เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ของการสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจยังมีความไม่เข้าใจอยู่บ้าง  เรามาดูว่าการสอบ O-Net เป็นการสอบเพื่ออะไร และส่งผลอย่างไรกับใครบ้าง

ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า O-Net กันก่อน ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก  Ordinary National Educational Test  ซึ่งเป็นข้อสอบกลางที่ออกมาจาก สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดยจะมีการสอบ 8 กลุ่มสาระ ผลการสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นหลัก โดยคะแนนของเด็กแต่ละคนจะมีการเปรียบเทียบกับโรงเรียนของตนเอง โรงเรียนในเขตพื้นที่ เทียบขนาดของโรงเรียน เทียบคะแนนระดับจังหวัด  และภูมิภาค หลักๆ แล้วการจัดการสอบเพื่อจุดประสงค์หลักเพื่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นหลายๆ โรงเรียนจึงมีการเรียนเพิ่มโดยมีติวเตอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาสอนให้กับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนจัดอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศ  ส่วนหลายๆ โรงเรียนผลของการสอบประเมินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ก็ไม่เห็นได้รับการแก้ไข หรือกระตุ้นจากภาครัฐเพื่อให้เด็กมีคุณภาพของการเรียนการสอนมากขึ้น หากผลของการสอบไม่ได้มีผลกับทั้งตัวนักเรียน เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น การสมัครสอบอยู่ในช่วงเวลาที่ผลสอบยังไม่ออก และการสอบคัดเลือกของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น ระดับความซับซ้อนของการสอบในวิชาหลักจะมีความยากกว่าการสอบ O-Net อย่างมาก เด็กในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงนั้น จะมีระดับคะแนน O-Net ที่สูงมากใกล้เคียงกันหมด  จึงไม่สามารถนำข้อสอบกลางชุดดังกล่าวมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย นอกจากนี้แล้วทางฝ่ายทะเบียนก็ยุ่งยากเกินกว่าที่จะนำคะแนนมามีส่วนในการคัดเด็กด้วย

ดังนั้นหากการสอบระดับชาตินี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาของการเรียนการสอนในโรงเรียน  ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดให้กับภาครัฐว่าโรงเรียนบางโรงจำเป็นต้องมีบุคลากรครูที่ต้องมีการอบรมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ก็หยุดใช้งบประมาณส่วนนี้ ที่ให้ผู้บริหารกระทรวงเดินทางต่างประเทศเพื่อดูงานการศึกษาในหลายๆ ประเทศอย่างไร้ประโยชน์ พร้อมกับ งบประมาณที่ใช้ในการจัดสอบ มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ด้านการศึกษาในเรื่องอื่น เช่นการซื้ออุปกรณ์ในห้องทดลอง หรือสื่อการเรียนการสอนที่มีประโยชน์กับการเรียน ยังดีกว่าการทุ่มงบประมาณไปกับข้อสอบระดับชั้นละ 8 ฉบับกับผลที่เป็นเพียงกระดาษ 2 แผ่น ที่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการเรียนการสอนจากทางโรงเรียนอย่างแท้จริง

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย

หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน  นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย

จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป

อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

มีข้อสงสัยมากมายว่าการเรียนจินตคณิตจะมีประโยชน์กับเด็กจริงหรือ  หลายๆ ครั้งที่ครูได้มีโอกาสได้ให้ข้อมูลมาบ้างแล้วว่า การเรียนจินตคณิตเป็นการเสริมสร้างพัฒนาสมอง และยังเพิ่มสมาธิให้กับผู้เรียนได้อีกด้วย

การเรียนจินตคณิตในแต่ละวัยการเรียน จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากในวัยอนุบาล เด็กจะเริ่มจากการเรียนรู้เรื่องจำนวนให้เป็นรูปธรรมผ่านการใช้ลูกคิด โดยการขยับลูกคิดขึ้นลง ในช่วงเวลาหนึ่ง การใช้ลูกคิดจะเริ่มมีการแต่ในวัยประถมการใช้ลูกคิดจะมีการแทนค่าประจำหลักในแต่ละหลัก นอกจากลูกคิดจะใช้ในการบวกลบได้แล้ว เรายังสอดแทรกทฤษฏีทางคณิตศาสตร์ได้โดยการให้เด็กๆ ได้ดีดบวกซ้ำๆ และให้เค้าได้เรียนรู้ว่าการบวกซ้ำๆ ก็คือการคูณนั่นเอง (โดยให้เค้านับจำนวนครั้งของการดีด เช่น บวกทีละ 2 จำนวน 8 ครั้ง นั่นคือการบวกกัน  8 ครั้งของ 2 นั่นคือ 8 x 2 ซึ่งได้คำตอบคือ 16 นั่นเอง) ในการหารก็เช่นเดียวกัน

จากตารางและกราฟด้านล่างเป็นการนำเสนอข้อมูลของการคิดเลขในกระบวนการที่แตกต่างกัน นั่นคือ เราจัดเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นเด็กที่ผ่านการเรียนจินตคณิต ส่วนอีกกลุ่มเป็นเด็กที่เรียนการคิดเลขในแบบปกติ โดยการวิจัยครั้งนี้ ครูได้ทำงานวิจัยในโรงเรียนอนุบาล (ในแนวเร่งเรียน) แห่งหนึ่ง จากผลการวิจัยพบว่า เด็กที่เรียนจินตคณิตจะทำคะแนนสูงกว่าเด็กที่ใช้วิธีการคิดแบบปกติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก อนุบาล 2 เราจะเห็นสัมฤทธิผลของการคิดเลขแตกต่างกันอย่างมาก นอกจากนี้แล้วจากตารางที่แสดงคะแนนเฉลี่ย เป็น %  ยิ่งชี้ให้เห็นว่า การคิดคำนวณของเด็กที่เรียนจินตคณิตนั้น ถูกต้องและแม่นยำกว่าการคิดคำนวณในแบบปกติมาก

จากการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น เราจะพบว่า นอกจากจินตคณิตจะช่วยเรื่องการคำนวณของเด็กแล้ว ยังส่งผลถึงสมาธิของเด็กๆ อีกด้วย เมื่อเด็กมีสมาธิที่ดี การเรียนรู้ของเค้า ก็จะมีประสิทธิภาพด้วยช่นกัน

Tags : , , , , , , , , , , , | add comments

รู้คิด  รู้เท่าทัน  สร้างสรรค์เทคโนโลยี

ผ่านมาแล้วกับช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กๆ ทั้งการฉลองปีใหม่และเหตุการณ์ล่าสุด คือการเที่ยวเล่นในสถานที่ต่างๆ ในวันเด็กแห่งชาติ สิ่งที่เด็กๆ จะถูกถามมีอยู่เพียง สองคำถามหลักๆ คือคำขวัญวันเด็กประจำปี และโตขึ้นอยากเป็นอะไร

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ก็คงยังจำได้ว่า วันเด็กในช่วงที่ตนเองเป็นเด็ก ตอบไปว่าอะไร เช่นกัน วัฒนธรรมนี้ก็ยังคงยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป ก็คือคำตอบที่หลากหลายมากขึ้นของเด็กๆ เนื่องจากเด็กในยุคนี้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่อาชีพหลักๆ ยังคงเป็น แพทย์ วิศว และอื่นๆ อีกมากมาย ตามความคิดและจินตนาการของเด็กๆ ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงความฝัน ความคิดได้ตลอดเวลา

เด็กหลายๆ คน ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะเป็นหมอเมื่อโตขึ้น คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้เขาไปถึงฝั่งฝันให้ได้ การเป็นหมอในปัจจุบัน เราสามารถเลือกเรียนได้ทั้งในภาคภาษาไทย (ภาคปกติ) กับอีกหลักสูตรคือหลักสูตรภาคอินเตอร์ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือก จะเป็นข้อสอบวิชาการเป็นวิชาภาษาอังกฤษ และข้อสอบทักษะทางภาษาอังกฤษ ซึ่งการคัดเลือกจะเป็นการคัดเลือกในรอบแรก (ภาคอินเตอร์) เป็นรอบของ portfolio ส่วนภาคปกติจะอยู่ในรอบสาม

นอกจากเรื่องของช่วงเวลาและหลักสูตรในการเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความเข้าใจกับบุตรหลานว่าการเรียนหมอนั้น ต้องใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี นอกจากนี้แล้ว ความรู้ด้นวิชาการจะต้องแข็งมาก เนื่องจากการสอบคัดเลือกนั้น ทุกๆคน ก็ต้องการเป็นหมอและได้เตรียมตัวด้านวิชาการมาเป็นอย่างดี หากเราเตรียมตัวไม่ดี ก็อาจพลาดโอกาสที่จะเป็นหมอได้  นอกจากนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นกำลังสำคัญที่จะคอยผลักดัน และให้กำลังใจกับบุตรหลานให้ทำความฝันให้สำเร็จ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ ย่อมต้องมีอุปสรรค จนอาจทำให้เกิดความท้อแท้ได้ ขอให้เด็กๆ มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ สิ่งที่ตั้งใจก็จะสำเร็จในที่สุด

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ในการเรียนในโรงเรียนในแต่ละระดับชั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนในหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้  ซึ่งในแต่ละกลุ่มสาระนั้น จะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น การเรียนในวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ จำเป็นที่จะต้องท่องจำเนื้อหาให้แม่นยำ ส่วนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หากการเรียนใช้วิธีการท่องจำนั้น การท่องจำนั้นไม่สามารถทำให้การเรียนรู้เกิดการประยุกต์ใช้ได้มากนัก เนื่องจากสองกลุ่มสาระดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเพื่อต่อยอดสู่การประยุกต์ในการทำโจทย์ที่แตกต่าง หลากหลายมากขึ้น

จริงอยู่ที่ในการเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องมีการท่องจำทฤษฏีในเบื้องต้น เช่น 5 x 2 หมายถึงการบวกกัน 5 กลุ่มของ 2 (2 + 2 + 2 + 2 + 2) ไม่ใช่  5 + 5 ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่ในความหมายที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ทฤษฏีดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ที่ว่าคำว่าของทางคณิตศาสตร์คือการคูณ หากการเรียนโดยใช้ความจำเพียงอย่างเดียว มักส่งผลให้เมื่อเจอโจทย์ปัญหา หรือโจทย์ประ ยุกต์ ก็จะต้องจำโจทย์ทุกๆ โจทย์ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

หากเป็นเช่นนี้ ที่จะต้องให้เด็กเรียนทุกอย่างด้วยความจำ หลังจากสอบเสร็จ หรือเมื่อเวลาผ่านไป เด็กก็จะลืมในที่สุด แล้ววิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่สามารถต่อยอดออกไป เนื่องจากต้องย้ำเนื้อหาเดิมให้จำได้ก่อนเพื่อจะได้จดจำเนื้อหาใหม่ที่ต่อเนื่องต่อไปให้ได้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเรื้อรังยาวนานไปเรื่อยๆ จนเด็กมีทัศนคติไม่ดี และเกลียดวิชาดังกล่าวในที่สุด หากเป็นเช่นนี้จะดีกว่าหรือไม่ หากเราส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาดังกล่าวด้วยความเข้าใจ มากกว่าด้วยวิธีการท่องจำ

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ช่วงภาคเรียนที่ 2  ของทุกปี จะมีการโยกย้ายโรงเรียนในชั้นที่โตขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจะส่งบุตรหลานไปเรียนในสถาบันที่มีการประกาศจำนวนนักเรียนที่ผ่านรอบคัดเลือกในโรงเรียนแต่ละโรง

การเรียนเพื่อการสอบเข้าในปัจจุบัน จะต้องเรียนรู้เนื้อหาที่เกินเนื้อหาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน เด็กหลายๆ คนที่มีผลการเรียนดีในโรงเรียน จึงไม่แปลกที่การเรียนโรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การเรียนในแนวดังกล่าวเป็นการเรียนในแนวติว โดยทุกคนต้องเรียนไปพร้อมกัน โดยที่ทักษะของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เด็กที่มีทักษะทางคณิตศาสตร์ที่ดีกว่า ก็จะมีความเข้าใจได้มากกว่า การเรียนโดยโหนเนื้อหาขึ้นไปอีกช่วงชั้น (3 ปี) จะทำให้เด็กเกิดการเรียนคณิตศาสตร์โดยการจำ ไม่ใช่ความเข้าใจ ซึ่งการเรียนโหนระดับเพื่อการสอบเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บุตรหลานได้รับการคัดเลือกในการสอบเข้า แต่เนื้อหาพื้นฐาน เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น มีที่มาที่ไป ไม่ใช่เพียงแต่เรียนด้วยความจำ เมื่อเปลี่ยนแนวข้อสอบ เขาเหล่านั้นก็จะไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาได้  แต่ในทางกลับกัน หากเราเสริมทักษะพื้นฐานที่ดี จะทำให้เขาสามารถต่อยอดเนื้อหาได้อย่างมั่นคงต่อไป  ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  ที่ว่า

การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้น จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆกันได้”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓

Tags : , , , , , , , , , , , , , | add comments

            เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมลูกเราถึงยิ่งเรียนยิ่งแย่ ไม่ว่าจะส่งเรียนพิเศษกี่ที่ คะแนนก็ไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ลูกก็ไม่มีปัญหาเรื่องการอ่าน สามารถอ่านออกเขียนได้ ปัญหาต่างๆ จะสะสมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาที่ต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาคณิตศาสตร์

หลายๆ ครั้งที่ ปัญหาไม่ได้เกิดจากสติปัญญา หรือวิธีการสอน  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดเนื่องมาจากลักษณะนิสัยที่มาจากการเลี้ยงดู ที่บ่มเพาะจนเด็กกลายเป็นเด็กเฉื่อย ไม่คิด ไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่รู้จักหน้าที่ ไม่มีระเบียบวินัย

สิ่งต่างๆ เกิดเนื่องมาจากอะไร การเรียนคณิตศาสตร์ หากเป็นเพียงการทำตามเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ ที่บ่งชี้เลยว่าเด็กต้องทำอะไร จะไม่เกิดปัญหาใด หากเขาไม่มีปัญหาด้านการคำนวณ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเด็กโตขึ้น จะมีการใส่โจทย์เพื่อให้เด็กๆ ได้มีการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขโจทย์ปัญหา และซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การอ่านออกของเด็กที่ไม่เคยเรียนรู้ที่จะเริ่มทำอะไรด้วยตนเอง เป็นการอ่านแบบนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น ไม่มีการคิดวิเคราะห์ใดๆ เพื่อแก้ปัญหานั้นๆ หากปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น โดยไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายเด็กก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในการเรียน ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองในที่สุด

Tags : , , , , , , , , , | add comments

carousel1-1440x812คงได้ยินข่าวกันบ่อยๆ ในเรื่องของการฝากเข้า หรือค่าแรกเข้าในโรงเรียนรัฐบาลหลายๆ แห่ง ทั้งๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝากในที่สูง และยังไม่ได้รับใบเสร็จอีกด้วย มาลองดูเหตุผลที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนยอมจ่ายค่าใช้จ่ายแพงขนาดนั้น

สิ่งที่เราต้องยอมรับเลยว่า มาตรฐานในการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนไม่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุตรหลานของตน ดังนั้นจึงทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาดังกล่าว ทั้งการให้เรียนเพิ่ม การติวอย่างหนัก เทียบได้กับการฝ่าด่าน 18 อรหันต์เข้าไปเรียนในวัดเส้าหลิน แต่หากพลาดในรอบของการสอบคัดเลือก ก็จะใช้กำลังภายใน เพื่อดันบุตรหลานเข้าไปเรียนให้จงได้

เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุกๆ ปีที่มีการสอบคัดเลือก ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย การที่พ่อแม่ผู้ปกครองยอมเสียค่าใช้จ่าย เพื่อคุณภาพการศึกษาของบุตรหลาน และนอกจากนั้นแล้วเด็กที่ผ่านการคัดเลือกของสถานศึกษาจะเป็นเด็กสายเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองก็หวังว่ากลุ่มเพื่อนที่ขยันเรียนจะสามารถผลักดัน หรือเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีของบุตรหลานได้

หลายๆ คนสามารถถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมได้ แต่เด็กบางคนไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกบีบได้มากนัก ร่วมกับการที่พื้นฐานที่ไม่แน่น ทำให้เค้าติดอยู่กับเนื้อหา และไม่ว่าจะพยายามตั้งใจเท่าไหร่ ก็ตามเพื่อนไม่ทัน ความรู้สึกที่เบื่อการเรียน แล้วเด็กกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้เส้นสายเข้ามา) ก็จะรวมตัวกัน ไปในแนวทางลบ

ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องพิจารณาถึงความรู้พื้นฐาน อุปนิสัยในเรื่องของการเรียนรู้ของบุตรหลานของตน ว่าจะสามารถปรับตัว และเหมาะสม กับสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังด้วยหรือไม่ หลายๆ ครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด โดยใช้อุปนินัย (ความมุมานะ พยายาม) ความรู้พื้นฐาน เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจทุกครั้ง

Tags : , , , , , , , , , | add comments

stock-photo-happy-hard-working-kids-writing-an-exam-in-primary-school-534155374          ในยุคปัจจุบันภาพของเด็กๆ ตามสถาบันกวดวิขาในวันหยุดกลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาไปเสียแล้ว ในขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สนับสนุนให้เด็กๆ เรียนมากจนเกินไป ส่งผลให้เกิดนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้การเรียนพิเศษนอกโรงเรียนยังคงเหมือนเดิม เรามาลองพิจารณาเด็กกลุ่มต่างๆ ที่เข้าเรียนตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ ซึ่งเราสามารถแยกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มแรก เด็กกลุ่มก่อนวัยเรียน จะเป็นกลุ่มที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องการเสริมทักษะและพัฒนาการในด้านร่างกาย หรือด้านภาษา เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมโดยการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อกลางให้เด็กได้เข้าใจคำศัพท์พร้อมกับการยืดเส้นยืดสาย การเรียนในกลุ่มนี้ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ภาษาพร้อมกับกิจกรรมผ่านการเล่น ในวัยที่เด็กยังจำเป็นต้องมีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ควบคู่กับกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยไม่มีแรงกดดัน ทำให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุขสนุกสนาน

กลุ่มที่สอง กลุ่มปฐมวัย การเรียนในกลุ่มนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกระแสของสังคม สิ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือการส่งบุตรหลานเข้าติวสาธิต เหตุที่ว่าเป็นกระแสสังคม เนื่องจากเราจะเห็นได้จากจำนวนนักเรียนที่สมัคร เทียบกับจำนวนนักเรียนที่รับ ซึ่งการเรียนติวสาธิตนั้นจะเป็นการเรียนเป็นระยะเวลา 1 – 2 ปีในเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ที่จะเข้าสอบ การเรียนในแนวนี้ จะเครียดในช่วงของโค้งสุดท้ายก่อนสอบ เด็กหลายๆ คนถึงกับเกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัว

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มของเด็กประถมวัย การเรียนพิเศษในกลุ่มนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ กลุ่มที่เข้าไปเรียนในโรงเรียนสาธิตได้แล้ว เนื่องจากแนวของโรงเรียนดังกล่าวเป็นการเรียนในแนวบูรณาการ ไม่ค่อยมีการบ้าน ไม่ค่อยได้เรียน คุณพ่อคุณแม่ ก็เป็นกังวลว่าจะตามโรงเรียนอื่นได้อย่างไร จึงจัดตารางการเรียนวันหยุดให้กับน้องๆ ส่วนอีกกลุ่ม เป็นเด็กที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มของโรงเรียนเร่งเรียน โรงเรียนสองภาษา คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดความกังวล กลัวว่าบุตรหลานจะไม่สามารถเรียนตามเพื่อนได้ทัน เนื่องจากจำนวนเด็กต่อห้อง มากกว่าตอนที่อยู่อนุบาลมาก

กลุ่มที่สี่ กลุ่มเด็กประถมปลาย เป็นกลุ่มที่ต้องย้ายโรงเรียนอีกครั้ง การเรียนในกลุ่มนี้ เพื่อการทบทวนเนื้อหาและ ฝึกทำแนวข้อสอบในแนวต่างๆ ที่หลากหลายกว่าการเรียนในโรงเรียนทั่วไป

กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มที่เป็นเด็กล่ารางวัลในสนามแข่งขันต่างๆ เราจะเห็นสนามแข่งขันทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลายๆ สถาบันเกิดขึ้นทั้งปี เด็กในกลุ่มนี้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว จึงเข้าไปอยู่ในกลุ่มของการเรียนเพื่อการแข่งขันในสนามทั่วประเทศ

กลุ่มที่หก เป็นกลุ่มของเด็กมัธยม การเรียนในกลุ่มของเด็กมัธยม ส่วนใหญ่เกิดจาก คุณพ่อคุณแม่เริ่มไม่สามารถดูแลได้ จำเป็นต้องให้น้องๆ เข้าเรียนในสถาบันกวดวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเลือกแผนการเรียน และสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป

จากกลุ่มของเด็กต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น มันอาจสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง เช่น การเรียนในโรงเรียนไม่ดีพอหรือ หรือเกิดอะไรขึ้นกับความรับผิดชอบในตัวเด็ก หรือเกิดระบบการศึกษาของบ้านเราล้มเหลว จึงทำให้เด็กเกือบทุกคนที่มีโอกาส ต้องวิ่งหาที่เรียนจนกว่าจะจบการศึกษา หรือ อาจถึงตอนติวเพื่อสมัครสอบเข้าทำงานในหน่วยงานราชการจึงจะสิ้นสุด

Tags : , , , , , , , , , | add comments

คัดเลือกครู ?

Posted by malinee on Monday May 1, 2017 Under เกร็ดความรู้

images          จากช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็จัดกิจกรรมการเรียนในวิชาต่างๆ ให้กับเด็กๆ เด็กหลายๆ คนผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสู่ระดับมัธยม ก็จะต้องมีการเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อเป็นการปรับพื้นฐาน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนที่โตขึ้น

หลังจากที่กล่าวถึงการสอบคัดเลือกเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ แล้ว ครั้งนี้เรามาศึกษาวิธีการสอบคัดเลือกของข้าราชการครูกันบ้าง การสอบคัดเลือกข้าราชการครูนั้น ครูทุกๆ คนจะต้องผ่านการสอบข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ซึ่งคะแนนรวมคือ 400 คะแนน หลายๆ คนคงสงสัยว่า ครูจะเขียนบทความนี้เพื่ออะไร

การสอบภาค ก เป็นข้อสอบกลางในการคัดเลือกบรรจุข้าราชการทุกอัตรา (ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการครู) ข้อสอบจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ กฎหมาย และพระราชบัญญัติ มาตราต่างๆ เกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการ โดยมีคะแนนเต็ม 200 คะแนน ส่วนภาค ข เป็นการทดสอบความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งจะประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการศึกษา (100 คะแนน) ส่วนความรู้ในวิชาที่จะเข้าสอน (วิชาเอก) อีก 100 คะแนน ซึ่งข้อสอบทั้งหมดเป็นข้อสอบปรนัย จากสัดส่วนของคะแนนที่รับข้าราชการครูเฉพาะสาขาวิชา เราจะเห็นว่า ความรู้ความสามารถในวิชาชีพคิดเป็นเพียง 25% เท่านั้น

ในความคิดเห็นของครู เห็นว่า แนวทางการคัดเลือกข้าราชการครู ควรจะมีมาตรฐานในการคัดเลือกให้มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง แล้วกระจายครูไปยังภูมิภาคต่างๆ การสอบคัดเลือกควรมีการแยกข้อสอบการคัดความรู้เฉพาะทางให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ โดยให้แบ่งส่วนของการสอบออกเป็นภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติไปพร้อมกันเพื่อให้ได้ข้าราชการครูที่มีคุณภาพ แต่หลังจากที่เราได้ครูที่มีคุณภาพแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่ลงมายังกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะส่งตรงไปยังผลตอบแทนของครูมากกว่าการทุ่มงบให้ tablet ที่กระจายไปทั่วประเทศอย่างเสียเปล่า โดยให้แต่โทษไม่เกิดประโยชน์อะไรอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องการเป็นครูที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเด็กๆ ต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , | add comments