Jun 04

เป็นที่ถกเถียงกันมากมายเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตในช่วงที่ผ่านมา นักวิชาการหลายๆ ท่านก็มีความคิดเห็นที่ไม่สนับสนุนให้พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปติวหนักเป็นปี เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกปี การส่งให้เด็กติวเข้านั้น ใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองย่อมคาดหวังว่าเม็ดเงินที่เสียไป จะต้องทำให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีในสายตาของตนเอง
การติวเข้าโรงเรียนแนวสาธิต จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กในเรื่องของเชาวน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสถาบันต่างๆ มักสร้างสถานการณ์ในช่วงของการใกล้สอบจนบางครั้งมีเด็กบางคนเกิดอาการเครียด โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ ผู้ปกครองยังส่งผลต่อเด็ก เมื่อเขาไม่ได้มีชื่อที่ผ่านการสอบคัดเลือก ซึ่งการไม่ได้รับเลือกเป็นนักเรียนในโรงเรียน ไม่ได้มีผลต่อตัวเขา หรือความรู้สึกใดๆ เลย แต่ผู้ที่มีผลกับเขาคือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหมือนพู่กันที่แต้มสีสันลงบนความรู้สึกนึกคิดของเขามากกว่า หากส่งผ่านความผิดหวังไปที่เด็ก ก็เปรียบกับการแต้มสีดำ หรือเทา ทำให้ผ้าขาวเกิดจุด หรือรอยด่างดำ ซึ่งมันจะติดตัวเขาไปตลอด ความรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะบ่มเพาะจนกลายเป็นลักษณะนิสัยของเขาไปเลย ซึ่งเด็กในวัยอนุบาลไม่ใช่วัยที่จะต้องก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพื่อสอบจอหงวน เขาควรได้เล่นเป็นกลุ่มกับเพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม เล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นเป็นกลุ่มยังส่งผลให้เขาได้แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยในการเล่นอีกด้วย มันเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน นอกจากนี้แล้วการเล่นยังเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุขในวัยนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็ควรจะเป็นจิตรกรผู้แต่งแต้มสีสันอันสดใสให้กับเขา ชีวิตในวัยเด็กที่สดใส สนุกสนาน ให้ได้อยู่กับเขาได้นานที่สุด
แต่เมื่อโตขึ้น ในวัยที่เขามีความต้องการที่จะเลือกโรงเรียน แนวการเรียนของเขาเอง บางครั้งพ่อแม่ก็ยังทำตัวเหมือนเดิม เลือกทุกอย่าง รวมถึงปกป้อง จนเด็กไม่ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกใดๆ เลย จริงๆ แล้วหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังคงมีหน้าที่รักเค้าเหมือนเดิม แต่เมื่อเค้าโตขึ้น ต้องฝึกให้เค้าได้มีทักษะด้านอารมณ์ ให้มากขึ้น ให้รู้จักอดทนอดกลั้นมากขึ้น พ่อแม่เป็นเพียงผู้ชี้แนะ แล้วให้เขาเป็นผู้เลือกชีวิตและทางเดินของเขาด้วยตัวเอง เรามีหน้าที่ยอมรับในการตัดสินใจของเขา และเมื่อเขาผิดหวัง เขาต้องยอมรับข้อผิดพลาด รู้จักความผิดหวัง ต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนการเรียน การเลือก และสุดท้ายคือจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกที่อาจผิดหวัง โดยมีพ่อแม่ เป็นผู้ที่คอยให้กำลังใจเมื่อเขาท้อแท้ หรือผิดหวัง ชื่นชมในความสำเร็จแม้เพียงเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม
May 17
Posted by malinee on Thursday May 17, 2018 Under เกร็ดความรู้

ระบบการศึกษาไทย ยิ่งปรับยิ่งก้าวหน้าหรือถอยหลัง แต่เดิมที่มีการสอบคัดเลือกเพียงครั้งเดียว โดยให้เลือกอันดับของคณะและสถาบันที่ต้องการเรียน ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนให้มีการสอบเป็นสองรอบ เพื่อให้ปรับแก้วิชาที่ยังคะแนนได้ไม่ดี จนมาถึงปัจจุบันเป็นระบบที่เรียกว่า TCAS ซึ่งแบ่งเป็นการสอบและยื่นคะแนนออกเป็น 5 รอบ โดยในแต่ละรอบจะใช้คะแนนที่แตกต่างกัน โดยแยกเป็นรอบดังนี้
รอบแรก คือการยื่น portfolio ซึ่งในรอบนี้มหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
รอบที่ 2 เป็นรอบของโควตามหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน โดยราคาเริ่มต้นที่ 300 บาทถ้าเลือกสอบที่เดียว เพิ่มอีกที่ละ 200 บาท รวม 4 วิชา 900 บาท
รอบที่ 4 แอดมิชชันราคาเริ่มต้นที่ 100 บาทถ้าเลือกสอบที่เดียว เพิ่มอีกที่ละ 50 บาท รวม 4 ที่ 250 บาท
รอบ 5 รับตรงอิสระมหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
โดยมีค่าสอบในข้อสอบกลางดังนี้
- GAT/PAT วิชาละ 140 บาท ตามเกณฑ์ของคณะที่สนใจ
- 9 วิชาสามัญ วิชาละ 100 บาท
- วิชาเฉพาะ กสพท 800 บาท
- ข้อสอบตรงของมหาวิทยาลัย
- O-Net ไม่เสียค่าใช้จ่าย
จากการแจกแจงค่าใช้จ่ายด้านบน เราจะพบว่า หากการเลือกสอบในแต่ละรอบไม่ได้คะแนนตามเกณฑ์ของคณะที่กำหนด เราจะต้องสมัครในรอบต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในแต่ละขั้นตอน เด็กๆ จะต้องมีการสอบเผื่อในทุกๆ รอบ จะเห็นว่าไม่ว่าจะสอบในรอบไหนๆ ก็เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการสอบ และส่วนของการยื่น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะที่มั่นคง ก็อาจถูกตัดโอกาสทางการศึกษาไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นช่องว่างจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจเป็นปัญหาทางสังคม เพราะเขาเหล่านั้นอาจคิดว่าการทำอาชีพสุจริตได้รายได้น้อยเกินกว่าที่จะใช้จ่าย และก่อให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมกันตามมาเป็นลูกโซ่
Aug 02
Posted by malinee on Wednesday Aug 2, 2017 Under เกร็ดความรู้
ปัจจุบันนี้ วัยของการส่งบุตรหลานเรียนพิเศษจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเพียงเพื่อให้บุตรหลานได้เตรียมตัวกับเนื้อหาใหม่ๆ เท่านั้น กับอีกกลุ่มเพื่อให้เด็กๆ เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพิ่มอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เปิดขึ้นทุกๆ ปี และมีอยู่หลากหลายสนามการแข่งขัน
ดังนั้น ลักษณะการเรียนในเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะแตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก จะเรียนแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเร่งเนื้อหาเกินชั้นปีที่เรียนอยู่ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาและสามารถดูแลเรื่องการเรียนของบุตรหลานได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในที่ต่างๆ แต่เด็กอีกกลุ่มจำเป็นต้องเรียนอย่างหนัก และต้องมีการเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั้นปี (เนื่องจากการแข่งขันในสนามต่างๆ มักใช้ข้อสอบที่เกินเนื้อหาที่เรียน) นอกจากจะต้องเรียนเนื้ัอหาที่เกินระดับชั้นแล้ว ยังต้องมีการเรียนเทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ
เราจะเห็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ มากมายที่มักโชว์รูปเด็กที่ผ่านการคัดเลือก หรือชนะเลิศในการแข่งขันระดับต่างๆ อยู่มากมาย รูปของเด็กบางคน อาจถูกติดอยู่กับสถาบันมากกว่าหนึ่งสถาบัน (นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนที่ต้องชิงแชมป์ในสนามต่างๆ ต้องวิ่งเรียนในสถาบันต่างๆ มากกว่า 1 แห่ง) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มักมองว่าที่ทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเขา เพราะรักและ ปรารถนาดีกับเขา จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ
การเรียนในแบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับการที่เด็กอยู่กับเกมส์หรือทีวี แต่การเรียนในแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เวลาในวันหยุดที่จะได้เที่ยววิ่งเล่น ก็หมดไป เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวก็ลดลง เด็กในกลุ่มนี้ ก็จะเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีทักษะด้านสังคม หรือด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลายๆ คนคิดว่าเด็กในกลุ่มสายแข่ง ที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับดีมาก ควรจะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีเช่นกัน ข้อความนี้จะเป็นความจริง หากเด็กมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในกระบวนการประยุกต์ในแบบของตัวเอง ไม่ใช่โปรแกรมที่ถูกป้อนให้ทำซ้ำจนจำได้ขึ้นใจว่า โจทย์ในลักษณะแบบนี้ต้องแก้อย่างไร
หากคุณพ่อ คุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็กของตนเอง หลายๆ คนจะเห็นภาพของตนเองเล่นซน การทะเลาะกันกับพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แต่สุดท้ายก็ยังเล่นกันเหมือนเดิม มากกว่าการนั่งเรียนตั้งแต่วัยประถมแบบปัจจุบัน ลองเอาตัวเราเองไปนั่งแทนที่ลูก ว่าเขามีความสุขกับการแข่งขันหรือเปล่า เขาพอใจกับรางวัลที่ได้เมื่อเทียบกับความทุ่มเทหรือไม่ การแข่งขันสำหรับบางคนอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เพราะหากเขาคิดว่าทุกๆ คน แม้แต่เพื่อนคือคู่แข่ง ต้องการแข่งกับทุกๆ คน จนกลายเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ หรือแพ้ไม่เป็น จนไม่รู้จักแบ่งปัน (ความรู้) สุดท้ายเขาก็จะถูกสังคมบีบให้อยู่คนเดียว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากสักวันที่เขาจะต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง สู้ให้เขาเรียนรู้ที่จะแพ้ ชนะ และให้อภัย เพื่อให้เขาได้มีเพื่อน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันอย่างมีความสุขจะดีกว่าไหม
Jan 25
ครูขอเล่าประสบการณ์ในการสอนจินตคณิตให้ฟัง เรื่องก็มีอยู่ว่า มีเด็กหญิงชายคู่หนึ่ง เร่มเข้ามาเรียนจินตคณิตกับทางสถาบันเรา โดยที่เด็กผู้หญิงเข้ามาเริ่มเรียนก่อน เด็กผู้หญิงเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ ตั้งใจเรียน จนสามารถเรียนอยู่ในระดับที่ดีมาตลอด เด็กผู้หญิงคนนี้ สามารถเรียนโดยมีอัตราเร็วในระดับที่สามารถเร่งได้ จึงเรียนแบบเร่งมาตลอด ต่อมาเด็กผู้ชายที่เป็นเพื่อนเรียนในโรงเรียนเดียวกันมาเรียน เขาเริ่มไต่จากระดับเด็กเล็กมาเรื่อยๆ โดยเรียนตามอัตราเร็วของเด็กปกติทั่วไป การเรียนก็ดำเนินต่อไปโดยที่เด็กผู้ชายค่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ โดยมีเด็กผู้หญิงเป็นเหมือนต้นแบบ เขาอยากเก่งแบบเด็กผู้หญิง จึงใส่ความตั้งใจในการเรียน การฝึกฝนอย่างเต็มที่ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีความรู้สึกว่าตนเองนำหน้าเด็กผู้ชายไปแล้ว เกิดความประมาท ความตั้งใจที่เคยมีจึงลดลง สมาธิที่เคยดีก็กลับแย่ลงเรื่อยๆ เชื่อหรือไม่ว่าขณะนี้การเรียนของทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกัน โดยมีเด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะจินตนาการได้แม่นยำ และใช้เวลาสั้นกว่าเด็กผู้หญิง
ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นจริง เหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สาเหตุเกิดเนื่องจากการเปรียบเทียบกัน เด็กผู้หญิงคิดว่าตนเองเรียนได้เร็วกว่าก็เกิดความประมาท ไม่ฝึกฝนตนเอง มีความมั่นใจเกินไป ในขณะที่เด็กผู้ชายมีความพยายามเพื่อให้ถึงจุดหมายที่วางไว้ จึงมีความตั้งใจ และฝึกฝนตนเองเพื่อให้ถึงจุดหมายได้ในเร็ววัน เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหากเด็กทุกๆ คนไม่คอยเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เพียงแต่ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด ความสามารถที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การคอยแต่พะวงกับคู่แข่ง เปรียบเสมือนกับการปีนเขา ถ้าเราคอยพะวงข้างหลังสมาธิที่จะไต่ขึ้นสูงจะเสียไปจนอาจทำให้เราตกเขาลงมาเลยก็ได้ การเรียนจินตคณิตก็เช่นกันเด็กๆ จะต้องมีสมาธิในส่วนของตนเอง หากคอยไปพะวงเรื่องอื่น ก็เป็นเหตุให้สมาธิของตนเองในการก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นเสียไป ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยโดยการไม่สร้างความกดดันบุตรหลาน โดยการเปรียบเทียบบุตรหลานกับเพื่อนๆ เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนทักษะ รักษาระดับสมาธิของตนเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากฝึกเด็กได้ตามแนวทางดังกล่าวไม่ว่าเขาจะเรียนอะไร ก็จะสัมฤทธิ์ผลที่สูงที่สุดแน่นอน
ครูจา
Feb 24
Posted by malinee on Friday Feb 24, 2012 Under กิจกรรม
คอร์สปิดเทอม 2555
เปิดตั้งแต่ช่วง
19 มี.ค. – 4 พ.ค. 2555
สามารถติดต่อ
สอบถามรายละเอียด ได้ที่สถาบันคิดสแควร์ ค่ะ