Jan 30
Posted by malinee on Thursday Jan 30, 2020 Under ข่าวการศึกษา
ครูได้มีโอกาสคุยกับเด็ก ม.ปลาย หลายๆ คน หลายๆ ครั้งที่ได้คุยกันเรื่องการเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย คำตอบที่ได้กลับมาคือ การอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ค่านิยมดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากการที่เด็กมีความรู้สึกว่าการเรียนต่อต่างประเทศเป็นการอัพเกรดให้ตนเองเมื่อจบมาจะได้มีเงินเดือนที่สูงกว่าการเรียนในประเทศ หรือส่วนใหญ่ประเมินว่าตนเองจะไม่สามารถเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองต้องการในประเทศได้
ที่จริงแล้วการเรียนต่อต่างประเทศที่จะทำให้ได้เงินเดือนที่สูงขึ้นได้ เพราะการเรียนต่อในแบบดังกล่าวเป็นการสอบชิงทุน ซึ่งการสอบชิงทุนนั้นจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกที่เลือกเฟ้นผู้เรียน ที่มีความรับผิดชอบในการเรียน และะความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง โดยการเรียนดีอาจเป็นสิ่งเดียวที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเด็กคนนั้นมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง (มาตรฐานของคนไทย) เพราะเด็กไทยไม่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ด้านอื่น
ส่วนการเรียนต่อต่างประเทศ โดยใช้ทุนของตนเอง อาจเป็นเพราะลดภาวะการสอบแข่งขันให้กับบุตรหลาน..เช่นใน การเรียนหมอ ..คำตอบของเด็กหลายๆ คนว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบที่เราได้รับจะหนีไม่พ้น หมอ หรือ ครู แต่เมื่อเด็กโตขึ้น ความอยากเป็นครูจะหายไป เหตุผลคือ ผลตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับในสังคม ความเป็นหมอมีมากที่สุดในสังคมไทย จึงทำให้เด็กหลายคนรวมทั้งพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นหมอ..ซึ่งการเรียนในสายแพทย์ในเมืองไทย แน่นอนจะต้องเรียนในสายวิทย์-คณิต แต่ที่มากกว่านั้นคือความเพียร ความช่างสังเกต การจดบันทึก ความมีระเบียบวินัยความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และความพยายามในการแก้ปัญหา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มักจะถูกฝึกจากการเรียนที่ค่อนข้างหนักในสายวิทย์-คณิต แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียนในสายอื่นไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ การสอบคัดเลือกเข้าเรียนโรงเรียนแพทย์ในรอบแรก (รอบ portfollio) จะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป และส่งผลของการสอบ Bmat และ ภาษาอังกฤษ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ในขณะที่การเรียนต่อโรงเรียนแพทย์ในต่างประเทศ ต้องการเกรดเฉลี่ย3.0 โดยที่เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั้ง3 ตัว(และไม่มีสายวิทย์ คณิต)เหมือนบ้านเรา การเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นการเลือกเรียน2 ใน3 ตัวเท่านั้น เนื่องจากในต่างประเทศมุ่งเน้นให้เด็กรู้จักตัวตนก่อน แล้วจึงเลือกเรียน จึงไม่มีการเลือกสาย เหมือนบ้านเรา ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยเลือกเรียนในด้านวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ยากกว่าการเรียนภาษา ดังนั้นการเลือกเรียนหมอที่เมืองนอกจึงง่ายกว่าเมืองไทย ถ้าพูดถึงการสอบคัดเลือกในกาเรียนหมอเมืองไทยเข้มกว่ามากเพราะเข้มและยากกว่านี่เองทำให้เด็กที่จบหมอจากบ้านเรามามีเก่งในทุกด้านและความรักและภูมิใจในอาชีพ และบ้านเราจะได้หมอที่มีฝีมือที่ดีมากไม่แพ้เมืองนอกเลย..
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ว่าระบบการศึกษาของบ้านเราล้มเหลวแต่เพียงเพราะค่านิยมของคำว่า จบจากเมืองนอก หรือไปเรียนเมืองนอกทำให้เด็กไทยพยายามหาทางไปเรียนต่อต่างประเทศซึ่งจริงๆแล้วการศึกษาบ้านเราเก่งไม่แพ้ใครเพียงแต่เด็กในรุ่นหลัง ขาดความอดทน พ่อแม่ตามใจ พอเจอการเรียนที่ยากหน่อย ก้อไม่พยายามสู้ มีฐานะหน่อยก้อหาทางลัดให้ลูกจบได้ง่ายกว่า จึงทำให้ค่านิยมนี้ยังอยู่กับเด็กไทยไปทุกยุคทุกสมัย. สุดท้ายนี้ครูอยากฝากถึงเด็กม.ปลายทุกคนที่กำลังจะเลือกคณะเข้ามหาวิทยาลัย มันคือ ประตูก้าวแรกที่เราจะเลือกในการดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเลือกสายไหน อาชีพไหนก็ตาม..ขอแค่หาตัวเองให้เจอ และที่สำคัญ เป็นคนดีของสังคม…
#เรียนเมืองไทยภูมิใจกว่าเยอะ.
#เด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติไหน..
#เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ..
#สถาบันคิดสแควร์
Jan 08
จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย
หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย
จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป
อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป
Aug 28
Posted by malinee on Tuesday Aug 28, 2018 Under เกร็ดความรู้
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ครอบครัวแต่ละครอบครัวมีบุตรน้อย เมื่อบุตรหลานเข้าสู่วัยเรียน ก็เฟ้นหาโรงเรียนที่คิดว่าดีที่สุดให้กับเขา แต่หลายๆ ครอบครัวก็หลงลืมไปว่าช่วงก่อนวัยเรียน เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดที่จะพ่อแม่จะสามารถสร้างนิสัยให้กับบุตรหลานได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการสร้างนิสัยในเรื่องของความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ การสังเกต การรู้จักกฎระเบียบ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ให้กับบุตรหลาน รวมถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญของพัฒนาการในวัยเตาะแตะ (Toddlers) ร่วมกับสมาธิ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเรียน
การเสริมสร้างลักษณะนิสัยต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานเพื่อให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากปัจจุบันด้วยสภาพสังคมในยุคดิจิตอลที่สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้เวลาที่ควรเป็นของครอบครัวถูกเบียดบังด้วยสื่อต่างๆ มากมาย หลายๆ ครอบครัวถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยี และติดกับไปกับสีสัน สังคมในหน้าจอ เข้าใจผิดคิดว่า การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นตัวช่วยในการพัฒนาบุตรหลาน ทำให้การทำกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ หรือเพียงแค่การตบมือ การเล่นจ๊ะเอ๋นั้น เป็นการสร้างการเชื่อมโยงของปลายประสาทของสมองที่กำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดดผ่านกิจกรรมทางด้านร่างกายผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในช่วง 7 ขวบปีแรก ถดถอยลง เมื่อเด็กไม่มีการใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ นอกจากตาและนิ้วเพียงนิ้วเดียว
เมื่อถึงวัยเรียนกล้ามเนื้อมือที่ควรจะแข็งแรงและพร้อมจะขีดเขียน ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน กลายเป็นเด็กรู้สึกว่าการเรียนไม่ใช่เรื่องที่เขาอยากทำ สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือสมาธิที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ไม่ว่าพ่อแม่จะเลือกโรงเรียนหรือครูที่ดีเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ได้ เปรียบเหมือนกับน้ำที่เต็มแก้ว ไม่สามารถรับน้ำได้เพิ่มอีกแล้ว ไม่ว่าจะรินน้ำดี หรือสะอาดเพียงใด ก็ไม่สามารถรับเข้าไปได้เพิ่มอีกแล้ว ในเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้ที่รู้ว่าสิ่งใดดีกับการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับบุตรหลาน ควรเลือกเติมเต็มสิ่งที่ดีให้กับบุตรหลาน เพื่อให้เขาได้เติบโตและเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
May 17
Posted by malinee on Thursday May 17, 2018 Under เกร็ดความรู้
ระบบการศึกษาไทย ยิ่งปรับยิ่งก้าวหน้าหรือถอยหลัง แต่เดิมที่มีการสอบคัดเลือกเพียงครั้งเดียว โดยให้เลือกอันดับของคณะและสถาบันที่ต้องการเรียน ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนให้มีการสอบเป็นสองรอบ เพื่อให้ปรับแก้วิชาที่ยังคะแนนได้ไม่ดี จนมาถึงปัจจุบันเป็นระบบที่เรียกว่า TCAS ซึ่งแบ่งเป็นการสอบและยื่นคะแนนออกเป็น 5 รอบ โดยในแต่ละรอบจะใช้คะแนนที่แตกต่างกัน โดยแยกเป็นรอบดังนี้
รอบแรก คือการยื่น portfolio ซึ่งในรอบนี้มหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
รอบที่ 2 เป็นรอบของโควตามหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน โดยราคาเริ่มต้นที่ 300 บาทถ้าเลือกสอบที่เดียว เพิ่มอีกที่ละ 200 บาท รวม 4 วิชา 900 บาท
รอบที่ 4 แอดมิชชันราคาเริ่มต้นที่ 100 บาทถ้าเลือกสอบที่เดียว เพิ่มอีกที่ละ 50 บาท รวม 4 ที่ 250 บาท
รอบ 5 รับตรงอิสระมหาวิทยาลัยกำหนดเอง ค่าสมัครแต่ละโครงการๆ ละ 300 บาทขึ้นไป
โดยมีค่าสอบในข้อสอบกลางดังนี้
- GAT/PAT วิชาละ 140 บาท ตามเกณฑ์ของคณะที่สนใจ
- 9 วิชาสามัญ วิชาละ 100 บาท
- วิชาเฉพาะ กสพท 800 บาท
- ข้อสอบตรงของมหาวิทยาลัย
- O-Net ไม่เสียค่าใช้จ่าย
จากการแจกแจงค่าใช้จ่ายด้านบน เราจะพบว่า หากการเลือกสอบในแต่ละรอบไม่ได้คะแนนตามเกณฑ์ของคณะที่กำหนด เราจะต้องสมัครในรอบต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในแต่ละขั้นตอน เด็กๆ จะต้องมีการสอบเผื่อในทุกๆ รอบ จะเห็นว่าไม่ว่าจะสอบในรอบไหนๆ ก็เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการสอบ และส่วนของการยื่น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะที่มั่นคง ก็อาจถูกตัดโอกาสทางการศึกษาไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นช่องว่างจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจเป็นปัญหาทางสังคม เพราะเขาเหล่านั้นอาจคิดว่าการทำอาชีพสุจริตได้รายได้น้อยเกินกว่าที่จะใช้จ่าย และก่อให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมกันตามมาเป็นลูกโซ่