perfect-genes-dna-hereditary-health-good-wellness-condition-word-d-letters-strand-to-illustrate-running-family-45473797          หลายๆ ครั้งที่ผู้ปกครองมักมีคำถามในใจ ว่า ทำไมลูกเราเรียนได้ดีไม่เท่าลูกเพื่อน ทั้งที่การเรียนตั้งแต่ในวัยอนุบาล เป็นที่เดียวกันหรือแม้กระทั่งการเรียนพิเศษ ก็เรียนที่เดียวกันมาตลอด แต่ทำไมลูกเราจึงเรียนสู้ลูกเพื่อนไม่ได้ หากลองตัดปัจจัยต่างๆ ที่เหมือนกันออกไปให้หมด เราจะพบตัวแปรต้นที่ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องของพันธุกรรม (เนื่องจากในงานวิจัยต่างๆ พบว่าความฉลาดของมนุษย์นั้นจำเป็นต้องมีการทำงานของยีนหลายๆ ยีนและจำเป็นต้องมีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผลมากกว่าร่วมด้วย) ในเมื่อเรื่องพันธุกรรมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉลาดแล้ว ทำไมลูกเรายังเรียนสู้ลูกเพื่อนไม่ได้ ทั้งที่ลูกเราเรียนเหมือนลูกเค้าทุกอย่าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมเดียวกัน

จริงหรือที่เด็กสองคนอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน อาจจะจริงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการเข้าเรียนเหมือนกัน แต่สิ่งแวดล้อมของการเลี้ยงดูตั้งแต่ในวัยเด็กเป็นการเสริมสร้างความฉลาดในการเรียนรู้ของเด็กแตกต่างกัน เช่น เด็กที่ได้ฝึกจับช้อน แก้วน้ำ ระบายสี หรือสิ่งต่างๆ ในการลองผิดลองถูก เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ต้องใช้เวลาในการรับประทานอาหารหน้าทีวี หรือเล่นเกมส์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมการปล่อยให้เด็กใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (ตามวัย) ไปจนกระทั่งการฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก จะเป็นการสร้างและเชื่อมโยงเส้นใยของสมองให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น นอกจากนี้การสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้ลองแก้ปัญหา หรือลองผิดลองถูกด้วยตนเอง จะเป็นการกระตุ้น และสร้างนิสัยให้เขาเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากพ่อแม่ ผู้ปกครองหลงติดกับ กับการใช้เกมส์ที่มีแสง สีสัน สวยงามและภาษาอังกฤษ ที่หลอกล่อเด็กให้เด็กอยู่กับที่ได้นาน ร่วมกับความเข้าใจในคำสั่งของเกมส์ ก็หลงคิดไปว่า ลูกสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทำให้ลูกมีสมาธิได้นาน แต่ในความเป็นจริงนั้น คำสั่งในเกมส์จะเป็นคำสั่งซ้ำๆ หรือเด็กใช้ความจำว่าขั้นนี้ต้องทำอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องที่เด็กนั่งอยู่ได้นานเนื่องจากเกมส์ในยุคปัจจุบันมีสีสันสวยงาม เป็นแอนิเมชั่นที่เหมือนจริง มันเป็นการยากที่เด็กๆ จะละสายตาจากมันได้ แต่เมื่อเขาต้องอ่านหนังสือ ที่มีแต่ตัวอักษรสีดำบนกระดาษสีขาวของตำราเรียน แล้วยังต้องนั่งในห้องเรียนคาบละชั่วโมง เขาจะไม่กระตือรือร้นต่อการเรียน นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ครอบครัว แยกหน้าที่ของตนเองกับโรงเรียนอย่างชัดเจน นั่นคือตนเองมีหน้าที่ทำให้ลูกมีความสุข โดยการตามใจ ส่วนเรื่องของการให้ความรู้ , กฎระเบียบ และคุณธรรมจริยธรรมเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว

เด็กส่วนใหญ่จึงไม่รู้จักเคารพในกฎกติกา ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ไปโรงเรียนเพราะพ่อแม่ไปส่ง รอแต่เวลาที่จะได้เล่นเกมส์ไปวันๆ เท่านั้น เแต่ครูไม่ได้หมายความว่าสื่ออิเล็คโทรนิกส์ไม่ดีเสมอไป ข้อมูลหลายๆ ข้อมูล หรือ e-book หลายๆ เล่ม ครูก็ได้จากอินเตอร์เน็ตเช่นกัน เพียงแต่สื่อต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้ควบคู่กับวุฒิภาวะที่เหมาะสมควบคู่กันไป

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.quora.com/Is-intelligence-determined-by-alleles-and-if-so-would-it-be-dominant-or-recessive

Tags : , , , , , , , , | add comments

Q ไหนสำคัญที่สุด? I AM ES Qs (2)

Posted by malinee on Saturday Nov 24, 2012 Under Uncategorized

ในแต่ละครอบครัวที่มีสมาชิกตัวน้อยเพิ่มขึ้นมาแต่ละคน  คงไม่มีใครคัดค้านว่านอกจากความสมบูรณ์ แข็งแรงทางร่างกายแล้ว ทุกคนต้องการให้เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการที่ดี และฉลาดหลักแหลม เราจึงต้องให้ความสำคัญของ IQ ไม่น้อยกว่าตัวอื่น ๆ

มักมีความเชื่อกันว่าความฉลาดนั้นเกิดจากปัจจัยพันธุกรรมเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น แต่จากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น กล่าวว่าความฉลาดนั้นมีปัจจัยจากพันธุกรรมเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเราสามารถพัฒนาได้จากการเลี้ยงดู  และสามารถพัฒนาได้ในช่วงที่เด็กมีอายุ 0 – 3 ปีเท่านั้น ตามทฤษฏีทางด้านพันธุกรรมคือ ยีน (gene) ที่มีหน้าที่ถ่ายทอดพันธุกรรมนั้น ยีนของอัจฉริยะเป็นยีนด้อย ซึ่งทำให้โอกาสที่เด็กเกิดมาจะเป็นอัจฉริยะนั้นน้อยมาก

จากข้อมูลต่าง ๆ เราจะพบว่าความฉลาด หรือ IQ ของคนส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก (ในด้านของพันธุกรรม) แต่สิ่งที่ทำให้ความฉลาดในเด็กแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ วิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันนั่นเอง การเลี้ยงดูที่มีการพัฒนาให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย และส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละวัยอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการเล่น หรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่นวัย 6 – 8 เดือน เด็กจะมีการใช้ทักษะมือให้สัมพันธ์กับตา เป็นการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อกับระบบประสาท หากเด็กได้รับการส่งเสริมจะทำให้การเรียนรู้ทางมิติสัมพันธ์เมื่อเขาโตขึ้นได้ดี   ส่วนเด็กที่อยู่ในช่วงกำลังหัดพูด ก็ต้องมีการพัฒนาทางด้านการฟังก่อน แล้วจึงพัฒนาการเลียนแบบเสียงต่าง ๆ ต่อไป การพัฒนาในด้านการพูด การฟัง ก็สามารถต่อยอดให้เด็กมีทักษะทางด้านภาษาที่ดีในอนาคตได้

จากวัย 0 – 3 ปี พัฒนาการของเด็กนั้นจะต้องผ่านกิจกรรมที่ใช้ทักษะทางด้านร่างกายเป็นหลัก ทั้งการมอง การฟัง การพูด การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ซึ่งหากเด็กได้มีการเล่นผ่านของเล่นที่จับต้องได้ ควบคู่ไปกับใช้ทักษะต่าง ๆ (ยิ่งมาก ยิ่งนาน) เด็กก็จะเกิดประสบการณ์ ความชำนาญ จนกลายเป็นการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว  แต่ในทางกลับกัน เด็กที่อยู่นิ่ง ๆ ใช้ทักษะด้านใดด้านหนึ่ง เช่นการให้เด็กนั่งเล่นเกมส์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเกมส์การศึกษาก็ตาม เด็กจะใช้สายตาในระยะเดียว (ระยะที่อยู่ภายในจอ ไม่ได้กวาดสายตาไปหลายจุด) และกล้ามเนื้อก็ใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น  ความฉลาดที่ได้จึงได้จากพันธุกรรมที่เหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments