Jan 12
สถานการณ์ที่ยังคลุมเคลือ หลายๆ คนที่ยังต้องทำงานนอกบ้าน ส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ก็มักจะมีคำถามในใจขึ้นทุกวัน ว่าเราจะติดโควิดมั้ย ครูมีข้อมูลมาฝากให้ เผื่อคลายความกังวลได้บ้าง
ช่วงนี้เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าสายพันธุ์ของไวรัส ได้เปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์โอมิครอน มาดูความแตกต่างของสายพันธุ์กัน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเรากับ 2 สายพันธุ์นี้หลักๆ อยู่ที่เรื่องของระยะฟักตัว
ระยะฟักตัว คือระยะที่เราได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นระยะที่จะทำให้เกิดอาการ (ถ้ากรณีที่ติดเชื้อ) และเป็นระยะที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง ถ้าพ้นระยะฟักตัวแล้วผลตรวจเป็นลบ แสดงว่าไม่ติดเชื้อ
ระยะฟักตัวของโควิดสายพันธุ์ต่างๆ
อู่ฮั่น 5 – 6 วัน อาการ 10 วันหลังรับเชื้อ
เดลต้า มีระยะฟักตัว 4 วัน อาการ 7 วันหลังรับเชื้อ
โอมิครอน มีระยะฟักตัว 3 วัน อาการ 5 วันหลังรับเชื้อ
แต่ก่อนจะมีอาการผู้ที่รับเชื้อมาแล้วสามารถกระจายเชื้อได้ 1 – 2 วันก่อนเกิดอาการ หรือบางรายอาจไม่เกิดอาการก็ได้
สิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามคือ ข่าวสารของการเกิดการรวมตัวของสายพันธุ์เดิม เช่น ที่ไซปรัสที่เกิดเคสผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ร่วมระหว่างเดลต้าและโอมิครอน ที่เรียกว่า “Deltacron” แต่อยู่ในช่วงของการศึกษาว่าจะสามารถแพร่กระจายได้หรือไม่ และอีกเคสที่พบในอิสราเอล 1 เคสในผู้ป่วยตั้งครรภ์ ที่ไม่ได้รับวัคซีน เป็นสายพันธุ์ “Flurona” ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่างไข้หวัด (ประจำฤดู)กับโควิด หากมีการแปรผันของสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ วัคซีนน่าจะไม่ใช่คำตอบของโจทย์ข้อนี้ แต่เป็นการตั้งการ์ดของเราทุกๆ คน เพื่อให้เราอยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย
สุดท้ายขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัยนะคะ
ครูจา
แหล่งที่มา
Mar 28
Posted by malinee on Wednesday Mar 28, 2018 Under เกร็ดความรู้
จากกระแสข่าวเรื่องการสอบแข่งขัน เข้าเรียนในชั้น ป.1 โรงเรียนในเครือสาธิต จนเป็นกระแสทำให้มีข่าวว่าจะไม่ให้มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในชั้น ป.1 เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เราจะพบเห็นกันเป็นประจำในการสอบคัดเลือกในทุกระดับชั้น การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในทุกช่วงชั้นในบ้านเรา
หลายๆ คนก็คงเคยได้ยินว่าในหลายๆ ปะเทศก็มีการแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐเช่นกัน (เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น) แต่หากเราลองมาดูถึงรายละเอียดกันจะพบว่า ในการแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้นกับทุกๆ โรงเรียนรัฐ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนบางโรงเรียนเหมือนอย่างบ้านเรา สาเหตุของการแข่งขันดังกล่าวในบ้านเราแตกต่างจากประเทศที่กล่าวมาแล้ว นั่นเป็นเพราะมาตรฐานของโรงเรยนในบ้านเราไม่เท่าเทียมกัน ความสามารถในการสอนแตกต่างกัน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถานศึกษาเกิดกระจุกอยู่เพียงโรงเรียนไม่กี่แห่ง นอกจากนี้แล้ว การประเมนผลในระดับประเทศของบ้านเรา มักนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละโรงเรียน เทียบกับขนาดของโรงเรียน เทียงระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ และประกาศกันอย่างแพร่หลาย
ดัชนีชี้วัดดังกล่าวแทนที่จะนำมาช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือเป็นตัวชี้วัดว่าต้องมีการเพิ่มศักยภาพของการเรียนการสอนของครูผู้สอน ให้มีสัมฤทธิผลที่ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นตัวชี้วัดการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน มาประกอบกับแถลงการณ์ของกระทรวงศึกษา ที่รับจำนวนเด็กต่อห้องไม่เกิน 40 คน ยิ่งเป็นเหตุให้อัตราการแข่งขันเพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ เหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดกลุ่มเด็กที่แยกกันอย่างชัดเจน คือเด็กในกลุ่มที่ฐานะทางบ้านไม่สามารถแทรกตัวบุตรหลานให้เข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีครูที่(พ่อแม่คาดหวังว่า)ดีได้ ก็จะต้องไปอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีโอกาสเลือกเท่าใดนัก เด็กที่รวมตัวกัน จะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยใส่ใจในการเรียนเท่าใดนัก สุดท้ายจะกลายเป็นภาระของสังคม
ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีผู้ที่คิดจะลงมือแก้ไขปฏิบัติ ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป นั่งในตำแหน่งเพื่อรับเงนเดือน และเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล แต่ไม่ได้คิดที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ เพราะคิดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานเกินกว่าจะแก้ไข หรืออาจนั่งในตำแหน่งแต่ไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เกิดในสังคมปัจจุบันเกี่ยวกับการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข เพราะรับช่วงต่อจากผู้บริหารคนเก่า เสมือนตำแหน่งที่ได้มาเป็นสมบัติผลัดกันชม ได้แต่ทำตามในสิ่งที่เคยทำ ให้เวลามันผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
Dec 03
ในปัจจุบันถือว่าเป็นโลกแห่งความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะหาอะไรจะทำอะไรก็ง่ายดาย เช่นเดียวกัน ที่เรียนของลูกก็จะยากอะไร มีให้เลือกอยู่เยอะแยะไม่ว่าจะเรียนอะไร เดินสยามมีทุกชั้น ทุกวิชา
จริงอยู่ที่สถาบันกวดวิชามีมากมายหลากหลาย มีทั้งเรียนเดี่ยว เรียนกลุ่ม หรือแม้กระทั่งรับสอนตามบ้าน ถ้าลูกเรียนวิชาไหนไม่รู้เรื่องก็ส่งไปเรียนตามสถาบันต่างๆ บางครั้งปัญหาของความไม่เข้าใจก็ได้รับการแก้ไข แต่หลายๆ ครั้งปัญหาไม่อาจแก้ไขได้ บางครั้งปัญหาที่ต้องการการแก้ไข ไม่ใช่ปัญหาของการเรียน แต่เป็นปัญหาทางด้านพฤติกรรม
ทำไมครูถึงบอกว่าปัญหาของการเรียนเกี่ยวกับปัญหาทางพฤติกรรม เนื่องจากเด็กหลายๆ คนถูกบ่มเพาะนิสัยที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเกิดอะไรรอบตัว ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง จากการที่คิดแทน ตัดสินใจแทน หรือแม้กระทั่งการบ้าน รายงานแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตนเอง ร่วมกับการส่งความสุขให้กับบุตรหลานผ่านเกมส์ ทีวี การ์ตูน ซึ่งเป็นข้ออ้างว่าต้องการให้เขาได้พักสมองบ้าง
การบ่มเพาะดังกล่าวให้เวลาเพียงไม่ถึงสามเดือน เด็กก็จะมีบุคลิกเฉื่อย ไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ มีโลกส่วนตัว กลายเป็นเด็กเรียนรู้ช้าในที่สุด ซึ่งเป็นเหตุให้ผลการเรียนตกต่ำลงเรื่อยๆ กว่าสัญญาณดังกล่าวจะส่งถึงผู้ปกครอง ก็ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากเด็กที่มีบุคลิกดังกล่าวไม่ใช่เด็กที่ป่วน หรือไม่เชื่อฟังครู เป็นเด็กที่เงียบ เฉย ซึ่งการเรียนในโรงเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ ครูจะเข้าใจว่าเป็นบุคลิกส่วนตัว ก็ปล่อยผ่านไป
เหตุการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ทางสถาบันมักถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่าจะแก้อย่างไร หรือเรียนอะไรดี จะช่วยได้ ครูตอบได้เพียงแต่ ไม่มีวิชาใดแก้พฤติกรรมที่บ่มเพาะจากทางบ้านได้ นอกจากการแก้พฤติกรรมในบ้านด้วยตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองเองเท่านั้น
Sep 18
ในช่วงปลายภาคเรียนภาคแรก โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนจะมีการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายๆ คนก็มีการวางแผนการเรียนของบุตรหลานไว้แล้ว
พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายๆ คน จะถือว่าการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลานนั้น ต้องเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ทั้งระยะทาง สิ่งแวดล้อม และชื่อเสียงของโรงเรียนนั้นๆ แต่สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเกือบทุกคนลืมไปก็คือ ธรรมชาติของลูกหลาน ว่าเหมาะสมกับโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเด็กแต่ละคนมีธรรมชาติของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และแนวการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน
การส่งบุตรหลานไปโรงเรียน ซึ่งต้องใช้เวลาเกิน 80% ในโรงเรียน เราถือได้ว่าโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ จะดีกว่าหรือไมที่จะเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับการเรียนรู้ของเขา เช่น เด็กที่ไม่ชอบการแข่งขัน ควรส่งเสริมโดยการส่งเข้าโรงเรียนในแนวของการเร่งเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของเขา ในทางกลับกัน หากเด็กที่ไม่ชอบการแข่งขัน ไม่ควรจัดให้เขาไปอยู่ในโรงเรียนที่มีการแข่งขัน นอกจากจะไม่เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้แล้ว ยังทำให้เขาไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ใดๆ เลย ผู้ปกครองหลายๆ คนมักคิดว่าสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยกระตุ้นให้บุตรหลานเรียนรู้ได้ เด็กบางคนสามารถใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่เด็กหลายๆ คนไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงสังคมการเรียนให้กับบุตรหลาน ควรพิจารณาลักษณะนิสัยพื้นฐานของบุตรหลานว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับบ้านหลังใหม่ได้หรือไม่เพื่อความสุขของพวกเขาในช่วงวัยเรียนตลอดไป
Aug 28
เนื่องจากในปีการศึกษา 2561 จะเป็นปีแรกที่มีการรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ ที่เรียกว่า ระบบ TCAS (Thai University Central Admission System) ซึ่งเป็นระบบการคัดเลือกนักเรียนเป็นรอบๆ โดยมีทั้งสิ้น 5 รอบและในแต่ละรอบจะมีการกำหนดวัน Clearing house ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์สำหรับเด็กที่ได้เลือกคณะที่ตนเองได้เลือกแล้ว เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับผู้อื่น และในปัจจุบันก็มีสาขาวิชาที่ให้เลือกเรียนมากมาย
การเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนนั้น หลายๆ กระแสก็ให้เลือกตามแนวโน้มของโลกในอนาคต เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายๆ สังกัดก็มีการบ่งชี้ว่ามีหลายๆ อาชีพที่จะไม่เป็นที่ต้องการ หรือหายไปในที่สุด ด้านนักเศรษฐศาสตร์ก็วิเคราะห์ว่า แนวโน้มในอนาคตคนทำงานควรมีอาชีพมากกว่า 1 อย่าง การวิเคราะห์ดังกล่าว ทำเอาทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง และตัวเด็กเองเกิดความสับสน และลังเลใจ ไม่แน่ใจว่าจะเลือกเรียนอะไรดี หรือหาอาชีพที่สองได้อย่างไร
การเลี้ยงดูของพอแม่ผู้ปกครองในปัจจุบันมีอยู่หลายแบบ นั่นคือ แบบที่ปล่อยให้เด็กเรียนรู้ไปตามวัย โดยปล่อยหน้าที่เรื่องของการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่พาบุตรหลานเรียนเสริมในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เด็กมีความโดดเด่นทางด้านวิชาการ สามารถสอบแข่งขันในสนามต่างๆ ได้ทุกสนาม กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีการพาบุตรหลานส่งเสริมในกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียน เช่นด้านกีฬา ดนตรี ต่อเนื่องจนเด็กมีทักษะในการเรียนเสริมที่ดี
ลักษณะการเสริมความรู้ และทักษะของครอบครัวในแต่ละกลุ่มจะทำให้เด็กมีทักษะที่แตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก เด็กจะเรียนรู้ได้จากโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เด็กในกลุ่มที่ 2 จะเป็นเด็กที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเขาเหล่านั้นก็จะสามารถเลือกเรียนในสาขาที่เขาต้องการได้ ส่วนเด็กในกลุ่มที่ 3 อาจเป็นเด็กที่มีผลกาเรียนในระดับกลางๆ แต่มีทักษะด้านอื่นที่เรียนมาเพิ่ม จะสามารถนำทักษะที่ได้เรียนมาเป็นอาชีพรองต่อไป
พ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนอาจกังวลว่าแล้วในอนาคตเค้าจะสามารถดูแลตนเอง ได้หรือไม่ หากวันนี้เราทำหน้าที่ในการดูแล อบรม เลี้ยงดูเขาเหล่านั้นให้เป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวลแทนเขาเลย
Aug 18
การคิดเลขด้วยสองมืออันมหัศจรรย์ ของเด็กอนุบาล 3
Aug 07
คำๆนี้..ฟังแล้วมันมีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวที่มีลูกคนเดียว เค้าเป็นทั้งแก้วตา ดวงใจ ทุกอย่างของชีวิตของคนเป็นพ่อและแม่และมันจะพร้อมกับคำว่า..#คาดหวัง…เพราะเค้าเป็นทุกอย่างเราเลยคาดหวังให้เค้าเป็นที่สุด เป็นที่หนึ่ง เป็นทุกอย่างอย่างที่ใจเราอยากให้เป็น ทุ่มเททุกอย่างให้เพื่อให้เค้าได้ดั่งใจเราให้เค้าเป็นในสิ่งที่เราต้องการ..ซึ่งในบางครั้งเค้าพยายามแล้วแต่มันจะไม่ได้เป็นในสิ่งที่เราต้องการทั้งหมด ไม่ได้ดั่งใจเราไปสะทุกอย่าง..พ่อแม่หลายคนผิดหวัง เพราะคาดหวังสูงเกินไป..ใช้วิธีการเปรียบเทียบเพื่อให้ลูกได้เห็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น..
.. ดูลูกบ้านนี้สิ เค้าสอบเข้ารร.ดังๆได้นะ..ดูพี่คนนี้สิ เค้าเอ็นติดวิศวะนะ ดูลูกเพื่อนแม่สิเค้าสอบได้ที่หนึ่งนะ สารพัดคำพูดที่สรรหามาพูดกับลูก บางคนเปรียบเทียบกับญาติตัวเอง ดูลูกป้า ลูกลุง ลูกอา ลูกน้า..เค้าเก่งกว่าเธออีก เธอไม่ตั้งใจ เธอไม่ได้ดั่งใจชั้นเลย..ดูลูกคนอื่นแล้ว เคยคิดมั้ยว่าลูกรู้สึกอย่างไร ..มองแต่ลูกคนอื่น เคยหันมาดูมั้ยว่าลูกตัวเองเสียใจกับคำพูดที่ตัวเองพูดหรือเปล่า..ลองมองย้อมกลับมาดูลูกตัวเองบ้างมั้ย..ซึ่งบางทีลูกไม่ได้แย่ไปกว่าลุกคนอื่นเลย แต่ความคาดหวังที่พ่อแม่มีมากเกินไปจนกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึกของลูกตัวเอง..
วิธีการเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลุกคนอื่นป็นการสร้างปมในใจให้กับลูกที่แย่ที่สุด เด็กจะคิดว่าหนูไม่เก่ง หนูไม่ดี หนูสู้คนอื่นไม่ได้ สุดท้าย จะมีคำถามตามมาว่า แม่ พ่อ ไม่รักหนู…ท้ายที่สุดถ้าปมนี้มันใหญ่ขึ้นเค้ากลายเป็นเด็กมีปัญหา แล้วมันมาจากใครหละ…มันจะดีกว่ามั้ย ถ้าเราลดการคาดหวังลงและหันมายอมรับในสิ่งที่ลูกเราทำได้อาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่ง ไม่ได้รับการชื่นชมจากคนอื่น แต่มันก้อไม่ได้แย่ และกำลังใจเดียว ที่ลูกอยากได้ เค้าไม่ได้อยากได้จากคนอื่น..
…อย่าให้ความคาดหวังที่มันมีมากจนเกินไป มาทำร้ายคนที่เป็นทั้งความรัก ทั้งชีวิต เป็นทั้งจิตใจ..และที่สำคัญเค้าเป็น..คนเดียว เค้าเป็น..ที่สุด และ เค้าเป็น..ที่หนึ่ง ในใจเราเสมอ..#ขอบคุณและสวัสดีค่ะ.
Aug 02
Posted by malinee on Wednesday Aug 2, 2017 Under เกร็ดความรู้
ปัจจุบันนี้ วัยของการส่งบุตรหลานเรียนพิเศษจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการส่งบุตรหลานเรียนในสถาบันกวดวิชา มีอยู่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเพียงเพื่อให้บุตรหลานได้เตรียมตัวกับเนื้อหาใหม่ๆ เท่านั้น กับอีกกลุ่มเพื่อให้เด็กๆ เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเพิ่มอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เปิดขึ้นทุกๆ ปี และมีอยู่หลากหลายสนามการแข่งขัน
ดังนั้น ลักษณะการเรียนในเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะแตกต่างกัน เด็กในกลุ่มแรก จะเรียนแบบสบายๆ ไม่ได้มีการเร่งเนื้อหาเกินชั้นปีที่เรียนอยู่ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีเวลาและสามารถดูแลเรื่องการเรียนของบุตรหลานได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งบุตรหลานไปเรียนในที่ต่างๆ แต่เด็กอีกกลุ่มจำเป็นต้องเรียนอย่างหนัก และต้องมีการเรียนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั้นปี (เนื่องจากการแข่งขันในสนามต่างๆ มักใช้ข้อสอบที่เกินเนื้อหาที่เรียน) นอกจากจะต้องเรียนเนื้ัอหาที่เกินระดับชั้นแล้ว ยังต้องมีการเรียนเทคนิคในการทำโจทย์เพิ่มอีกด้วย เพื่อให้ทำข้อสอบได้คะแนนสูงๆ
เราจะเห็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ มากมายที่มักโชว์รูปเด็กที่ผ่านการคัดเลือก หรือชนะเลิศในการแข่งขันระดับต่างๆ อยู่มากมาย รูปของเด็กบางคน อาจถูกติดอยู่กับสถาบันมากกว่าหนึ่งสถาบัน (นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนที่ต้องชิงแชมป์ในสนามต่างๆ ต้องวิ่งเรียนในสถาบันต่างๆ มากกว่า 1 แห่ง) เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คุณพ่อ คุณแม่มักมองว่าที่ทำทุกอย่างก็เพื่อตัวเขา เพราะรักและ ปรารถนาดีกับเขา จึงต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขาเสมอ
การเรียนในแบบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับการที่เด็กอยู่กับเกมส์หรือทีวี แต่การเรียนในแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา เวลาในวันหยุดที่จะได้เที่ยววิ่งเล่น ก็หมดไป เวลาในการทำกิจกรรมในครอบครัวก็ลดลง เด็กในกลุ่มนี้ ก็จะเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีทักษะด้านสังคม หรือด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หลายๆ คนคิดว่าเด็กในกลุ่มสายแข่ง ที่มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับดีมาก ควรจะมีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้ดีเช่นกัน ข้อความนี้จะเป็นความจริง หากเด็กมีทักษะทางคณิตศาสตร์ในกระบวนการประยุกต์ในแบบของตัวเอง ไม่ใช่โปรแกรมที่ถูกป้อนให้ทำซ้ำจนจำได้ขึ้นใจว่า โจทย์ในลักษณะแบบนี้ต้องแก้อย่างไร
หากคุณพ่อ คุณแม่ลองนึกย้อนกลับไปตอนวัยเด็กของตนเอง หลายๆ คนจะเห็นภาพของตนเองเล่นซน การทะเลาะกันกับพี่น้อง หรือเพื่อนๆ แต่สุดท้ายก็ยังเล่นกันเหมือนเดิม มากกว่าการนั่งเรียนตั้งแต่วัยประถมแบบปัจจุบัน ลองเอาตัวเราเองไปนั่งแทนที่ลูก ว่าเขามีความสุขกับการแข่งขันหรือเปล่า เขาพอใจกับรางวัลที่ได้เมื่อเทียบกับความทุ่มเทหรือไม่ การแข่งขันสำหรับบางคนอาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เพราะหากเขาคิดว่าทุกๆ คน แม้แต่เพื่อนคือคู่แข่ง ต้องการแข่งกับทุกๆ คน จนกลายเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ หรือแพ้ไม่เป็น จนไม่รู้จักแบ่งปัน (ความรู้) สุดท้ายเขาก็จะถูกสังคมบีบให้อยู่คนเดียว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร หากสักวันที่เขาจะต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง สู้ให้เขาเรียนรู้ที่จะแพ้ ชนะ และให้อภัย เพื่อให้เขาได้มีเพื่อน ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปันอย่างมีความสุขจะดีกว่าไหม
Feb 15
Posted by malinee on Wednesday Feb 15, 2017 Under เกร็ดความรู้
ใกล้ปิดเทอมแล้ว มาเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ด้้วยกัน กับสถาบันคิดสแควร์กันดีกว่า