Dec 10
Posted by malinee on Tuesday Dec 10, 2019 Under เกร็ดความรู้
เนื่องจากครูมีโอกาสได้เข้าไปเป็น out source ของโรงเรียนหลายๆ แห่ง ก็จะได้เห็นวัฒนธรรมการดูแลเด็กในแต่ละโรงเรียน การปฏิบัติต่อผู้ปกครอง การให้คำปรึกษา การเรียนการสอน นโยบาย ของแต่ละโรงเรียนที่มีความแตกต่างกัน
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้การเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียน ทำให้ครูต้องปรับการเรียนการสอนแปรผันตามความพร้อมของเด็ก ไม่ใช่ว่าเด็กมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แต่เด็กได้รับการฝึกทักษะกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน
เด็กแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกบุคคล ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เค้าเติบโตมาตั้งแต่เค้าเกิดมา เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่คุยเล่นกัน มีอะไรคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันบนโต๊ะอาหาร โดยทิ้งทุกอย่าง มีแต่การสนทนากัน จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าความของความสุขเกิดขึ้นจริงๆ บ้านคือบ้าน ไม่ว่าเค้้าจะมีปัญหาสักแค่ไหน เค้าจะกลับมาตรงนี้ ตรงที่มีคนฟังเค้า ในทางกลับกัน ถ้าเค้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนไม่พูดไม่จากันก้มหน้าก้มตา online อยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ เขาก็จะเติบโตมาแบบไม่ได้รู้สึกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นเด็กเก็บตัว คุณพ่อคุณแม่จะไม่มีทางได้รับรู้ว่าเค้ามีความสุขหรือเค้ามีปัญหาเรื่องอะไร เพราะเค้าไม่เคยเรียนรู้ที่จะพูดเรื่องอะไรตอนไหน ไม่รู้ว่าจะมีใครฟังหรือไม่ ในบ้านเองเขายังไม่รู้จะพูดกับใครเลย มันกลายเป็นการสร้างกำแพงขึ้นเมื่อเขาโตขึ้น เขาไม่ได้ถูกสอนให้เข้ากลุ่มเพื่อน เพราะคุณเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้การอยู่แบบทางเดียวคือการสื่อสารผ่าน social ที่เค้าไม่เคยเห็นเลย
อย่าเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้เค้า ก่อน เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของเค้าเพื่อให้เค้าได้เติบโตอย่างมีความสุขไม่ว่าเค้าจะเจออุปสรรคใดๆ อย่างน้อยคุณยังเป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้้เค้ารู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้ง และเป็นกำลังใจให้เค้าได้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ไม่มีโรงเรียนไหนดีเท่าโรงเรียนพ่อแม่หรอก…. เชื่อสิ
Oct 27
การเรียนคณิตศาสตร์เป็นยาขมของเด็กๆ
หลายคน พ่อแม่ผู้ปกครอง หลายๆ ครอบครัวก็ตระหนัก และหาวิถีทางแก้ไข
โดยหาที่เรียนให้กับบุตรหลานว่า เพื่อนๆ เขาเรียนกันที่ไหนถึงทำให้เรียนได้ดี
ก็แห่ตามกันไปเรียน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลการเรียนไม่ดีขึ้น ก็เปลี่ยนที่เรียนไปเรื่อยๆ
จนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลให้บุตรหลานหนีและต่อต้านการเรียนคณิตศาสตร์ทุกวิถีทางที่จะทำได้เช่นกัน
การแก้ไขปัญหาด้านคณิตศาสตร์กับเด็กในแต่ละวัย
จะใช้เวลาแตกต่างกัน สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง เด็ก และครูผู้สอน
ที่จะต้องให้เวลาซึ่งกันและกันในการร่วมกันแก้ปัญหา หากขาดความร่วมมือจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ก็ไม่มีทางเกิดสัมฤทธิผลที่ดีได้ ปัญหาที่เกิดกับเด็กประถมต้น ใช้เวลาไม่นานนัก
เพราะปัญหาของวัยนี้
เกิดเนื่องมาจากทัศนคติที่เกิดจากตัวผู้สอนมากกว่าปัจจัยด้านอื่น
หากปัญหาในประถมต้นไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาก็จะสืบเนื่องต่อยาวไปจนถึงมัธยม
จนกลายเป็นการวางแผนการเรียนในอนาคตว่าจะหลีกหนีการเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โดยไม่ได้คำนึงถึงอย่างอื่น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ไม่ว่าการเลือกเรียนในสายสามัญ (ซึ่งไม่ใช่สายวิชาชีพ) นั้น
ไม่ว่าจะเลือกแผนศิลป์ภาษา ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนคณิตศาสตร์
แต่หน่วยกิตที่เรียนน้อยกว่าแผนเรียนสายอื่น ทำให้เวลาเรียนน้อยกว่าสายอื่นด้วยเช่นกัน
เมื่อมองต่อไปถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เขาก็จะเลือกคณะที่ไม่ต้องลงเรียนคณิตศาสตร์อีกเช่นกัน ซึ่งมีให้เลือกไม่ถึง 10
คณะในประเทศไทย ซึ่งแนวโน้มของเด็กทั่วโลกก็เป็นแนวโน้มนี้เช่นเดียวกัน
กลายเป็นว่าเด็กที่จบมาในสายอาชีพเดียวกันมีอยู่ล้นตลาดแรงงาน
โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (English Second Language) จะเกิดความเสียเปรียบทางด้านภาษาอีก
ควบรวมกับการเลี้ยงดูที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่มีวุฒิภาวะ หากคุณเป็นผู้ประกอบการในยุค
4.0 (คำยอดนิยม) คุณจะเลือกบุคลากรประเภทไหนเข้าทำงาน
ในขณะที่คุณมีตัวเลือกอยู่เต็มตลาดแรงงานไปหมด
หากมองเห็นอนาคตเช่นนี้แล้ว เราลองมาช่วยกันทำให้เด็กๆ
ของเราไม่หนีเลขกันดีกว่ามั้ย หรือร่วมกันแก้ปัญหากันตั้งแต่เนิ่นๆ
เพื่อไม่ให้เค้าเป็นหนึ่งในตัวที่ไม่ถูกเลือกในอนาคต……..
Sep 08
มีกระแสมากมายเรื่องการเรียนพิเศษ มีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย จิตแพทย์เด็ก ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่โดยรวมไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษ
หากกล่าวถึงเรื่องการเรียนพิเศษในบ้านเรา ต้องแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ออกเป็นกลุ่มๆ โดยหากแยกตามวัยแล้ว เด็กเล็กก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนพิเศษ เพราะไม่มีเรื่องที่ยากจนพ่อแม่ผู้ปกครองสอนเองไม่ได้ แต่ในกลุ่มเด็กที่โตขึ้น ในช่วงของประถมปลาย ความจำเป็นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีปัญหาการเรียนในชั้นเรียน กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนรัฐที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความถึงครูที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวย่อมถูกคัดกรองอย่างมีคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับเด็กที่ต้องฝ่าด่านการสอบคัดเลือกอย่างดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เกิดเนื่่องจากคุณภาพของโรงเรียนในบ้านเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด คุณภาพของครูผู้สอนก็เช่นกัน หากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นครูเลย ทำให้ครูในเครื่องแบบในปัจจุบัน หลังจากสอบบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ถ้าไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ก็แทบไม่ได้คิดวิธีใหม่ๆในการสอนเลย สอนตามหน้าที่ให้หมดวัน..เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ก็แล้วแต่ พอคะแนนสอบออกมาสอบตก ครูก้อบอกให้ไปเรียนพิเศษ..เรียนกับครูก็จะได้คะแนนเยอะหน่อย แต่ถ้าเรียนที่อื่นคะแนนก้อตามความจริง..คิดเพียงแต่จะหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษให้เด็กมาเรียนกับตน จิตสำนึกของความเป็นครูเพื่อทำให้ลูกศิษย์มีความรู้เหมือนครูในสมัยก่อนหายไป ซึ่งทำให้ผ้ปกครองทุกวันนี้ต้องหาที่เรียนพิเศษ..ไม่ใช่ความผิด ของครูแต่มันเป็นที่ระบบการศึกษาตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้ามาเลยเพราะสอบราชการยากมาก ต้องติวจะมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผ่านการบรรจุ ซึ่งเขาถือว่ามันคือการลงทุน การเรียนพิเศษในคนเอเชียกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย เหตุผลเพียงเพราะ ใครๆก็อยากได้ในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น…
..#ฝากไว้สักนิด.. การเป็นครูไม่แค่สอนให้หมดวัน แต่เราต้องสอนเค้าในทุกเรื่องเพื่อให้เค้าเติบโตไปมีความรู้และเป็นคนดี..
Apr 25
Posted by malinee on Thursday Apr 25, 2019 Under เกร็ดความรู้
ในเดือนหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดปีการศึกษาใหม่ของเด็กโรงเรียนไทย
ซึ่งโดยปกติจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก
แต่มีอยู่วัยหนึ่งที่เด็กจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบก้าวกระโดด นั่นคือการเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งเรื่องการนอนกลางวัน การช่วยเหลือตนเอง
การเรียนในชั้นเรียนที่ใหญ่ขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนต่างๆ
จะเปิดเรียนภาคฤดูร้อนเพื่อให้เด็กๆ
ได้ปรับตัวก่อนที่จะเปิดปีการศึกษาใหม่อย่างเต็มตัว
ปัจจุบันนี้โรงเรียนประถมมีอยู่หลากหลาย
แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ เพียง 2 – 3 แนว คือ แนวเร่งเรียน (แนวโรงเรียนคาทอลิค) , โรงเรียนในแนวบูรณาการ (แนวสาธิต)
และสุดท้ายเป็นแนวสองภาษา (Bilingual) ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกัน
มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปกครองว่าไปตรงกับแนวทางหรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนใด
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกให้กับบุตรหลานนั้น เป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลาน
ของตน แต่เรามักหลงลืมไปว่า คนเรียนคือตัวบุตรหลาน เขาควรได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตการเรียน
ซึ่งต้องใช้เวลา 1
ใน 3 ของวันอยู่ที่นั่น การเลือกโรงเรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น
จะต้องรู้ถึงแนวทางการเรียนการสอนว่าเหมาะกับบุตรหลานหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้จักนิสัยลูกของเราได้เท่าพ่อแม่
เด็กส่วนใหญ่หลายๆ คนไม่มีปัญหากับการเปลี่ยนสถานที่เรียน เขาสามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกๆ
สถานที่ แต่เด็กหลายๆ คนที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอดเวลาที่เค้าลืมตา
หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ตามใจ โดยที่บุตรหลานไม่เคยต้องหยิบจับหรือทำอะไรด้วยตัวเอง
จะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องเวลา เพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง ไม่ต้องเร่งรีบ
เพราะยังไงก็มีคนทำให้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่มีเวลาในแต่ละคาบที่จำกัด เขาไม่สามารถมีผู้ติดตามอย่างพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่
ที่คอยเข้าไปดูแลได้ ทำให้เขาทำทุกอย่างได้ไม่ดีเท่าที่ควร
หรือใช้เวลามากกว่าเด็กคนอื่นๆ ทำให้ถูกตำหนิ ว่ากล่าวเป็นประจำ
ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเกิดปัญหา การไม่อยากไปโรงเรียน การไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะมักถูกครูดุ
หรือถ้าร้ายกว่านั้น เขาจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจในสิ่งที่ครูพูด กลายเป็นเด็กดื้อเงียบ
อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำ อย่างไม่มีเหตุผล
เอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีปัญหาของการเรียนรู้
แต่มีปัญหากับทัศนคติ และพฤติกรรมในโรงเรียน และปัญหานี้จะพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนไม่สามารถแก้ไขได้
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี แต่พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าซักวันเด็กจะปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้เอง
ต้องอดทน แต่ไม่เคยมีเด็กคนไหนกลับมาเป็นเด็กดีของพ่อแม่ และครูได้อีกเลย ดังนั้นอย่าให้เหตุการณ์ต่างๆ
เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา แต่เราเป็นคนยัดเยียดปัญหาให้เค้า
โดยพาเค้าไปในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเค้า
หรือเราไม่ได้เตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกับเค้าว่า เค้าโตขึ้น
Apr 18
Posted by malinee on Thursday Apr 18, 2019 Under เกร็ดความรู้
พูดถึงวิชาคณิตศาสตร์แล้ว เด็กๆ หลายคนไม่ชอบเท่าไรนัก แต่มันเป็นหนึ่งในวิชาหลักที่พวกเค้าจะต้องเรียนไปจนกว่าจะจบมัธยมต้น แต่กลับกลุ่มเด็กอีกหลายๆ คนที่เป็นกลุ่มของเด็กที่เรียกว่ามี sense ทางคณิตศาสตร์จะวิ่งเข้าใส่ ไม่ว่าโจทย์จะพลิกแพลงยังไง รูปแบบไหน เขาเหล่านี้ไม่เคยถอย คณิตศาสตร์เป็นอาหารสมองอันโอชะของเขาเหล่านั้น จากสถิติหลายๆ สำนักมักพบว่ากลุ่มนักเรียนที่เรียนคณิตศาสตร์ดี จะมีคะแนนวิทยาศาสตร์ดีด้วยเช่นกัน เด็กในกลุ่มนี้จะมีความโดดเด่นในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน มากกว่าเด็กปกติ โดยปกติเราจะพบเด็กที่มี sense ทางคณิตศาสตร์ไม่มากนัก
สอนเด็กที่ไม่มี sense คณิตศาสตร์ให้มี sense ได้หรือไม่ ต้องบอกก่อนว่าการที่บุตรหลานของเราไม่มี sense ทางคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ทำให้เค้าเกิดทัศนคติทางด้านลบกับคณิตศาสตร์ ค่อยๆ
ให้เค้าได้เรียนรู้คณิตศาสตร์รอบตัวผ่านประสบการณ์จริง ถึงแม้เด็กที่มี sense ทางคณิตศาสตร์หากเจอครูที่ทำให้ทัศนคติทางคณิตศาสตร์เสียไป
ก็อาจจะทำให้เขาเสียเวลาอยู่นานกว่าจะค้นพบตัวตนของตัวเอง
การฝึกฝนเป็นวิธีหนึ่งที่เพิ่มทักษะทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ ทุกคน
ยิ่งฝึกมากความถนัดหรือทักษะก็มากขึ้นตามไปด้วย อาจจะจริงที่คนที่ไม่มี sense อาจต้องใช้เวลามากกว่า หรือแบบฝึกหัดที่มากกว่า
แต่เราก็สามารถฝึกให้เด็กทุกคนมีกระบวนการคิดให้เป็นระบบ
อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่ากังวลว่าบุตรหลานจะสู้กับเด็กคนอื่นไม่ได้
ความถนัดของคนแต่ละคนแตกต่างกัน คนทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน
หรือเก่งเท่ากัน สิ่งที่สำคัญคือ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่เปรียบเทียบบุตรหลานของตนเองกับเพื่อนคนอื่นๆ
มันเป็นเหมือนดาบ 2 คม ถ้าเค้าอยู่แนวหน้าของห้อง
เขาจะไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่หากเค้าอยู่แนวกลางค่อนหลัง
เค้าจะรู้สึกว่าเขาสู้ใครไม่ได้ และไม่มีความภูมิใจในตัวเอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ
สร้างขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก) หากเขาถูกทำลายด้วยคะแนน หรือวิชาที่เขาไม่ชอบ
เขาจะไม่มีทางค้นหาตัวเองเจอ ว่าเขาทำอะไรได้ดี ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองทำได้คือ
การให้กำลังใจในสิ่งที่เค้าทำเต็มที่ โดยไม่ควรคำนึงถึงผลว่ามันจะออกมาอย่างไร
และคอยสังเกตในสิ่งที่เขาทำได้ดี และส่งเสริมทางด้านนั้นๆ (ไม่ใช่เกมส์ online) เพราะในกระบวนการผลิตสินค้าแต่ละชนิดไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
เช่น เสื้อจะต้องมีทั้ง designer
, ช่างตัด , ช่างปัก
ซึ่งในแต่ละทีมไม่ได้ใช้พนักงานคนเดียวกันทำเลยแม้แต่อย่างเดียว
เพราะฉนั้นความถนัดหรือความชอบ ของเด็กแต่ละคน มันคือ sense ในแต่ละด้านที่เค้ามีแตกต่างกันไปเพียงเท่านั้นเอง…..
Apr 07
ช่วงเวลาของการสอบคัดเลือกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว
ทั้งการสอบเด็กเล็ก (เครือสาธิต) และเด็กโต (มัธยม) เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความผิดหวังกับหลายๆ
ครอบครัวในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เหตุการณ์ที่น่ากังวลคือ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ที่สอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนสาธิต
ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูงมาก อัตราการแข่งขันเฉลี่ย 1:30 เด็กหลายๆ คนต้องติวเพื่อสอบเป็นเวลา 1 ปีเต็ม
โดยไม่ได้หยุดแม้กระทั่งวันอาทิตย์ แล้วการสอบตัวเค้าก็มีความรู้สึกว่าทำได้
ข้อสอบไม่ได้ยาก ทำให้เค้ามีความหวังว่าเค้าต้องติดแน่ๆ หลังจากออกจากห้องสอบ
พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะคอยถามว่า เป็นยังไง ทำข้อสอบได้มั้ย เค้าก็ตอบตามความรู้สึกว่าเค้าทำได้
ต่างฝ่ายต่างมีความหวังว่าจะติด แต่เมื่อประกาศผลการคัดเลือก กลับไม่มีชื่อเค้า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนคือ ทำไมเค้าไม่ติด ในขณะที่เพื่อนติด
แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ความไม่มั่นใจที่จะไปสอบในที่ต่างๆ อีก
ในขณะที่หลายๆ โรงเรียนมีเพียงอนุบาล เด็กหลายๆ คนถูกบั่นทอนความมั่นใจที่เคยมี จากการสอบเพียงครั้งเดียวตั้งแต่วัย
5 ขวบ แล้วช่วงวัยต่อจากนี้ไปเขาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะต่อจากเด็กเล็ก จะต้องมีการสอบคัดเลือกทุกๆ
6 ปี
แต่ในวัยอนุบาลควรหลีกเลี่ยงเพราะเค้าเล็กเกินกว่าที่จะอธิบายให้เค้าได้เข้าใจถึงอัตราการแข่งขัน
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่มองบุตรหลานออกว่าสามารถยอมรับกับการไม่ได้คัดเลือก
หรือไม่ได้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่
ควรหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันที่มีอัตราการแข่งขันสูงขนาดนั้นดังนั้นการบ่มเพาะความรัก
ความเอาใจใส่บุตรหลาน เป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เค้าได้รู้ว่าไม่ว่าเค้าจะผิดพลาดอย่างไร
พ่อแม่ยังคงอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ การสอบเข้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะทำงานโดยมีเวลาจำกัด
การมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ
พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างภูมิด้านจิตใจให้เค้าให้แกร่งขึ้น
เพื่อพร้อมรับกับภาวะของการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ที่ถูกคัดออก
Mar 25
คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่เป็นยาขม
อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ปกครองเองในวัยที่ตนเองเป็นเด็กก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่
หากมาพิจารณาคณิตศาสตร์ในแต่ละช่วงวัย
เราก็สามารถจะแก้ปัญหาให้กับบุตรหลานได้อย่างถูกจุดได้อย่างไม่ยากนัก เรามาดูวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยจะได้ส่งเสริมทักษะและพัฒนาการได้อย่างถูกต้องดังนี้
-เด็กในวัยอนุบาล
เป็นช่วงที่เรียนรู้คณิตศาสตร์ให้เชื่อมโยงหน้าตา (ภาษาๆ ใหม่ของเด็กๆ) กับจำนวน และต่อยอดไปในเรื่องของค่าที่มากกว่า น้อยกว่า
การนับเพิ่ม นับลด ซึ่งใช้เวลา 3 ปี เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กไปพร้อมๆ
กับการใช้กล้ามเนื้อมือให้สัมพันธ์กับตาด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยนี้
คือทัศนคติกับการเรียน ครูผู้สอนมีผลที่สุดกับทัศนคติในการเรียนของเด็ก
-เด็กในวัยประถมต้น
สิ่งที่จำเป็นในวัยนี้ จะเป็นเรื่องของปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ การบวก ลบ คูณ หาร
เด็กๆ จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องค่าประจำหลัก เพื่อให้เข้าใจการทดเลขเมื่อบวกเกิน
หรือการลบเลขแบบขอยืม ฝึกทักษะของการบวก ลบ จนคล่อง
ต่อจากนั้นควรเข้าใจถึงทฤษฏีพื้นฐานของการคูณ การหาร ซึ่งการท่องสูตรคูณ
ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในช่วงนี้ (ทางบ้านต้องมีส่วนช่วยในการส่งเสริมผลักดันให้เด็กท่องสูตรคูณให้ได้)
-เด็กในวัยประถมปลาย
จะมีการเรียนรู้ลำดับขั้นปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ เรขาคณิต และการแก้สมการ
(ในชั้น ป.6) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เด็กๆ จะต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความจำ(สูตร)ต่างๆ
รวมไปถึงการประยุกต์การแก้ไขปัญหาโจทย์ปัญหาที่มีการรวมเนื้อหาหลายๆ เรื่องให้เด็กๆ
ได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้พื้นฐานได้อย่างแม่นยำ สิ่งที่สำคัญในวัยนี้
จะเป็นเรื่องของความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องแม่นยำ ร่วมกับการตีความโจทย์ปัญหาให้ถูกต้อง
-เด็กในวัยมัธยม
การเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้จะเรียนในแบบที่ใช้ความรู้เดิมไม่เกิน 30% และจะเป็นความรู้ในแนวศาสตร์จริงๆ (Pure Mate) เด็กหลายๆ คนที่ไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์มักเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ในช่วงวัยนี้เสมอ
เนื่องจากการเรียนไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเลย แต่ในการเรียนคณิตศาสตร์ระดับนี้เป็นการเรียนที่ต้องใช้ในการต่อยอดเพื่อใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ต่อด้วย
ดังนั้น
ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ในแต่ละวัยของเด็กๆ นั้น
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองตามติดการเรียนของบุตรหลาน
ก็จะได้แก้ปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์ให้กับบุตรหลานได้อย่างทันท่วงที และถูกจุด
เนื่องจากผู้ปกครองหลายๆ คนที่มีบุตรหลานอยู่ในประถมปลายซึ่งมีปัญหาทางคณิตศาสตร์
มักคิดว่าปัญหาเกิดจากการคิดคำนวณ ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นปัญหาของเด็กประถมปลายเกิดจากการวิเคราะห์โจทย์
โดยที่การวิเคราะห์โจทย์ผิดพลาด ส่งผลให้การคำนวณพลาดไปด้วย
ซึ่งการคำนวณพลาดเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น
ดังนั้นปัญหาคณิตศาสตร์แต่ละช่วงวัยควรแก้ไขให้ถูกจุด เพื่อให้เด็กได้เรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างมีเข้าใจ
Jan 21
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากปริมาณเด็กที่ลดน้อยลงเนื่องจากภาวะของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกคนเดียว ส่งผลให้อัตราการแข่งขันกันของสถาบันการศึกษาดุเดือด ส่งผลให้โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากสถานศึกษา กลายเป็นสถานที่ ที่ให้บริการ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นลูกค้า นโยบายเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ กิจกรรมต่างๆ จะแปรเปลี่ยนไปตามความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยที่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนแตกต่างกัน
โรงเรียนมีหน้าที่ รายงานว่าวันนี้เด็กรับประทานอะไรในเวลากลางวัน มุ่งเน้นเรื่องสุขลักษณะ การเอาใจใส่ของครูในเรื่องของการดูแลมากกว่าพัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กจะต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านร่างกาย และ
ข้าวของเครื่องใช้ที่นำมา ให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในแต่ละเทอม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ครูไม่สามารถประเมินผลการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ครูไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือขอความร่วมมือกับทางบ้านเพื่อพัฒนาเด็กให้อยู่ในระดับเดียวกับเพื่อนๆ ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับใบประเมินผลที่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ว่าบุตรหลานควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมด้านใดเพิ่มเติม กลายเป็นการเรียนในโรงเรียน ไม่ได้ต้องการครูอีกต่อไป เพื่อสนองนโยบายของผู้บริหารที่ว่า ลูกค้าถูกเสมอ ครูจะมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงที่ไม่น่าเชื่อ
ว่าจะเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าครอบครัวไหนที่ต้องการครูเพื่อสอนบุตรหลาน ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงนโยบายของโรงเรียนก่อน เพื่อให้ร่วมมือกับทางโรงเรียน และครูผู้สอนเพื่อร่วมกันประเมินและพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของบุตรหลานได้อย่างแท้จริง
Jan 08
จากระบบการศึกษาไทยที่หลายๆ ครอบครัวเกิดความไม่เชื่อมั่น ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ ผู้สอ น อีกทั้งอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้เรียนโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกระแสทั่วไป หลายๆ ครอบครัวมักพูดว่าไปเรียนอินเตอร์บุตรหลานจะได้ไม่ต้องแข่งขันมาก ไม่อยากให้บุตรหลานเครียด ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองในกลุ่มนี้ เลือกโรงเรียนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ ที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง แต่ในการส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ และอาจต้องมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษา เมื่อเทียบกับกระทรวงของบ้านเราด้วย หากยังต้องการให้บุตรหลานเรียนต่ออุดมศึกษาในเมืองไทย
หลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์หลักๆ จะแยกออกเป็น 2 แนวใหญ่ๆ คือแนวบูรณาการ ซึ่งจะใช้ curriculum อยู่ 2 แนว คือแบบ British Curriculum และในแนว American Curriculum ซึ่งเป็นแนวการเรียนที่เน้นความพร้อมของเด็ก และไม่เร่งให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการขีดเขียน มุ่งเน้นการเรียนแบบ well rounded (การเรียนรู้รอบด้าน) เนื่องจากสังคมของประเทศดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีการประยุกต์ชิ้นงานจากความคิดความสามารถรอบด้านที่สะสมมา และแนวทางการเลี้ยงดูบุตรหลานมุ่งเน้นให้เด็กคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เปิดโอกาสให้เด็กได้ออกเดินทาง ทัศนศึกษา จัดกิจกรรมสันทนาการไปตามที่ต่างๆ โดยมีคู่มือ แผนที่ของสถานที่ มีการค้นคว้าข้อมูลที่ตนเองสนใจ พร้อมกับการมีคำถามปลายเปิดในการเรียนรู้ทุกๆ กิจกรรมโดยที่คำถามต่างๆ เหล่านั้น เด็กๆ จะต้องให้เหตุผลในคำตอบของตนเอง คำตอบไม่มีผิด ไม่มีถูก เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าทำสิ่งต่างๆ นอกกรอบที่เรียนมา เป็นเหตุให้เราจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศดังกล่าวเสมอ ส่วนในอีกแนวทางคือเป็นแนวทางของการเร่งเรียน นั่นคือแนวทางของ Singapore ซึ่งเน้นทั้งด้านภาษา (อังกฤษและจีน) คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นสร้างบุคลากรมนุษย์ เนื่องจากทรัพยาการทางธรรมชาติไม่ได้อุดมสมบูรณ์แบบบ้านเรา จึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ใช้ความรู้ที่จะใช้ทรัพยาการธรรมชาติ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเบนเข็มไปในแนวของโรงเรียนอินเตอร์ มักคาดหวังว่าลูกจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสามารถด้านภาษา นอกจากนี้แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ คนจึงปล่อยการเรียนให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าบุตรหลาน ได้ความรู้ ความมั่นใจ ความคิดจากโรงเรียนดังกล่าวหรือไม่ หลงลืมไปว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรา การเรียนการสอนในแนวของโรงเรียนอินเตอร์จะสอนในแนวที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกที่เค้าเรียกว่า Mother tongue หรือ EFL (English First Language) แนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะแตกต่างจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองที่สาม แต่แน่นอนเด็กๆ ที่เรียนจะได้เรื่องการสื่อสาร การฟัง แต่เรื่องของการอ่าน การเขียนจะต้องฝึกมากกว่าเด็ก EFL แน่นอน นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของวิธีการเลี้ยงดู คนไทยหากมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนดังกล่าว เด็กเมื่ออยู่บ้าน ไม่ต้องคิดเอง ทำอะไรเอง กิจกรรมทุกอย่างมีคนคอยคิด คอยหยิบยื่นความช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ทำให้กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังให้คิดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากที่บ้านจนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเค้า ไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้เพียงในเวลาเรียน ซ้ำร้ายกว่านั้นทำให้กลายเป็นคนเฉื่อย ไม่พยายาม ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำอะไรให้สำเร็จ เพราะทุกอย่างที่ได้รับมาล้วนถูกหยิบยื่นแบบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย
จากเรื่องของวิธีคิด มาพูดถึงเรื่องวิชาการ เด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองวิชาเป็นวิชาที่มีคำตอบตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่อาจมีวิธีคิดที่หลากหลายได้ ซึ่งแตกต่างจาก Literature ซึ่งเป็นวิชาที่อิสระ ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ขึ้นกับทัศนคติ และวิธีคิดของแต่ละคน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเลือกโรงเรียนในแนวอินเตอร์ให้บุตรหลานแล้ว ต้องมองยาวๆ ไปจนถึงอุดมศึกษา หากยังคงส่งให้เรียนในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีทางเลือกของการเรียนในแนวของอินเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญคือ โรงเรียนดังกล่าวได้รับการรับรองจากกระทรวงบ้านเราหรือไม่ และสิ่งที่ต้องศึกษาคือ ในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี requirement ที่เด็กจะต้องสอบเพื่อยื่นเป็น portfolio หรือ profile เพื่อให้ได้คณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ซึ่งก็จะหนีไม่พ้น SAT , TOEFL , IELT หรือหากต้องการไปในแนวของแพทย์ก็จะต้อง Apply BMAT และพวก SAT Subject ต่างๆ ต่อไป
อย่าให้บุตรหลาน สุดท้ายมีข้อได้เปรียบเพียงภาษาเพียงอย่างเดียว มันน่าเสียดายกับเวลา ศักยภาพในตัวเด็ก และเงินที่ทุ่มเทลงไป
Dec 02
ในปัจจุบันที่ครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่มีลูกคนเดียว จึงทำให้ความทุ่มเทและคาดหวังตกอยู่กับลูกโทน เป็นเหตุให้เมื่อบุตรหลานเข้าสู่วัยเรียน จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพิถีพิถันในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน
หลายๆ ครอบครัวที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบการศึกษาของบ้านเรา ก็จะรับรู้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องบุคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแบบ(ติวข้อสอบข้าราชการ ครูผู้ช่วย) ซึ่งหลังจากที่ได้รับราชการแล้ว ทุกอย่างจบสิ้น ไม่มีการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้ทันกับยุคสมัย แนวการเรียนการสอนที่เด็กนักเรียนจะต้องปรับเข้าหาครู (แทนที่ครูจะหาวิธีสอนที่ทำให้เด็กเข้าใจ) ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นที่มักได้ยินกันเป็นประจำคือ ในชั้นเรียนครูไม่สอน แต่ให้เด็กไปเรียนพิเศษกับครูข้างนอก เมื่อใกล้สอบจะมีการบอกข้อสอบเพื่อให้ได้คะแนนดีๆนอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีการปรับปรุงทุกๆ ทศวรรษ ซึ่งในปัจจุบันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีแต่หลักสูตรแนวแกนกลางกระทรวงยังคงอยู่ที่ปี 2551 อยู่เลย
หลายๆ ครอบครัวจึงหันเหไปหาโรงเรียนอินเตอร์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่หลายๆ ครอบครัวที่มีกำลังพอจะส่งเสริม เพราะหวังว่าเด็กได้ภาษาแน่ๆ และเข้าใจว่าโรงเรียนในแนวดังกล่าวจะสอนให้เด็กๆ สามารถคิด วิเคราะห์ได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนไทย โดยลืมไปว่าการเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมของคนไทยกับต่างชาติแตกต่างกัน เด็กทุกคนจะมีลักษณะนิสัยส่วนตัวซึ่งถูกบ่มเพาะจากทางบ้าน จริงอยู่ที่เด็กอยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน (ในวัยเรียน) แต่ครอบครัวได้หล่อหลอมเขาตั้งแต่แรกเกิดจนก่อนเข้าวัยเรียน หากเด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหน ลักษณะนิสัยดังกล่าวก็ยังคงเป็นตัวเขา หากพ่อแม่ผู้ปกครองบ่มเพาะให้เขาหัดเป็นคนช่างสังเกต หรือมีระเบียบวินัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะติดตัวเค้าไปทุกที่ แต่อย่างไรก็ดีโรงเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ครูมีผลต่อทัศนคติของเด็กในวิชาที่ครูผู้นั้นสอน ดังนั้นทางที่ดี ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่ให้บุตรหลานเหมือนไม้ผลัด ที่เรื่องของการเรียนส่งต่อให้โรงเรียนรับผิดชอบเพียงไม้เดียว ส่วนผู้บิรหารโรงเรียนนอกจากจะมีการประเมินการเรียนการสอน ซึ่งคือการประเมินการเรียนของเด็กเพียงด้านเดียว แต่ควรประเมินการสอนของครูผู้สอนด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาไปทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งของทางบ้าน และฝั่งของโรงเรียนไปพร้อมๆ กัน…