ครอบครัว…เด็กพิเศษ
Posted by malinee on Sunday Nov 13, 2016 Under เกร็ดความรู้ปัจจุบันมีหลายๆ คนที่ต้องคลุกคลีกับการดูแลเด็กเป็นกลุ่ม จะพบว่า แนวโน้มจะพบเด็กที่เป็นเด็กพิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ เด็กพิเศษในที่นี้ จะไม่รวมถึงเด็กที่เฉื่อย หลายๆ ครอบครัวอาจรู้เท่าทัน ก็พาบุตรหลานไปปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการลดการกระตุ้นหรือสิ่งเร้าต่างๆ ในบางรายอาจเลือกวิธีการจัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม หรือในบางหลายๆ ครอบครัวอาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาร่วมเพื่อบำบัด หรือควบคุมอาการให้อยู่ในขอบเขต
หลายๆ คนอาจเคยอ่านบทความเกี่ยวกับเด็กพิเศษมาบ้างแล้ว หากมีการสืบประวัติการเลี้ยงดู มักพบว่าเด็กพิเศษแนวโน้มเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูมากกว่าพันธุกรรม นั่นหมายความว่า เด็กพิเศษนั้น จะแสดงอาการตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพิงการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่เป็นหลัก หากการดูแลบุตรหลาน โดยให้เครื่องมืออิเล็คโทรนิคส์เป็นผู้ช่วย หากเค้ายังมีอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ในมือ ก็สามารถนั่งนิ่งติดได้นาน แต่เมื่อถอดอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นออก พลังงานที่ควรใช้ จะถูกนำออกมาใช้ในช่วงนี้ ทำให้เค้าไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานเลย ซึ่งในช่วงเวลาที่ต้องนั่ง คือช่วงเวลาที่อยู่ในโรงเรียน ที่ต้องมีการเรียนรู้บทเรียนต่างๆ กลับกลายเป็นช่วงที่ลุกลี้ลุกลนอยู่ไม่นิ่งตลอดเวลา
ทางเลือกที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่นิยมเลือกคือ การใช้ยาเข้าช่วย เพื่อกดอาการสมาธิสั้น ให้เด็กได้อยู่นิ่งในช่วงของการเรียน เพื่อให้เค้านั่ง ตั้งใจในสิ่งที่ครูกำลังสอน แต่การใช้ยาจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หลายๆ ครั้งเมื่อใช้ยาไปนานๆ อาจเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น้อยลง จนทำให้ต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้น ในช่วงของการปรับยา นั่นหมายความว่า เด็กถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าได้ง่ายขึ้น เป็นเหตุให้ผลการเรียนแย่ลง เหตุการณ์แบบนี้ จะย้อนกลับมาทุกครั้ง หากทางบ้านยังไม่ปรับวิธีการเลี้ยงดู ไม่ลดสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ และในที่สุดสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเกิดความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ก็ดุ ด่าว่ากล่าว หรือบางรายอาจใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีใดๆ เลย
หากเป็นเช่นนั้น เราควรทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ที่จะดูแลบุตรหลานของตน ต้องเรียนรู้จากบุตรหลาน และคอยสังเกตว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการ ให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้นให้ได้ เรียนรู้ที่จะให้อภัย เพราะหลายๆ ครั้งที่บางสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากความไม่ทันได้ยั้งคิด ทำโดยไม่ได้เจตนา แต่ต้องมีการพูดคุย โดยจัดบรรยากาศให้สงบ เพื่อให้เค้าได้มีสมาธิ ได้ฟัง (ไม่ใช่แค่ได้ยิน) ได้คิดตรึกตรองในสิ่งที่เราพูด เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นกับเค้าในเวลาที่เค้าไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งที่เราต้องการ และสุดท้ายคือยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดเกินครึ่งที่เกิดจากการเลี้ยงดูของเราเอง ที่เลี้ยงเค้าในวัยเด็ก ดังนั้นจึงต้องเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปรับพฤติกรรมให้เป็นปกติได้มากที่สุด และทำให้เค้าได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป