ชี้การศึกษาไทย’ระบบขนมชั้น’
Posted by malinee on Friday Dec 23, 2011 Under Uncategorized, ข่าวการศึกษาจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์
วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ชี้การศึกษาไทย’ระบบขนมชั้น’ อนาคตเด็กอัจฉริยะ’สมองฝ่อ-สูญสิ้น’ โดย… ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ
โจทย์ใหญ่ที่สังคมต้องร่วมหาคำตอบให้เร็วที่สุด กับเด็กเยาวชนอนาคตของชาติที่กำลังเผชิญกับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ ส่งผลให้กล้าไม้พันธุ์ดี เฉกเช่น “เด็กที่มีความสามารถพิเศษ” หรือ “เด็กอัจฉริยะ” หรือ “เด็กหัวกะทิ” ไร้ซึ่งปุ๋ยคุณภาพบำรุงรากให้เติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ให้ร่มเงาแก่สังคมต่อไป
ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษและเด็กที่มีความต้องการพิเศษแห่งชาติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะ “กูรูเด็กอัจฉริยะ” บอกว่า เป็นที่ทราบกันว่า ” เด็กที่มีความสามารถพิเศษ” สมองที่เป็นเลิศทางความคิดด้านทักษะต่างๆ เหนือกว่าคนปกติ ถ้าคิดชอบจะทำอะไรต้องทำได้สำเร็จ และผลงานออกมาดี แต่ “น่าเสียดายที่ไม่ว่าจะยุคไหน รัฐบาลใครก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลอย่างถูกวิธีให้เขาได้ใช้ศักยภาพสร้างสังคมให้ทัดเทียมนานาประเทศ”
ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ภาพที่ปรากฏด้านเด็ก การจัดการการศึกษาของไทย ยังคงเดินตามหลังประเทศแถบยุโรปอยู่มาก ทั้งๆ ที่มีแนวทางการจัดที่สามารถนำการศึกษาให้มีคุณภาพได้ แต่ติดที่ไม่มีใครคิดที่จะวางแผนการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ตราบใดที่การเมืองยังคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลใหม่ กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอีกกี่ปีการศึกษาก็ยังคงไม่มีคุณภาพเช่นเคย
“สถิติเด็กเกิดประมาณ 7-8 แสนคนต่อปี จะมีเด็กที่มีความสามารถพิเศษประมาณจำนวน 7-8 หมื่นคนต่อปี เกือบทั้งหมดที่ถูกลืมจากสังคมผู้มีอำนาจบริหารการจัดการ ท้ายที่สุดพวกเขาต้องกลับคืนสู่สังคมเสมือนคนปกติทั่วไปมาถึงวันนี้”
ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาที่ทำงานด้านนี้ ยอมรับว่าเหนื่อยมาก เหนื่อยจริงๆ แทนที่จะสนับสนุนส่งเสริมเด็กที่มีอยู่จำนวนน้อยมากได้รับการพัฒนา…แต่กลับต้องวิ่งป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกไป ซึ่งมันยากและเหนื่อยกว่ากันเยอะ
ถามว่าวันนี้ควรจะเริ่มได้หรือยัง “กูรูเด็กอัจฉริยะ” บอกว่า มันควรเริ่มได้ เพราะการเริ่มต้นไม่มีคำว่าสาย เริ่มจากการปรับ ” การศึกษาที่เป็นแบบขนมชั้น” ไม่มีซ้ำชั้นเรียน ให้ ” เรียนตามศักยภาพ” ก่อนเข้าเรียนเด็กทุกระดับชั้นต้องทำ “แบบทดสอบเพื่อวัดการศึกษารายบุคคล” เพื่อจัดว่าเด็กมีความรู้แต่ละวิชามากน้อยแค่ไหน แล้วจัดให้เข้าเรียนตามชั้น เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แบบ 3 ชั้นตามลำดับความยาก เช่น เด็กบางคนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้น 1 แต่วิชาวิทยาศาสตร์เรียนชั้น 3 บางคนทุกวิชา แต่ระดับชั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถพิเศษของเด็กแต่ละคน
ส่วนครูก็ต้องมีเครื่องมือที่จะวัดเด็ก เสมือนคุณหมอมีเครื่องมือใช้ตรวจผู้ป่วยว่าจะมีแนวทางการรักษาด้วยวิธีใด แต่ครูไทยไม่มีอะไรสักอย่าง เด็กมาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ใครเรียนได้ไม่ได้ก็ไม่รู้ หากเด็กทำไม่ได้ก็ลอกเพื่อน สุดท้ายก็ไม่ได้เลื่อนชั้นอยู่ดี
“ครูไทยสอนคูณเลข ทั้งๆ ที่เด็กบางคนยังบวกเลขไม่เป็นด้วยซ้ำ ยังไงละเด็กคนนั้นก็ตายไปเลย บวกเลขก็ยากแล้วยังต้องมาคูณ แต่ถ้ามีการสอบวัดแวว และเรียนตามชั้น เชื่อว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” กูรูเด็กอัจฉริยะ กล่าว
“กูรูเด็กอัจฉริยะ” บอกว่า การจัดการศึกษาและดูแลให้เข้ากับสภาพของเด็ก ยกตัวอย่างเด็กนักเรียนในคนหนึ่งในโครงการ ศึกษาอยู่ชั้นป.5 วันปกติจะเรียนที่โรงเรียนกับเพื่อนวัยเดียวกัน ชั้นเดียวกัน ส่วนวันเสาร์ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย “กูรูเด็กอัจฉริยะ” เล่าว่าตอนที่เรียนที่ห้องกับเพื่อนๆ เด็กมีพฤติกรรมไม่ดี ก้าวร้าวกับครู ไม่ส่งการบ้าน หนีเรียน แต่ไม่น่าเชื่อว่าเพื่อน คณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชื่นชมเด็กคนนี้ว่า นิสัยดี ตั้งใจเรียน เข้ากับทุกคนได้ดี นั่นแสดงว่า เด็กจะทำได้ดีเพราะเขาอยู่ในที่ที่เขาควรอยู่
“ตอนที่อาจารย์เรียนอยู่ต่างประเทศ มีเด็กคนหนึ่งเรียนระดับประถม แต่ไปเรียนกับพี่ๆ ในมหาวิทยาลัย พอตกกลางคืนพี่ๆ จะไปเที่ยวสาว พกถุงยางอนามัยติดตัว เอาออกมาให้น้องดู น้องก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ใช้ทำอะไร น้องก็เลยไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่าน เห็นไหมตลกนะเพราะในบางมุมเขาก็ยังเด็กๆ” “กูรูเด็กอัจฉริยะ” กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม จะต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี หากแต่เขาถูกปล่อยปละจะทำให้สมองกลับสู่ภาวะปกติ เช่น มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ แต่หากเด็กต้องไปเรียนดนตรี เขาจะทำไม่ได้ดีเท่าสิ่งที่เขาชื่นชอบ แต่หากได้เรียนคณิตศาสตร์เขาจะทำได้ดี และได้เร็วกว่าคนอื่นๆ เช่น ใช้เวลาเรียน 10 วัน แต่เด็กคนนี้อาจเรียนแค่ 5 วัน
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องไปยัดเยียดให้เขาเรียนหนัก ฝึกหนัก นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพียงแค่อย่าให้เขาทิ้ง ต้องได้เรียนสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากเด็กไม่ได้อยู่ทำในสิ่งที่เขาชอบและมีความสามารถ จะส่งผลให้สมองที่เป็นอัจฉริยะกลายเป็นคนปกติทั่วไป หรือที่เรียกว่า สมองฝ่อไปเลยก็ได้
ขณะเดียวกันการดูแลด้านจิตใจ อารมณ์ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเพื่อนที่เรียนวัยเดียวกันอาจจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เพราะความคิดเขาเหมือนผู้ใหญ่ในเรื่อง หรือเมื่อคุยกับผู้ใหญ่อาจจะไม่รู้เรื่อง เพราะในบางมุมอาจมีนิสัยเป็นเด็ก ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องดูแลอย่างเหมาะสม ปรึกษานักวิชาการควบคู่ไปด้วย
————————————————————