Feb 20
ช่วงนี้เดือนหน้าจะเป็นช่วงของการสอบคัดเลือกประจำทุกปี น้องๆ หลายๆ คนก็ต้องให้เวลาในการเตรียมตัวกับตัวเองในการอ่านหนังสือ ลดเวลาเล่นกันก่อนนะคะ
หลายๆ ครั้งผู้ปกครองมักบ่นว่า บุตรหลานของตนไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง เฉื่อย ไม่มีความกระตือรือร้น สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากการเลี้ยงดูบุตรหลานในวัยเด็ก สาเหตุที่ทำให้เด็กไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง เนื่องมาจากในวัยเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองคอยปกป้องดูแลเอาใจใส่จนเกินพอดี ไม่ให้บุตรหลานมีโอกาสที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใดๆ พ่อแม่ก็คอยเป็นคนแก้ปัญหาให้ทุกเรื่อง การดำเนินชีวิตก็เป็นไปอย่างเรื่อยๆ ไม่มีความกระตือรือร้นทุกๆ เรื่องจนกลายเป็นนิสัยที่เฉื่อย ไม่สนใจต่อสถานการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างใดๆ เพราะถือว่าปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายด้วยการแก้ปัญหาของพ่อแม่ ผู้ปกครองได้โดยง่าย
นิสัยดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนไปเมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะโตขึ้นโดยแบบเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความอดทน หากไม่อยากให้บุตรหลาน ดำเนินชีวิตโดยสามารถดูแลตนเองได้เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ดังนั้นในวัยเด็ก ซึ่งสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดที่เป็นโรงเรียนแรกของเด็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองสอนให้เค้ารู้จักกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย หน้าที่ และความรับผิดชอบตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งการปลูกฝังนิสัยดังกล่าวตั้งแต่วัยเด็กจะยากลำบากบ้างในช่วงแรก แต่ผลที่ได้จะคุ้มค่ามากเมื่อเขาโตขึ้น
Feb 22
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับการเรียนจินตคณิตก่อน การเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนที่พัฒนาสมองผ่านการบวกลบคูณหารทางคณิตศาสตร์ โดยการใช้ลูกคิดเป็นสื่อก่อนในช่วงแรก หลังจากที่มีการฝึกฝนจนในที่สุดสามารถถอดลูกคิดออก และคิดคำนวณได้ด้วยการคิดเป็นภาพได้จากสมองซีกขวา
หลังจากทราบแล้วการเรียนจินตคณิตเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาสมอง แต่กว่าที่จะสามารถคิดคำนวณเป็นภาพ จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างมีวินัยอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกันระหว่างเด็ก 2 คน ที่มีหัวปานกลางแต่มีวินัยด้านการฝึกฝน กับเด็กเก่งๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน เด็กที่ได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะสามารถพัฒนาตนเองไปในแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมา คือเด็กจะมีความมั่นใจในเรื่องจำนวน มีสมาธิและความแม่นยำในการคิดคำนวณ ในแต่ละข้อ หลังจากที่มีความมั่นใจ ร่วมกับความแม่นยำในการคำนวณ ก็ทำให้ทัศนคติทางคณิตศาสตร์เป็นบวกแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานที่ดีในการเรียน เมื่อเขาโตขึ้นการเรียนคณิตศาสตร์ที่จะมีเรื่องของการแก้ไขปัญหาโจทย์ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนมาเกี่ยวข้องอีก ถือว่าเป็นทางเลือกในการปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งให้กับบุตรหลานด้วย
ครูจา
Sep 07
ข่าวล่ามาแรงเรื่องการรับจ้างทำการบ้านผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากตามข่าวกันจริงๆ แล้ว การรับจ้างทำงานทั้งการบ้านและงานวิจัยต่างๆ มีมานานแล้ว และมีอยู่มากมายหลากหลายเจ้าให้เลือก แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ อายุที่น้อยลงของการว่าจ้าง ตอนนี้ไม่ใช่การว่าจ้างในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว แต่เป็นการว่าจ้างในระดับเด็กประถม ถึงมัธยม
หากใครได้สัมผัสกับ เด็กๆ หรือเยาวชนในยุคปัจจุบันบ่อยๆ จะพอทราบว่ากระแสสังคมในยุคดิจิตอลนั้นค่อนข้างก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของความอดทน ความพยายามในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง นอกจากนี้เด็กในยุคปัจจุบันยังมีแนวโน้มของการเป็นสมาธิสั้น หรือขาดความสนใจในทุกๆ เรื่อง จนกลายเป็นเด็กเฉื่อยในที่สุด หลายๆ คนคงสงสัยว่ามันเกี่ยวกันอย่างไรกับเรื่องของการบ้านที่เป็นที่ฮือฮากันในปัจจุบัน ผลของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเกิดความสะดวกสบาย จนไม่มีความอดทนพอที่จะรออะไรที่ต้องใช้เวลา เด็กๆ ก็จะซึมซับพฤติกรรมดังกล่าวจากสิ่งแวดล้อมที่เร่งรีบ จนกลายเป็นนิสัย จนอาจเกิดเป็นเด็กสมาธิสั้น ที่ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ หรือมีสมาธิในการทำงานแต่ละชิ้น (ซึ่งเกิดเนื่องมาจากการเลี้ยงดู) หรือเด็กอีกกลุ่มที่พ่อแม่ ดูแลเอาใจใส่แบบเกินร้อย จนทำให้เด็กไม่มีความกระตือรือร้นในการทำอะไรเลย ทุกอย่างเดี๋ยวก็มีคนจัดการให้ เขาทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือ “รอ” ในที่สุดเด็กก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความพยายามในการเรียนรู้ หรือทำงานใดๆ เลย สาเหตุเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ฝึกวินัยหรือความรับผิดชอบใดๆ เลย เขาก็จะไม่มีความรู้สึกเดือดร้อนกับการบ้านหรืองานที่ถูกมอบหมายมา แต่ผู้ที่จะกระวนกระวายคือตัวพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องให้บุตรหลาน สะสมคะแนนเก็บจากงานต่างๆ จึงต้องหาทางออก โดยการทำให้ด้วยตนเอง หรือหากทำด้วยตนเองไม่ได้ ก็ต้องไปว่าจ้าง สุดท้ายสิ่งที่ตามมาคือ เด็กที่ไม่มีคุณภาพ (ที่มีปัจจัยหลักเกิดจากการเลี้ยงดูเป็นต้นเหตุ) แม้แต่สิ่งเดียวที่รับผิดชอบยังไม่สามารถทำให้ดีได้ ไม่ต้องพูดถึงอนาคตของเขาที่จะมาเป็นผู้ใหญ่ หรือ พ่อแม่ในรุ่นต่อไปเลย หากพ่อแม่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างวินัยให้กับบุตรหลาน ก็ต้องยอมรับกับผลที่ตามมา คือ เขาจะไม่สามารถรับผิดชอบอะไรเลยแม้แต่ตัวเขาเองไม่ว่าเขาจะอยู่วัยใดก็ตาม
ครูจา
Jun 29
เคยลองนึกภาพไหม ว่าเราจะสารถทำงานท่ามกลางผับหรือสถานบันเทิงที่มีสิ่งเร้ามากมาย หลายๆ คนคงคิดว่าใครจะไปเพี้ยนนั่งทำงานในสถานที่แบบนั้น หากลองนึกกันดูดีๆ การดูแลเด็กในปัจจุบันก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน หลายๆ ครั้งที่เด็กต้องนั่งทำการบ้านท่ามกลางสิ่งเร้า เช่น ทีวี หรือเกมส์ อย่าว่าแต่เด็กๆ จะไม่สามารถจัดการกับสมาธิของตนเองเลย ถึงเป็นผู้ใหญ่เองที่มีวุฒิภาวะ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมสมาธิของตนให้อยู่กับงานได้ตลอดเวลาการทำงาน ท่ามกลางสิ่งเร้าต่างๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน
ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มีความเอาใจใส่บุตรหลาน เราควรสร้างวินัยเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าวให้เกิดขึ้นกับตัวผู้ปกครองเองก่อน ไม่ให้สิ่งเร้าต่างๆ อยู่ใกล้ หรืออยู่ในระยะสายตาของเขาที่เขาจะวอกแวกมาได้ และการสร้างวินัยในบ้าน ควรจะเป็นวินัยของทั้งครอบครัว ไม่ใช่ว่าเพียงแค่พ่อ หรือแม่เท่านั้น เมื่อคุณสร้างวินัยกับตัวเองแล้ว นอกจากประโยชน์ในเรื่องของสมาธิจะเกิดกับตัวเด็กๆ แล้ว ยังส่งผลให้เด็กในด้านวินัยอีกด้วย นั่นคือเมื่อเขาเห็นวินัยในบ้าน (ที่มีการจัดระเบียบเรื่องของการสันทนาการในบ้านให้เป็นเวลา) ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่เขาจะจัดเวลาสันทนาการได้อย่างมีระบบระเบียบเช่นกัน
หากเรามัวแต่ห่วงกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ เพียงชั่วขณะ มันอาจเป็นสัญญาณอันตรายทั้งในแง่ของการเรียนรู้ สมาธิ และ ระเบียบวินัยของเด็กให้เสียไปในที่สุด
ครูจา
Sep 05
อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ในบ้านเรามีแนวการศึกษาให้เลือกในแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นในเรื่องของวิชาการในเด็กรุ่นนี้มากนัก หากแต่สิ่งที่เราเห็นนั้นมันกับตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินได้ฟังจากพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ลูกเรียนแล้วไม่ได้อะไร ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องคอยดูแลจนกระทั่งโต หรือได้ยินได้ฟังจากครูว่าเด็กรุ่นนี้ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีความพยายาม หรือแม้กระทั่งบทความต่าง ๆ ที่เรามักจะได้อ่านพบว่าเด็กไทย ไอคิวต่ำลง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคงไม่ได้เป็นที่กลุ่มของเด็ก หรือวัยของเด็ก หากเกิดมาจากหลายปัจจัย ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้
– กฏกระทรวงที่สร้างสรรค์ ให้โรงเรียนรับนโยบายที่ว่าไม่มีการตกซ้ำชั้น ซึ่งไม่ว่าเด็กคนนั้นจะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็สามารถสอบขึ้นชั้นได้ โดยที่มีคะแนนเก็บ ซึ่งเป็นรายงาน คะแนนความประพฤติ แล้วนำมารวมกับคะแนนสอบ กลางภาค (ประมาณ 10%) กับคะแนนสอบปลายภาค (อีก 20%) ซึ่งรวมคะแนนสอบแล้วไม่สามารถบอกความสามารถ หรือความรู้พื้นฐานของเด็กได้ ซึ่งเมื่อเด็กเรียนในชั้นที่สูงขึ้นไป ความสามารถในการรับรู้ หรือในเรื่องของการอ่านยังไม่ได้ถูกฝึกให้พัฒนาขึ้น ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะต่อยอดความรู้หรือเนื้อหาใหม่ให้เด็กได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ปล่อยให้ครูผู้สอนระดับต่อไปรับเด็กต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเมื่อเด็กไปโรงเรียนก็ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน ไม่ขวนขวายหาความรู้ เพราะติดขัด ไม่มีความสุข ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรวมกลุ่มกันหาสิ่งที่ทำโดยที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งถ้าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเป็นประโยชน์กับตัวเองก็ไม่น่าเป็นห่วงซักเท่าใด แต่ความสุขที่เด็กกลุ่มนี้พบมักเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้เท่าทันทุกอย่างก็สายเสียแล้ว
– สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นในส่วนของการบริหารระบบแล้ว ยังเกิดจากสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการคือ ความใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งมักมีข้ออ้างหลักที่คนกลุ่มนี้ใช้คือ ไม่มีเวลา ต้องทำงาน แล้วให้จัดหาคน หรือ สิ่งของที่ดูแลลูกอย่างขาดวิจารณญาน ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อเสียว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรายอมเสียให้กับลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย เห็นว่าเด็กยังไงก็ไม่ยอมรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ซึ่งมีเพียงการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรู้เท่าทันไปว่า สิ่งที่ตนเองให้กับลูก (เกมส์ , iPad , iPhone หรือแม้กระทั่งทีวี) นั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดวินัย และความรับผิดชอบ เห็นเพียงแต่ว่าเมื่อเด็กอยู่กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ทำให้เขาไม่เข้ามากวนใจ หรือต้องคอยหาอะไรให้ทำ เพราะเด็กจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้นานเป็นหลายชั่วโมง
สิ่งที่น่าเศร้าคือ เคยได้ยินว่าจะมีนโยบายจากกระทรวงให้เด็กชั้นประถม 1 (ซึ่งยังจับดินสอไม่ถนัด เขียนหนังสือยังไม่ได้ ต้องหัดลากตามรอยเส้นประ) ใช้ tablet เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี คาดว่านโยบายนี้จะเป็นนโยบายเพิ่ม I kill เด็กไทย ไม่ใช่ IQ ซะแล้ว
Feb 17
Posted by malinee on Thursday Feb 17, 2011 Under เกร็ดความรู้
จากหนังสือเรื่อง ‘Don’t Give Me That Attitude’ โดย Dr. Michele Borba เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของ พฤติกรรมเด็กในปัจจุบัน โดยมีการจำแนกประเภทของทัศนคติที่แย่ลงของเด็กตามกลุ่ม คือ หยาบคาย , ขี้เกียจ , ไม่ใส่ใจในเรื่องการเรียน
ก่อนอื่นมาดูสาเหตุก่อนว่า ทำไมในปัจจุบันเราจึงพบพฤติกรรมดังกล่าวมากขึ้น ประการแรก ในปัจจุบันเราจะพบว่ามีสิ่งกระตุ้นมากมายที่มีผลต่อพฤติกรรม คือ สื่อ ซึ่งสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน มักจะแฝงความก้าวร้าว หยาบคาย การแก่งแย่ง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม ประการที่สอง คือ เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งทำให้คนในปัจจุบันได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่กลับทำให้เกิดขีดจำกัดในเรื่องของความอดทน การรอคอย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเร่งรีบในทุก ๆ เรื่อง อย่างในบางเรื่องที่ควรฝึกฝนเด็กเพื่อให้เกิดนิสัย หรือวินัย ก็ถูกมองข้ามว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะทำให้เด็กเองโดยคิดว่าจะได้ไม่เสียเวลาเพราะผู้ใหญ่สามารถทำให้เด็กแล้วใช้เวลาน้อยกว่า จนเด็กไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำอะไรด้วยตนเอง แม้แต่เรื่องง่าย ๆ เช่น การวางเสื้อผ้าในตะกร้าที่จะซัก
จากสาเหตุหรืออิทธิพลต่าง ๆ จึงกลายเป็นการสร้างนิสัย หรือ พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์เมื่อเขาโตขึ้น ดังนั้นหากเราคิดจะแก้ปัญหาต่าง ๆ เราควรเริ่มที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันฝึกหรือปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก
จาก Ezine.com
Nov 09
การสร้างวินัยให้กับลูกรัก
การสร้างกิจวัตรและแบบแผนของอุปนิสัยให้กับเด็กนั้นเป็นเป้าหมายสำคัญอีกประการที่คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้กับลูกรักหลาย ๆ ครอบครัวมักวนกลับไปกลับมาระหว่างกิจกรรมแต่ละกิจกรรม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านมักยอมแพ้กับการต่อต่านของลูกรัก อีกทั้งความรู้สึกกระวนกระวายกับการบ้าน ความขัดแย้งกันเองระหว่างพ่อ-แม่ และความล่าช้าเมื่อต้องเปลี่ยนสถานที่ที่มีการนัดหมายกัน ความยากลำบาก หรือความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้ลูกรักขาดการพัฒนาในเรื่องของกิจวัตร หรืออาจเป็นวินัยติดตัวจนกระทั่งเด็กนั้นโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมันอาจส่งผลไปถึงเรื่องของการพึ่งพาตนเองและเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในการฝึกให้เด็กเกิดวินัยในตนเองนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพ่อ-แม่เช่นกัน การฝึกให้เด็กมีแบบแผนในการดำเนินชีวิตนั้นเราจะต้องฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละวัย โดยแบ่งเป็นวัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
– วัยทารก เด็กจะสามารถเรียนรู้ถึงแบบแผนของการให้อาหาร , การนอน และการเล่นที่เป็นเวลา
– วัยเตาะแตะ ได้เรียนรู้แบบแผนของการตื่นนอน , แบบแผนของอาหารว่าง และเวลาในการทำความสะอาด
– ก่อนวัยเรียน จะได้เรียนรู้ถึงแบบแผนของกิจกรรม ,การฟัง ,การนั่ง และเวลานอน
– วัยประถม เรียนรู้แบบแผนของงานเล็ก ๆ , แบบแผนของการบ้าน และการอยู่ร่วมกันในสังคม
ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ผ่านการเรียนรู้ โดยที่มีพ่อแม่เป็นครูผู้ฝึก ซึ่งต้องมีความอดทนและเข้าใจในตัวเด็กด้วย
การฝึกวินัยและกิจวัตรให้กับเด็กในวัยประถมนั้นมี 4 ประการหลัก ๆ ด้วยกันดังนี้
– กิจวัตรยามเช้า ซึ่งหมายถึงเวลาในการตื่นนอน ,การแต่งตัว , การรับประทานอาหารเช้า , การทำความสะอาดร่างกาย
– แบบแผนในโรงเรียน ทางโรงเรียนและครูจะเป็นผู้ฝึกแบบแผนให้กับเด็ก ซึ่งมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับทางโรงเรียน
– แบบแผนหลังเลิกเรียน ซึ่งแบบแผนดังกล่าวจะรวมไปถึง กีฬา อาหารว่าง และการทำการบ้านด้วย
– กิจวัตรในเวลากลางคืน ซึ่งกิจวัตรดังกล่าวรวมถึงอาหารค่ำ การทำการบ้าน อาหารว่าง การทำการบ้าน การทำความสะอาดร่างกาย และการนอน
ซึ่งในการสร้างวินัยให้กับลูกนั้น เขาจะต้องรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบาย ดังนั้นพ่อ-แม่ต้องมีการฝึกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้สำเร็จจะมีแนวทางดังนี้
1. การสร้างแบบแผนของตนเอง โดยปกติทุก ๆ คนจะมีแบบแผนในการดำเนินชีวิตของตนเองเนื่องจากภาระหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราควรจะมีการสร้างแบบแผนในชีวิตประจำวันของเราเองซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ลูกมีแบบแผนในการใช้ชีวิตในแบบของเขา
2. สร้างความคาดหวังและกิจวัตรภายในบ้าน มีการปรึกษากับลุกเพื่อให้เขาได้ออกความคิดเห็นว่าสิ่งใดควรจะเป็นกิจวัตรในยามเช้า , กิจวัตรหลังเลิกเรียน และกิจวัตรในตอนกลางคืน ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นและฝึกให้เด็กนั้นมีวินัยไปจนโต
3. กระตุ้นให้เด็กมีการวางแผน และเน้นย้ำให้เด็กได้รู้ว่าชีวิตจะดำเนินไปได้ง่ายขึ้นถ้ามีวินัย
4. ทบทวนแบบแผนในโรงเรียน เด็กมักมีการต่อต้านและเบื่อหน่ายกับแบบแผนในโรงเรียน แต่ต้องมีการอธิบายให้เขาเข้าใจว่ามันจะเป็นการดีถ้าเขาสามารถจัดเวลาในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม
การสร้างกิจวัตรให้แก่ลูกถือเป็นการสร้างวินัยให้กับลูกรัก ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มดำเนินการ คอยดูแลว่าสิ่งใดที่มีประโยชน์ในระยะยาว และมีการปรับแผนงานกับลูก และอย่าลืมว่าเราต้องมีส่วนรับผิดชอบในการฝึกวินัยให้กับลูก หลังจากการฝึกสร้างวินัยใน 30 วัน จะพบว่าเด็กจะยอมรับ และผ่อนคลายกับแบบแผนหรือกิจวัตรที่ได้สร้างขึ้นแล้ว
ผู้เขียน : Laura Doerflinger, a licensed mental health counselor, is the Executive Director of the Parent Education Group at http://www.familyauthority.com and the author of the audio book, Emotionally Balanced Parenting
Copyright 2008 Parent Education Group
Aug 20
ในปัจจุบันนี้มีการศึกษาในแนวทางเลือกมากมาย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ซึ่งการเรียนจินตคณิตโดยใช้ลูกคิดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นการเรียนเพื่อเสริมศักยภาพของสมองให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กใช้สมองทั้ง 2 ซีกในการทำงานอย่างอัตโนมัติ แต่การเรียนนั้นกว่าจะสู่จุดหมายดังกล่าวใช่ว่าจะต้องใช้พรสวรรค์ของเด็กเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องใช้พรแสวงของเด็ก ๆ ด้วย ซึ่งการเรียนจินตคณิตนั้นถ้าจะให้เห็นผลอย่างชัดเจน ทั้งเด็ก และ ผู้ปกครองจะต้องใช้เวลา และ ความสม่ำเสมอในการทำแบบผึกหัด อีกทั้งการมีวินัยในการฝึกฝน แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของเด็ก ๆ เลย ที่จะเรียนจินตณิตได้อย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างวินัยและการเรียนรู้ในทุก ๆ ด้าน ต่อไป
กล้วยไม้มีดอกช้า………..ฉันใด
การศึกษาเป็นไป…………..เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร…………..งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น………เสร็จแล้วแสนงาม
(บทประพันธ์ของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล)