุบันเกี่ยวกับการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข เพราะรับช่วงต่อจากผู้บริหารคนเก่า เสมือนตำแหน่งที่ได้มาเป็นสมบัติผลัดกันชม ได้แต่ทำตามในสิ่งที่เคยทำ ให้เวลามันผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
Jan 07
ต่อจากนี้ไป จะเป็นช่วงที่เด็กๆ จะต้องเรียนกันหนัก หลังจากการเที่ยวปีใหม่ผ่านไป เนื่องจากเด็กหลายๆ คนต้องมีการย้ายโรงเรียน จากชั้นประถม สู่ชั้นมัธยม และในปีการศึกษาหน้า การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลายๆ โรงเรียน จะเพิ่มอัตราส่วนของเด็กในพื้นที่มากขึ้น นั่นส่งผลให้ เด็กๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ของโรงเรียนดัง ต้องฝ่าด่านกันมากกว่าเดิม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานให้ได้เข้าโรงเรียนที่ได้เลือกไว้ สิ่งที่ทำได้ คือการสมัครลงสอบ Pre Test เพื่อให้ลองสนามจริง กับเวลาในการทำข้อสอบจริง
คราวนี้เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับการสมัครสอบ Pre Test เนื่องจากเป็นการสอบ Pre Test จะรับนักเรียนประถมปลาย และผลการสอบก็ออกมาทั้งคะแนนสอบ ค่ากลาง และลำดับของการสอบ การสอบ Pre Test มีข้อดีคือ ทำให้เด็กๆ ได้รู้ข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง และได้เตรียมตัวให้มากขึ้น แต่ผลของลำดับที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า เด็กจะไม่ผ่าน หรือ ผ่านการสอบคัดเลือกดังกล่าว เด็กหลายๆ คนยังมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมได้อีก หนึ่งถึงสองปี นอกจากข้อดีดังกล่าวแล้ว ยังเป็นแนวให้ผู้ปกครองอีกว่า บุตรหลานจะเหมาะกับการสอบคัดเลือกในสนามนั้นหรือไม่ หากต้องทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเค้า ทำได้แค่เพียงการเข้าสถาบันกวดวิชาทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ทำให้ทักษะ หรือประสบการณ์ต่างๆ น้อยลง สู้ลดระดับการแข่งขันลง แต่เสริมกิจกรรม สร้างสรรค์ และเพิ่มทักษะด้านอื่นๆ คู่ไปด้วยจะดีกว่า เพราะเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่สำคัญ คือประสบการณ์ และทักษะต่างหาก ที่ทำให้เค้าดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข