จากที่เคยกล่าวถึงโรงเรียนในแนวต่างๆ  มาแล้ว คราวนี้เราลองมาสอดส่องโรงเรียนไทยที่มีทางเลือกหลากหลายให้กับพ่อ แม่  ผู้ปกครองในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ค่าเทอมของโรงเรียนอินเตอร์มีอัตราที่สูงลิ่ว ซึ่งมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่สามารถส่งเสริมบุตรหลานให้เรียนได้  ประกอบกับโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนมีการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบ  Gifted ,EP และภาคปกติ  เรามาดูรายละเอียดของการเรียน EP ว่าแตกต่างจากภาคเรียนปกติอย่างไร

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็หวังว่าการส่งบุตรหลานเรียน EP  จะทำให้บุตรหลานได้มีความเข้าใจภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยอาจรู้เท่าไม่ถึงว่าแนวการเรียนการสอนเป็นอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ  EP จะมีการเพิ่มการเรียนการสอนวิชา  Math , Science , Social  Study  ซึ่ง ผู้ปกครองหลายๆ คนที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมเด็กก่อนที่จะเข้าเรียนในแนว EP  ส่งบุตรหลานเรียนอนุบาลในแนวไทย เข้าใจว่าเด็กๆ  จะสามารถปรับตัวได้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่สามารถปรับตัวได้เลย เพราะหนังสือที่ใช้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาคณิตศาสตร์ หลายๆ โรงเรียนเลือกใช้หนังสือจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งหนังสือที่ใช้เป็นหนังสือที่ดีมาก  แต่เราต้องอย่าลืมว่าภาษาอังกฤษของประเทศสิงคโปร์เป็นภาษาแม่ก็ว่าได้ ดังนั้นภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นแบบ  EFL  (English First  Language) ซึ่งเด็กไทยภาษาอังกฤษไม่ใช่ทั้งภาษาแม่และภาษาทางราชการ ทำให้เด็กเกิดปัญหา เพราะไม่ได้ถูกปูพื้นฐานมาตั้งแต่ต้น พ่อแม่ ผู้ปกครองเองบางคนที่ไม่ติดเรื่องภาษา ก็ต้องติดกับเรื่องของการอธิบาย เพราะเค้าใช้วิธี   Singapore  Math ทำให้เกิดปัญหากับการเรียนคณิตศาสตร์

หลายๆ ครอบครัวช่วยบุตรหลานโดยการส่งให้เรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่ม  แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้ทำให้บุตรหลานเข้าใจการเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น  เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการเรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทย มุ่งเน้นให้เด็กเรียนไวยากรณ์  ท่องศัพท์เพื่อให้รู้หน้าที่ของคำ  แต่การเรียนคณิตศาสตร์จะมีศัพท์เฉพาะทาง เช่น perpendicular,  denominator, parallel, numerator, reciprocal เป็นต้น  กลายเป็นปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

ดังนั้นการเลือกโรงเรียนนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีการวางแผนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาให้กับบุตรหลาน  แต่หากเด็กเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว ควรช่วยเค้าให้ถูกทาง เลือกเรียน Singapore Math เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิธีการแก้โจทย์ปัญหาได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้แล้วเพื่อไม่ให้ปัญหาค่อยๆ พอกพูนจนไม่สามารถแก้ไขได้ ร่วมกับการที่เวลาที่สอนในโรงเรียนปกติ 8 วิชา เพิ่มอีก 3 วิชาโดยมีเวลาเรียนเท่าเดิม กลายเป็นว่าภาษาไทยก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ วิชาการอะไรก็ไม่ได้สักด้านเดียว……

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

ในการเรียนในโรงเรียนในแต่ละระดับชั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนในหลากหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้  ซึ่งในแต่ละกลุ่มสาระนั้น จะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น การเรียนในวิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ จำเป็นที่จะต้องท่องจำเนื้อหาให้แม่นยำ ส่วนในหมวดวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หากการเรียนใช้วิธีการท่องจำนั้น การท่องจำนั้นไม่สามารถทำให้การเรียนรู้เกิดการประยุกต์ใช้ได้มากนัก เนื่องจากสองกลุ่มสาระดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเพื่อต่อยอดสู่การประยุกต์ในการทำโจทย์ที่แตกต่าง หลากหลายมากขึ้น

จริงอยู่ที่ในการเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น จะต้องมีการท่องจำทฤษฏีในเบื้องต้น เช่น 5 x 2 หมายถึงการบวกกัน 5 กลุ่มของ 2 (2 + 2 + 2 + 2 + 2) ไม่ใช่  5 + 5 ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่ในความหมายที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ทฤษฏีดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่ชั้นที่สูงขึ้น ที่ว่าคำว่าของทางคณิตศาสตร์คือการคูณ หากการเรียนโดยใช้ความจำเพียงอย่างเดียว มักส่งผลให้เมื่อเจอโจทย์ปัญหา หรือโจทย์ประ ยุกต์ ก็จะต้องจำโจทย์ทุกๆ โจทย์ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

หากเป็นเช่นนี้ ที่จะต้องให้เด็กเรียนทุกอย่างด้วยความจำ หลังจากสอบเสร็จ หรือเมื่อเวลาผ่านไป เด็กก็จะลืมในที่สุด แล้ววิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็จะไม่สามารถต่อยอดออกไป เนื่องจากต้องย้ำเนื้อหาเดิมให้จำได้ก่อนเพื่อจะได้จดจำเนื้อหาใหม่ที่ต่อเนื่องต่อไปให้ได้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเรื้อรังยาวนานไปเรื่อยๆ จนเด็กมีทัศนคติไม่ดี และเกลียดวิชาดังกล่าวในที่สุด หากเป็นเช่นนี้จะดีกว่าหรือไม่ หากเราส่งเสริมให้เด็กเรียนวิชาดังกล่าวด้วยความเข้าใจ มากกว่าด้วยวิธีการท่องจำ

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เป็นการประกาศผลการสอบ o-net ของนักเรียนชั้น ป。6 ,ม。3 และม。6 ซึ่งผู้ปกครองหลายๆ คน มักมีคำถามการสอบ o-net เป็นการสอบเพื่ออะไร มีประโยชน์หรือจุดประสงค์ใด

เรามาดูแนวคิดและจุดประสงค์ของการสอบกัน

วัตถุประสงค์ของการสอบ O-net
1. เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียน ป.6, ม.3 และ ม.6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

  1. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน
  2. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษา
  3. เพื่อนำผลการสอบไปใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ
  4. เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินผลการเรียนของผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
  5. ใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันอุดมศึกษา

จากวัตถุประสงค์ของจัดสอบนั้น มีจุดมุ่งหมายที่ดี หากได้มีการดำเนินปรับปรุงแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของเด็กหรือพัฒนาการเรียนรู้ตามนโยบายให้ดีขึ้น

แต่จากผลการสอบมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เห็นนโยบายในการพัฒนาการทางด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่วิเคราะห์ได้คือ นโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นนโยบายที่ล้มเหลว ซึ่ง ครูได้มีโอกาสได้คุยกับนักเรียนที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาที่ได้รับนโยบายดังกล่าว เด็กๆ จะไม่มีการเรียน ไม่มีกิจกรรม ในคาบสุดท้าย แล้วครูถามว่าแล้วเด็กๆ ทำอะไร คำตอบที่ได้คือ การท่องโลกอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เค้าเหล่านั้นอย่างอิสระ  ในปีนี้ ผลคะแนนเฉลี่ยของเด็กในกรุงเทพเอง มีเพียงภาษาไทยและสังคมศึกษาเท่านั้น ที่มีคะแนนมากกว่า 50% ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเห็นผลคะแนนเฉลี่ยในระดับประเทศแล้ว เหลือเพียงภาษาไทยวิชาเดียวที่เกินครึ่ง ที่เหลือคะแนนจะอยู่ระหว่าง 30 – 45% เท่านั้น ซึ่งคะแนนที่ครูนำมาอ้างอิงเป็นคะแนนในระดับป。6 เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างชัดเจน เมื่อค่าเฉลี่ยต่ำตั้งแต่ในช่วงชั้นประถม เราก็จะเห็นแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยในระดับที่สูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย  badgradeclipart

Tags : , , , , , , , , , , , , | add comments

can-stock-photo_csp12816355

หลังจากเด็กๆ เปิดเทอมกันมาซักระยะหนึ่งแล้ว แน่นอนสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือการประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กๆ หลายๆ คนผลการประเมินออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่เด็กๆ หลายๆ คนมีผลการเรียนดีในเกือบทุกวิชา ยกเว้นก็แต่วิชาคณิตศาสตร์

คุณพ่อ คุณแม่หลายๆ คนก็หนักใจกับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของบุตรหลาน มักคิดว่าเด็กไม่มีความเข้าใจในการเรียน จนทำให้เกิดทัศนคติในด้านลบ เกลียดวิชาคณิตศาสตร์ ปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ก่อนอื่น เรามาดูสิ่งที่เด็กๆ ต้องเรียนในโรงเรียนกันก่อน การเรียนในชั้นประถมของเด็กจะมีวิชาหลัก คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในช่วงประถมต้น การเรียนรู้ในทุกๆ วิชาของเด็กส่วนใหญ่จะเป็นการท่องจำ (รวมถึงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการเรียนสิ่งแวดล้อมรอบตัวก่อน) ยกเว้นวิชาคณิตศาสตร์ที่จะต้องเรียนรู้วิธีคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ ป。1 ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง คือเด็กในยุคนี้ไม่อยากคิด ไม่อยากเริ่มอะไรด้วยตัวเอง เมื่อไม่อยากคิด กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องคิดเป็นขั้นเป็นตอนก็ไม่เกิดการฝึกฝน ไม่ใช่ว่าเขามีปัญหาการเรียนรู้ และเมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาดังกลาวจะบานปลายไปยังวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าสู้ประถมปลาย การเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะเริ่มมีการคิดวิเคราะห์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เราจะสังเกตว่าเด็ก ที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ดี จะสามารถเรียนในหลายๆ วิชา นั่นเป็นเพราะการเรียนคณิตศาสตร์เป็นการจัดลำดับกระบวนการคิดให้กับเด็กๆ นอกจากนี้การเรียนคณิตศาสตร์จะเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านการแก้ปัญหาให้กับเด็กๆ หากเด็กเริ่มต้นด้วยการขึ้เกียจคิด ทุกๆ การเรียนรู้ที้ต้องใช้กระบวนการคิดก็ไม่เกิดขึ้น และปัญหานี้ก็จะยุ่งเยิงพัวพันกับวิชาวิทยาศาสตร์ต่อไป

ในการเลี้ยงดูบุตรหลานแต่ล่ะคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรฝึกให้เด็กได้มีอิสระทางความคิด และเสริมด้วยประสบการณ์ เช่นการเล่นเลียนแบบ การเล่นขายของ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยคุณพ่อ คุณแม่ยังเด็กอยู่นั่นเอง

Tags : , , , , , , , , , , | add comments

stock-photo-little-boy-with-cowboy-hat-on-toy-horse-in-a-barn-402127099           คราวที่แล้ว ครูได้พูดถึงการเปลี่ยนม้ากลางศึกในเด็กโต ซึ่งเป็นปัญหากับเด็กโตในเรื่องของการเรียน จึงเป็นสาเหตุให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกที่จะให้บุตรหลานเปลี่ยนแนวการเรียนในวัยเด็ก ซึ่งคิดว่าเด็กๆ น่าจะปรับตัวได้ง่ายกว่า

จริงอยู่ ที่การปรับตัวในวัยเด็ก เป็นไปได้ง่ายกว่า แต่บางรายก็ยังคงพบปัญหาอยู่เช่นกัน แต่ปัญหาในเด็กที่เข้าเรียนกลางภาคเรียน สิ่งที่พบ คือ การปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน เช่น เด็กที่ถูกย้ายจากโรงเรียนไทยไปอยู่โรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งการเรียนในโรงเรียนอินเตอร์นั้น เด็กทุกคนจะถูกบังคับให้สื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ (เพื่อให้เด็กใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว) แต่เด็กที่ถูกย้ายมาจากโรงเรียนไทย บางครั้งการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นปัญหาของเขา เขาจึงเลือกใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ด้วยเหตุที่เด็กๆ มักจะเชื่อฟังคุณครู จึงทำให้เด็กคนอื่นๆ ไม่พูดกับเด็กคนดังกล่าว เพราะกลัวถูกครูคิดว่า ตนเองก็เป็นคนที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเช่นกัน นานเข้าปัญหานี้ ก็สะสมจนทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน หรืออาจเป็นการต้านการใช้ภาษาอังกฤษ ที่เป็นต้นเหตุทำให้ตนเองไม่มีเพื่อน

แน่นอนว่า เหตุผลของการย้ายโรงเรียนนั้น พ่อแม่ทุกคนทำไป เพื่อความปรารถนาดีต่อบุตรหลาน เช่นเดียวกับบการเลี้ยงม้า การเปลี่ยนคอกม้า อาจเนื่องมาจากสาเหตุของคอกเก่าที่เจ้าของม้าเห็นว่า มันเก่า มีเชื้อโรค หรือแม้กระทั่ง ม้าตัวนั้นโตขึ้น จนทำให้คอกม้าดูคับแคบ ไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม แต่คอกใหม่ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เจ้าม้าตัวน้อยต้องการ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มิใช่ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแนวหรือ ย้ายโรงเรียนให้กับบุตรหลานได้เลย เพียงแต่ คุณพ่อ คุณแม่ ต้องคอยสังเกตุพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการเก็บตัวของเด็ก ควรมีการพูดคุย สื่อสารกับทางครูประจำชั้นถึง พฤติกรรมในโรงเรียน เพื่อไม่ให้เด็กบ่มเพาะนิสัยการเก็บตัวต่อไป

Tags : , , , , , , , , , , | add comments

imagesZV1A494L            หลังจากมีการเชื่อมโยงเครือข่ายประเทศอาเซียน หรือการเปิด AEC ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 หลายๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษากระตุ้นให้มีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น

ตอนนี้เรามาพิจารณาการเปิด AEC ว่ามีจุดประสงค์เพื่ออะไรก่อน การรวมกลุ่มประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ AEC นั้น เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งกลุ่มอาเซียนจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน สามารถที่จะเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมือได้อย่างเสรี

โดยที่ประเด็นในเรื่องของทั้งการเคลื่อนย้ายการลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างอิสระนั่นเอง ที่ส่งผลให้สถาบันการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงอุดมศึกษา เน้นให้มีการเรียนการสอนในหลักสูตรภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่บางครั้งการส่งเสริมถูกเน้นไปด้านเดียวจนลืมภาษาไทยซึ่งนอกจากจะเป็นภาษาแรกที่เราใช้ในการสื่อสารแล้ว การเรียนการสอนวิชาพื้นฐานในโรงเรียนภาษาไทยก็ยังเป็นภาษาที่เป็นสื่อกลางการเรียนในทุกวิชา ดังนั้นในเด็กปฐมวัย เรายังต้องให้ความสำคัญกับภาษาไทยไม่ให้น้อยกว่าภาษาที่สอง หากเด็กๆ ไม่สามารถที่จะอ่านออก เขียนได้ (ภาษาไทย) ก็จะส่งผลให้กับการเรียนในทุกๆ วิชาของเขามีปัญหาแน่นอน ดังนั้น การส่งเสริมให้บุตรหลานมีการเรียนภาษาที่สอง แต่เราต้องไม่ลืมภาษาของเราเอง

ครูจา

Tags : , , , , , , , | add comments

www-St-Takla-org--Men-02-Running-Competition            เนื่องจากช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี จะเป็นช่วงของการสอบคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเข้าชั้น ป.1 , ม.1 หรือแม้กระทั่งการสอบเข้า ม.4 ของโรงเรียนทั้งประเทศ เนื่องจากเคยเขียนบทความถึงการสอบเข้าชั้น ป.1 มาแล้ว ครั้งนี้จึงขอเก็บตกการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 ในโรงเรียนต่างๆ

การสอบคัดเลือกเข้าชั้น ม.1 นั้นโดยปกติก็แยกออกเป็น 2 รอบคือรอบแรกเป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในห้องเด็กพิเศษ หรือ gifted  และในรอบของการสอบคัดเลือกแบบธรรมดา ในช่วงปลายเดือนนี้

การสอบในรอบคัดเลือกเข้าห้อง gifted ของโรงเรียนส่วนใหญ่ การสอบจะมีเพียง 3 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ ซึ่งการออกข้อสอบของโรงเรียนส่วนใหญ่จะใช้ข้อสอบส่วนใหญ่จะต้องใช้ความรู้ขั้นพื้นฐานถึง ม.3 เด็กที่มีความสามารถผ่านเข้าเรียนได้ ก็จะเป็นเด็กที่มีการเตรียมตัวเรียนล่วงหน้า และทำข้อสอบมาเป็นปีๆ ซึ่งโรงเรียนจะได้เด็กที่มีการเตรียมตัวเรียนล่วงหน้าอยู่แล้ว ส่วนเด็กที่เรียนอยู่ในระดับดีตามระดับชั้นที่เรียนก็จะพลาดโอกาสไป นี่คือแนวการศึกษาแบบประเทศไทย นั่นคือ ใครที่เรียนรู้ก่อนจะได้เปรียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เรียนรู้ตามระดับจะไม่เก่ง

การสอบคัดเลือกในรอบปกติ จะมีการสอบวิชาหลัก 5 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ ข้อสอบในชุดดังกล่าวจะมีข้อสอบส่วนใหญ่ที่ใช้จะใช้ความรู้พื้นฐานที่เรียนมามากกว่า ดังนั้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองมีจุดมุ่งหมายให้บุตรหลานสอบคัดเลือกเข้าในรอบ gifted หรือโรงเรียนกระแสต่างๆ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้ากันเป็น ปี 2 ปีเลยทีเดียว

ครูจา

Tags : , , , , , , | add comments

images (5)          เคยสงสัยมั้ยว่า เรียนคณิตศาสตร์ไปเพื่ออะไร ทำไมคณิตศาสตร์ จึงเป็นวิชาหลักตั้งแต่ปฐมวัย หรือเด็กหลายๆ คนอ่ตเคยตั้งคำถามนี้กับคุณพ่อคุณแม่ สำหรับวิชาอื่นๆ คงไม่ยากกับการอธิบายให้บุตรหลานได้เข้าใจ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เราก็รู้อยู่แล้วว่าเรียนเพื่อการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ส่วนวิชาสังคม ก็เพื่อให้รู้ประวัติศาสตร์ วิชาพละ ก็เพื่อออกกำลังกายให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ส่วนคณิตศาสตร์ละ ในเมื่อในที่สุดเราก็มีเครื่องช่วยอย่างเครื่องคิดเลขอยู่แล้ว และการทำงานหากไม่ได้เรียนเกี่ยวกับบัญชี คณิตศาสตร์แทบไม่มีส่วนในชีวิตประจำวันเลย

จุดประสงค์หลักในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น เพื่อฝึกการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล โดยใช้ความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนมา หรือการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานในการแก้ปัญหาหลายขั้นตอน เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เนื่องจากคำตอบในโจทย์ปัญหาแต่ละข้อนั้นมักมีคำตอบเพียงคำตอบเดียว แต่ในการหาคำตอบสามารถคิดได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรู้พื้นฐานของเด็กแต่ละวัยที่จะใช้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเด็กๆ แทบจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองเลย   แม้กระทั่งการเรียน คราวนี้เรามาดูรายละเอียดการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปัจจุบัน การเรียนในปัจจุบันนี้ เด็กๆ จะถูกส่งเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นการเรียนในแนวติว (นั่นคือการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานแล้ว) การเรียนในแนวติว เปรียบเหมือนกับการชี้ทางให้เด็กเรียบร้อยแล้ว โดยที่เด็กๆ ไม่ต้องฝึกทักษะหรือกระบวนการคิดขั้นพื้นฐานก่อน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองเน้นผลการสอบหรือเกรดของเด็กเป็นหลัก จึงมักส่งเด็กเรียนในแนวดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เด็กขาดการฝึกฝนทักษะกระบวนการคิดของตนเอง ดังนั้นหากต้องการให้เด็ก สามารถที่จะคิดเป็นระบบ เราควรให้อาวุธคือความรู้พื้นฐานแก่เด็กๆ ให้โอกาสและเวลากับเขา ในการฝึกทักษะและกระบวนการซึ่งเด็กๆ จะต้องเป็นผู้สร้างเองจากการทำแบบฝึกหัด เพื่อสั่งสมประสบการณ์ในการแก้ปัญหาได้อย่างรอบคอบและเป็นระบบในที่สุด

ครูจา

Tags : , , , , , , , , , , , , , , | add comments

ผลของ AEC

Posted by malinee on Monday Jun 9, 2014 Under เกร็ดความรู้

aec-asian-kids-global-countries-31274934            เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี ที่จะมีการเปิดประเทศเข้าสู่ AEC (ประชาคมอาเซียน) ทำให้เกิดการกระตุ้นทางด้านการศึกษากันอย่างกว้างขวาง  โรงเรียนหรือสถานศึกษาหลายๆ แห่งเปิดโครงการการเรียนการสอนแบบ EP (English Program) กันอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ในด้านของภาษามากขึ้น

แนวทางในการเรียน EP ของหลายๆ โรงเรียน จะเป็นการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามาจากหลักสูตรปกติ แนวทางดังกล่าวน่าจะส่งผลดีกับตัวเด็ก ให้เด็กได้มีความคุ้นเคยในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยที่ทั้งหลักสูตรที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควรจะไปในทิศทางเดียวกัน หรือคู่ขนานกันไป รวมทั้งหากเด็กได้ฝึกฝน หรือเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาไว้แล้ว แต่ในทางกลับกัน หลักสูตรที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมกับการติดอยู่กับภาษาของเด็กหลายๆ คน ที่ไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้ภาษา และยังต้องมีคำศัพท์เฉพาะอีกมากมายที่ต้องจำและทำความเข้าใจ ส่งผลให้เด็กเกิดความท้อแท้ เนื่องจากความไม่เข้าใจด้านภาษา รวมกับความไม่เข้าใจในเนื้อหาที่เรียน

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องการให้บุตรหลาน มีการเรียนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรมีการติดตามแนวการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง หรือ ในช่วงของการสอบคัดเลือก ควรจะมีการศึกษาถึงแนวการเรียนการสอนของแต่ละโรง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลาน ให้เขาใช้เวลาในช่วงของการปรับตัวในช่วงที่สั้นที่สุด เพื่อให้การเรียนได้สัมฤทธิ์ผลที่สุด

ครูจา

Tags : , , , , , , , | add comments

อาเซียน กับ ประเทศไทย และ คนไทย

 โดย   สมเกียรติ อ่อนวิมล

 

 

                “อาเซียน” เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทยและพลเมืองไทย เป็นความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราชาวไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“อาเซียน” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนพลเมืองในทั้งสิบประเทศที่รวมตัวกันเป็น “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือที่เรียกชื่อย่อว่า “อาเซียน” (ASEAN = Association of Southeast Asian Nations)

“อาเซียน” เป็นเรื่องสำคัญที่ยังมิได้ถูกกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ

 สื่อสารมวลชนทั่วไปยังไม่ตื่นตัวนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนในทางที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญ

สื่อสารมวลชนไทยโดยทั่วไปรายงานข่าวสารเรื่องอาเซียนตามที่จะมีเหตุการณ์ ตามวาระของการเกิดกิจกรรมเท่าที่พอจะเป็นข่าวสารได้เท่านั้น ไม่มีการขยายความ วิเคราะห์ให้ลึกซึ้งมากพอถึงผลกระทบของความตกลงในความร่วมมือต่างๆใน “กรอบอาเซียน” ที่จะมาถึงตัวประชาชนพลเมืองไทยโดยตรง ทั้งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม การประชุมที่สำคัญของอาเซียนแต่ละครั้งหากไม่มีประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศ ผลการประชุมตามวาระหลักจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อสารมวลชนกระแสหลักทั้งหลายเท่าใดนัก

                “อาเซียน” มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคน แน่นอน

                แต่ข่าวสารที่จะอธิบายและย้ำเน้นให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของ “อาเซียน” นั้นมีน้อยมาก หรือมี “ไม่มาก” พอ หากไม่เร่งรีบช่วยกันให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอาเซียนเสียแต่บัดนี้ ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่สนใจว่าอาเซียนกำลังทำอะไรที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างไร ตรงไหน และ เมื่อไร บ้างแล้ว อีกสี่ปีเศษข้างหน้าก็จะไม่ทันกาล เพราะถึงปี พ.ศ. 2554/ค.ศ.2015

หากเราไม่เตรียมตัวให้พร้อมที่จะเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558/2015

หากรัฐบาลไม่เตรียมประเทศและประชาชนให้พร้อม

ทั้งประเทศไทยและพลเมืองไทย ซึ่งหมายถึงเราชาวไทยทุกคน ก็จะมิอาจเป็นผู้นำใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แล้วเราก็จะตกอยู่ในสภาวะผู้ตามที่ไม่มี “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” กับใครในอีกเก้าประเทศในอาเซียนได้ ไม่ต้องพูดถึงการแข่งขันใน “กรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน” เลย

                “อาเซียน” มีความสำคัญต่อคนไทยและประเทศไทย แน่นอน

                แต่ความสนใจสื่อสารเรื่อง “อาเซียน” อย่างจริงจังยังมีน้อยมาก ก็แน่นอนเช่นกัน

                นี่คือที่มาของการเริ่มต้นเขียนคอลัมน์ “บันทึกอาเซียน” หรือ “ASEAN Diary” ที่นี่ เป็นประจำ ทุกวันจันทร์ ทุกสัปดาห์ อันที่จริงแล้วเรื่องของอาเซียนนั้น มีให้เขียน มีให้รายงาน มีให้วิเคราะห์ มีให้เล่าถึงมากมายได้ทุกวันไม่จบสิ้น การได้เขียนบันทึกอาเซียนที่นี่สัปดาห์ละหนึ่งครั้งจะเป็นการส่งต่อการเชื่อมโยงความสนใจไปยังแหล่งขอมูลข่าวสารอื่นที่หลากหลายกว้างไกลและแยกย่อยไปตามความสนใจของผู้อ่านแต่ละท่าน

                ณ บทแรกของ “บันทึกอาเซียน” นี้ ขอบันทึกไว้แต่ตอนต้นก่อนว่า:

 1. “อาเซียน” มีความสำคัญมากต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตการแข่งขันของประเทศไทยและพลเมืองไทยทุกคน

 2. “อาเซียน” มีความสำคัญมากต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตการแข่งขันของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งสิบ พร้อมทั้งประชาชนพลเมืองทุกคนในทั้งสิบรัฐสมาชิกอาเซียนนั้น  

รายละเอียดอื่นๆทั้งข่าวสารและสาระความรู้เกี่ยวกับอาเซียนจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟัง ประกอบด้วยการอธิบาย วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนทัศนะกันไปทุกสัปดาห์ ตลอดปี อย่างน้อยๆก็ตลอด 5 ปีข้างหน้า บันทึกเรื่อง “อาเซียน” จะมีให้อ่านกันไปจนถึงปีเกิดของ ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558/2015

 

 

 

ความสำคัญของอาเซียน

“อาเซียน” เป็นกลุ่มการรวมตัวของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2510/1967 โดยมีสมาชิกแรกก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

ประเทศไทยมีสถานะพิเศษที่ชาวไทยภาคภูมิใจ เพราะไทยคือประเทศผู้ริเริ่มเสนอความคิดเรื่องการก่อตั้งอาเซียนในปี 2510/1967 เมื่อรัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.อ. (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ มาประชุมหารือและร่วมลงนามก่อตั้ง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 / ค.ศ.1967 ณ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร

ในเวลาต่อมามีอีก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทยอยเข้ามาเป็นสมาชิกตามลำดับ คือ บรูไน, เวียดนาม, ลาว, พม่า และ กัมพูชา อาเซียนจึงมีสมาชิกรวม 10 ประเทศในปัจจุบัน เหลือติมอร์เลสเต (ติมอร์ตะวันออก) อีกเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคฯที่ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิก ซึ่ง ณ ปี 2554/2011 กระบวนการรับติมอร์เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนกำลังใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ในระยะเริ่มแรกอาเซียนทำงานร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ท่ามกลางความผันแปรของสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของโลก งานของอาเซียนจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ มีการประชุมร่วมกันในระดับสูงสุด ระดับหัวหน้ารัฐบาล ที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน” (ASEAN Summit) ไม่บ่อยนักและ ไม่เป็นประจำรายปี บางครั้งก็เว้นช่วงประชุมนานหลายปี มีครั้งหนึ่งไม่มีการประชุมสุดยอดอาเซียนนานถึง 9 ปี แต่ด้วยเหตุแห่งความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในโลกที่นับวันจะต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างพลังต่อรองและสร้างความเข้มแข็งในเวทีโลกให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในที่สุดอาเซียนก็เริ่มจริงจังกับการทำงานร่วมกันแบบเข้มข้นมากขึ้นจนมีการประชุมสุดยอดอาเซียนทุกปี รวมทั้งการประชุมร่วมกันในระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมากขึ้น มาถึงปี 2551-2552 / 2008-2009 ช่วงที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียน การประชุมสุดยอดอาเซียนเริ่มมีปีละสองครั้ง ตามบทบัญญัติใน กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ที่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551/2008 เป็นต้นมา ต่อจากไทย เมื่อเวียดนามรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2010 ก็จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้ง มาปี 2011 อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนก็จัดประชุมสุดยอดอาเซียนไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อเดือนเมษายน และจะจัดอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2011 ซึ่งจะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 19 ในประวัติศาสตร์ 44 ปีของอาเซียน

 

 

 

ทุกครั้งทุกปีที่ผู้นำอาเซียนในระดับต่างๆประชุมหารือกันจะมีความตกลงในสนธิสัญญา อนุสัญญา พิธีสาร ปฏิญญา และความตกลงในโครงการ-แผนแม่บท-แผนงาน-แผนปฏิบัติการ มากมายหลายหลาก และทุกความตกลงล้วนมีผลบังคับให้ทำตาม ล้วนมีผลกระทบในทางพัฒนาสร้างสรรค์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของรัฐสมาชิกทั้ง 10 ประเทศทั้งสิ้น ความตกลงที่รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับชาติอื่นๆในกรอบอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามให้ลุล่วงไปพร้อมๆกัน หากฝ่ายไทย หรือประเทศใดประหนึ่งทำไม่ได้ หรือทำได้ช้า ก็จะเป็นฝ่ายเสียโอกาส หรือ “เสียเปรียบ” ผลเสียก็จะเกิดกับประชนของประเทศไทย หรือประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ทุกวันนี้ผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนในกระบวนการทำงานร่วมกันในอาเซียนคือรัฐบาลและข้าราชการในระดับที่เกี่ยวข้องกับเจรจาทั้งหลาย การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาและตัดสินใจเป็นสิ่งที่รัฐบาลและอาเซียนต้องการ เพราะอาเซียนมีอุดมการณ์ในการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่ในเมื่อประชาชนยังไม่ได้รับข่าวสารความรู้มากพอและต่อเนื่อง ประชาชนก็จึงไม่ทราบว่าจะได้ประโยชน์และจะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบอย่างไร

                เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเร่งด่วน มีผลกระทบต่อชาวไทยและชาวอาเซียนอย่างถึงตัวโดยตรงฉับพลันทันที อาเซียนมีความตกลงตั้งเขตการค้าเสรีกันและเริ่มเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554/2010 และภายในปี 2558/2015 เขตการค้าเสรีอาเซียนจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการสถาปนา “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ทั้ง 10 ประเทศจะร่วมกันไปมาหาสู่เดินทางทำมาค้าขาย-ลงทุน-หางานทำข้ามพรมแดนกันอย่างเสรี ทั้งแข่งขันกันเองและผนึกกำลังร่วมกันแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอื่นในโลก

“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นี้เองที่จะกระทบพลเมืองไทยทุกคนอย่างชัดเจน

หากคนไทยไม่รู้ว่าอาเซียนคืออะไร กำลังทำอะไรที่เราจะได้รับผลกระทบ หรือจะทำให้เราได้โอกาสพัฒนาชีวิตเศรษฐกิจของเราได้อย่างไรบ้าง

หากเราไม่รู้ ไม่สนใจ ไม่ตื่นตัว แล้วพลเมืองอีก 9 ชาติในอาเซียนเขารู้ เขาสนใจ เขาตื่นตัว

ถึงวันนั้นเราก็พ่ายแพ้ เพราะไม่ใช้โอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอด และพัฒนาตนเองให้เติบโตในโลกใหม่ที่อาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจของเราเอง 

เรื่องเศรษฐกิจกระทบทุกคนโดยตรง และความตกลงทุกเรื่องทุกประเด็นมีแต่จะเดินหน้าต่อไป ไม่มีหยุดเดิน ไม่มีถอยหลัง

– เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเดินหน้าตามที่อาเซียนกำหนด

– ถ้าจะให้ดีเราก็ควรเดินนำหน้า เป็นผู้นำในอาเซียน

– หรืออย่างน้อยๆก็เดินคู่เคียงบ่าเคียงไหล่กันไป

– มิฉะนั้นเราก็จะทำได้เพียงเป็นผู้เดินตามหลัง ซึ่งมีใช่ศักดิ์ศรีของประเทศไทยและชาวไทยที่เป็นผู้นำอาเซียนมาตั้งแต่แรกให้กำเนิด ในวันที่ 8 สิงหาคม 2510/1967

 

ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนก็ประกาศเป้าหมายก่อตั้ง “ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน” (ASEAN Political-Security Community) ในปี 2558/2015 เช่นกัน

 

ในด้านสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนก็ยึดปี 2558/2015 เป็นปีก่อตั้ง “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” (ASEAN Socio-Cultural Community) อีกด้วยเช่นกัน

 

รวมแล้ว ปี 2558/2015 เป็นปีที่จะเกิดประชาคมอาเซียน 3 ประชาคม เรียกรวมกันทั้งหมดว่า “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community)

 

                ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับประเทศไทยและประชาชนชาวไทย นอกจากจะเดินหน้าเต็มตัว คงความเป็นผู้นำในอาเซียนให้ได้ต่อเนื่องไป ด้วยการติดตามศึกษาหาข่าวสารความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนและในโลกได้อย่างสมภาคภูมิ

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

1 สิงหาคม 2554/2011

ที่มา   :    Website : http://m2.truelife.com/guru/content.php?id=66330

Tags : , , , , , , , , , , , , , , , , , , | add comments