Mar 17
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาดีอยู่ในระดับ
1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นอันดับ 1 ในการสอบวัดผล PISA ใน 75
ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OCED)
เพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
ผลการจัดอันดับการศึกษาที่ดีของสิงคโปร์มิใช่ได้มาจากความบังเอิญ
แต่เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งรวมถึงพนักงานของภาครัฐที่ต้องได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก
และมีภารกิจที่ชัดเจนเพื่อพลิกโฉมสิงคโปร์ให้มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้แล้วยังทุ่มงบประมาณ 20% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมด
เพื่อทุ่มให้กับระบบการศึกษา บุคคลากรครูมีคุณภาพสูง
บุคคลากรทางการศึกษามีอัตราเงินเดือนเทียบเท่ากับอัตราเงินเดือนในภาคอุตสาหกรรม
และการเงิน ซึ่งดึงดูดให้บัณฑิตที่มีคุณภาพสนใจทำงานด้านนี้
หลายๆ
คนคงไม่เคยรู้ว่าครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย หลังจากปี
ค.ศ. 1965 ที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย
มีเพียงชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ประชากรครึ่งหนึ่งไม่รู้หนังสือ
อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพโดยการให้การศึกษา
สิงคโปร์จึงมีรัฐบาลอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางอย่าง
หนึ่งในนั้นคือการเชื่อฟัง เป็นการรับประกันความปลอดภัยและการอยู่ดีกินดี
ซึ่งปรัชญานี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งสาเหตุต่างๆ
เหล่านี้ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนดีๆ
ซึ่งมีการแข่งขันสูง ทำให้เด็กต้องเรียนเสริมจนเวลาในวัยเด็กหายไป ขาดความสุข
เกิดความเครียด โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นว่าการเรียนการสอนที่มีการแข่งขันสูงส่งผลให้เด็กขาดความสุข
เกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น และที่รุนแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมปีที่
1 ไม่มีการสอบวัดระดับแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังประกาศว่าในปี 2019
เป็นต้นไปจะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้น ป.2 และนักเรียนชั้น
ป.3,
ป.5,ม.1 และ ม.3 จะยกเลิกการสอบกลางภาคเท่านั้น
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์
นายอ่อง เย กัง (Ong Ye Kung) กล่าวว่าการยกเลิกการสอบในระดับประถมนั้นเพื่อรักษาความสมดุลในการเรียนรู้ของเด็กๆ
และลดความกดดันในการแข่งขันลง
แต่สัมฤทธิผลของการศึกษาก็จะเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินและรายงาน
โดยรวมแนววิธีการศึกษาบ้านเราใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์มาก สิ่งที่แตกต่างกันคือ เราไม่เคยติด 1
ใน 10 เหมือนสิงคโปร์ รัฐบาลของเราไม่เคยมีชุดไหนที่ทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง
ครูไม่ใช่อาชีพที่ 1 ที่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอยากเป็น และที่สำคัญที่สุดคือ
พ่อแม่มีหน้าที่เพียงแค่หาเงินมาเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตนเองและลูก
โดยไม่ได้สอนให้เค้ามีจิตสำนึก ไม่ได้สอนให้รู้จักหน้าที่ เด็กทุกวันนี้
หากมีใครถามเขาว่า หนูเรียนหนังสือเพื่ออะไร อาจจะไม่ได้ตอบกลับมา ดังนั้นหากจะเอาใครเป็นต้นแบบ ต้องศึกษาให้รอบคอบและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยของเรา
ใช่ว่าเห็นช้างขี้แล้วจะขึ้ตามช้างได้
Mar 04

ในอาทิตย์หน้าจะมีการสอบ NT ของเด็กชั้น ป.3 เรามาดูกันว่าตารางประจำปีของการวัดผลในแต่ละระดับมีอะไรบ้าง เริ่มจาก NT ซึ่งจะสอบกันในชั้น ป.3 ต่อมาชั้น ป.6 ,ม.3 และ ม.6 สอบโอเน็ต นอกจากนี้ยังมีการสอบกลางของกระทรวงในทุกช่วงชั้นจนสิ้นสุดที่ ม.2 จากการประเมินวัดผลที่จัดขึ้นเกือบทุกปีในเด็กแต่ละคน ทำให้เราคาดหวังว่าการเรียนการสอน ในบ้านเราน่าจะมีประสิทธิภาพ
แต่จากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ พบว่าผลการทดสอบคณิตศาสตร์ผลประเมินออกมาว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายของประเทศในเอเชีย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อมีการทุ่มเงินไปในอัตราส่วนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับงบประมาณในกระทรวงอื่นๆ
สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการทุ่มงบประมาณจำนวนมากไม่ได้ช่วยให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมาหาต้นเหตุ เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้สถาบันครอบครัวไม่มีความแข็งแรงอย่างอดีต การดำเนินชีวิตต่างคนต่างมีเวลาจำกัด ไม่มีเวลาที่จะใส่พูดคุยถึงปัญหาของแต่ละคน พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน จนเขาถูกเลี้ยงมาให้อยู่กับเทคโนโลยี ไม่ได้ถูกอบรมให้รู้จักอดทน การรอคอย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำให้ไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ส่วนอีกหลายๆ ครอบครัวก็มีความพร้อมจนส่งเสริมด้านทักษะและวิชาการอย่างหนัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานจนเด็กได้เรียนจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผลการประเมินของประเทศไทยสูงขึ้นแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังกันต่อไป
Feb 19

ข่าวการศึกษาในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. ซึ่งมีนโยบายการรับนักเรียนในระดับต่าง ๆ โดยกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องชัดเจน และไม่เปิดโอกาสให้มีการขยายห้องเพิ่ม ได้แก่ในระดับก่อนประถม ให้มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้อง ส่วนในระดับประถมและมัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักกับโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะต้องมีการสอบคัดเลือก (การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น) และการเลื่อนชั้นของนักเรียนในโรงเรียนเดิมจาก ม.3 ขึ้น ม.4 ของเด็กหลายๆ คนที่เกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนก็มีกำแพงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
การออกนโยบายดังกล่าวจะให้โรงเรียนในสังกัดถือเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการผ่อนผันในปีการศึกษา 2561 นี้ เนื่องจาก สพฐ. มีความเข้าใจว่าจำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนการสอน
เมื่อได้รับข่าวสารดังกล่าว ครูเกิดคำถามขึ้นมากมาย จริงหรือที่จำนวนนักเรียนต่อห้องเป็นปัจจัยหลัก หรือเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ สพฐ. สามารถแก้ไขในเรื่องของคุณภาพของการเรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆ ปีของการสอบคัดเลือก คือการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย ใช้ปัจจัย ตำแหน่งหน้าที่การงาน พร้อมกับการส่งบุตรหลานเข้าเรียนอย่างหนักในสถาบันกวดวิชาต่างๆ ไหนว่าลุงตู่มีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ กลายเป็นลดเวลาเรียนในโรงเรียน แต่เพิ่มเวลา(เรียน)รู้ (วันเสาร์-อาทิตย์) นี่เป็นนโยบายที่ต้องการให้เด็กเรียนพิเศษลดลง วัยเด็กที่หายไป เป็นความหวังดีของพ่อแม่ผู้ปกครองเพียงจุดประสงค์เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในที่มีการแข่งขันสูง ไม่ใช่เพียงเพราะอยากมีหน้ามีตาในสังคม แต่เป็นเพราะความเชื่อมั่นในศักยภาพของครู อาจารย์ ผู้สอน จึงได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้บุตรหลานได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของการเรียนนั้นหรอกหรือ ส่วนในอีกมุม โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของการแข่งขัน จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน กลายเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในแผนของการส่งบุตรหลานเลย ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ติดบ้านก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แน่ใจหรือว่าคุณภาพที่ได้นอกจากจะได้มาจากจำนวนนักเรียนเพียงอย่างเดียว หากเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เราจะต้องมีการควบคุมตัวแปรต้นทุกตัวที่ส่งผลกับการตั้งสมมติฐาน แล้วจึงเลือกศึกษาปัจจัยทีละตัว เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สพฐ. ไม่ได้ควบคุมตัวแปรต้นเลย (คุณภาพของครู อุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจำนวนนักเรียนเลย) หากคุณภาพของครูหรือโรงเรียนอยู่ในระดับเดียวกันทั่วประเทศ คงไม่มีแรงกระเพื่อมจากนโยบายในครั้งนี้รุนแรงนัก แล้ว สพฐ. มีแผนรองรับที่จะแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่ผ่านการคัดเลือกแล้วหรือยัง