หลังจากการเตรียมความพร้อมที่ทางบ้านมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนจนเด็ก ๆ มีพัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อที่ดี ควบคู่ไปกับการนับเลข (ทั้งนับเพิ่มและนับถอยหลัง)
ในกระบวนการต่อมาก็เพิ่มสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ( + , -) โดยชี้นำให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าการนับเพิ่มก็คือการบวก ส่วนการลบก็คือการหักออก ซึ่งก็คือการนับถอยหลัง ที่เค้าคุ้นเคยนั่นเอง ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ อาจใช้ตัวต่อเพื่อทำให้ประโยคสัญลักษณ์เป็นรูปธรรมมากขึ้น การใช้ตัวต่อต่างสี ก็เป็นวิธีที่ทำให้เด็กเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
(การเห็นภาพจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจที่กระจ่างมากกว่าการใช้สัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว) ในการเพิ่มสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์นี้ ช่วงแรกควรให้ผลลัพธ์ไม่เกิน 10 ก่อน ในการทำความคุ้นเคยกับประโยคสัญลักษณ์นั้น เราแต่งโจทย์ที่เป็นประโยคในแนวของนิทาน ให้เขาคิดตามแล้วหาคำตอบที่แทรกอยู่ สิ่งที่จะได้รับคือเด็ก ๆ จะสามารถตีความ
และเกิดความคุ้นเคยกับการแปลโจทย์
ต่อจากนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งที่ทำได้ก็คือการหาเกมส์ต่าง ๆ เช่น การต่อจุด (dot to dot) เพื่อไม่ให้จำเจอยู่กับตาราง 100 ช่องเพียงอย่างเดียว ซึ่งการเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ของทางบ้านก็จะทำให้เด็กเชื่อมโยงไปใช้ในโรงเรียนได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวก็จะไปตรงพอดีกับเนื้อหาในโรงเรียนในชั้นประถมปีที่ 1
การที่เด็กมีพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ที่ดีที่สุดนั้นจะต้องเป็นความร่วมมือของคน 3 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ ครู (ในโรงเรียน) , พ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง แน่นอนทางโรงเรียนต้องเป็นเอกในด้านการให้ความรู้พื้นฐาน แต่ทางบ้านมีส่วนสำคัญที่จะปลูกฝังให้เด็กรักการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นในการเรียน และยังมีส่วนผลักดันให้เด็กดึงศักยภาพที่เด็ก ทุก ๆ
คนมีอยู่ให้นำออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่รู้สึกเสียดายกับวันเวลาที่เป็นวัยทองของการเรียนรู้ที่หายไป และไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

ครูจา

Tags : , , , | add comments